Skip to main content
sharethis
 
รองปลัด พม. ยันให้ความสำคัญด้านพัฒนาฝีมือแรงงาน กลุ่มสตรี กลุ่มผู้สูงอายุ
 
นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ นายประชาคม กล่าวระหว่างการอภิปราย เรื่อง สภาพปัญหาและแนวทางการพัฒนาฝีมือแรงงานของประเทศ ว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ให้ความสำคัญด้านพัฒนาฝีมือแรงงานในกลุ่มสตรี กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มคนพิการ ซึ่งเป็นกลุ่มนอกระบบที่ต้องเข้าไปดูแล เนื่องจาก กลุ่มสตรีเสี่ยงต่อการถูกแสวงหาประโยชน์ในทางที่ไม่เหมาะสม โดย กระทรวงฯ ได้เข้าไปดูแลให้มีการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ และส่งเสริมสตรี เรื่อง โอกาสการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งให้มีส่วนร่วมในสังคมอย่างเท่าเทียม และตั้งศูนย์ฝึกอาชีพสำหรับกลุ่มสตรีและกลุ่มเยาวสตรี ที่มีปัญหาด้านสังคม 8 แห่งทั่วประเทศ สำหรับผู้สูงอายุนั้น ได้ตั้งกรมกิจการผู้สูงอายุ และตั้งกลุ่มการส่งเสริมจัดตั้งพัฒนาอาชีพชีวิตและผู้สูงอายุ อำเภอละ 1 แห่ง ต้องการให้ผู้สูงอายุมีศักยภาพทำงานในชุมชน รวมทั้งการตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ ซึ่งได้รับความสนใจมาก ส่วนกลุ่มคนพิการ พบปัญหาเรื่องความสะดวกในการเดินทางไปยังที่ทำงาน โดยขณะนี้กำลังเริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหา ด้านการเดินทาง และสถานที่รับทำงาน
 
(ไอเอ็นเอ็น, 20/8/2558)
 
นายกเปิดโครงการ กอช. สร้างความมั่นคงประชาชนหลังเกษียณ
 
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวระหว่างเป็นประธานพิธีเปิดกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ว่า เป็นวันดีที่ทุกคนจะช่วยกันสร้างความดีอีกครั้ง กองทุนนี้ถือเป็นหลักประกันที่จะสร้างความมั่นคงที่ดีในอนาคตให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย และไม่ได้รับสิทธิในการรับการสนับสนุนในระบบบำเหน็จบำนาญหรือสวัสดิการของภาครัฐ ทั้งยังเป็นการแสดงเจตนารมย์ของรัฐบาลที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการสร้างความเข้มแข็ง แตกต่างจากวิธีเดิมที่ให้รัฐบาลเป็นผู้ช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่ทำให้เกิดความยั่งยืน
 
“โครงการดังกล่าวเป็นการสร้างเสริมการออมให้ประชาชนได้รับโอกาส เพื่อเป็นหลักประกันให้กับสมาชิกได้รับเงินสนับสนุนรายเดือนหลังเกษียณหรือช่วงที่สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้วย ความยากจนเป็นสาเหตุทำให้เกิดความขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาเต็มที่ แม้จะมีข่าวว่าคะแนนความนิยมของรัฐบาลจะตกลงไป แต่ผมไม่ตกใจ ไม่กลัว เพราะไม่มีฐานคะแนนเสียง แต่หวั่นว่าหากทุกคนกลัวแต่เรื่องคะแนนเสียง ในอนาคตจะเกิดปัญหาตามมาอีก และผมจะคิดโครงการกองทุนขึ้นมาอีกเพื่อช่วยเหลือคนทุกระดับทุกกลุ่มให้เท่าเทียม และยังมีอีกหลายกองทุนที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ” นายกรัฐมนตรี กล่าว
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เมื่อรัฐบาลพยายามคิดโครงการที่ดี ๆ ออกมา แต่ยังมีคนบางกลุ่มออกมาโจมตีและคัดค้านทุกเรื่อง เหมือนรัฐบาลจะทำสิ่งใดก็ผิดไปหมด คนพวกนี้สมองคิดสวนทางกับรัฐบาล จึงอยากถามว่าเป็นคนประเทศไหน โดยเฉพาะพวกคอลัมนิสต์ ที่เขียนโจมตี ซึ่งรัฐบาลมีรายชื่อไว้หมดแล้ว และไม่กลัว หากเป็นคนไม่ดี ไม่ได้ทำเพื่อประเทศ หากไม่หยุดอาจจะรณรงค์ชักชวนประชาชนหยุดซื้อหนังสือพิมพ์
 
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เป็นผู้รับสมัครให้สมาชิกกอช.คนแรก คือนายประมาณ สว่างญาติ เกษตรดีเด่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วย
 
(สำนักข่าวไทย, 20/8/2558)
 
กอช.แนะวางเป้าหมายก่อนออม จ่ายแค่ขั้นต่ำไม่พอรับบำนาญตลอดชีพ
 
นายสมพร  จิตเป็นทม เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กล่าวว่า กอช.จัดตั้งขึ้นมาจากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ต้องการส่งเสริมให้คนไทยมีการออมเงินไว้ใช้ยามแก่ชราและไม่มีลูกหลานคอยเลี้ยงดู โดยหลักการของ กอช.ต้องการให้ประชาชนสะสมเงินของตัวเองส่วนหนึ่งกับเงินสมทบของรัฐบาลอีกส่วนหนึ่ง เป็นการช่วยกันออม จะได้สร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองในอนาคต  ทั้งนี้เป้าหมายแรงงานอกระบบที่อยากให้สมัครเป็นสมาชิก กอช. จะเป็นกลุ่มที่ไม่มีการคุ้มครองโดยรัฐ เช่น อาชีพค้าขาย คนขับแท็กซี่ คนมอเตอร์ไซค์รับจ้าง  เกษตรกร  ทนายความ นักบัญชี และรวมไปถึงนักเรียน นักศึกษาที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จนถึงอายุไม่เกิน 60 ปี สามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกได้ในวันที่ 20 สิงหาคมนี้ได้  
 
ส่วนประชาชนที่มีอายุเกิน 60 ปี เช่น ข้าราชการเกษียณ หรือพนักงานเอกชนที่เกษียณจากการทำงานแล้ว แต่อยากเข้าเป็นสมาชิกในลักษณะดังกล่าว คงต้องรอให้กฎหมายอีกฉบับมีผลบังคับใช้ก่อน คาดว่าจะเป็นภายในเดือนกันยายน 2558 ซึ่งสามารถสมัครเป็นสมาชิกได้ในช่วงโปรโมชั่นในช่วง  1 ปีแรกนี้ และสามารถออมเงินต่อเนื่องได้อีก 10 ปีหลังจากนั้นจึงจะได้รับเงินคืน
 
นายสมพรกล่าวต่อว่า ก่อนจะสมัครเข้าเป็นสมาชิก กอช. อยากให้ทุกคนตั้งเป้าหมายก่อนว่าจะออมเงินเพื่ออะไร จะออมเพื่อเก็บเงินก้อนไว้ใช้ยามเกษียณหรืออยากได้บำนาญในวงเงินที่สูงพอเลี้ยงชีพไปจนถึงได้รับโบนัสจากรัฐบาล เพราะหากจะออมเงินเพียงขั้นต่ำเพียงเดือนละ 50 บาท หรือปีละ 600 บาท อาจจะไม่เพียงพอสำหรับการคำนวณจ่ายบำนาญคืนเมื่ออายุ 60 ปี จึงอยากให้ออมในจำนวนที่มากพอ เพราะยิ่งออมมากยิ่งได้เงินบำนาญมากและได้โบนัสเยอะตามไปด้วย 
 
“คนที่มีเงินมากควรออมมาก ส่วนคนมีน้อยหรือไม่มีก็ไม่จำเป็นต้องออมเงินทุกเดือน ทาง กอช.ค่อนข้างจะยืดหยุ่นตรงนี้ เพราะเข้าใจดีว่าแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ ปีไหนจะไม่ออมก็ได้ หรือกรณีที่สมัครเข้ามาแล้วภายหลังเข้าไปอยู่ในระบบกองทุนประกันสังคมจะไม่ลาออกและส่งเงินให้ กอช.บริหารต่อก็ได้ แต่ก็จะเสียสิทธิการได้รับเงินสมทบจากรัฐบาล หรือภายหลังว่างงานกลับเข้ามาอยู่ใน กอช.อีกก็ได้ ตราบใดที่ยังไม่แจ้งขอลาออก ส่วนการจะเดินเข้าไปฝากเงินที่แบงก์ทุกเดือนอาจจะไม่สะดวก แนวทางที่ดีอยากแนะนำให้ฝากปีละครั้ง เพราะจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของ กอช.ที่ต้องจ่ายให้ 3 แบงก์รัฐ คือ ออมสิน กรุงไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือธ.ก.ส.ด้วย” นายสมพรกล่าว
 
(คมชัดลึก, 20/8/2558)
 
อนุ กมธ.ชงลดภาระบัตรทอง จ่ายสมทบต่อได้สิทธิประกันสังคม
 
พ.ต.ท.หญิง ฐิชาลักษณ์ ณรงค์วิทย์ ที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการปฏิรูปการแรงงาน ด้านประกันสังคม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า กองทุนสุขภาพของไทย 3 ระบบนั้น ความจริงแล้ว สิทธิประกันสังคมควรจะเป็นสิทธิที่ดีที่สุด เนื่องจากผู้ประกันตนร่วมจ่ายสมทบ ต่างจากสิทธิข้าราชการและบัตรทอง ที่งบฯ มาจากรัฐบาล ซึ่งการจ่ายสมทบของประกันสังคมเป็นการจ่ายก่อนเข้ารับการรักษาในอนาคต แต่เมื่อเกษียณอายุแม้ว่าจะได้รับเงินบำนาญชราภาพ แต่สิทธิการรักษาโอนไปที่บัตรทอง ทำให้เกิดภาระด้านงบประมาณขึ้น ซึ่งการจัดกองทุนแบบนี้ในต่างประเทศจะให้สมทบต่อเพื่อให้สิทธิรักษาต่อ
 
ที่ผ่านมา มีความพยายามเสนอประเด็นดังกล่าว เพื่อให้ลดภาระของกองทุนบัตรทอง และลดค่านิยมว่าจะต้องรักษาฟรี แต่เรื่อง ดังกล่าวไม่ผ่านการพิจารณา และไม่ผ่านในการบรรจุลงในร่างพ.ร.บ. ประกันสังคมใหม่ ซึ่งผ่านการเห็นชอบของสนช.ไปแล้ว
 
ด้านนายรักษ์ศักดิ์ โชติชัยสถิตย์ รองเลขาธิการ สปส. กล่าวว่า ถือเป็นแนวความคิดที่ดี ข้อเท็จจริงคือแม้กฎหมายจะกำหนดอายุเกษียณของผู้ประกันตนไว้ที่อายุ 55 ปี แต่หากนายจ้างยังคงจ้างงานต่อไปเรื่อยๆ ลูกจ้างไม่คิดจะลาออก ก็ยังคงจ่ายเงินสมทบและอยู่ในสิทธิประกันสังคมตามมาตรา 33 พ.ร.บ.ประกันสังคม คนที่ไม่อยู่ในระบบต้องการได้รับสิทธิก็สมัครเป็นผู้ประกันตนได้ ซึ่งสิทธิประโยชน์คือเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ เงินค่าทำศพ เงินบำเหน็จชราภาพ แต่สิทธิการรักษาพยาบาลยังคงเป็นบัตรทอง
 
ส่วนคนลาออกจากงาน ในระบบประกันสังคมแล้วจะยังคงสิทธิการรักษาไว้ได้ ไม่ต้องถูกโอนย้ายไปสิทธิบัตรทอง สมัครเป็น ผู้ประกันตนต่อได้ โดยจ่ายเงินสมทบตามมาตรา 39 เดือนละ 432 บาท จะได้รับสิทธิเช่นเดียวกับผู้ประกันตนมาตรา 33 คือเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร และชราภาพ ยกเว้นกรณี "ว่างงาน" ที่ไม่ครอบคลุม อยู่ที่ความสมัครใจของผู้ประกันตน
 
(ข่าวสด, 20/8/2558)
 
กนง.เฝ้าระวังสัญญาณเศรษฐกิจยังระส่ำ แรงงานนอกภาคเกษตรมีรายได้ลดลง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) โดย กนง.ยังเห็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยที่จะขยายตัวต่ำลงกว่าประมาณการเดิมที่ ธปท.คาดไว้ที่ 3% มากขึ้น โดยแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ ยังคงมาจากภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ ที่ทำได้ดีต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถชดเชยแรงส่งของการใช้จ่ายในประเทศและการส่งออกสินค้าที่อ่อนแรงลงได้ ขณะที่ปัจจัยลบมาจาก 2 เรื่อง คือ
 
1.การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชีย ทำให้การส่งออกสินค้า มีแนวโน้มหดตัวมากขึ้น แม้การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมีผลช่วยพยุงการส่งออกสินค้าได้บ้าง 2 ภัยแล้งที่ส่งผลลบเพิ่มเติมต่อการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน ผ่านรายได้เกษตรกร และความเชื่อมั่นที่ปรับลดลง ทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่ชะลอการลงทุน ทั้งนี้ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป และความเสี่ยงที่ปรับสูงขึ้น กนง.เห็นถึงความจำเป็นของการติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะส่วนที่ผลกระทบต่อภาวะการจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนในภาคเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยลดลง ซึ่งจำนวนชั่วโมงการทำงานที่ต่ำลง ส่งผลลบต่อระดับรายได้ การบริโภค ความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือน
 
สาเหตุของการปรับลดชั่วโมง การทำงานนอกภาคเกษตรว่า เกิดจาก 2 ปัจจัย คือ 1. เป็นการปรับลดชั่วโมง การทำงานตามเศรษฐกิจที่ชะลอตัว 2.ได้รับผลกระทบมากจากปัญหารายได้เกษตรตกต่ำ และภัยแล้ง ทำให้บางส่วน โยกย้ายออกจากภาคเกษตร ไปหางานทำชั่วคราวในภาคการผลิตและภาคบริการ โดยมีชั่วโมงการทำงานต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ทำให้ประเด็นการจ้างงาน รายได้ของครัวเรือน ที่ กนง.ต้องติดตามสัญญาณความเปราะบางของเอสเอ็มอี ซึ่งได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า
 
(ไทยรัฐ, 21/8/2558)
 
โรงงานโคราชอ่วมถูกยกเลิกออร์เดอร์ สูญ 16 ล้านบาทต่อเดือน-พนง.หายเกือบครึ่ง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากเศรษฐกิจของประเทศไทยซบเซาลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคธุรกิจการส่งออก ซึ่งไม่มีออร์เดอร์สั่งเข้ามา ส่งผลกระทบต่อโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ทำให้ช่วงตั้งแต่ต้นปี 2558 เป็นต้นมา มีโรงงานอุตสาหกรรมปิดตัวแล้วกว่า 20 แห่ง
 
ล่าสุดวันที่ 21 ส.ค. บริษัทสตาร์ ซินเธติค ยานส์ จำกัด ภายในเขตอุตสาหกรรมสุรนารี ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเส้นใยสังเคราะห์สำหรับพรมและเฟอร์นิเจอร์ ต้องประสบกับปัญหาขาดเงินทุนหมุนเวียนอย่างหนัก หลังจากถูกบริษัทผลิตเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ของโลก สัญชาติสวีเดน ยกเลิกสั่งออร์เดอร์ทั้งหมด แล้วหันไปสั่งออร์เดอร์จากประเทศอินเดีย และประเทศจีนแทน
 
โดยให้เหตุผลว่ามีราคาถูกกว่า เพราะมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าประเทศไทย ส่งผลให้บริษัทฯ ต้องหยุดเดินเครื่องจักรการผลิตเกือบทั้งหมด และพนักงานก็เริ่มทยอยลาออกไปแล้วถึง 120 คน จากทั้งหมดที่เคยมีจำนวน 250 คน ซึ่งถือว่าเกือบครึ่งโรงงานเลยทีเดียว
 
นายวิเชียร ยินดี ผู้จัดการทั่วไปบริษัทสตาร์ ซินเธติค ยานส์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทแห่งนี้ ก่อตั้งและดำเนินงานอยู่ในเขตอุสาหกรรมสุรนารีมานานถึง 25 ปี ซึ่งเป็นผู้ผลิตใยสังเคราะห์สำหรับการทำผ้าพรม และผ้าตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา ก็มีผลประกอบการเติบโตและได้มีการลงทุนขยายไลน์การผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
จนได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าทั้งในไทยและต่างประเทศสั่งออร์เดอร์เข้ามาไม่ขาดสาย โดยมีบริษัทเฟอร์นิเจอร์ สัญชาติสวีเดน (อิเกีย) เป็นคู่ค้ารายใหญ่ของบริษัทฯ คิดเป็นร้อยละ 45 ของออร์เดอร์ที่บริษัทฯ ผลิตส่งออกทั้งหมด
 
ต่อมาช่วงเดือนมกราคม 2558 บริษัทคู่ค้ารายใหญ่นี้ ก็ได้ยกเลิกการสั่งออร์เดอร์ทั้งหมดกะทันหัน ทำให้บริษัทไม่ทันได้ตั้งตัว และต้องสูญเสียรายได้เป็นมูลค่ากว่า 16 ล้านบาทต่อเดือน ดังนั้นทางบริษัทจึงได้มีการลดปริมาณการผลิต หยุดเดินเครื่องจักรเกือบทั้งหมด รวมทั้งลดการทำงานล่วงเวลา หรือโอทีลง ทำให้พนักงานมีรายได้น้อยลง และพากันลาออกเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาทางบริษัทฯ พยายามหาเงินทุนจากการกู้ยืมจากธนาคาร และสถาบันการเงินหลายแห่ง แต่ก็ไม่ได้รับการอนุมัติเพราะเห็นว่าสภาพคล่องทางการเงินไม่ดี
 
ขณะนี้จึงต้องบริหารด้วยต้นทุนที่จำกัด และประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง หากเป็นเช่นนี้อยู่อีก 3 – 4 เดือน ก็อาจจะทำให้บริษัทต้องปลดพนักงานออกอีกจำนวนมาก ดังนั้นจึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เข้ามาช่วยเหลือเรื่องเงินกู้ยืมเพื่อใช้เป็นต้นทุนให้ผ่านวิกฤตช่วงนี้ไปให้ได้ก่อน
 
ด้านนางสาวสมใจ ศรีนาง พนักงานฝ่ายผลิตบริษัทสตาร์ ซินเธติค ยานส์ จำกัด กล่าวว่า หลังจากที่บริษัทฯ มีออร์เดอร์ลดลงจำนวนมาก ก็ส่งผลให้งานการผลิตน้อยลง พนักงานจึงได้ลดการเข้าทำงานล่วงเวลา จากเดิม 3 กะ เป็น 1 กะ ทำให้มีรายได้น้อยลงไปด้วย เงินเดือนจึงไม่พอค่าใช้จ่าย ทั้งหนี้สิน การผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าส่งบุตรหลานเข้าโรงเรียน และอีกจิปาถะ
 
ดังนั้นพนักงานหลายคนจึงได้พากันลาออกเพื่อไปสมัครทำงานที่อื่นแทน ขณะเดียวกันตนซึ่งทำงานอยู่ที่บริษัทแห่งนี้มานานกว่า 10 ปี ก็รู้สึกตกใจ เพราะที่ผ่านมาก็สามารถผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาได้ตลอด หากครั้งนี้ต้องลาออกจากงานก็ไม่รู้จะไปสมัครงานที่ไหนได้อีก เพราะอายุก็มากแล้ว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก็ได้มีบริษัทซัมซุงอิเล็กโทรแมคคานิค จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมสุรนารีแห่งนี้ ประกาศเลิกจ้างพนักงานกว่า 1,400 คน และเตรียมปิดกิจการในช่วงปลายปีนี้เช่นกัน โดยคาดว่าจะยังคงมีโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง กำลังประสบกับปัญหาการส่งออก และเตรียมประกาศเลิกจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง
 
(ข่าวสด, 21/8/2558)
 
ก.พ.อ.เข้มอาจารย์มหาวิทยาลัย ต้องมี‘ภาระงาน’ไม่น้อยกว่า35 ชม./สัปดาห์
 
สำนักข่าวอิศรารายงานว่าราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) เรื่อง มาตรฐานภาระงานทางวิชาการของผู้ตําแหน่งอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2558 สาระสำคัญ
 
ข้อ 4 ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งดํารงตําแหน่งวิชาการ ต้องมีภาระงาน ไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมง ดังนี้ 
(1) ภาระงานสอน 
(2) ภาระงานวิจัยและงานวิชาการอื่น
(3) ภาระงานบริการวิชาการ
(4) ภาระงานทํานุบํารุงศิลปวัฒนธรรม 
(5) ภาระงานอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับพันธกิจของสถาบันอุดมศึกษา และประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดํารงตําแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ ให้สถาบันอุดมศึกษากําหนดสัดส่วนภาระงานด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้านตาม (1) ถึง (5) และวิธีการคิดภาระงานให้สอดคล้องกับพันธกิจของแต่ละสถาบัน 
 
ข้อ 5 ให้สภาสถาบันอุดมศึกษากําหนดผลงานทางวิชาการ โดยคํานึงถึงความเป็นเลิศ ทางวิชาการและความเป็นที่ยอมรับในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ ให้สอดคล้องกับ พันธกิจของแต่ละสถาบัน โดยผลงานทางวิชาการที่กําหนดสอดคล้องกับประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดํารงตําแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และ ศาสตราจารย์
 
ข้อ 7 ให้สภาสถาบันอุดมศึกษาออกข้อบังคับว่าด้วยการกําหนดภาระงานของผู้ดํารงตําแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และ ศาสตราจารย์ ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หลังจากที่ประกาศนี้ใช้บังคับ และรายงานให้สํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาทราบภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่สภาสถาบันอุดมศึกษาเห็นชอบ
 
ประกาศ ณ วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2558 พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธาน ก.พ.อ.
 
(สำนักข่าวอิศรา, 21/8/2558)
 
สปส.พร้อมโอนผู้ประกันตน ม. 40 เข้า "กอช."
 
เมื่อวันที่ 21 ส.ค. นายโกวิท สัจจวิเศษ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเเผยว่า หลังจากที่กองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.) เริ่มเปิดรับสมัครสมาชิกกองทุนฯ เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้สปส.อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อโอนเงินสมทบและผู้ประกันตนมาตรา 40 ไปยัง กอช. ซึ่งการโอนผู้ประกันตนนั้นจะต้องรอให้ร่างแก้ไขกฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติและร่างแก้ไขพระราชกฤษฎีกาผู้ประกันตนมาตรา 40 ประกาศใช้ก่อน จากนั้นภายใน 180  วัน จะให้ผู้ประกันตนทางเลือกที่ 3,4  และ 5 ไปยื่นเรื่องต่อสำนักงานประกันสังคมทุกแห่งว่าจะย้ายหรือไม่ย้ายไปกองทุนกอช. 
 
โดยเมื่อร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับประกาศใช้แล้ว สปส.จะส่งจดหมายเพื่อแจ้งสิทธิที่มีอยู่และจำนวนเงินสะสม ไปให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 ทั้ง 3 ทางเลือกที่มีอยู่กว่า 1 ล้านคน ให้แต่ละคนได้รับทราบ และคาดว่าต้องจ่ายเงินสมทบทั้งส่วนที่ส่งไว้เองและส่วนที่รัฐอุดหนุนคืนให้แก่ผู้ประกันตนรวมเป็นวงเงิน 3,000 ล้านบาท รองเลขาธิการสปส. กล่าวอีกว่า กรณีผู้ประกันตนมีความประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิกกองทุน กอช.สามารถกรอกเอกสารแสดงความจำนงเป็นสมาชิกกอช.ยื่นต่อสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพฯพื้นที่ต่างๆ หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดภายใน 180 วันนับตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ จากนั้น สปส.จะโอนข้อมูลและเงินสมทบพร้อมผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ประกันตน ไปสะสมในบัญชีของกองทุน กอช.  ซึ่งเบื้องต้นเมื่อผู้ประกันตนแจ้งความจำนง ก็รวบรวมรายชื่อและทยอยโอนรายชื่อไปยังกองทุนก่อน เพื่อให้ผู้สมัครสามารถจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน กอช.ได้ 
 
นายโกวิท กล่าวว่า กรณีผู้ประกันตนไม่มีความประสงค์เป็นสมาชิกกอช. ขอให้นำหนังสือแจ้งสิ้นสุดสถานภาพผู้ประกันตนตามมาตรา 40 กรณีบำนาญชราภาพ โดยกรอกเอกสารแสดงความจำนง ไม่เป็นสมาชิกกอช. พร้อมกับถ่ายเอกสารสมุดบัญชีออมทรัพย์ที่มีชื่อผู้ประกันตน มายื่นต่อสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพฯพื้นที่ต่างๆ และสำนักงานประกันสังคมจังหวัด ซึ่งสปส.จะโอนเงินสมทบกรณีชราภาพพร้อมผลประโยชน์ตอบแทนเข้าบัญชีธนาคารผู้ประกันตนโดยตรง
 
(เดลินิวส์, 21/8/2558)
 
คณะกรรมการค่าจ้างเตรียมสรุปค่าจ้างขั้นต่ำปี 2559 ทั่วประเทศในเดือนกันยายนนี้ ชี้ยังพบบางพื้นที่จ่ายไม่ถึงวันละ 300 บาท
 
ปลัดกระทรวงแรงงาน นายนคร ศิลปอาชา กล่าวหลังประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง(บอร์ดค่าจ้าง) ว่า ที่ประชุมได้รับทราบข้อเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2559 ของทั้ง 77 จังหวัด และผลการพิจารณากลั่นกรองข้อเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำของอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง ซึ่งข้อเสนออัตราค่าจ้างส่วนใหญ่ให้คงไว้ที่วันละ 300 บาทเช่นเดิม มีเพียง 5 6 จังหวัดที่เสนอขอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ
 
ทั้งนี้อนุกรรมการวิชาการฯ ได้ให้ความเห็นว่า อัตราเงินเฟ้อปัจจุบันไม่สูงมาก ซึ่งไม่มีผลต่อการดำรงชีพของแรงงาน โดยอัตราเงินเฟ้อหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.05 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำ และพิจารณาจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มขาลงอีกด้วย
 
ในที่สุด บอร์ดค่าจ้างได้มีมติให้จับตาดูแนวโน้มของเศรษฐกิจไปอีกระยะ และให้คณะกรรมการทุกคนนำข้อมูล ข้อเสนอกลับไปศึกษาวิเคราะห์และนำมาหารือกันอีกครั้งในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนหน้า โดยจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบและบังคับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทให้ได้ทุกพื้นที่ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ายังมีบางแห่งจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งมีโทษตามกฎหมาย
 
(เนชั่นทีวี, 21/8/2558)
 
บ.ญี่ปุ่นยังไม่คิดย้ายฐานผลิต แต่เพิ่มมาตรการความปลอดภัย
 
เว็บไซต์เดอะเจแปนไทม์ ของญี่ปุ่นรายงานว่า บริษัทญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยต่างตื่นตัวกับเหตุระเบิดที่เกิดขึ้น แต่มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่เริ่มพิจารณายุทธศาสตร์ทางธุรกิจและแผนการลงทุนจากเหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นยังไม่มีสัญญาณการย้ายฐานการผลิตแต่อย่างใด เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้าที่รวมไปถึงการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนรถยนต์ได้วางรากฐานเป็นอย่างดีในประเทศไทย
 
รายงานอ้างข้อมูลจากเจ้าหน้าที่บริษัทโตชิบาเอเชีย แปซิฟิก (ประเทศไทย) ที่ระบุว่า "เราคาดไม่ถึงว่าจะเกิดเหตุก่อการร้ายขึ้นในกรุงเทพฯ" เจ้าหน้าที่คนหนึ่งระบุ ขณะที่บริษัท อิออน (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการซุปเปอร์มาร์เก็ตได้หยุดให้บริการในสาขาที่อยู่ใกล้กับจุดเกิดเหตุในช่วงเช้าของวันที่ 18 สิงหาคม และมีการปรับลดเวลาทำงานในวันปกติลงเป็นการชั่วคราว ส่วนบริษัทนิสสัน มอเตอร์ ที่มีสำนักงานอยู่ไม่ห่างจากจุดเกิดเหตุ ออกมาตรการให้พนักงานเปลี่ยนเส้นทางการเดินทางเพื่อให้แน่ใจว่าจะได้รับความปลอดภัย
 
ด้านเจ้าหน้าที่ของบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แห่งหนึ่งระบุว่าบริษัทยังมองไม่เห็นเหตุผลที่จะย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทยจากเหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้น ขณะที่เจ้าหน้าที่จากบริษัทเครื่องจักรทางอิเล็กทรอนิกส์อีกราย เตือนว่าหากมีการก่อการร้ายเกิดขึ้นอีกก็อาจทำให้ต้นทุนด้านความปลอดภัยจะเพิ่มสูงขึ้น และผลกำไรจากการดำเนินการในประเทศไทยก็จะลดน้อยลง
 
(มติชนออนไลน์, 21/8/2558)
 
แรงงานไทย 51 คนปลอดภัยจากเหตุการณ์คาบสมุทรเกาหลี ย้ำสถานการณ์ยังไม่รุนแรงถึงขั้นต้องอพยพ
 
‘รองปลัดแรงงาน’ชี้แจงกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบบนคาบสมุทรเกาหลี ฝ่ายแรงงานฯ ได้ประสานงานกับสำนักบริการพัฒนาบุคลากรของเกาหลี เผย แรงงานไทย 51 คน ที่ทำงานอยู่ในเมืองยอนชอน บนคาบสมุทรเกาหลีทุกคนปลอดภัยดี ย้ำสถานการณ์ยังไม่รุนแรงถึงขั้นต้องอพยพ
 
เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2558 ที่ผ่านมานายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงานและโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบบนคาบสมุทรเกาหลี โดยได้รับรายงานจากนางกาญจนา วงศ์สุวรรณ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ว่า เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 20 สิงหาคม 2558 เกาหลีเหนือได้ยิงโจมตีที่ตั้งลำโพงกระจายเสียงเพื่อการปฏิบัติการทางจิตวิทยาของเกาหลีใต้ ในบริเวณเขตปลอดทหารเมืองยอนชอน จังหวัดคยองกี รวม 2 ครั้ง แต่พลาดเป้าและไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ต่อมาในช่วงเย็นของวันเดียวกันฝ่ายเกาหลีใต้ตอบโต้ด้วยการยิงเตือนไปยังยังบริเวณเขตปลอดทหารฝั่งเกาหลีเหนือ ไม่ทราบความเสียหายของฝั่งเกาหลีเหนือ ต่อมาทหารเกาหลีเหนือได้ส่งข้อความขอให้เกาหลีใต้หยุดการใช้ลำโพงภายใน 48 ชั่วโมง นับตั้งแต่เวลา 17.00 น.ของวันที่ 20 สิงหาคม 2558 มิฉะนั้นทางเกาหลีเหนือจะยกระดับการปฏิบัติการทางทหาร
 
รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า รายงานจากฝ่ายแรงงานประจำ สอท.ณ กรุงโซล ยังระบุว่าประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ได้สั่งการให้ทหารเกาหลีใต้เตรียมพร้อมรบในบริเวณพื้นที่เขตปลอดทหาร และขอให้ชาวประมงงดออกเรือ แต่เรือโดยสารไปยัง 5 เกาะดังกล่าวยังดำเนินการตามปกติและประชาชนในเกาหลีใต้ยังดำเนินชีวิตตามปกติ ทั้งนี้เกาหลีใต้ ได้ติดตั้งลำโพงเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2558 เพื่อกระจายเสียงโจมตีรัฐบาลเกาหลีเหนือ หลังจากที่ทหารเกาหลีใต้ 2 นายได้เหยียบกับระเบิดในเขตปลอดทหารฝั่งเกาหลีใต้จนได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2558
 
ในส่วนของฝ่ายแรงงานฯ ได้ประสานงานกับสำนักบริการพัฒนาบุคลากรของเกาหลี (HRD Korea) ทราบว่ามีแรงงานไทยทำงานอยู่ในเมืองยอนชอนทั้งหมด 51 คน ยังไม่มีการอพยพเพราะสถานการณ์ยังไม่รุนแรงถึงขั้นต้องอพยพ
 
(กระทรวงแรงงาน, 22/8/2558)
 
ประธานสภาอุตสาหกรรมโคราชระบุมีโรงงานปิด 25 แห่ง จากทั้งหมดกว่า 2,600 แห่ง
 
นายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ในขณะนี้ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจการส่งออกของไทย กำลังมีปัญหามาก ซึ่งก็ส่งผลให้หลายโรงงานอุตสาหกรรมต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่ได้ และได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยหลายโรงงานก็มีการเลิกจ้างพนักงานออกบางส่วน เช่น บริษัท ซัมซุง อิเล็คโทรแมคคานิกส์ จำกัด ภายในเขตอุตสาหกรรมสุรนารี ซึ่งได้เลิกจ้างพนักงานไปแล้วกว่า 1,900 คน แต่ถึงอย่างไร บริษัทซัมซุงฯ ก็ยังมีพนักงานเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้มีการปิดกิจการลงทันทีในขณะนี้  ส่วนโรงงานที่ปิดตัวลงอย่างต่อเนื่องในระยะนี้ ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งมีปัญหาด้านเงินทุนหมุนเวียน จึงไม่สามารถทนต่อสภาวะขาดทุนนานได้ และปิดกิจการไปในที่สุด ซึ่งโรงงานในจังหวัดนครราชสีมานั้น มีทั้งหมดกว่า 2,600 แห่ง แต่เมื่อเทียบกับสัดส่วนที่ปิดกิจการลงไปแล้วประมาณ 25 แห่ง ถือว่าน้อยมาก ดังนั้น จึงไม่ถึงกับน่าเป็นห่วงมากนัก
 
นายไพสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน เรื่องที่รัฐบาลได้มีการแต่งตั้ง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มาเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็ทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นขึ้นมาได้มาก แต่ในส่วนของการลงทุนก็คงจะยังชะลอตัวอยู่เหมือนเดิม จนกว่าจะมีสัญญาณบ่งชี้ให้เห็นถึงความมั่นคงของเศรษฐกิจ และมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นกว่าในปัจจุบัน จึงจะทำให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นได้
 
(ไอเอ็นเอ็น, 23/8/2558)
 
"พล.ร.ต."แฉซ้ำ มีทหารเกณฑ์ รับใช้บ้านนายเพียบ
 
จากกรณีมีพลทหารรายหนึ่ง บุกเข้าร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากนายกรัฐมนตรี ว่าถูกทำร้ายร่างกายด้วยการล่ามโซ่จาก นายทหารคนหนึ่ง
 
พล.ร.ต.เบญจพร บวรสุวรรณ อดีตนายทหารเรือ พร้อมด้วยบุตรชาย เดินทางเข้าพบ พนักงานสอบสวน สภ.โพธิ์แก้ว อ.สามพราน จ.นครปฐม เพื่อให้ปากคำ หลังถูกพลทหารเอนก พลทองวิจิตร ทหารเกณฑ์กองประจำการ ศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ต.บางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี พร้อมกับทนายความและทหารพระธรรมนูญ เข้าแจ้งความดำเนินคดีโดยกล่าวหาว่าถูก พล.ร.ต.เบญจพร ทำร้ายร่างกาย กักขังหน่วงเหนี่ยว และข่มขืนใจ
 
พล.ร.ต.เบญจพรกล่าวว่าพลทหารเอนกเคยมาอยู่ที่บ้านของตน แล้วกลับไปตามปกติ ไม่มีปัญหาอะไร ครั้งนี้เป็นรอบที่ 2 โดยอ้างว่าได้รับคำแนะนำจากนายทหารเรือคนหนึ่ง ให้มาอยู่ที่บ้านของตนเนื่องจากตนเป็นบุคคลที่รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่มาก เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือและเป็นรุ่นน้องที่สถาบันเดียวกับนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าจะสามารถช่วยตนได้ เนื่องจากมาทำงานที่บ้านนาย จะได้รับค่าตอบแทนเต็มที่
 
ส่วนที่พลทหารเอนกหนีไปเพราะทำสิ่งไม่ดีเอาไว้ที่บ้าน โดยช่วงเย็นวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา ภรรยาของตนได้สอนพลทหารเอนกร้องเพลงชาติ แต่เจ้าตัวกลับมองชายตากับครูผู้สอนแปลก ๆ แต่ก็ไม่ว่าอะไรจนกระทั่งประมาณ 23.00 น. พลทหารเอนกมาเคาะประตู อ้างขอยาแก้ปวดท้องภรรยาของตนจึงให้ไป รอรับด้านล่าง และโยนยาลงไปให้ เจ้าตัวก็ กลับไป จนกระทั่งเช้าทราบว่าพลทหารเอนกประพฤติตนไม่เหมาะสม
 
พล.ร.ต.เบญจพร กล่าวต่อไปว่าจากนั้นภรรยาตนก็บอกว่า ทำอะไรไว้ติดคุกแน่ หลัง จากนั้นภรรยาจึงออกไปทำธุระนอกบ้านแล้ว พลทหารเอนกได้หนีออกจากบ้าน หนีไปตัวเปล่า ไม่ได้มีโซ่ หรือยางล้อรถตามที่กล่าวหา โดยอ้างนั่งรถแท็กซี่ไปหาพ่อ และเข้าไปพบกับผู้บังคับบัญชา แต่ไม่มีใครปลดโซ่ได้จึงเข้าไปร้องทุกข์ที่สำนักนายกฯ ทั้งที่ความจริงโซ่ดังกล่าว ใครก็ปลดได้ แต่ไม่ยอมปลด คาดว่ามีนายทหารไม่ต่ำกว่า 2 คน อยู่เบื้องหลัง คอยบงการเรื่องดังกล่าว เพื่อกลั่นแกล้งตน
 
"เรื่องพลทหารที่ออกมาอยู่บ้านนาย ถือเป็นเรื่องปกติ และมีเยอะด้วย โดยเฉพาะ ลูกคนรวย พวกวิ่งหนีทหารไม่ทัน ก็มาหา ให้ช่วยกันเวลานี้ โดยขอชื่อไปอยู่บ้านผู้ บังคับบัญชา แต่ตัวไม่อยู่ ผู้บังคับบัญชาก็รับ เงินไป เดือนละ 9,000 บาท" พล.ร.ต.เบญจพร กล่าว
 
(มติชนออนไลน์, 24/8/2558)
 
'เครือข่ายแรงงาน' ฝากรมต.ใหม่ เดินหน้า'ปฏิรูปประกันสังคม'
 
นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ระบุว่าเครือข่ายคปค.ได้ร่วมกันจัดงานสมัชชาประกันสังคม “25ปี ประกันสังคม ต้องเป็นอิสระ” ในวันที่ 31 ส.ค.นี้ เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม ให้เป็นองค์กรอิสระหรือเป็นองค์กรในกำกับรัฐที่ไม่ยึดติดกับโครงสร้างแบบราชการ เพื่อให้การบริหารกองทุนและการลงทุนมีความคล่องตัว
 
นอกจากนี้ การบริหารงานต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้และผู้ประกันตนมีส่วนร่วม นายมนัส กล่าวอีกว่า ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีเงินสะสมกว่า 1.2 ล้านล้านบาท มีผู้ประกันตนทั้งหมดกว่า 13 ล้านคน แต่การบริหารกองทุนประกันสังคมตั้งแต่ปี2533 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 25 ปีแล้ว ผู้ประกันตนยังเสียโอกาสใน 4 เรื่องคือ
 
1.รายได้ไม่สัมพันธ์กับการจ่ายเงินสมทบผู้ประกันตน ซึ่งเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพน่าจะเพิ่มขึ้นตามฐานเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นด้วย 2.สิทธิประโยชน์ไม่ตรงกับความต้องการของผู้ประกันตน 3. การบริหารจัดการไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ยึดติดกับโครงสร้างและระเบียบของราชการเกินไป และ 4.เสียโอกาสการขยายสิทธิประโยชน์ในกรณีต่างๆ
 
ดังนั้นในฐานะอนุกรรมการจัดทำร่างกฎหมายลูกประกันสังคม เห็นว่าผู้ประกันตนน่าจะได้มีส่วนร่วมในการปฏิรูป ด้วยการเลือกตั้งผู้แทนผู้ประกันตนทั้งมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 เข้าไปเป็นกรรมการประกันสังคม ฝ่ายผู้ประกันตน รวม 7 คน ตามที่กฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่กำหนดไว้
 
โดยการประชุมคณะกรรมการจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าวมีข้อสรุปว่าการเลือกตั้งให้ใช้วิธีการ 1 คน 1 เสียง และยึดประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง และใช้หน่วยงานของ สปส. ที่มีอยู่ 144 หน่วย เป็นหน่วยเลือกตั้ง ส่วนบัตรเลือกตั้งยังไม่ได้ข้อสรุป
 
อย่างไรก็ตามจากการศึกษาของ กกต. พบว่าจะต้องใช้เงินในการดำเนินการเลือกตั้ง 82 บาทต่อคน หากคิดจากผู้ประกันตนกว่า 13 ล้านคน จะต้องใช้เงินกว่า 1 พันล้านบาท หากเรื่องนี้ผ่านความเห็นจากคณะกรรมการประกันสังคมแล้ว ก็จะได้เสนอต่อ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน เพื่อพิจารณาและอนุมัติงบประมาณต่อไป
 
“คณะอนุกรรมการจัดทำร่างกฎหมายการเลือกตั้งผู้แทนประกันสังคม จะต้องจัดทำร่างกฎหมายให้เสร็จในเดือนต.ค.นี้ หลังจากนั้นก็จะเสนอเข้าบอร์ด สปส. หากผ่านความเห็นชอบ ก็จะเสนอไปยัง รมว.แรงงาน ให้พิจารณาออกประกาศการเลือกตั้งฯ ภายในเดือนเม.ย.2559 เพื่อให้ต่อเนื่องกับบอร์ดชุดเก่าที่จะหมดวาระ"
 
ด้าน น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี และผู้แทนเครือข่ายผู้ประกันตนมาตรา 39 กล่าวว่าได้มีส่วนร่วมเคลื่อนไหวกับเครือข่ายประกันสังคมคนทำงานตั้งแต่ต้นและมีโอกาสเข้าร่วมพิจารณาร่างกฎหมายลูกตามร่างกฎหมายประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ที่กำลังจะบังคับใช้
 
ประเด็นสำคัญที่ผู้ประกันตนโดยสมัครใจมาตรา 39 ที่มีอยู่กว่า 1 ล้านคน จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นเหมือนกับลูกจ้างที่ไปแล้วถือว่าเป็นครั้งแรกที่กฎหมายเปลี่ยนชื่อผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง เป็นผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน มีการกำหนดคุณสมบัติของกรรมการประกันสังคมที่ต้องมีความสุจริต และไม่มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับประกันสังคม 
 
ซึ่งการแต่งตั้งผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนในคณะกรรมการประกันสังคมชุดใหม่ใน ปี 2559 ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยการเลือกตั้งจากผู้ประกันตนโดยตรง
 
น.ส.อรุณี กล่าวอีกว่าการปฏิรูปประกันสังคมถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรมว.แรงงาน อีกทั้งเห็นว่า เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม คนปัจจุบัน กำลังจะเกษียณอายุสิ้นเดือน ก.ย. ควรที่จะคัดสรรคนที่เป็นมืออาชีพในการบริหารกองทุนขนาดใหญ่ และพยายามปรับกลไกและโครงสร้างให้บริหารงานได้คล่องตัว และมีความเป็นอิสระ รวมทั้งขยายสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันมาตรา 40 ให้มีเงินสงเคราะห์บุตร คลอดบุตรด้วย
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 25/8/2558)
 
สศช.จับตา คนไทยหนี้เพิ่ม-ตกงาน รายได้หด ลูกจ้างเสี่ยงเตะฝุ่นเพิ่ม หากส่งออกยังแย่
 
นายอาคม  เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ถึงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2558 ว่า การมีงานทำของแรงงานได้ปรับตัวลดลง แต่มากกว่าในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ โดยลดลง 0.2% เป็นการลดลงในภาคเกษตร 5.8% เป็นหลัก ผลจากปัญหาภัยแล้งที่ทำให้กิจกรรมทางเกษตรลดลง ขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ 3 แสนคน คิดเป็น 0.88% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 0.94%
 
ในส่วนของรายได้แรงงานโดยรวมยังเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.5% ผลจากการติดลบของเงินเฟ้อ 1.1% เป็นหลัก แสดงให้เห็นว่าแรงงานมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นแต่จะนานแค่ไหนขึ้นกับราคาน้ำมันโลก
 
"การเติบโตของเศรษฐกิจมาจากแรงขับเคลื่อนของการใช้จ่ายและลงทุนภาครัฐ การท่องเที่ยว ส่งผลให้รายได้แรงงานในภาคการผลิตเพิ่มขึ้น 0.2% เช่น ภาคการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 2.9% ภาคโรงแรม 7.4% และภาคขนส่ง 8%" นายอาคมกล่าว
 
นายอาคมกล่าวว่า มีประเด็นที่ต้องจับตาในระยะต่อไป คือรายได้ของแรงงาน ทั้งเกษตรกรที่อาจได้รับผลกระทบจากปริมาณผลผลิตลดลง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและรายได้แรงงานลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากชั่วโมงการทำงานลดลง การระวังการเลิกจ้างงานจากผลกระทบการส่งออกที่ยังมีแนวโน้มลดลง การย้ายฐานผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านซึ่งอาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
 
"สศช.ได้ติดตามสถานการณ์การย้ายฐานผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีไม่อยากให้เกิดความกังวลว่าจะกระทบต่อการเลิกจ้างมากนักเพราะเป็นการย้ายฐานเพื่อกระจายความเสี่ยง คือย้ายบางส่วนไปประเทศเพื่อนบ้าน แต่บางส่วนได้ขยายการลงทุนเพิ่ม โดยเฉพาะส่วนการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ" นายอาคมกล่าว
 
เลขาธิการ สศช. กล่าวถึงหนี้ครัวเรือนว่า ข้อมูลล่าสุด ไตรมาสที่ 1 อยู่ที่ 10.57 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.4% เป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับ 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยหนี้ครัวเรือนดังกล่าวคิดเป็น 79.9% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจากไตรมาสสุดท้ายปี 2557 เล็กน้อยที่ 79.7% ของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) สถานการณ์การชำระหนี้โดยรวมยังไม่น่ากังวล แต่ต้องจับตาในกลุ่มหนี้เกษตรกรที่อาจได้รับผล กระทบจากราคาพืชผลที่ลดลงจนกระทบต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้
 
ซึ่งประเด็นนี้รัฐบาลต้องประเมินตลอดเวลาโดยเฉพาะผลกระทบจากภัยแล้งที่หากปัญหายังคงอยู่รัฐบาลต้องจัดงบประมาณช่วยเหลือเพิ่มเติมอยู่แล้ว"นายอาคมกล่าว
 
(มติชนออนไลน์, 25/8/2558)
 
หนุนเอกชนจ้างคนหลังเกษียณ ลดปัญหาขาดแคลนวัยทำงานดันเศรษฐกิจโต
 
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคมและเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2558 ว่า สศช.ได้ดำเนินการศึกษาเรื่อง “การทำงานของผู้สูงอายุ : ความจำเป็นที่ต้องผลักดัน” พบว่าผู้สูงอายุประมาณ 70% ยังมีความต้องการทำงานอยู่ เพราะยังมีความชำนาญ และมีประสบการณ์การทำงาน ที่ยังเป็นประโยชน์กับองค์กร แต่ต้องตกลงเงื่อนไขใหม่กับนายจ้าง
 
ทั้งนี้ ในอนาคตโครงสร้างประชากรไทยจะเปลี่ยนแปลงไปโดยจะมีประชากรวัยทำงานลดลง และเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่การให้ผู้สูงอายุทำงานเพิ่มขึ้นจะช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้
 
อย่างไรก็ตาม สำหรับภาคราชการ มีสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ดูแลข้าราชการที่เกษียณอายุ โดยปัจจุบันมีการขยายต่ออายุให้ข้าราชการบางกลุ่มไม่ใช่กรณีทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มสาขาที่ขาดแคลน เช่น สาขาศิลปวัฒนธรรม เมื่อข้าราชการอายุครบ 60 ปี ก็ยังต่ออายุทำงานให้คราวละ 1 ปีไปเรื่อยๆ การจ้างแรงงานหลังอายุครบ 60 ปี จะช่วยยืดเวลาให้ผู้สูงอายุยังมีรายได้หลังอายุ 60 ปี ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้สูงอายุ แต่ภาครัฐอาจต้องใช้มาตรการทางภาษีจูงใจเอกชนให้จ้างงานผู้สูงอายุ ทำงานต่อจนถึงอายุ 65 ปี หรือ 70 ปีในงานบางสาขา เป็นต้น
 
นายอาคม กล่าวว่า สศช.มีข้อเสนอแนะแนวทางส่งเสริมการทำงานผู้สูงอายุ คือ สร้างแรงจูงใจให้แรงงานสูงวัยขยายเวลาทำงาน เช่น การสร้างงานที่ยืดหยุ่นและเหมาะสม การลดการออกจากงานก่อนครบกำหนด การฝึกอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพ และการทบทวนเกณฑ์และผลประโยชน์ที่แรงงานจะได้รับจากการครบกำหนดการทำงาน รวมถึงสร้างทัศนคติและค่านิยมที่ดีเกี่ยวกับผู้สูงอายุ การปรับเงื่อนไขการทำงาน ตลอดจนพัฒนาสภาพแวดล้อมที่ทำงาน การเดินทาง และใช้ชีวิตให้เหมาะสม ซึ่งจะส่งเสริมให้ผู้สูงอายุออกมาทำงาน และใช้ชีวิตในสังคมมากขึ้น
 
ขณะเดียวกัน ควรปรับปรุงกฎหมายการไม่เลือกปฏิบัติกับลูกจ้างสูงอายุ การสร้างระบบคัดกรอง และจัดทำข้อมูลผู้สูงอายุที่ต้องการทำงาน การพัฒนาระบบประเมิน และการกำหนดอัตราค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับสมรรถนะ การให้มีศูนย์บริการจัดหางานให้กับผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ควรสร้างระบบการเงินการคลังมหภาค เพื่อพัฒนาระบบบำเหน็จบำนาญ และการออมให้เอื้อต่อการส่งเสริมให้เกิดการขยายอายุการทำงาน รวมทั้งมีกลไกจัดการ การพิจารณานโยบาย และมาตรการที่ครอบคลุมบำเหน็จบำนาญทุกกลุ่มให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ และยังต้องเตรียมความพร้อมคนไทยเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณค่า โดยเฉพาะด้านสุขภาพตลอดช่วงชีวิต ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยสูงอายุ เพื่อให้คนรุ่นใหม่พร้อมที่จะเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณค่า และมีสุขภาพแข็งแรง
 
สำหรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร พบว่า มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มขึ้นจาก 4 ล้านคนหรือ 6.8% ของประชากรทั้งหมดในปี 2537 เป็น 10 ล้านคน หรือ 14.9% ในปี 2557 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 20.5 ล้านคน หรือ 32.1% ในปี 2583 ซึ่งจะมีผลกระทบ คือ เกิดภาวะพึ่งพิงสูงขึ้น โดยจะมีวัยแรงงานดูแลผู้สูงอายุลดลงจาก 5.8 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน เหลือ 1.7 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน ในปี 2583 ทำให้วัยแรงงานไม่สามารถเกื้อหนุนได้เพียงพอ ขณะที่ผู้สูงอายุมีแนวโน้มอายุสูงกว่า 80 ปี ทำให้มีเวลาหลังชีวิตการทำงานยาวนานขึ้น ส่งผลให้ต้องบริหารเงินออมให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น หากไม่มีเงินบำนาญรายเดือน เพราะรายได้จากบุตรที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญมีแนวโน้มลดลงจาก 52.3% ในปี 2550 เหลือ 35.7%ในปี 2557 ทำให้การพึ่งพิงบุตรหลานไม่มั่นคงเพียงพอ
 
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องขาดแคลนแรงงาน เพราะ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ทำให้วัยแรงงานมีแนวโน้มลดลง โดยผลการศึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) คาดในปี 2565 มีอุปทานแรงงาน 42.5 ล้านคน แต่มีความต้องการแรงงาน 48.9 ล้านคน ขาดแคลนแรงงานกว่า 6 ล้านคน ขณะที่การพึ่งพิงแรงงานเพื่อนบ้านมีข้อจำกัด เพราะประเทศเหล่านั้นต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาประเทศ ขณะเดียวกัน ประเทศจะมีภาระ การคลัง ที่ต้องดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น โดยทีดีอาร์ไอ คาดว่ารายจ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นถึง 464,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งการส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุจะลดผลกระทบดังกล่าวได้ และยังทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีคุณค่า เกิดการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และมีสุขภาพดี
 
ด้านนางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการสศช. กล่าวว่า ภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 พบว่ามีหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 94,433 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.5% มีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวม 2.65% ของสินเชื่อภายใต้การกำกับผิดนัดชำระเกิน 3 เดือน มีมูลค่า 15,728 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.8% และเป็นสัดส่วน 5% ต่อยอดคงค้างรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ยอดคงค้างชำระบัตรเครดิตเกิน 3 เดือน มีมูลค่า 9,594 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% และเป็นสัดส่วน 3.2% ต่อยอดคงค้างรวม ถือเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แม้มูลค่าหนี้เสียสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และบัตรเครดิตจะมีมูลค่าไม่สูงมาก แต่เป็นที่สังเกตว่า สัดส่วนหนี้เสียต่อยอดคงค้างยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลง
 
สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป ได้แก่ หนี้สินครัวเรือนเกษตรกรในปี 2558 เกษตรกรเผชิญราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเป็นปีที่ 4 และผลผลิตมีแนวโน้มลดลงจากผลกระทบภัยแล้ง คาดว่าจะทำให้รายได้เกษตรกรโดยรวมลดลง และอาจส่งผลให้เกิดภาระหนี้สินจากการทำเกษตร สำหรับสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ แม้จะมีสัดส่วนเพียง 2.6% ของสินเชื่อรวมเพื่อการอุปโภคบริโภค แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนั้น ยังมีมูลค่าสูงขึ้นเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วน 30% ของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวม และมีแนวโน้มเพิ่มสูงต่อเนื่อง.
 
(ไทยรัฐ, 25/8/2558)
 
กรมอนามัยเผย “ออฟฟิศ” แย่ ทำสุขภาพแย่ตาม เปิดผลสำรวจคนวัยทำงาน 60% มีโรคออฟฟิศซินโดรม
 
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังมอบเกียรติบัตรสถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงาน “สะอาด ปลอดภัย สิ่งแวดล้อมดี มีชีวิตชีวา” ว่า ประชาชนส่วนใหญ่จะใช้เวลาอยู่ในสถานที่ทำงาน หากได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมก็จะไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ โดยเฉพาะโรคออฟฟิศซินโดรม ที่พบได้บ่อยในคนทำงานออฟฟิศ ที่แทบไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย ทำให้กล้ามเนื้อเกิดการตึงเครียด ก่อให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ ปวดเมื่อยหลัง ไหล่ คอ บ่า แขน ข้อมือ หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาการจะรุนแรงขึ้น จนถึงขั้นหมอนรองกระดูกเสื่อม หรือหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทได้ นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจและภูมิแพ้ ซึ่งเป็นผลมาจากการอยู่ในที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เครื่องปรับอากาศไม่สะอาด รวมไปถึงสารเคมีจากหมึกของเครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องแฟกซ์ และเครื่องพิมพ์เอกสาร ที่อยู่ภายในห้องทำงานอีกด้วย
       
นพ.พรเทพ กล่าวว่า จากการสำรวจพนักงานในสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งของประเทศไทย จำนวน 400 คน ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2553 พบว่า ร้อยละ 60 มีภาวะโรคออฟฟิศซินโดรม 3 อาการที่พบบ่อย คือ 1. ปวดหลังเรื้อรัง ด้วยอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์วันละ 8 ชั่วโมง โดยเฉพาะการนั่งหลังค่อม ทำให้กล้ามเนื้อต้นคอ สะบัก เมื่อย เกร็งอยู่ตลอดเวลา ท่านั่งดังกล่าวทำให้กระบังลมขยายได้ไม่เต็มที่ สมองได้รับออกซิเจนไม่เต็มที่ ทำให้ง่วงนอน ศักยภาพในการทำงานไม่เต็มร้อย 2. ไมเกรน หรือปวดศีรษะเรื้อรัง ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ แสงแดด ความร้อน และการขาดฮอร์โมนบางชนิด เป็นปัจจัยก่อให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน และ 3. มือชา เอ็นอักเสบ นิ้วล็อก การอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นข้อมือ เส้นเอ็นนิ้วมือพบมากขึ้น เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์ การจับเมาส์ในท่าเดิมนาน ๆ ทำให้กล้ามเนื้อกดทับเส้นประสาทและเส้นเอ็นจนอักเสบ เกิดพังผืดยึดจับบริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก การจัดสภาพแวดล้อมในที่ทำงานอย่างเหมาะสม สะอาด ถูกสุขลักษณะ และปลอดภัย จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่ลดภาวะเสี่ยงของการเกิดโรค อีกทั้งช่วยลดอุบัติเหตุ และเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
       
“กรมฯ ได้เริ่มดำเนินการสถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงาน ตั้งแต่ ต.ค. 2557 โดยแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานโครงการ เพื่อตรวจประเมินสถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงานของหน่วยงานส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคสังกัดกรมอนามัย ภายใต้เกณฑ์สถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงานเพื่อจัดการสภาพแวดล้อมที่สะอาด ปลอดภัย สิ่งแวดล้อมดี มีชีวิตชีวา ประกอบด้วย 1. สะอาด ด้วยหลัก 5 ส (สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ และสร้างนิสัย) แบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนอย่างเหมาะสม จัดเก็บวัสดุ อุปกรณ์เป็นระเบียบ มีการจัดการห้องส้วมอย่างถูกสุขลักษณะ และควบคุมสัตว์พาหะนำโรค 2. ปลอดภัย เพื่อให้คนทำงานเกิดความเชื่อมั่น ไม่วิตก 3. สิ่งแวดล้อมดี ไม่ก่อมลพิษต่อสุขภาพ ด้วยการป้องกันและมีมาตรการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดพื้นที่สีเขียวด้วย และ 4. มีชีวิตชีวา เป็นการสร้างขวัญ กำลังใจแก่คนทำงาน ด้วยการจัดกิจกรรมนันทนาการ การออกกำลังกาย การบริโภคอาหารที่หลักโภชนาการ ดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างถูกต้อง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 25/8/2558)
 
หอการค้าโคราชเต้นจี้จังหวัดเปิดประชุม กรอ.ด่วน ถกรับมือโรงงานปิดตัวลอยแพแรงงาน
 
นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนและการจ้างงานใน จ.นครราชสีมา ว่าต้องยอมรับว่าสภาวะเศรษฐกิจไม่ดีและตอนนี้มีข่าวไม่ดีออกมาต่อเนื่อง อัตราเร่งที่มองเห็นและมีแนวโน้มชัดเจนคือตลาดแรงงานที่เริ่มมีปัญหา เพราะโรงงานอุตสาหกรรมเริ่มปิดตัวมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่แข่งขันไม่ได้ แต่จะเห็นได้ว่ามียังโรงงานที่เปิดตัวใหม่เช่นกัน
       
ทั้งนี้ จากตัวเลขของอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมารายงานสถานการณ์ภาคอุตสาหกรรม ระบุว่า ในเดือน ก.ค. 2558 มีโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดนครราชสีมา ทั้งหมดจำนวน 2,645 โรงงาน เงินลงทุน 188,117.95 ล้านบาท คนงาน 146,516 คน ขณะที่เดือน ก.ค. 2557 มีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมด 2,659 โรงงาน เงินทุน 182,595.87 ล้านบาท คนงาน 146,904 คน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่แล้วดังกล่าว พบว่าในเดือน ก.ค. 2558 มีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมลดลง 14 โรงงาน คิดเป็น 0.53% แต่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 5,522.08 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 3.02% จำนวนคนงานลดลง 388 คน คิดเป็น 0.26 %
       
อีกทั้งเฉพาะในเดือน ก.ค. 2558 มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งใหม่ 10 โรงงาน เงินลงทุน 712.57 ล้านบาท คนงาน 330 คนขณะที่ เดือน ก.ค. 2557 มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งใหม่ 5 โรงงาน เงินลงทุน 213.71 บาท คนงาน 149 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจำนวนโรงงานตั้งใหม่และการจ้างงาน
       
หากดูจากตัวเลขข้างต้นจะพบว่า ณ เดือน ก.ค.ปีนี้ มีโรงงานและการจ้างงานลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วจำนวนไม่มาก แต่เงินลงทุนกลับเพิ่มขึ้นอีก 5,522 ล้านบาท ซึ่งต้องย้ำว่า โรงงานที่ปิดตัวไปนั้นเป็นโรงงานที่แข่งขันในตลาดไม่ได้จริงๆ ในขณะเดียวกันก็มีโรงงานใหม่ที่มีเงินลงทุนสูงขึ้น และตอนนี้เป็นช่วงการถ่ายโอนเรื่องของเทคโนโลยีสมัยใหม่ โรงงานเองกำลังปรับตัวเพราะโลกมีการแข่งขันสูงขึ้น
       
“ในปีนี้แม้ว่าโคราชจะมีการปิดตัวของโรงงานไปแล้วถึง 25 แห่ง แต่มีโรงงานใหม่ๆ เข้ามาทดแทน และข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ เม็ดเงินลงทุนกลับสูงขึ้น ฉะนั้นเรามองว่าจังหวัดนครราชสีมายังเป็นฐานการลงทุนที่จะมีนักลงทุนเข้ามาอีกจำนวนมาก” นายหัสดินกล่าว
       
นายหัสดินกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนไม่ได้นิ่งนอนใจ ล่าสุดทางหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาได้ทำหนังสือถึงสำนักงานจังหวัดนครราชสีมา ขอให้เรียกประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดนครราชสีมา (กรอ.นม.) โดยด่วน ในช่วงต้นเดือน ก.ย.นี้ โดยจะเสนอใน 2 เรื่องหลัก คือ เรื่องการพิจารณาเกี่ยวกับการปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรมบางโรงงาน เพราะถือว่าความเดือดร้อนของคนงานมีส่วนสำคัญ ซึ่งตนมองว่าสำนักงานจัดหางานจังหวัด จะต้องทำงานเชิงรุกโดยการเข้าไปติดต่อกับโรงงานซึ่งรู้อยู่แล้วว่ากำลังจะปิดตัวตามที่ประกาศ โดยต้องมองว่าคนงานเหล่านี้จะไปทำอะไรต่อ และโรงงานที่สร้างใหม่ที่ต้องการแรงงานจะได้มีแรงงานเข้าไปรองรับเลย ซึ่งถือเป็นการทำงานเชิงรุก
       
“ไม่ใช่ว่าปล่อยให้โรงงานปิดตัวแล้วคอยให้คนงานไปแจ้งการว่างงาน แล้วจึงไปหาโรงงานใหม่หรือแหล่งจ้างงานใหม่ให้เหมือนที่ผ่านมา แต่จากนี้ไปต้องทำงานเชิงรุกว่าโรงงานใหม่มีกี่แห่ง ต้องการแรงงานจำนวนเท่าไร เพื่อให้เกิดการจ้างงานต่อเนื่อง ไม่ให้แรงงานเสียเวลาไปกับการตกงานใช้เงินเก็บจนหมด ต้องไปกู้หนี้ยืมสินนอกระบบมาใช้จ่าย”
       
ส่วนข้อที่ 2 ที่ต้องการให้ กรอ.หารือกัน คือ เรื่องสินค้าเกษตร ต้องยอมรับว่าภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อผลผลิตของเกษตรกร จะทำให้ได้ผลผลิตน้อยลงกว่าทุกปี หากรัฐบาลไม่มีมาตรการเข้าไปพยุงราคาสินค้าเกษตรอาจทำให้กำลังซื้อของเกษตรกร ซึ่งกลุ่มใหญ่ที่สุดยิ่งตกต่ำลงไปอีก ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามกระตุ้นอย่างไรก็ไม่เป็นผล
       
“จึงอยากเรียกร้องไปทางเกษตรจังหวัด และสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ให้รายงานภาพรวมของผลผลิตทางการเกษตรว่าจะลดลงมากน้อยไหน และราคามีแนวโน้มเป็นอย่างไร เพื่อทำงานร่วมกันในเชิงรุก หากมีปัญหาจะได้สรุปและนำเสนอต่อไปยังรัฐบาลให้ดำเนินการช่วยเหลือทันท่วงที” นายหัสดินกล่าวในตอนท้าย 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 26/8/2558)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net