เสวนา: สิทธิพิเศษ...เพศที่ถูกเลือกกับความไม่เท่าเทียมทางเพศที่ถูกมองข้าม

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2558 กลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน (CCP) และ กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมกันจัดงานเสวนา UNSEEN: สิทธิพิเศษ...เพศที่ถูกเลือก ณ ห้องโสตทัศนูปกรณ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
 

เคท ครั้งพิบูลย์ นักวิชาการด้านเพศศึกษา กล่าวว่า ในปัจจุบันสถานะของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ในประเทศไทยนั้นยังอยู่ในรูปแบบของการได้รับพื้นที่ ไม่ได้รับการยอมรับ เช่น การทำงานกับภาครัฐนั้น รัฐต้องการให้เรามีตัวตนอย่างที่รัฐต้องการ ประเด็นสำคัญ คือ รัฐต้องการให้เรามีตัวตนแบบใด โดยมากรัฐยังคงต้องการให้เราอยู่ในกรอบสองเพศ คือ ชายกับหญิง กล่าวคือ วิธีคิดแบบสองเพศในประเทศไทยนั้นเข้มแข็งมากๆ  และยังคงพบเห็นอาการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน (Homophobia) และ เกลียดกลัวคนข้ามเพศ (Transphobia) ในระดับปฏิบัติอยู่ทั่วไป

อติวิชช์ ปัทมากรณ์ศิริกุล ตัวแทนจากกลุ่มเสรีเกษตร กล่าวว่า ไม่ควรมีคำมาจำกัดความเรื่องเพศ ในเมื่อเรามีความเท่าเทียมกัน การจัดจำแนกคนด้วยเพศนั้นอาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เช่นเดียวกับการบังคับให้ต้องแต่งกายด้วยชุดที่ไม่ตรงเพศสภาพ เพราะนั่นก็ถือเป็นการกีดกันทางเพศ

ในเรื่องการให้พื้นที่และการยอมรับนั้น  สังคมมองผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงข้ามเพศว่าเป็นสิ่งที่ให้ความบันเทิง เป็นตัวตลก ซึ่งเห็นได้ชัดในรายการโทรทัศน์,และในสังคม ต่างจากการมองเหมือนอย่างคนที่มีเพศวิถีตรงกับเพศโดยกำเนิดทั่วไป

กฤตธีพัฒน์ โชติฐานิตสกุล ประธานเครือข่ายผู้ชายข้ามเพศแห่งประเทศไทย กล่าวว่าผู้ชายข้ามเพศนั้นถือเป็นชนกลุ่มน้อย แม้แต่ในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วยกันก็ยังไม่เข้าใจผู้ชายข้ามเพศ นอกจากนี้ผู้ชายข้ามเพศยังถูกกรอบของเพศชชายกดทับอีกว่าต้องชอบผู้หญิงเท่านั้น ซึ่งบางครั้งผู้ชายข้ามเพศอาจชอบผู้ชายก็ได้ ชอบผู้หญิงข้ามเพศก็ได้ หรือชอบเลสเบี้ยนก็ได้ เพราะการข้ามเพศนั้นไม่ได้เกี่ยวกับรสนิยมทางเพศ  ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงกรอบชายหญิงที่เข้มแข็งจนแม้กระทั่งในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งเกย์และเลสเบี้ยน ก็ยังต้องกำหนดบทบาทกันว่าเป็นใครเป็น “หญิง” ใครเป็น “ชาย”

กฤตธีพัฒน์กล่าวต่อว่า ยังมีแง่ของของการยอมรับในสังคมยังมีประเด็นอีก เช่น คำที่กล่าวว่า “ลูกจะเป็นอะไรก็ได้ขอให้เป็นคนดี” นั้นหมายความว่า ผู้มีความหลากหลายทางเพศทุกคนจำเป็นต้องเป็นคนดีหรือเปล่า? แล้วคนดีวัดกันอย่างไร? ในขณะเดียวกัน แม้แต่สื่อซึ่งถูกมองว่าเป็นที่ทางของผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นก็กดทับคนกลุ่มนี้เช่นกัน เช่น เพศที่สามบางคนไปประกวดความงามเพื่อให้ได้มงกุฏ โดยหวังว่าเมื่อคนอื่นยอมรับตนแล้ว ครอบครัวก็จะยอมรับด้วย

ในขณะเดียวกันผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ต้องการประกอบอาชีพในสายงานอื่นๆ เช่น สายวิชาการ สายกฎหมาย สายสาธารณสุข ก็ถูกกดทับด้วยความคาดหวังจากสังคมและข้อกำหนดต่างๆ ขององค์กร ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้แต่งหนังสือเรื่องนายใน กล่าวถึงศัพท์ต่างๆ ที่ใช้ในการเรียกขานผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น เพศที่สาม สาวประเภทสอง เพศทางเลือก และเพศนอกขนบ ว่าศัพท์เหล่านี้แสดงให้เห็นทัศนคติของสังคม และการจัดลำดับชนชั้น ซึ่งน่าตั้งคำถามว่ากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเองก็ตกอยู่ในกรอบชนชั้นทางเพศด้วยเหรือเปล่า 

ตัวอย่างเช่น “เพศที่สาม” เป็นการจัดลำดับชั้นของเพศ คล้ายคลึงกับ ”เพศทางเลือก” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่เพศหลักที่สำคัญแต่เป็นเพียงตัวเลือกนอกเหนือไปจากเพศหลักคือชายและหญิง และคำว่า “เพศนอกขนบ” ก็เป็นการยอมรับว่าขนบมีอยู่จริง และเรากำลังจะสร้างขนบใหม่หรือเปล่า

ชานันท์ยังกล่าวถึงสถานะของผู้หญิงในสังคมไทยด้วย โดยตั้งข้อสังเกตว่าในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ตอนต้นๆ สื่อมักเรียกยิ่งลักษณ์ว่า นายกรัฐมนตรีหญิง แต่ไม่เคยใช้คำว่านายกรัฐมนตรีชาย การใช้คำเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า สื่อยังมีสำนึกเรื่องผู้ชายเป็นใหญ่

นอกจากนี้ชานันท์ยังตั้งคำถามด้วยว่า การที่ไม่ค่อยมีคนท้วงติงการสร้างวาทกรรมเหมารวมเพศชายและเพศหญิงแต่มีคนท้วงติงการสร้างวาทกรรมเหมารวมผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นแสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศกำลังได้รับสิทธิพิเศษหรือเปล่า และกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกมองว่าเปราะบางมากจนต้องได้รับความคุ้มครองมาเป็นพิเศษใช่หรือไม่ และในขณะเดียวกันเมื่อมีคนออกมาท้วงติงการโจมตีคนที่เหยียดเพศก็มักมีการโต้กลับในลักษนะที่เหมือนกับการล่าแม่มดเขา แทนที่จะให้ความรู้หรือสร้างความเข้าใจ

ในครึ่งหลังของการเสวนาจะเป็นในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิและกฎหมายเกี่ยวกับLGBT

เคท ครั้งพิบูลย์ กล่าวว่า การจ้างงานผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่เป็นธรรม เช่น บางองค์กรตั้งกฎเกณฑ์ไว้ชัดเจนว่าไม่รับผู้หญิงข้ามเพศเข้าทำงานโดยเด็ดขาด ซึ่งนโยบายเช่นเป็นการริดรอนทางเพศอย่างร้ายแรง  ส่วนอาชีพบางอาชีพ เช่น ทนายความ ผู้พิพากษา แพทย์ หรือ ครู โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูในระดับชั้นประถมและมัธยม ผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ประสบปัญหาไม่สามารถแต่งกายให้ตรงกับเพศสภาพได้  โดยในกรณีแพทย์และครูอาจมีข้อยกเว้นบ้างในกรณีที่งมีอำนาจในระดับหนึ่งและหรือมีเส้นสาย

อย่างไรก็ตามล่าสุดรัฐบาลได้มีออกพรบ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศขึ้นมาและจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ ซึ่งต้องคอยดูต่อไปว่ากฎหมายจะบังคับใช้ได้จริงหรือไม่ สุดท้ายเคทสรุปไว้อย่างน่าสนใจเมื่อเราอยู่ห่างจากอำนาจ เราจะเห็นการกดขี่ในสังคมได้ชัดเจนขึ้น

กฤตธีพัฒน์ กล่าวย้ำในเรื่องการทำงานของผู้มีความหลากหลายทางเพศว่าประสบปัญหาหลายอย่าง ทั้งการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล (HR) แฉเรื่องเพศกำเนิด ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในสวัสดิภาคของคนข้ามเพศ เช่น ผู้ชายข้ามเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ชายข้ามเพศที่ยังไม่ได้แปลงเพศจนเสร็จสมบูรณ์ยิ่งไปกว่านั้นทั้งองค์กร นายจ้าง และรัฐก็ยังไม่มีกฎหมายที่จะมาดูแลคนกลุ่มนี้อีกด้วย

เมื่อกล่าวถึงสถานการณ์ด้านการแพทย์ก็ยังมีปัญหาอีกหลายประการ เช่น การสอบถามเรื่องเพศกำเนิดทั้งๆ ที่ก็แสดงอยู่ในบัตรประชาชนแล้ว และการเรียกชื่อโดยใช้คำนำหน้านามตามบัตรประชาชน เป็นต้น ด้านองค์ความรู้ทางการแพทย์มีปัญหา คือ บุคคลากรด้านการแพทย์มักไม่ทราบว่าจะดูแลผู้ป่วยข้ามเพศอย่างไร แม้แต่กระบวนการให้การข้ามเพศก็มีปัญหาเพราะมีหมอเพียงไม่กี่คนที่ยินดีจะผ่าตัดให้ อีกทั้งการข้ามเพศจากหญิงเป็นชายยังใช้ระยะเวลายาวนานแต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัดกว่าด้วย

กฤตธีพัฒน์ตัวแทนจากเครือข่ายผู้ชายข้ามเพศทิ้งท้ายว่า บางคนอยากมองว่าปัญหาเรื่องการกดทับอัตลักษณ์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น การแต่งกาย คำเรียกขาน เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ในความเป็นจริงนั้นสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อตัวตนของผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนข้ามเพศ อาจทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นโรคซึมเศร้าได้เนื่องจากถูกปฏิเสธตัวตน ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือระบบการศึกษาไม่ได้ช่วยสร้างความเข้าใจ สร้างพื้นที่ หรือสร้างโอกาสให้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่กลับส่งเสริมเป็นกดทับให้รุนแรงยื่งขึ้นอีก

ชานันท์ ชี้ให้เห็นปัญหาในประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของผู้มีความหลากหลายทางเพศในไทยว่า ส่วนมากจะเน้นเรื่องอัตลักษณ์ เช่น Gay Parade ในไทย แต่ไม่ค่อยรณรงค์ด้านสิทธิ ต่างจากในโลกตะวันตกซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องของสิทธิมาก ดังนั้นผู้มีความหลากหลายทางเพศควรจะต้องเคลื่อนไหวทั้งในเรื่องอัตลักษณ์และสิทธิไปพร้อมๆ กัน เพื่อสร้างพื้นที่ให้กับตัวเองและเพื่อให้ได้รับการยอมรับที่แท้จริงจากสังคม

ช่วงท้ายของงานเสวนาครั้งนี้ อติวิชช์จากกลุ่มเสรีเกษตร กล่าวถึงเรื่องอาชีพว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองและเศรษฐกิจ เป็นเรื่องของทางเลือก และใครมีอำนาจต่อรองมากกว่า เช่น ถ้าสถานที่ทำงานมีอำนาจต่อรองมากกว่า คุณก็ต้องยอมเปลี่ยนตัวเอง

สุดท้ายพิธีกรกล่าวสรุปว่า แนวคิดสองเพศ คือ เพศชายและเพศหญิงนั้นมีมาเนิ่นนานและเข้มแข็งมาก เราจำเป็นต้องร่วมกันสร้างความตระหนักรู้ให้คนในสังคม ให้พวกเขาหลุดจากกรอบแนวคิดสองเพศและเข้าใจความหลากหลายทางเพศมากขึ้น เพื่อให้ทุกคนมีพื้นที่ในสังคมและได้รับการยอมรับอย่างแท้จริงและเท่าเทียมกัน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท