Skip to main content
sharethis

นายธีรยุทธ บุญมี อดีตผู้อำนวยการสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย บรรยายพิเศษหัวข้อ"สิทธิและอำนาจของประชาชน ในพิธีมอบรางวัลผลงานวิชาการสร้างสรรค์และสร้างผลสะเทือนทางสังคมและการเมือง หลังจากนั้นสื่อมวลชนได้สัมภาษณ์เขาเกี่ยวกับความคิดเห็นต่อ คณะกรรมการยุทธศาสร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.)

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานถึงคำให้สัมภาษณ์ของธีรยุทธว่า ไม่ขอตอบเพราะเป็นคำถามที่ชี้นำ แต่กังวลใจว่าสังคมไทยเวลานี้มีความเหนื่อยล้าและเบื่อการชุมนุม ทำให้มีแนวโน้มที่จะยอมรับระบบโบริตบูโรมากขึ้นเพื่อแลกกับความสงบของบ้านเมือง แต่คิดว่าระบบนี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้ เพราะเป็นการแก้ที่ปลายเหตุซึ่งจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เหมือนเราย้อนกลับไปในอดีต ทั้งนี้ เป็นห่วงบทเฉพาะกาลแนบท้ายรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับคปป. ซึ่งกำหนดวาระยาวนานถึง 5 ปี เพราะยาวนานเกินไป ทั้งถูกหลายฝ่ายมองว่าอาจเป็นการสืบทอดอำนาจ และยังไม่รู้ว่าจะมีคสช.ไปทำหน้าที่นี้ในคปป.ด้วยหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะที่ผ่านมาความนิยมของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเกิดขึ้นจากการเข้ามาควบคุมสถานการณ์บ้านเมืองไม่ให้เกิดความรุนแรง ประกอบกับบุคลิกส่วนตัวที่ดูตรงไปตรงมาและสังคมเชื่อว่าไม่ใช่คนทุจริต แต่เมื่อเวลาผ่านไปจะเริ่มมีคำถามมากขึ้นเพราะที่ผ่านมายังไม่มีการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมแม้แต่เรื่องเดียว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หมายความว่ากระแสความนิยมในตัวพล.อ.ประยุทธ์ กำลังจะตีกลับ หรือลดลงใช่หรือไม่ นายธียุทธ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงจุดนั้น แต่หากทิ้งเวลาผ่านไปอีกและยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง จะมีคำถามจากสังคมจะมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ อย่าคิดว่ารัฐบาลจะมีเสถียรภาพเช่นนี้ตลอดไป และตนเชื่อว่าปัญหาของชาติจะแก้ไขโดยการใช้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้ แต่ไม่ขอให้ความเห็นว่าควรหรือไม่ควรที่จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นอำนาจของสปช.

สำหรับส่วนของการบรรยายพิเศษ มติชนออนไลน์ รายงานว่า ประวัติศาสตร์ความคิด มีผลต่อการปฏิบัติในสังคม นักคิดของไทยมีจำนวนไม่มากนัก หากนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนใหญ่เป็นนักคิดที่ไปทำงานกับภาครัฐเสียมากกว่า สะท้อนว่าภาครัฐมีความเข้มแข็ง ภาคประชาสังคมไม่เข้มแข็ง ปัญญาชนไทยมีคุณูปการในประเด็นย่อยๆ เช่น ความเคารพในความแตกต่างหลากหลาย ทั้งวิถีชีวิตชาวบ้านในท้องถิ่น การให้คนรุ่นใหม่สนใจดูแลศิลปวัฒนธรรม สภาพแวดล้อมของประเทศ การต่อสู้เรื่องสิทธิความเป็นธรรมแก่สตรี เด็ก และคนพิการ ซึ่งเสรีภาพจึงสำคัญมากในการคิดทบทวนและสร้างสังคม การเป็นภาวะพิเศษ ฉุกเฉินก็ไม่ควรหยุดยั้งเสรีภาพทางความคิด

นายธีรยุทธกล่าวว่า นับตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่ม กปปส.จนเกิดการรัฐประหาร เขามีปัญหากับความคิดของตัวเองต่อเรื่องประชาธิปไตย เพราะเคยอยู่กับสังคมที่ต่อสู้เพื่อเรื่องนี้มากว่า40 ปี จึงต้องทบทวนเรื่องประชาธิปไตย การจะชักชวนคนมาร่วมแนวคิดของแต่ละคนจะต้องมั่นคงในเรื่องประชาธิปไตยพอสมควร  

"คนไทยมองประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ มากกว่าเป็นส่วนหนึ่งหรือองค์ประกอบของชีวิตที่ต้องพิทักษ์รักษา เราจึงไม่มีประชาธิปไตยแบบตะวันตกที่เข้มแข็ง ปัญหาที่ผมมองเป็นภาพกว้างๆ ปัญญาชนไทยที่ตื่นตัวหลังยุค 14 ตุลา โอบกอดเสรีภาพ สิทธิ ความเท่าเทียมที่สมาทานหลังได้มา แต่มีหลายคนที่เติบโตมาและเมื่อเขารู้สึกไม่ถูกกระทบกระเทือน หรือรู้สึกสงบเรียบร้อยดีในห้วงเวลานี้ ก็เป็นการมองว่าประขาธิปไตยสามารถหยุดพักได้" ธีรยุทธกล่าว

นอกจากนี้ นายธีรยุทธยังกล่าวอีกว่า นักการเมืองสมาทานประชาธิปไตยแต่ในตำแหน่งในรัฐสภาและการเลือกตั้ง ส่วนชาวบ้านบางส่วนสมาทานประชาธิปไตยแค่การเลือกตั้ง  จึงมองว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงขาดหายไปจากแต่ละส่วนของสังคม ส่วนกลุ่มทุนขนาดใหญ่แทบจะไม่สมาทานกับประชาธิปไตย มองแค่จ่ายเงินให้รัฐเพื่อได้โครงการมาแทน ทำให้ประชาธิปไตยเดินสะดุดหลายครั้ง เช่น 10 ปีที่ผ่านมามีการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง ดังนั้น ประชาธิปไตยต้องเข้าถึงชาวบ้าน-ชุมชนอย่างเเท้จริง เพราะที่ผ่านมาปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไขจนพอกขึ้นมาจนสู่การเดินขบวน มีความรุนแรง จนมีการรัฐประหารเกิดขึ้น

เขากล่าวว่า การแก้ปัญหาหลังมีวิกฤตการชุมนุมของกลุ่มกปปส.และการรัฐประหารของคสช.ยังใช้การแก้ปัญหาแบบรัฐธรรมนูญนิยม(Constitutionalism) ตั้งแต่ปี2540 มองว่าปัญหาวิกฤติจะแก้ได้ต่อเมื่อเขียนและแก้รัฐธรรมนูญให้ดี และตั้งคณะกรรมการร่างขึ้นมา ซึ่งคิดมาตั้งแต่ปี 2540 2550 จนถึงปัจจุบัน ในบทริบทที่คนสมาทานกับสีเสื้อเป็นส่วนมากแต่คนที่จะมองแบบเปิดกว้างและแก้ปัญหาเรากลับพลาดไป เรื่องนี้เป็นศิลปะของผู้นำเอง กลุ่มที่มีอำนาจควรขอความช่วยเหลือจากนักคิดหรือผู้ใหญ่ของบ้านเมืองได้ และมองว่าความสมานฉันท์จะเกิดจากคำสั่ง กฎหมาย การร้องเพลงไม่ได้ แต่ต้องมาจากความเต็มใจ ผ่านความจริงความถูกต้อง

เขาเห็นว่า ทหารและคสช.ยังคิดแบบวิชาชีพของตัวเอง จึงอยากให้เปิดความคิด จากที่ยังคิดอยู่กับแนวคิดรัฐ-ชาติ ความมั่นคง ควรมองเป็นประเทศ มองที่ประชาชน ชาวบ้าน สังคม มองกว้างขึ้นกว่ารัฐ-ชาติ เมื่อคิดต่างกัน แนวทางแก้ไขก็จะต่างกัน โจทย์คือเราจะเอาพลังจากชาวบ้านมาเป็นฐานแก้ปัญหาได้อย่างไร ปัญหาต่างๆ ทวีขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับไม่ขยายการแก้ไขไปยังฐานของประเทศ ทหารคิดถึงความมั่นคงเท่านั้นจึงคิดหนักถึงการกระจายอำนาจ ขณะที่กระทรวงมหาดไทยก็จะสูญเสียอำนาจแน่นอน ผ่านการกระจายสิทธิการจัดการตนเองของท้องถิ่น 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net