Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ร่องรอยแห่งยุคอาณานิคมได้ขีดเส้นพรมแดนแห่งรัฐชาติใหม่ ส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์หนี่งจำต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ความแตกต่างของวัฒนธรรม การขัดกันของผลประโยชน์ที่ไม่ลงรอย นำมาสู่ข้อพิพาทและบานปลายไปสู่ความรุนแรง เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นในหลายๆดินแดนทั่วโลก บางกรณีอาจจบลงด้วยการเจรจา แต่ในหลายเหตุการณ์การปะทะและความไม่สงบยังคงปะทุอย่างต่อเนื่องและเรื้อรัง

อินเดียภายหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ พยายามที่จะควบรวมดินแดนต่างๆที่เคยอยู่ภายใต้จักรวรรดิ ให้เป็นส่วนหนี่งของอินเดีย ด้วยความรู้สึกและการรับรู้ที่ว่า รัฐบาลกลางอินเดียแห่งนิวเดลี มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะปกครองดินแดนต่างๆ ที่เคยอยู่ภายใต้อาณัติเดียวกัน ถือเป็นการสืบต่อมรดกจากเจ้าอาณานิคม (Raj Legacy) แม้ว่าในหลายดินแดนผู้คนรู้สึกแปลกแยกและไม่เป็นส่วนหนี่งของรัฐบาลกลางก็ตาม

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ประกอบด้วยรัฐทั้งสิ้น 7 รัฐ (หรือรู้จักในชื่อ 7 สาวน้อย) อันประกอบไปด้วย อุรุณาจัลประเทศ อัสสัม มณีปุร์ เมฆาลัย มิโซรัม นากาแลนด์ และตรีปรุระ  เป็นดินแดนที่ถูกขีดกั้นจากอินเดียส่วนใหญ่ทั้งทางเชิงกายภาพและวัฒนธรรม เนื่องจากที่ตั้งมีลักษณะเป็นติ่งประเทศซี่งถูกแบ่งแยกจากอินเดียด้วยพรมแดนของบังคลาเทศ อีกทั้งในเชิงชาติพันธุ์ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนดังกล่าว มีรูปลักษณ์คล้ายชาวมองโกลอยด์ รวมถึงมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกับผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน ซี่งแตกต่างจากอินเดียส่วนใหญ่ จนถูกมองว่าเป็นอื่น (otherness) และไม่เป็นส่วนหนี่งของอินเดีย

ความแตกต่างข้างต้น รวมถึงความพยายามแยกตัวเป็นรัฐเอกราช ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียต้องต่อสู้กับรัฐบาลกลางเรื่อยมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและเหตุการณ์ความไม่สงบเป็นจำนวนมาก รัฐบาลกลางอินเดียเอง นอกจากจะต้องส่งทหารเข้าไปปฏิบัติการแล้ว ในเชิงการบริหารภาครัฐ อินเดียถึงกับต้องตั้งกระทรวงเพื่อการพัฒนาภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Ministry of Development of the North Eastern Region) ในเดือนกันยายนปี 2001โดยเฉพาะ เพื่อพัฒนาภูมิภาคดังกล่าว


หนทางแห่งสันติภาพ

กระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลอินเดียและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เริ่มต้นขึ้นในช่วงคริสศตวรรษ 1980s เรื่อยมา โดยครั้งล่าสุดได้เกิดขึ้นหลังจากการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ ซี่งให้ความสำคัญต่อการสร้างความความมั่นคง สันติภาพ และการปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โมดิเริ่มต้นด้วยการแต่งตั้งผู้แทนเจรจาของรัฐบาลกับตัวแทนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนนากา ซี่งผู้แทนคนดังกล่าวนอกจากจะต้องเข้าใจข้อเรียกร้องและความคาดหวังของชาวนากาแล้ว ยังต้องเป็นเคารพในความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์นากาของพวกเขาด้วย

ในระหว่างการเจรจาโดยผู้แทน นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดียก็ให้ความสำคัญต่อกระบวนการดังกล่าว โดยติดตามอย่างต่อเนื่องและให้ข้อคิดเห็นต่อแนวทางการดำเนินงานของผู้แทนเจรจาในทุกขั้นตอน(1) นอกเหนือจากผู้แทนเจรจาแล้ว นเรนทรา โมดิ ยังได้กล่าวเสริมอีกว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่สามารถพัฒนา หากนั่งมองและกำหนดนโยบายจากกรุงเดลี ฉะนั้นภาครัฐต้องลงพื้นที่และพิจารณาหนทางในการจัดการแก้ไขปัญหาร่วมกับคนในท้องถิ่น(2) การดำเนินงานในลักษณะดังกล่าวทำให้มุขมนตรีแห่งรัฐนากาแลนด์ ที อาร์ เซเลียง ได้กล่าวว่า การมีทัศนคติที่เป็นบวกและเคารพต่อกลุ่มชาติพันธุ์นากา ทำให้นายกรัฐมนตรีสามารถมีบทบาทในการตัดสินใจอันนำไปสู่ข้อตกลงสันติภาพระหว่างอินเดียและกลุ่มแบ่งแยกดินแดน(3) ซี่งเห็นได้จากในวันที่ 3 สิงหาคม 2015 รัฐบาลอินเดียได้ลงนามข้อตกลงสันติภาพนากา (Naga Peace Accord) อย่างเป็นทางการกับนายมุยวาห์ (Muivah) ผู้นำกลุ่มสภาสังคมนิยมแห่งชาตินากาแลนด์ (the National Socialist Council of Nagaland (NSCN-IM) ) ซี่งเป็นหนี่งในขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เคลื่อนไหวมากที่สุดในรัฐภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย(4) กลุ่มเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 1980 โดยมีจุดประสงค์ในการสถาปนารัฐเอกราชนากาลิม (Nagalim)(5)   การเจรจาในครั้งนี้เห็นได้ชัดเจนว่า เป็นความพยายามของรัฐที่ให้ค่าและความสำคัญต่อการพูดคุยและปฏิบัติต่อกลุ่มต่อต้านด้วยสถานะที่เท่าเทียม

อีกทั้งเป็นการสร้างช้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ที่รอคอยมานานกว่า 60 ปี การต่อสู้ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐเจ็ดสาวน้อยและรัฐบาลกลางแห่งอินเดีย ได้สร้างรอยแผลที่บาดลึกลงไปในความรู้สึกของผู้คน การปะทะนำมาซี่งความเสียหายทั้งในเชิงชีวิตและทรัพย์สินของทั้งสองฝ่าย การเจรจาสันติภาพที่เกิดขึ้นนี้ คงจะเป็นนิมิตรหมายอันดีดังที่นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ ได้กล่าวไว้ว่า 'ความไม่สงบที่ยาวนานที่สุดของเรา กำลังได้รับการแก้ไข นอกจากนี้มันยังเป็นการส่งสัญญาณให้กับกลุ่มเคลื่อนไหวขนาดเล็กอื่นๆ ให้วางอาวุธด้วย'(6) 

นอกจากนี้แม้ว่าข้อตกลงสันติภาพนากาจะถูกลงนามในรัฐบาลโมดิ แต่นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดีย ยังไม่ลืมที่จะกล่าวขอบคุณทุกรัฐบาลที่ผ่านมาว่า 'ในทุกรัฐบาลได้พยายามบางอย่างในการแก้ไขความไม่สงบ บางภารกิจสำเร็จ แต่หลายภารกิจก็ล้มเหลว กระบวนการเหล่านี้ได้เกิดขึ้นและดำเนินการย่างต่อเนื่อง ซี่งไม่ควรมีรัฐบาลใดฉกฉวยความสำเร็จ เนื่องจากทุกรัฐบาลล้วนแล้วแต่มีส่วนอย่างละน้อย ในกาปูพื้นฐานไปสู่การเจรจากับชาวนากาในครั้งนี้'(7) อนี่ง ข้อตกลงในลักษณะดังกล่าวถือว่ามิใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นต่อรัฐเจ็ดสาวน้อย เนื่องจากในปี 1986 นายกรัฐมนตรีราจีฟ คานธี ก็ได้เจรจาและลงนามความร่วมมือกับผู้นำกลุ่มกบฏมิโซ (Milzo Rebel Leader) จนทำให้ในการเลือกตั้งท้องถิ่น ผู้นำกลุ่มกบฏดังกล่าวได้กลายมาเป็นมุขมนตรี (Cheif Minister) แห่งรัฐมิโซรัมด้วย(8) การเปิดให้กลุ่มต่อต้านได้มีพื้นที่และมีส่วนร่วมในการปกครองจึงถือเป็นช่องทางที่สำคัญอีกประการหนี่งในการจัดการปัญหาภายในของอินเดีย


ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

อย่างไรก็ตาม หลังการลงนามในข้อตกลงดังกล่าว มีข้อวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นอย่างมากถึงความเป็นไปได้ เนื่องจากยังไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาของข้อตกลงอย่างเป็นทางการต่อสาธารณะ โดยทั้งฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนต่างออกมายอมรับว่า การประกาศเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น เป็นเพียงการร่างเค้าโครงความร่วมมือร่วมกันในระดับหนี่ง ซี่งยังต้องการข้อตกลงเพิ่มเติมอีกเป็นอันมาก โดยเฉพาะฝ่ายแบ่งแยกดินแดนยังไม่ประกาศยุติความต้องการในการเป็นรัฐเอกราชของตนเอง แม้จะมีความพยายามในการนำเสนอแนวคิดอธิปไตยร่วม (Shared Soverighty) เพื่อยกระดับความเป็นสหพันธรัฐ (Federalism) ของอินเดียให้รัฐบาลท้องถิ่นมีอำนาจในการปกครองตนเองยิ่งขึ้น ซี่งจะทำให้ความเป็นของสาธารณรัฐภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญของอินเดียถูกยกระดับและพัฒนามากกว่าที่เป็นอยู่(9)

นอกจากนี้แล้ว แนวคิดนากาที่ยิ่งใหญ่ (Greater Naga) ของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนซี่งอาจเป็นหนี่งในข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลอินเดีย ยังสร้างความวิตกให้กับรัฐบาลท้องถิ่นอื่นๆที่เป็นเพื่อนบ้านของนากาแลนด์ ไม่ว่าจะเป็นรัฐมณีปุร์ อัสสัม หรืออรุณาจัลประเทศ เนื่องจากแนวคิดดังกล่าวมุ่งที่จะควบรวมดินแดนที่มีชาวนากาอาศัยอยู่ ทำให้เกิดความตึงเครียดต่อรัฐข้างเคียงหากจะต้องเสียดินแดนของตนอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากข้อตกลงนี้ อีกทั้งรัฐบาลอินเดียอาจจะต้องเผชิญกับปัญหาระหว่างประเทศกับรัฐบาลเมียนมาร์ เนื่องจากเมียนมาร์ได้ลงนามในสนธิสัญญาหยุดยิงระหว่างเมียนมาร์และสภาสังคมนิยมแห่งชาตินากาแลนด์อีกกลุ่มซี่งนำโดยนายแคปแลง (Khaplang) ในปี 2012 และเมียนมาร์เองก็ยินดีที่จะช่วยอินเดียเจรจากับกลุ่มดังกล่าว แต่รัฐบาลอินเดียเองกลับเลือกที่จะลงนามกับกลุ่มนายมุยวาห์แทน นอกจากนี้ยังมีรายงานเพิ่มเติมว่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่นำโดยนายแคปแลงกำลังมีความพยายามแสวงหาความร่วมมือกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอินเดียกลุ่มอื่นๆในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อก่อเหตุความรุนแรงต่อไป


เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นยุทธศาสตร์: บทเรียนจากอินเดียสู่ไทย

สาเหตุสำคัญประการหนี่งที่ทำให้รัฐบาลอินเดียตัดสินใจส่งสัญญาณสันติภาพไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาจเนื่องมาจากความพยายามแปรเปลี่ยนพื้นที่วิกฤตนี้ ให้กลายเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญรองรับกรอบความร่วมมืออินเดีย - อาเซียน เพราะภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียเป็นประตูสำคัญที่เชื่อมอินเดียกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าด้วยกัน อีกทั้งหากพื้นที่นี้มีสันติภาพและความมั่นคงย่อมสอดรับกับเสริมแรงการประกาศนโยบาย Act East ที่อินเดียมุ่งมองไปยังตะวันออกสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียแปซิฟิกต่อไป จึงไม่แปลกนักหากในวันนี้อินเดียจะเร่งรัดในการจัดการปัญหาความไม่สงบที่เรื้อรังในรัฐเจ็ดสาวน้อยให้คลี่คลายโดยเร็ว

เมื่อมองมายังปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย แม้มิได้เป็นผลพวกที่เกิดจากลัทธิอาณานิคมในแบบเดียวกับอินเดีย แต่ความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรงยังคงเรื้อรังและต่อเนื่องในลักษณะเดียวกัน บทเรียนจากแนวทางการเจรจาสันติภาพของอินเดียในครั้งนี้ อาจทำให้รัฐและพลเมืองไทยได้เห็นทิศทางและข้อจำกัดในการจัดการปัญหา ทั้งในแง่การเปิดเจรจาอย่างเสมอภาค การเรียนรู้และเคารพอัตลักษณ์ที่แตกต่าง การติดตามและเฝ้าระวังในเขิงบวกอย่างใกล้ชิด การจัดตั้งกระทรวงและหน่วยงานด้านการพัฒนาโดยตรง การเลือกคู่เจรจาที่เหมาะสม การคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และที่สำคัญคือการเปลี่ยนพื้นที่วิกฤติให้กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ เพื่อเชื่อมโยงอัตลักษณ์ นำไปสู่ความร่วมมือและการพัฒนาไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และมิตรประเทศอื่นๆ ต่อไป

 

เชิงอรรถ:

1. http://www.firstpost.com/india/modi-govt-nscnim-pact-will-propel-peace-derive-strategic-results-in-north-east-india-2377288.html

2.http://timesofindia.indiatimes.com/india/Northeast-cant-be-developed-from-Delhi-Modi/articleshow/48223553.cms

 
 
 
 
 

 

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ปัจจุบัน  ปิยณัฐ สร้อยคำ กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอกด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อยู่ที่  University of St Andrews, Scotland

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net