Skip to main content
sharethis

ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เพลงชาติในที่ต่างๆ ของโลก เขียนบทความถึงสาเหตุที่ทำไมเพลงชาติหลายแห่งถึงมีลักษณะคล้ายกับเพลงชาติอื่นหรือเพลงอื่นๆ มีการขโมยผลงาน (plagiarism) กันในหมู่นักประพันธ์ดนตรีเหล่านี้หรือไม่? หรือมีสาเหตุในอื่นๆ เช่นในด้านเทคนิคการเรียบเรียง?

30 ส.ค. 2558 - สำนักข่าวบีบีซีรายงานเมื่อวันที่ 27 ส.ค. ที่ผ่านมา ถึงกรณีที่เพลงชาติของประเทศหลายแห่งในโลกมีลักษณะองค์ประกอบที่คล้ายคลึงกับเพลงอื่นจนน่าตั้งคำถามว่าผู้ประพันธ์เพลงชาติทั้งหลายแอบขโมยผลงานคนอื่นมาหรือไม่

อเล็ก มาร์แชลล์ ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เพลงชาติในหลายประเทศเขียนบทความถึงเรื่องนี้โดยระบุถึงกรณีของนักประพันธ์ดนตรีชื่อดูซาน เซสติค ผู้ที่ร่วมแข่งขันประกวดแต่งเพลงชาติบอสเนียเพราะกำลังร้อนเงินในปี 2541 ถึงแม้ว่าเซสติคเองจะหวังแค่ให้ชนะเงินรางวัลสักอันดับไม่ว่าจะเป็นที่ 2 หรือที่ 3 แต่บทเพลงของเขากลับชนะรางวัลที่ 1 ทำให้มีปัญหา 'ดราม่า' ตามมาหลายครั้ง

'ดราม่า' เรื่องแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับเชื้อชาติเมื่อชาวเซิร์บผู้ต่อต้านการมีอยู่ของชาติบอสเนียกล่าวหาว่าเซสติคผู้เป็นชาวเซิร์บด้วยกันว่าเป็นผู้ทรยศ ส่วนชาวบอสเนียคและชาวโครแอตก็ไม่พอใจที่ชาวเซิร์บเป็นผู้เขียนเพลงที่จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของชาติของพวกเขา โดยก่อนหน้านี้บอสเนียเคยมีเหตุสงครามกลางเมืองที่ทำให้คนเชื้อชาติต่างๆ ขัดแย้งกันซึ่งการประกวดเพลงชาติบอสเนียมีวัตถุประสงค์หนึ่งเพื่อเป็นการประสานรอยร้าวนี้

เพลงชาติของบอสเนียและเฮอร์เซโกวินา จากการประพันธ์ของเซสติค

แต่เรื่องยังไม่จบเท่านั้นต่อมาในปี 2552 เซสติค ถูกกล่าวหาว่าเพลงของเขาฟังดูคล้ายกับเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง 'แอนิมอล เฮาส์' ของนิตยสารเนชันแนลแลมปูน ซึ่งฉายในปี 2521 ถึงขั้นมีการพยายามตามหาครอบครัวของผู้ประพันธ์เพลงของแอนิมอล เฮาส์ เพื่อให้เขาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อเซสติค

เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง 'แอนิมอล เฮาส์' ที่ถูกมองว่ามีส่วนคล้ายคลึงกับเพลงชาติที่เซสติคแต่ง

เรื่องนี้ทำให้เซสติคออกมากล่าวโต้แย้งว่าไม่เป็นความจริง เขาไม่เคยรู้จักชื่อภาพยนตร์มาก่อน พอเขาได้ฟังเพลงประกอบจากภาพยนตร์ก็รู้สึกประหลาดใจและอาจจะเป็นไปได้ว่าเขาอาจจะเคยดูภาพยนตร์แบบผ่านๆ แล้วได้ยินเพลงนี้มาก่อนตอนวัยรุ่นแล้วติดอยู่ในหัวโดยไม่รู้ตัวจนกระทั่งกลายเป็นอิทธิพลต่อการประพันธ์ของเขาซึ่งตัวเขาเองมองว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะเรียกว่าเป็นการขโมยผลงาน และยังบอกอีกว่าทั้งสองเพลงมีทำนองต่างกันบางส่วน

บทความของมาร์แชลล์ระบุถึงอีกกรณีหนึ่งคือเพลงชาติอุรุกวัยที่ประพันธ์โดยฟรานซิสโก โฮเซ เดบาลี ในปี 2399 ซึ่งมีลักษณะคล้ายอุปรากรขนาดย่อม แต่ธีมหลักๆ ของเพลงซึ่งหมายถึงทำนองที่น่าจดจำหรือส่วนเด่นๆ ของเพลงถูกมองว่ามีลักษณะเหมือนกับส่วนหนึ่งของอุปรากร 'ลูเครเซีย บอร์เจีย' ผลงานของดอนนิเซตตี มีคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นไปได้ที่เดบาลีจะเคยฟังอุปรากรนี้มาก่อนที่จะแต่งเพลง โดยทั้งสองเพลงมีตัวโน๊ตทำนองที่เหมือนกัน 9 ตัวโน๊ต แต่ฝ่ายผู้สนับสนุนเดบาลีก็โค้แย้งว่าความเหมือนเพียงแค่นี้เป็นเรื่องบังเอิญเท่านั้น

ในบทความยังยกตัวอย่างกรณีอื่นๆ อีกเช่น กรณีท่อนเริ่มต้นของเพลงชาติอาร์เจนตินามีความคล้ายคลึงกับผลงานของไคลเมนติ นักประพันธ์เพลงชาวอิตาลี กรณีเพลงชาติแอฟริกาใต้ที่มักจะถูกมองว่านำทำนองมาจากเพลง Aberystwyth ของนักประพันธ์ชาวเวลส์ถึงแม้ว่าทั้งสองเพลงดูไม่น่าจะเป็นการลอกกันได้

เพลงชาติอาร์เจนตินา

Sonatina Op.36 No.4 in F Major ของ ไคลเมนติ

มาร์แชลล์ มองว่าเรื่องของเพลงชาติน่าจะเป็นวัฒนธรรมการหยิบยืมกันมากกว่า อย่างกรณีเพลงชาติเพลงแรกสุดของสหราชอาณาจักรเองก็ถูกหยิบยืมไปใช้กับเพลงชาติในที่อื่นๆ เช่น เดนมาร์ก เยอรมนี หรือรัสเซีย จนกระทั่งราชอาณาจักรฮาวายนำเพลงไปใช้ทั้งเพลงโดยเปลี่ยนแค่คำร้องเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีประเทศลิกเตนสไตน์ที่มีทำนองเพลงชาติแบบเดียวกับเพลงชาติ 'ก็อดเซฟเดอะควีน' ของสหราชอาณาจักรซึ่งชาวลิกเตนสไตน์ต่างก็รู้ดีแต่ก็มีความภาคภูมิใจในเพลงนี้และคิดว่าพวกเขามีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหราชอาณาจักร

มาร์แชลล์ยังได้ยกตัวอย่างเพลงชาติของเอสโตเนียกับฟินแลนด์ที่มีทำนองแบบเดียวกัน ซึ่งมาจากการประพันธ์ของเฟรดริค แปเซียส ผู้บอกว่านำเพลงนี้มาจากเพลงคนเมาของเยอรมนี ในแง่นี้มาร์แชลล์ระบุว่ามีเพลงชาติหลายเพลงที่หยิบยืมทำนองมาจากเพลงพื้นบ้าน นอกจากนี้ยังมีกรณีที่หยิบยืมเพลงตามประเพณีต่างๆ เช่นเกาหลีใต้และมัลดีฟส์เคยหยิบยืมทำนองของเพลงโอลด์แลงไซน์ซึ่งเกาหลียืมมาจากมิชชันนารีสก็อตแลนด์ ขณะที่ผู้แต่งเพลงของมัลดีฟส์ใช้เพลงนี้เมื่อได้ยินทำนองจากเสียงนาฬิกา แม้แต่เพลงชาติสหรัฐอเมริกาก็นำมาจากเพลงคนเมาของสหราชอาณาจักร จนเป็นที่ถกเถียงในหมูนักการเมืองว่าสหรัฐฯ ควรใช้เพลงที่มีท่วงทำนองในแบบของตัวเองมากกว่านี้หรือไม่

เป็นเรื่องน่าตั้งคำถามว่าทำไมเพลงชาติเหล่านี้ถึงไม่ถูกดำเนินคดีในเรื่องการขโมยผลงานหรือทำไมถึงมีการหยิบยืมกันมาเรื่อยๆ ซึ่งตัวมาร์แชลล์เองมองว่าเรื่องนี้อาจจะแสดงให้เห็นว่าการสร้างสิ่งที่เป็นต้นฉบับเฉพาะไม่ใครเหมือนนั้นเป็นเรื่องยาก รวมถึงเพลงชาติเป็นเพลงที่ต้องมีทำนองไม่ซับซ้อนมากเพื่อให้คนจดจำได้ในขณะเดียวกันก็ต้องฟังดูมีศักดิ์ศรีและมีลักษณะปลุกใจ ทำให้การสร้างผลงานโดยไม่มีความคล้ายคลึงกันเลยยิ่งยากเข้าไปอีก

 

เรียบเรียงจาก

How many national anthems are plagiarised?, BBC, 26-08-2015 http://www.bbc.com/news/magazine-34052000

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net