Skip to main content
sharethis

ความขัดแย้งประเด็นเหมืองทองคำในพื้นที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ที่มามาอย่างยาวนานนั้น กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งหลังจาก หลังจากมีความพยายามขัดขวางการจัดค่ายเยาวชน “เยาวชนฮักบ้านเจ้าของ” ซึ่งเป็นค่ายศึกษาสภาพท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อมของเยาวชนในพื้นที่ดังกล่าว อายุ 10-15 ปี หรือ ป.4 ถึง ม.3 และมีพี่เลี้ยงที่อายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นนักเรียน ม.ปลาย  พร้อมกับการคุมเข้มของเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ก่อนการประชุมสมัยสามัญของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง ซึ่งจะเปิดให้มีการพิจารณาอนุญาตขอต่ออายุการใช้พื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ ส.ป.ก. เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : เดินหน้าค่าย ป.4-ม.3 ไม่ขออนุญาต ทหารลั่นใช้ พ.ร.บ.ชุมนุม “ไม่ขอก่อน ห้ามจัด”)

วันนี้(28 ส.ค.58) ซึ่งเป็นวันที่มีการประชุมสมัยสามัญของสภา อบต.เขาหลวง เพื่อพิจารณาอนุญาตขอต่ออายุการใช้พื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ ส.ป.ก. นั้น เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘เหมืองแร่ เมืองเลย V2’ ระบุว่า บริเวณสถานที่ประชุมมีตำรวจทหารประมาณ 300 นาย ดูแลสถานการณ์ พร้อมทั้งแจ้งรายละเอียดเรื่อง พรบ.ชุมนุมฯ เพื่อเตือนชาวบ้านที่จะเข้าร่วมประชุม จากนั้นมีตัวแทนชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับการทำเหมืองทองคำเข้ายื่นหนังสือเรื่องขอคัดค้านการใช้พื้นที่ สปก.

เพจเหมืองแร่ฯ รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ในที่ประชุมสภา อบต. นั้น มีความเห็นที่ขัดแย้งกัน จากนั้นประธานสภา อบต. กล่าว เพื่อลดความตึงเครียดและกังวลว่าจะเกิดเหตุความรุนแรง จึงให้ที่ประชุมดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น โดยไม่ลงมติว่าเห็นชอบ อย่างไรก็ตามแม้ปิดประชุมไปแล้วเหตุการณ์ก็ยังไม่จบ ชาวบ้านทั้งหมดลงมารวมตัวกันข้างล่างอ่านแถลงการณ์ และแสดงความไม่พอใจต่อว่าสมาชิก อบต. บางคน จนทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจคุ้มกันออกจากพื้นที่ดังกล่าว

ฅนรักษ์บ้านเกิด อ.วังสะพุง จ.เลย ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีนี้โดยระบุว่า พื้นที่ มีความขัดแย้งดังนั้นจึงไม่อาจจะพิจารณาขอต่ออายุการใช้พื้นที่ป่าได้ตามระเบียบของกรมป่าไม้ พร้อมระบุด้วยว่า โดยหลักการการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไม่มีระบุว่าทำไปทำเหมืองแร่ แม้แต่ระเบียบที่จะนำที่ สปก. ไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่นยังอยู่ในกระบวนการ และถูกศาลปกครองกลางสั่งให้ถอดถอนเพราะ เป็นการออกกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นควรชะลอกระบวนการนี้ไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

“ไม่ว่าปืนหรือรถถัง อำนาจ เงินนายทุนกลุ่มไหน หรือความรุนแรงในรูปแบบใดๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนจิตใจที่รักบ้านเกิด รักแม่น้ำ รักภูเขา รักสิ่งแวดล้อมของเราได้” ฅนรักษ์บ้านเกิด ระบุ

แถลงการณ์ ฅนรักษ์บ้านเกิด

ต่อกรณีการประชุมสภาตำบลเขาหลวงเพื่อต่อลมหายใจการทำลายธรรมชาติและวิถีชุมชน

28 สิงหาคม 2558

 

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่บ้านของเราและเป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปถึงการสิทธิโดยชอบธรรมของมนุษย์ทั่วไป เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมที่เป็นเหมือนฐานเพื่อทำให้ชีวิตเรามั่นคง ปกป้องวิถีชีวิตที่เป็นเหมือนมรดกให้ ลูกหลานที่จะเกิดและใช้ชีวิตในบ้านของเรา ฅนรักษ์บ้านเกิดได้ยืนยันและยืนหยัดต่อสู้อย่างสันติ ดั่งที่ปรากฎมาตลอด แต่เรายังต้องถูกทำร้าย ทำลาย ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต สิทธิ ร่ายกาย กระทั่งชื่อเสียง ที่ถูกใส่ความอันเป็นเท็จต่างๆนานา ทั้งที่เราเองต่อสู้อยู่หลักความจริงและพร้อมพิสูจน์เสมอ และจะไม่กระทำการ อันป่าเถื่อนดั่งเช่นผู้คนที่ทำร้ายเรา สิ่งแวดล้อมที่ลูกหลานเราต้องใช้ชีวิตต่อไปปนเปื้อนสารพิษ วิถีชีวิตเรา ต้องเปลี่ยนจากเกษตรกรมาเป็นนักต่อสู้ สิทธิโดยชอบของเราถูกริดรอนบิดเบือนโดยผู้มีอำนาจเสมอ ร่างกายเราถูกทำร้าย เหตุการณ์ 15 พฤษภาคม 2557 คดีความต่างๆข้อหารักบ้านเกิดปกป้องชุมชน ชื่อเสียงเราถูกใส่ความต่างๆ เพื่อให้เป็นคนร้ายในสายตาของพี่น้องกันเอง เหตุการณ์ทั้งหมดถูกโยนให้เป็น ความผิดของเราชาวบ้านที่ไม่ก้มหัวให้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมที่พยายามทำร้ายทำลายเรา แต่ในความนึกคิดของเรานั้นหาเป็นดั่งคำเท็จที่ใส่ความ เราอยากจะถามต่อพี่น้องและสังคมว่านั้นเป็นสิ่งที่เรา ควรจะได้รับหรือไม่? เราต้องต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตเพราะมีการทำลายสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตใช่หรือไม่ เราตั้งกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเพราะมีอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นธรรมใช่หรือไม่? สาเหตุที่แท้จริงชุมชนเราขัดแย้งเพราะ ตั้งกลุ่มหรือตั้งเหมืองกันแน่?

 

วันนี้ก็เช่นกันความพยายามเปิดทำเหมืองทั้งระดับนโยบาย ระดับผู้ปฏิบัติการในสถานการณ์พิเศษเช่นนี้ปรากฏว่า มีตัวละครใหม่ๆ หลายตัวแสดงบทบาทที่ปากกล้าขึ้นมาหลังจากมีร่มไม้ให้อาศัย นำมาสู่การปกปิด บดบัง ทำลาย ความชอบธรรมของเราไปเสียแทบไม่เหลือ การประชุมสภาตำบลที่มีการผลัดดันจากเบื้องบนอย่างมีนัยยะ คล้ายจะนำการประชุมครั้งนี้ไปใช้ประโยชน์เพื่อจะปิดปากไม่ให้ชาวบ้านส่งเสียงความทุกข์ยากที่เผชิญอยู่ อีกทั้งระเบียบกฎหมายป่าไม้ได้ห้ามนำพื้นที่ที่มีความขัดแย้งระหว่างผู้ขอใช้พื้นที่ป่ากับชุมชนมาพิจารณา แต่กระบวนการก็ยังคงเดินอย่างหน้าตาเฉย ไม่สนใจความรู้สึกของชาวบ้าน หนังสือคัดด้านของเรา ความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ให้ชะลอกระบวนการ ตลอดจน กฎหมายของประเทศและสิทธิของเรา หากกระบวนการต่อลมหายใจให้การทำลายธรรมชาตินี้สำเร็จ ผลกระทบ จะเกิดขึ้นแก่ชุมชนเราอย่างมากกว่าที่เคยได้รับมาเมื่อในอดีต แม้ผู้มีอำนาจจะอ้างกฎหมายต่างๆเพื่อทำให้เรายอม แต่ด้วยความจริงเราจึงไม่สามารถที่จะยอมให้ได้ ความจริงที่ว่า มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดที่บ้านเรา ความจริงที่ว่าลูกหลานเราจะต้องใช้ชีวิตกับสารพิษ แม้จะยกกฎหมายชุมนุมมาห้าม หากเป็นสิ่งที่เราเชื่อเราจะทำ เราจะสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมแม้ผลลัพธ์จะออกมาเป็นเช่นไรก็ตาม วันนี้เพื่อวิถีชีวิต เพื่อบ้านเกิด เพื่อลูกหลาน เราจึงมาเพื่อบอกว่า

1. ขอให้การประชุมครั้งนี้จะชอบด้วยกฎหมาย ไม่ก้าวข้ามข้อเท็จจริงจริงที่เกิดขึ้นในบ้านเราเป็นพื้นที่ที่ มีความขัดแย้งไม่อาจจะพิจารณาขอต่ออายุการใช้พื้นที่ป่าได้ตามระเบียบของกรมป่าไม้

2. หลักการการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไม่มีระบุว่าทำไปทำเหมืองแร่ แม้แต่ระเบียบที่จะนำที่ สปก. ไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่นยังอยู่ในกระบวนการ และถูกศาลปกครองกลางสั่งให้ถอดถอนเพราะ เป็นการออกกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นควรชะลอกระบวนการนี้ไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

3. ไม่ว่าปืนหรือรถถัง อำนาจ เงินนายทุนกลุ่มไหน หรือความรุนแรงในรูปแบบใดๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนจิตใจที่รักบ้านเกิด รักแม่น้ำ รักภูเขา รักสิ่งแวดล้อมของเราได้

 

ด้วยความรัก

ฅนรักษ์บ้านเกิด

28 สิงหาคม 2558

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net