นิวยอร์กไทม์เปิดประเด็นถกเถียง งานบริการทางเพศควรเป็นเรื่องถูก กม.หรือไม่

นิวยอร์กไทม์นำเสนอการอภิปรายโต้เถียงกันในเรื่องควรทำให้การค้าบริการทางเพศเป็นเรื่องถูกกฎหมายหรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายหนึ่งหวั่นหากงานบริการทางเพศถูกกฎหมายจะเปิดโอกาสให้มีการค้ามนุษย์และบังคับใช้แรงงานมากขึ้น แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็ชี้ว่าการทำให้ถูกกฎหมายจะช่วยให้คนทำงานได้รับการคุ้มครองและมีเครื่องมือต่อสู้เมื่อถูกกดขี่

เมื่อไม่นานมานี้องค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลมีมติส่งเสริมให้งานขายบริการทางเพศไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย โดยระบุว่าการทำให้งานนี้เป็นเรื่องถูกกฎหมายจะส่งผลให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ทำงานบริการทางเพศมากกว่า แต่ก็กลายเป็นเรื่องชวนให้ถกเถียงเมื่อมีนักสิทธิมนุษยชนอีกจำนวนหนึ่งต่อต้านและไม่เห็นด้วย

เรื่องนี้ทำให้เว็บไซต์นิวยอร์กไทม์จัดให้มีการอภิปรายโต้เถียงกันระหว่างนักวิชาการและนักกิจกรรม 2 คนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันในเรื่องดังกล่าว

คนแรกคือ กิลเลียน เอเบล ผู้ช่วยศาตราจารย์และหัวหน้าภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโอทาโก วิทยาเขตไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นผู้วิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของการทำให้การค้าบริการทางเพศเป็นเรื่องถูกกฎหมายที่มีต่อสุขภาวะ ความปลอดภัย และสิทธิมนุษยชน เธออยู่ในฝั่งผู้เห็นด้วยกับการทำให้การค้าบริการทางเพศเป็นเรื่องถูกกฎหมาย

ผู้ร่วมอภิปรายอีกคนหนึ่งคือ ไทนา เบียนแอม ผู้อำนวยการบริหารจากสหพันธ์ต่อต้านการค้ามนุษย์ในสตรีและอดีตผู้อำนวยการบริหารองค์กร 'อิควอลิตี นาว' (Equality Now!) ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติที่ส่งเสริมสิทธิสตรี เธออยู่ในฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการทำให้การค้าบริการทางเพศเป็นเรื่องถูกกฎหมาย

เบียนแอมกล่าวว่ามติของแอมเนสตี้จะทำให้เหล่าแมงดา เจ้าของซ่อง และผู้ซื้อบริการทางเพศ กลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในฐานะอุตสาหกรรมที่มีเงินสะพัดอยู่หลายพันล้านดอลลาร์ เบียนแอมมองว่าการทำเช่นนี้ไม่ใช่วิธีการที่ดีในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงและการกดขี่ และการทำให้อุตสาหกรรมทางเพศกลายเป็นเรื่องธรรมดาจะทำให้มีอัตราการค้ามนุษย์เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่เธอเห็นด้วยว่าหญิงที่ให้บริการทางเพศเป็นคนชายขอบที่ไม่ควรจะถูกลงโทษหรือเป็นเหยื่อการใช้อำนาจในทางที่ผิดของเจ้าหน้าที่ แต่มติของแอมเนสตี้ถือเป็นการส่งเสริมให้ผู้กดขี่มีความชอบธรรม

ทางด้าน เอเบล มองว่าการค้าบริการทางเพศส่วนมากเป็นอาชีพที่ผู้หญิงส่วนใหญ่เลือกเอง การปฏิเสธว่าการค้าบริการทางเพศไม่ใช่งานยังถือเป็นการปฏิเสธสิทธิในการเลือกงานของผู้คน เป็นการลิดรอนสิทธิของคนเพศอื่นๆ นอกจากเพศหญิงเพศชายและเพศทางเลือก รวมถึงปิดกั้นไม่ให้คนทำงานเข้าถึงสิทธิอื่นๆ อย่างสิทธิในการได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายและการเรียกร้องค่าชดเชย โดยยกตัวอย่างกรณีประเทศนิวซีแลนด์ที่เป็นประเทศแรกในการทำให้งานบริการทางเพศเป็นเรื่องถูกกฎหมายตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งส่งผลให้ผู้ทำงานบริการมีสิทธิในการเข้าถึงกฎหมายได้เท่ากับคนทำงานกลุ่มอื่นๆ ทำให้พวกเขาถูกกดขี่น้อยลง

เอเบล ยังได้ยกตัวอย่างกรณีนิวซีแลนด์ต่อไปว่าเมื่องานบริการทางเพศถูกกฎหมายก็ทำให้ผู้ทำงานบริการทางเพศมีอำนาจต่อรองมากขึ้น มีการรวมกลุ่มเลือกตั้งผู้บริหารแหล่งบริการของตัวเอง นอกจากนี้ในกรณีที่มีการถูกล่วงละเมิดทางเพศอย่างไม่เต็มใจและการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุของตำรวจก็สามารถฟ้องร้องเอาชนะได้ทั้ง 2 คดี สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่ทำให้งานบริการทางเพศเป็นเรื่องถูกกฎหมายเสียก่อน

ในมุมมองของเบียนแอม เธอเห็นด้วยกับการที่ไม่ควรใช้กฎหมายเอาผิดกับผู้ทำงานบริการทางเพศ แต่เธอก็บอกว่าควรส่งเสริมให้มีการเอาผิดกับผู้ซื้อบริการทางเพศซึ่งถือเป็นผู้เพิ่มอุปสงค์ และยังคงยืนยันว่าการทำให้การบริการทางเพศเป็นเรื่องถูกกฎหมายถือเป็นการเปิดทางให้ระบบทั้งระบบที่เธอมองว่าเป็นระบบที่กดขี่ทางสิทธิมนุษยชน

เอเบลโต้แย้งโดยเน้นย้ำประเด็นว่าผู้เข้าสู่งานบริการทางเพศจำนวนมากเป็นผู้ที่เลือกเข้าไปเอง ถึงแม้เธอจะไม่ปฏิเสธว่าคนทำงานบริการทางเพศบางส่วนก็เป็นผู้ที่สามารถเข้าถึงทรัพยากรทางสังคมได้น้อยกว่าคนอื่น (เช่นเข้าถึงการศึกษาได้ไม่ดีเท่า หรือได้รับการสนับสนุนทางเศรษฐกิจจากครอบครัวน้อยกว่า) ทำให้มีทางเลือกน้อยจนต้องเลือกมาทำงานบริการทางเพศ แต่งานบริการทางเพศก็ไม่ได้แตกต่างจากงานอื่นๆ งานทุกชนิดต่างก็มีการกดขี่แรงงานทั้งนั้น และการทำงานในสภาพที่ถูกทำให้เป็นงานผิดกฎหมายหรือแม้กระทั่งกับโมเดลการลงโทษผู้ซื้อบริการก็เปิดโอกาสให้ผู้ทำงานบริการทางเพศถูกบังคับขู่เข็ญได้มากขึ้น

เบียนแอมโต้กลับในประเด็น "ทางเลือก" ว่าเธอไม่ปฏิเสธสิทธิของผู้หญิงในการขายเรือนร่างของตัวเอง แต่ก็ชี้ให้เห็นประเด็นที่ว่า "ทางเลือก" ของคนบางกลุ่มก็มีข้อจำกัดจากความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องฐานะ ความไม่เท่าเทียมกันทางวัฒนธรรม และความไม่เท่าเทียมกันทางเพศสภาพ มีบางกรณีที่ต้องเข้าสู่วงจรการค้าบริการทางเพศตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 18 ปี แสดงให้เห็นถึงทางเลือกที่มีจำกัด

เบียนแอมชี้ว่าหลังจากที่นิวซีแลนด์ทำให้การทำงานบริการทางเพศเป็นเรื่องถูกกฎหมายก็พบว่ามีการขายบริการทางเพศตามท้องถนนในเมืองอ๊อคแลนด์เพิ่มมากขึ้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชาติชาวเมารีและโพลินีเซียน รัฐบาลนิวซีแลนด์ถึงขั้นออกคู่มือ "ความปลอดภัยและสุขภาวะในการทำงาน" ให้กับงานที่เป็นอันตรายต่อผู้หญิง

แต่เอเบลก็โต้ว่าไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีผู้ทำงานบริการทางเพศเพิ่มขึ้นจำนวนมากนับตั้งแต่มีการทำให้งานบริการทางเพศเป็นเรื่องถูกกฎหมาย แต่อาจจะเป็นเพราะทำให้การค้าบริการทางเพศมีความเปิดเผยมากขึ้นจนทำให้เห็นจำนวนที่แท้จริงได้ ในประเด็นการขายบริการทางเพศของเด็กอายุต่ำว่า 18 ปี เอเบลก็ระบุว่า "นิวซีแลนด์โมเดล" ก็กำลังจัดการในเรื่องนี้โดยเปลี่ยนจากการลงโทษเด็กเป็นการคุ้มครองเด็กแทน และเธอเห็นด้วยว่าไม่ควรมีการขายบริการทางเพศโดยเด็กอายุต่ำว่า 18 ปี

เอเบลเปิดเผยอีกว่า ปัจจุบันนิวซีแลนด์มีการอนุญาตให้ผู้ให้บริการทางเพศ ลูกค้า รวมถึงผู้บริหารแหล่งค้าบริการให้ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมที่น่าสงสัยว่าจะมีส่วนเกี่ยวโยงกับการค้ามนุษย์ได้ การทำให้การค้าบริการเป็นเรื่องถูกกฎหมายจึงส่งผลให้มีการเปิดโปงเรื่องการกดขี่ออกมาได้มากขึ้น

แต่ทางเบียนแอมก็ไม่เชื่อใจกลุ่มผู้ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการค้าบริการทางเพศในแง่ที่ว่าพวกเขาจะเป็นผู้ที่ยอมเปิดเผยเรื่องการค้ามนุษย์ เบียนแอมชี้ว่านิวซีแลนด์ยังมีระบบการตรวจสอบการค้ามนุษย์เพื่อใช้ทำงานทางเพศไม่ดีพอ โดยยกตัวอย่างเรื่องที่มีคนที่หนีรอดจากการค้าประเวณีเคยให้การว่าชีวิตพวกเขาอยู่ในอันตราย ถูกกระทำรุนแรง และถูกกดขี่ข่มเหง นอกจากนี้ยังมีปัญหาการค้ามนุษย์แบบข้ามชาติจากหลายประเทศในเอเชียโดยเฉพาะที่เป็นเด็กในกลุ่มชนพื้นเมือง

เบียนแอมยังได้กล่าวถึงในแง่บรรทัดฐานทางวัฒนธรรมด้วยว่า การทำให้การค้าบริการทางเพศถูกกฎหมายยังเป็นการส่งสัญญาณให้เหล่าแมงดาและผู้ซื้อเห็นคนเป็นวัตถุที่ซื้อขายกันได้และทำให้กลุ่มค้ามนุษย์ฉวยโอกาสจากแนวคิดแบบนี้

เอเบลโต้แย้งในประเด็นเรื่องการค้ามนุษย์ว่า การทำให้การค้าบริการทางเพศเป็นเรื่องถูกกฎหมายนั้นไม่ได้ทำให้การบังคับใช้แรงงานกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมายไปด้วย และในขณะเดียวกันก็ไม่ควรเหมารวมว่าการค้าบริการทางเพศทั้งหมดเป็นเรื่องการค้ามนุษย์แต่อย่างเดียว อย่างไรก็ตามเอเบลเห็นด้วยว่าในประเทศโลกที่สามมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะมีคนถูกบังคับค้าบริการทางเพศเมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว

ในประเด็นที่รัฐสภานิวซีแลนด์รับฟังเรื่องอันตรายจากงานบริการทางเพศจากอดีตผู้ทำงานบริการทางเพศนั้น เอเบลบอกว่าเป็นเรื่องจริงแต่ก็เป็นเรื่องด่วนสรุปเกินไปว่าการทำงานบริการทางเพศทั้งหมดเป็นเรื่องอันตราย เอเบลยังระบุอีกว่ามีการสำรวจและงานวิจัยจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่าในนิวซีแลนด์หลังจากปี 2546 เป็นต้นมาคนทำงานบริการทางเพศมีสุขภาวะที่ดีขึ้นและมีความปลอดภัยมากขึ้น

"การปฏิเสธไม่ให้ทุกคนมีเสรีภาพในการทำงานบริการทางเพศที่มีการยินยอมพร้อมใจ (consent) เป็นสิ่งที่มีปัญหาเพราะมันเป็นการลบเลือนการแยกแยะระหว่างการทำงานบริการทางเพศและการข่มขืน และผู้ทำงานบริการทางเพศควรสามารถฟ้องร้องได้เมื่อมีการข่มขืนเกิดขึ้น เสรีภาพของคนทำงานบริการทางเพศและการมีเพศสัมพันธ์อย่างยินยอมพร้อมใจจะเกิดขึ้นอย่างเต็มที่ได้ถ้าพวกเขาได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายและสามารถเข้าถึงสภาพการทำงานที่ปลอดภัยได้" เอเบลกล่าว

เรียบเรียงจาก

Should Prostitution Be a Crime?, New York Times, 26-08-2015
http://www.nytimes.com/roomfordebate/2015/08/26/should-prostitution-be-a-crime

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท