‘ลลิตา’เปิดใจศึกโซตัสดุริยางคศิลป์ เจตนาให้นิสิตฉุกคิด

หลังมีการโพสต์ข่มขู่และรุนแรงต่อการแสดงความเห็นของ ‘ลลิตา’ อาจารย์ม.มหาสารคาม จนเพจ ANTI SOTUS นำไปตอบโต้ ล่าสุด ‘ลลิตา’ ออกมาเปิดใจไม่คาดว่าเรื่องจะใหญ่ ไม่ติดใจเอาความ อยากให้นักศึกษาฉุกคิด และเริ่มกังวลเรื่องความปลอดภัย

เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมา เกิดกระแสในโซเชียลมีเดีย ต่อกรณีการรับร้องในคณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หลัง ลลิตา หาญวงศ์ อาจารย์ประจำภาคประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงกิจกรรมรับน้องของ คณะดุริยางคศิลป์ ซึ่งมีการบังคับให้นิสิตชายทุกคนโกนหัว ใส่ปลอกแขน ใส่เสื้อคล้ายเสื้อยันต์ และมีป้ายชื่อขนาดใหญ่คล้องคออยู่ทุกคน ซึ่งต้องแต่งกายในลักษณะนี้ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย และในช่วงเย็นรุ่นพี่จะให้นิสิตปี 1 ออกมายืนเข้าแถวริมถนนเพื่อร้องเพลง หรือทำกิจกรรมอะไรบางอย่าง โดยลลิตาได้แสดงความคิดเห็นว่า กิจกรรมในลักษณะนี้ อาจจะไม่ได้เป็นการทำให้มีผลการเรียนดีขึ้น และไม่ได้ช่วยให้เข้าสังคมเก่งขึ้น เป็นเพียงการทำในลักษณะเลียนแบบกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ไม่จบสิ้นเสียที

ความคิดบนเฟซบุ๊กของลลิตา ที่มาภาพจากเพจโหดสัสV2

จากความคิดเห็นดังกล่าว นำไปสู่ความไม่พอใจของนิสิตคณะดุริยางคศิลป์เป็นอย่างมาก มีการโพสต์เฟซบุ๊กตอบโต้การแสดงความคิดเห็นของลลิตา ทั้งเป็นที่เป็นการแสดงความคิดด้วยเหตุผล และแสดงความคิดเห็นในลักษณะของการข่มขู่ คุกคาม ทั้งโดยวาจา และการแสดงอาวุธ เช่นดาบซามูไรคาตานะ มีดสั้น และอาวุธปืน  (อ่านได้ที่เพจ ANTI SOTUS)

ล่าสุด มติชนออนไลน์  ได้สัมภาษณ์ ปรีชา ประเทพา ผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยระบุว่า การรับน้องของคณะดุริยางคศิลป์ เป็นแบบนี้มาทุกปี ซึงทางมหาลัยฯ ได้กำชับมาตลอด โดยมอบหมายให้รองอธิการบดีฝ่ายกิจกรรมนิสิต ให้ดูแลเรื่องการรับน้อง ให้มีการรับน้องอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งก็ไม่มีความเสียหายหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อน

ต่อมา อาจารย์ได้เอาไปโพสต์ขึ้นเฟซบุ๊ก เด็กคณะดุริยางค์ไปเห็นก็เกิดความไม่พอใจ และรู้สึกว่าตนเองถูกละเมิด ต่อกรณีที่มีนิสิตโพสต์เฟซบุ๊กข่มขู่อาจารย์นั้น เห็นว่า เป็นเรื่องส่วนบุคคล หากอาจารย์เสียหาย อาจารย์ก็สามารถร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาได้  การละเมิดสิทธิส่วนบุคคลถือเป็นเรื่องภายนอก ไม่ควรเอามหาวิทยาลัยไปยุ่งเกี่ยว

ตัวอย่างความคิดเห็นของนิสิตคณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

00000

 

ต่อกรณีที่เกิดขึ้น ลลิตา ให้สัมภาษณ์ ‘ประชาไท’ ว่า หลังเกิดกรณีต่างๆ ขึ้นก็รู้สึกตกใจอยู่เหมือนกัน คิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะความคึกคะนองของนักศึกษา แต่อีกส่วนหนึ่งมีโอกาสได้ทราบทีหลังว่ามีอาจารย์ที่ไปพูดในลักษณะเดียวกันทำให้นักศึกษาฮึกเหิม เรื่องจึงไม่จบ เบื้องต้นทราบว่าคณบดีของสองฝ่าย ทั้งคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์กับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ได้มีการหารือกันเมื่อวานนี้ (26 ส.ค.) ยังไม่ทราบในรายละเอียดการหารือแต่คาดว่าเป็นการประนีประนอมไกล่เกลี่ย และจนถึงวันนี้สถานการณ์ดูเหมือนยังเหมือนเดิม

“นิสิตอาจไม่ได้ตั้งใจจะใช้ความรุนแรง แต่สิ่งที่แสดงออกมามันเป็นความรุนแรง เป็นข้อความเหยียดเพศ เป็น hate speech ถ้าเรียกหรูๆ ก็คือมันลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จริงๆ ตอนแรกอ่านแล้วยังขำๆ ด้วยซ้ำว่าเป็นกันถึงขนาดนี้เชียวหรือ แต่เมื่อเรื่องราวมันแพร่ออกไปโดยทางเพจ ANTI SOTUS คงเห็นว่าสนใจเลยขอเอาไปลง แล้วก็มีการแชร์ต่อๆ กัน มันเลยการเป็นเรื่องขึ้น” ลลิตากล่าว

“ตอนนี้พยายามนิ่งที่สุด ไม่อยากให้เป็นเรื่อง ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ขนาดนี้เลย โชคดีที่ไปประชุมที่อื่น ถามว่ากลับไปเป็นกังวลเรื่องความปลอดภัยไหม ก็เป็นกังวลอยู่เหมือนกัน” ลลิตากล่าว

เมื่อสอบถามถึงเหตุผลที่ต้องปิดเฟซบุ๊กส่วนตัว ลลิตา กล่าวว่า หลังจากโพสต์สเตตัสเมื่อเวลา ประมาณเที่ยงของวันที่ 24 ส.ค.วันรุ่งขึ้นมีคนมาขอเป็นเพื่อนจำนวนมาก มีนักศึกษานับสิบคนส่งข้อความมาทางเฟซบุ๊กเรียกร้องให้ออกมาขอโทษ บางคนใช้คำพูดหยาบคาย บางคนท้าทายและต่อว่าว่าไม่เข้าใจประเพณีอันดีงามของเขา จึงตัดสินใจปิดเฟซบุ๊กเพื่อหวังให้เรื่องสงบลงโดยเร็ว เนื่องจากช่วงนี้มีงานวิจัยที่ต้องเร่งทำให้เสร็จและต้องการสมาธิ

“ที่โพสต์เพราะไปทานกลางวันแล้วเห็นพอดี จริงๆ ก็เห็นบ่อยมาก แต่วันนั้นรู้สึกทนไม่ได้ บางทีอยู่ออฟฟิศดึกๆ ก็จะเห็นเด็กๆ ต้องมายืนกลางถนนร้องเพลง เด็กๆ อาจยินยอมก็ได้ แต่เรื่องมีอยู่ประเด็นเดียวเลยคือ คณะนี้เขาเป็นศิลปิน เป็นนักดนตรี เขาไม่ควรถูกกรอบความคิดตั้งแต่ต้น เขาน่าจะได้มีความคิดเสรี เพื่อเอาไปแต่งเพลง หรือสร้างสรรค์ดนตรี” ลลิตากล่าว

เมื่อถามว่าอยากฝากถึงนักศึกษาที่โพสต์ข่มขู่หรือไม่อย่างไร ลลิตากล่าวว่า อยากให้นิสิตฉุกคิดในสิ่งที่พูดก่อนโพสต์ด้วยถ้อยคำหยาบคายหรือรุนแรง เพราะเหตุเริ่มแรกนั้นอาจารย์เพียงต้องการให้ฉุกคิดว่าโซตัสช่วยเรื่องความเป็นพี่เป็นน้อง ช่วยให้สถาบันเข้มแข็ง ช่วยในการสร้างสรรค์งานดนตรีจริงหรือไม่ ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายในอนาคตจริงหรือเปล่า เนื่องจากตัวเองก็เคยทำกิจกรรมมาก่อน เป็นประธานเชียร์ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งไม่มีการว๊าก พูดกันด้วยเหตุผล และทำให้คนร้อยละ 60 รู้สึกอยากเข้าห้องเชียร์ด้วยตัวเขาเอง

“จากกิจกรรมนักศึกษา เมื่อต่างคนต่างเติบโตมา เราก็ยังมีคอนเน็กชั่นที่ดีมากและกว้างขวาง เพราะเราปฏิบัติกับน้องด้วยความเท่าเทียม มีเหตุมีผล ไม่ผ่านการบังคับ ส่วนตัวเชื่อว่าโซตัสไม่ได้ทำให้ใครรักกันมากขึ้น เพราะเราเติบโตมาจากระบบไม่ว๊าก และมันพิสูจน์แล้วว่าทำให้คนรักได้มากกว่าการสมยอม” ลลิตา กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท