Skip to main content
sharethis

สปช. จัดการสัมมนาร่วม กมธ.ยกร่างฯ ทำความเข้าใจร่าง รธน. วันชัย ยันไม่รับชัวร์ พร้อมระบุว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ จะเป็นชนวนความขัดแย้ง ด้านบวรศักดิ์ ตอกกลับขออโหสิกรรม ขณะที่ยิ่งลักษณ์โพสต์เฟซบุ๊ก ขอทางเลือกประชามติมากกว่ารับ ไม่รับ

 

25 ส.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จัดงานสัมมนาหารือ ระหว่างสภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) โดยเป็นการพูดคุยกันถึงเรื่อง เนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ และตอบข้อสงสัยโดยจาก กมธ.ยกร่างฯ

กมธ.ยกร่างฯ มายกชุด สปช. มา 135 จาก 250 คน และห้ามสื่อเข้าฟัง

การสัมมนาได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ เวลา 9.30 น. โดย สัมมนาในครั้งนี้มีสมาชิก สปช. ให้ความสนใจและเข้าร่วมการสัมมนาจำนวนประมาณ 135 คน ขณะที่ กมธ.ยกร่างฯ เข้าร่วมการสัมมนาจำนวน 23 คน ซึ่งการสัมมนาดังกล่าวเป็นการเปิดให้ สมาชิก สปช. เข้าร่วมการสัมมนาด้วยความสมัครใจไม่ได้เป็นการบังคับ และไม่ได้เปิดให้สื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังการสัมมนาด้วย

ในการสัมมนามี ประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิก สปช. ทำหน้าที่เป็นพิธีกรในการสัมมนาได้กล่าวชี้แจงถึงรูปแบบการสัมมนา ว่า ช่วงแรก ศาสตราจารย์เทียนฉาย กีระนันท์ ประธาน สปช. จะกล่าวทักทายสมาชิก สปช. จากนั้นศาสตราจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมกับ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะเป็นอธิบายเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีการชี้แจงภาพรวมและการปรับแก้ไขเนื้อหาใดบ้าง จากร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก รวมถึงจะอธิบายว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ให้ประโยชน์อะไรแก่ประชาชนบ้าง โดยจะใช้เวลาในการชี้แจง 1 ชั่งโมง แล้วจึงจะเปิดโอกาสให้สมาชิก สปช. ที่สงสัยในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญได้ซักถามอย่างเต็มที่ โดยจะเน้นถามตอบเรียงตามภาค

9 จาก 17 มาตราการแก้วิกฤตชาติ

ด้านผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ภายในการประชุม กมธ. ยกร่างฯ ได้แจกมาตรการแก้ไขวิกฤตประเทศไทยที่เกิดขึ้นในอดีต 17 ปัญหา เพื่อให้ สปช. พิจารณาควบคู่กับร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีประเด็นที่สำคัญ อาทิ

1. เมื่อเกิดความไม่สงบและมีความรุนแรงเกิดขึ้น เสนอตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์และการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) และให้อำนาจดำเนินการ หรือสั่งให้มีการดำเนินการเพื่อป้องกันและระงับความขัดแย้ง รวมทั้งให้อำนาจในการระงับยับยั้ง ตรวจสอบไต่สวน ส่งปัญหาเรื่องอำนาจหน้าที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและรักษาความสงบเรียบ ร้อยตามแผนและขั้นตอนของ คปป.

2. หากเกิดปัญหาการเรียกร้องนายกฯคนกลางตามมาตรา 7 แต่ไม่มีองค์ใดวินิจฉัย ซึ่ง กมธ. ยกร่างฯ เสนอทางแก้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าใช้ได้หรือไม่อย่างไร

3. เมื่อเกิดกรณียุบสภาและรัฐบาลรักษาการ อ้างว่า รัฐมนตรีไม่สามารถลาออกได้ ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบังคับรัฐธรรมนูญ กมธ. ยกร่างฯ เสนอกำหนดให้ลาออกได้ หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ลาออกจนเหลือครึ่งหนึ่งของสมาชิก ก็ให้ปลัดกระทรวงร่วมขึ้นเป็นคณะรักษาการแทน โดยให้เลือกปลัดกระทรวงหนึ่งคนปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี และเลือกอีก 2 คน ปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรี

4. ปัญหารัฐบาลพยายามแก้รัฐธรรมนูญหลังเลือกตั้งแล้ว กมธ. ยกร่างฯ ระบุ 1. ห้ามแก้เรื่องระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ห้ามแก้เรื่องเป็นรัฐเดี่ยว 2. หากต้องการแก้ไขหลักสำคัญ เช่น สิทธิเสรีภาพ เรื่องศาล องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ จะต้องใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3 ของสมาชิก เพื่อให้แก้รัฐธรรมนูญยาก

5. การให้บทบาทฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โดยเสนอให้ฝ่ายค้านเป็นประธานกรรมการตรวจสอบการทุจริตและติดตามการใช้งบ ประมาณ

6. เรื่องที่มาทรัพย์สินของผู้ที่จะเข้าวงการการเมือง เสนอให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกระดับต้องแสดงหลักฐานการเสียภาษีย้อนหลังสาม ปีเพื่อตรวจสอบ 

7. ปัญหาฝ่ายการเมืองแทรกแซงการทำงานของราชการ ระบุข้อแก้ไขให้การแต่งตั้งข้าราชการต้องใช้ระบบคุณธรรมและห้ามแทรกแซงการ แต่งตั้งและโยกย้าย เว้นแต่ทำตามกฎหมาย

8. ปัญหาคดีล้น ป.ป.ช. เสนอแก้ให้ ป.ป.ช. มีอำนาจตรวจสอบการทุจริตผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง และหัวหน้าส่วนราชการเท่านั้น และให้เจ้าหน้าที่ระดับรองตรวจสอบหน่วยงานอื่น และปัญหาที่น่าสนใจ

9. ร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอมักไม่ได้รับการตอบรับ เสนอให้หน่วยงานของรัฐช่วยประชาชนจัดทำร่างกฎหมาย และสภาต้องพิจารณากฎหมายของประชาชนภายใน 180 วัน

แหล่งข่าว กมธ.ยกร่างฯ ยัน สปช.จะผ่านร่าง รธน. หากไม่มีสัญญาณอื่นจาก คสช.

มติชนออนไลน์ รายงานว่า กมธ.ยกร่างฯ ในที่ประชุมแจ้งว่า ภายหลังจากที่ได้พูดคุยกับสปช. แล้ว ยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบในการลงมติในวันที่ 6 กันยายน นี้ เว้นแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มีสัญญาณให้สปช.มีความเห็นเป็นอย่างอื่น ส่วนการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ(คปป.) ที่ถูกโจมตีอยู่ในขณะนี้  ยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวคณะรัฐมนตรี(ครม.) เป็นผู้เสนอมา และกมธ.ยกร่างฯ ก็นำมายกร่างฯและปรับให้สอดคล้องกับความต้องการของ ครม.  เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองที่อาจเกิดช่องว่างขึ้นได้ในอนาคต

คปป. 19 คนตั้งได้ก่อนเลือกตั้ง

ในการสัมมนาได้มีการตั้งคำถาม เรื่องการแต่งตั้ง อำนาจหน้าที่ และการประเมินผลของการใช้อำนาจของ คปป. โดย คำนูณ สิทธิสมาน ได้ชี้แจงว่า คปป. จะได้รับการแต่งตั้งก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง เนื่องจากในบทเฉพาะกาลได้กำหนดให้จัดทำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ จากนั้นค่อยจัดการเลือกตั้งได้ ซึ่ง คปป.จะสามารถแต่งตั้งได้ก่อนจำนวน 19 คน จากทั้งสิ้น 23 คน โดยเว้นตำแหน่งกรรมการจำนวน 3 คน ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา ทั้งนี้กรรมการ 19 คน มีสิทธิ์ที่จะเลือกประธานคปป.ได้ โดยจะเลือกบุคคลภายนอกที่ไม่เป็นกรรมการเข้ามาทำหน้าที่ประธานกรรมการยุทธศาสตร์ฯได้

ขณะที่หน้าที่ จะเน้นเรื่องการปฏิรูปประเทศเป็นหลัก แต่อำนาจพิเศษจะใช้ได้เฉพาะเงื่อนเดียวคือ ป้องกันไม่ให้เกิดรัฐล้มเหลว ส่วนสภาดำเนินการปฏิรูป จะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ กรรมการยุทธศาสตร์ฯ คณะกรรมการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเชี่ยวชาญการปฏิรูปด้านต่างๆซึ่งกรรมการยุทศาสตร์ฯ เป็นผู้แต่งตั้ง และคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองเข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งรูปแบบการทำงานจะไม่เหมือนรัฐสภา เพราะได้มีการกำหนดเงื่อนไขใน 1 ปี อาจจะประชุมแค่ 2-3 ครั้งเพื่อประเมินผลการทำงาน ทำแผนการปฏิรูปในปีถัดไป และทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูป โดยประธานสภาดำเนินการปฏิรูป จะเป็นคนเดียวกันกับประธานคปป.

สปช. วันชัย ยัน ล้มร่างแน่ คปป. อาจะเป็นชนวนความขัดแย้ง และแก้ปัญหาไม่ตรงจุด

เว็ยข่าวรัฐสภา รายงานว่า วันชัย สอนศิริ สมาชิก สปช. กล่าวถึงการบรรจุเรื่อง คปป. ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญว่า ถึงแม้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะอธิบายถึงเจตนาของการมีคณะกรรมการดัง กล่าวว่าตั้งเพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมืองในภาวะวิกฤต แต่ก็ไม่สามารถแก้ความกังวลใจของสมาชิก สปช. ได้ เพราะสมาชิกสปช. บางส่วนเห็นว่า คปป. อาจจะทำให้อำนาจของรัฐบาลอ่อนแอ นอกจากนี้ยังเห็นว่า ไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด และอาจเป็นชนวนในการสร้างความขัดแย้งได้ อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐยกร่างรัฐธรรมนูญมีเจตนาที่ดี ในการบรรจุเรื่องดังกล่าวไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ แต่ส่วนตัวยืนยันว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างแน่นอน พร้อมเชื่อว่าการบรรจุ คปป. ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ จะทำให้สมาชิก สปช. อาจไม่รับร่างรัฐธรรมนูญได้ ทั้งนี้ต้องรอดูผลการลงมติในวันที่ 6 ก.ย.นี้

บวรศักดิ์ ตอกกลับ ขออโหสิกรรมให้ วันชัย

มติชนออนไลน์ รายงานว่า ระหว่างรับประทานอาหารร่วมกันในช่วงพักเที่ยง บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ได้สอบถามหาตัวนายวันชัยว่าอยู่ไหน  จากนั้นบวรศักดิ์ได้เดินไปหานายวันชัย พร้อมระบุว่า “ขออโหสิกรรม ให้แก่นายวันชัย อาจเป็นเพราะชาติที่แล้ว เราสองคนได้มีเวรกรรมต่อกัน” จากนั้นบวรศักดิ์ได้เดินออกจากห้องรับประทานอาหาร ผู้สื่อข่าวได้สอบถามเรื่องดังกล่าวกับบวรศักดิ์ ซึ่งบวรศักดิ์ ระบุว่า ไม่ได้โกรธอะไรกับวันชัย และได้อโหสิกรรมพร้อมแจ้งให้นายวันชัยทราบไปเรียบร้อยแล้ว

ยิ่งลักษณ์ เสนอ จะดีกว่าหากประชามติไม่ได้มีแค่รับ หรือไม่รับร่าง

สำนักข่าวไทย รายงานว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึง กรณีร่างรัฐธรรมนูญ ว่า จากที่ฟังนักวิชาการหลายคน และได้เขียนไว้ในเฟสบุ๊คว่า เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นคือการให้อำนาจและสิทธิประชาชนในการตัดสินใจ แต่ร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ให้อำนาจ ที่ยึดโยงกับประชาชน จึงเป็นห่วง ซึ่งในความเห็นส่วนตัวคิดว่ารับไม่ได้ เปรียบเหมือน ประชาชนผู้ที่อยู่ในบ้าน ไม่ได้รับความสุขสบาย จึงหวังว่าผู้ที่เกี่ยวข้องควรจะได้รับฟังเสียงจากประชาชน

“คสช.และสปช.มีอำนาจแก้ไขอยู่แล้ว ถ้าได้พิจารณาและหาทางออกก็เป็นสิ่งที่ดี ในช่วงนี้ การที่เราไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นประชาธิปไตยก็ทำให้บ้านเมืองหยุดชะงัก ในฐานะที่ตนมาจากการเลือกตั้งก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้เดิน หน้า” ยิ่งลักษณ์ กล่าว

เมื่อถามว่า หากมีการทำประชามติพรรคเพื่อไทยจะรณรงค์ให้คว่ำร่างหรือไม่ ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ยังไม่อยากพูดถึงตรงนั้น แต่อยากให้มองว่าร่างรัฐธรรมนูญเดินหน้าอย่างไรมากกว่า ไม่อยากให้วิจารณ์เพียงว่าจะรับหรือไม่รับ เพราะจะกลับมาสู่วังวนเดิมมานับหนึ่งใหม่ ประเทศเราเสียเวลามาเยอะแล้ว แทนที่จะแข่งขันกับต่างประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจ จึงอยากให้มีทางออกกับประชาชนบ้างไม่ใช้แค่รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า อาจพิจารณาสิ่งที่ดี ๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา หรือนำมาปรับปรุงแก้ไขตามที่มีเสียงวิจารณ์ อย่างไรก็ตาม อยากให้มีโรดแมปทางเดินที่ชัดเจน ไม่อยากให้ทุกอย่างลากยาวไป เพราะยิ่งลากยาวความเจ็บปวดจะตกอยู่ที่ประชาชน วันนี้ปัญหาปากท้องของเกษตรกรน่าเห็นใจ ผู้ที่มีรายได้น้อยมีสายป่านสั้น ไม่สามารถทนกับสภาวะต่าง ๆได้ ก็ควรจะแก้ไข

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net