Skip to main content
sharethis

หลายหน่วยงานร่วมแถลงข่าว “ฟิลลิปมอร์ริส เลี่ยงภาษีบุหรี่มากกว่า 68,000 ล้านบาท จะรอให้หมดอายุความหรือ? รัฐควรรีบดำเนินการโดยด่วน” นักวิชาการด้านการควบคุมยาสูบเร่งรัดให้รัฐบาลสั่งอัยการส่งฟ้องคดีโดยเร็ว

25 ส.ค.2558 สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ จัดเเถลงข่าว “ฟิลลิปมอร์ริส เลี่ยงภาษีบุหรี่มากกว่า 68,000 ล้านบาท จะรอให้หมดอายุความหรือ? รัฐควรรีบดำเนินการโดยด่วน” นักวิชาการด้านการควบคุมยาสูบเร่งรัดให้รัฐบาลสั่งอัยการส่งฟ้องคดีโดยเร็ว เพราะเสี่ยงที่ประเทศชาติเสียผลประโยชน์ทั้งทางนโยบายเเละโอกาสในการจัดเก็บรายได้ เนื่องจากบริษัทฟิลลิปมอร์ริสสำแดงบุหรี่ต่ำกว่าผู้นำเข้ารายอื่นๆ ทั้งยังต่ำกว่าราคานำเข้าในประเทศเพื่อนบ้านอีกเท่าตัว ทำให้ประเทศไทยสูญเสียรายได้ที่พึงจัดเก็บได้อย่างน้อย 200,000 ล้านบาท 

นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย และอดีตประธานรัฐภาคีกฎหมายบุหรี่ขององค์การอนามัยโลก กล่าวถึงความเป็นมาในเรื่องนี้ว่า นับจากปี 2551 ที่สื่อมวลชนรายงานข่าวว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เริ่มสอบสวนบริษัท ฟิลิปมอร์ริส (ประเทศไทย) ว่าอาจจะเลี่ยงภาษีโดยการแจ้งต่ำกว่าความเป็นจริง ปี 2552 ดีเอสไอมีหนังสือถึงอัยการสูงสุดพร้อมสำเนาการสอบสวนและพยานหลักฐาน 21 ลังมีความเห็นว่าควรสั่งฟ้อง ปี 2554 ฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนายภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวหาว่ารัฐบาลเรียกดีเอสไอและอัยการประชุมหารือเป็นผลให้อัยการไม่สั่งฟ้องคดี

“จนกระทั่งปี 2556 นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงคนเดิมได้เซ็นคำสั่งฟ้อง บริษัท ฟิลิปมอร์ริส ก่อนเกษียณอายุราชการ จนถึงวันนี้ก็ไม่ปรากฎว่ามีข่าวเกี่ยวกับคดีนี้อีก จึงจำเป็นต้องฟ้องต่อสาธารณะและสื่อสารถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เร่งดำเนินการกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพราะเกรงว่าคดีนี้จะหมดอายุความทำให้ประเทศไทยเสียผลประโยชน์มหาศาล” นพ.หทัยกล่าว

เขายังอธิบายผลเสียต่อตลาดยาสูบและการรณรงค์ควบคุมการสูบบุหรี่ว่า การเลี่ยงภาษีทำให้บุหรี่ในประเทศไทยเสียส่วนแบ่งการตลาดให้บุหรี่ต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถึงประมาณ 30% เเละหวังว่ากระทรวงการคลังเเละกระทรวงพาณิชย์จะให้ความร่วมมือกับฝ่ายสาธารณสุขในการจัดเก็บภาษียาสูบที่ถูกต้องต่อไป

รศ.ดร.สุชาดา ตั้งทางธรรม อาจารย์สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นักเศรษฐศาสตร์ยาสูบ อธิบายการคำนวณภาษีบุหรี่ โดยใช้ข้อมูลจากสื่อในการคำนวณมูลค่าภาษีบุหรี่นำเข้าจากต่างประเทศเท่าที่ปรากฏต่อสาธารณะ จากราคาต้นทุน ค่าประกันภัย เเละค่าระวางถึงท่าเรือปลายทาง (CIF) บุหรี่ต่างประเทศที่นำเข้าในประเทศไทยมีหลายบริษัท ราคานำเข้าที่บริษัท ฟิลิปมอร์ริส แจ้งนั้นต่ำกว่าราคานำเข้าของบริษัท คิง เพาเวอร์ฯ มาก ตัวอย่างเช่น กรมศุลกากรพบว่าบริษัท ฟิลิปมอร์ริส สำแดงราคานำเข้าบุหรี่ยี่ห้อมาร์โบโลซองละ 7.76 บท และแอลแอนด์เอ็มซองละ 5.88 บาท ขณะที่บริษัท คิง พาวเวอร์ฯ สำแดงราคาบุหรี่ยี่ห้อมาร์โบโลซองละ 27.46 บาท และแอลแอนเอ็มซองละ 16.81 บาท เป็นต้น เมื่อนำราคาที่ต่างกันมาคำณวนกับปริมาณนำเข้าแล้ว พบว่าในช่วงปี 2546 - กุมภาพันธ์ 2550 บริษัท ฟิลิปมอร์ริส สำแดงราคานำเข้าทำให้รับบาลไทยสูญเสียรายได้จากภาษีอากรประมาณ 68,881 ล้านบาท

“การสำแดงราคานำเข้าบุหรี่ที่ต่ำกว่าบริษัทอื่นถึง 3-4 เท่านี้ ทำให้ข้องใจว่าเป็นวิธีการหนีภาษีแบบหนึ่งหรือไม่ เมื่อพิจารณาตามทฤษฎีเกี่ยวกับการหนีภาษี แม้ปัจจุบันมีเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟต้า) ทำให้บุหรี่ต่างประเทศไม่เสียภาษีศุลการกรนำเข้า เเต่ยังต้องเสียภาษีสรรพสามิต หากตั้งสมมติฐานว่า บริษัทฯ เเจ้งราคาเดิมเเละมีปริมาณนำเข้าเท่าเดิม คาดว่าจำนวนภาษีที่รัฐสูญเสียตั้งแต่ปี 2546 ถึงปัจจุบันน่าจะอยู่ที่ประมาณ 200,000 ล้านบาท” รศ.ดร.สุชาดา ระบุ

ตารางเปรียบเทียบการสำแดงราคา

 

บุหรี่ยี่ห้อแอลแอนด์เอ็ม

บุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร

บริษัทฟิลลิป มอร์ริสฯ นำเข้าไทย

5.88 บาท

7.76 บาท

คิงเพาเวอร์นำเข้าไทย

16.81 บาท

27.46 บาท

บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัดนำเข้าไทย

-

30.39 บาท

บริษัท อลิส อินเตอร์ จำกัดนำเข้าไทย

-

ประมาณ 22.13บาท

นำเข้าประเทศมาเลเซีย

14.25 บาท

19.95 บาท

นำเข้าสิงคโปร์

-

20 บาท

นายวศิน พิพัฒนจักร ทนายความ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า บริษัท ฟิลลิป มอร์ริสไม่ได้มีฐานะเป็นธุรกิจต่างด้าว และได้ศึกษาแล้วพบว่าการประกอบธุรกิจมีการวางแผนภาษีเเละใช้ช่องว่างดังกล่าวเพื่อวางแผนเสียภาษีให้น้อยกว่าที่พึงเป็นไปตามกฎหมาย โดยการสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง นอกจากนั้น นายวศินมีข้อสังเกตว่า บริษัทฟิลลิปมอร์ริสของไทยเเละฟิลลิปปินส์มีความเป็นนิติบุคคลเดียวกัน ทั้งสองมีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือบริษัทฟิลลิปมอร์ริส อินเตอร์เนชั่นเเนล ถือหุ้น 100%  การกระทำดังกล่าว เเสดงให้เห็นเจตนาส่อความไม่สุจริต เเละใช้ความเป็นนิติบุคคลเดียวกันนำเข้าบุหรี่ราคาถูกเพื่อต้องการทุ่มตลาดเพื่อให้เกิดการบริโภคยาสูบเพิ่มขึ้นในประเทศ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา

นายไพศาล ลิ้มสถิตย์  กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในเดือนกันยายน 2556 อัยการสูงสุดในขณะนั้นมีความเห็นสั่งฟ้อง บริษัท ฟิลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด กับผู้ต้องหารวม 12 คน เป็นชาวต่างชาติ 4 รายและเสียชีวิตไปแล้ว 1 ราย ซึ่งชาวต่างชาติ 4 รายล้วนเป็นผู้บริหารและพนักงานบริษัทได้หลบหนีการจับกุมไปแล้ว โดยอัยการฝ่ายคดีพิเศษได้เคยทำหนังสือเรียกผู้ต้องหาทั้งหมดมารับทราบข้อกล่าวหาช่วงปลายปี 2556 แต่อัยการได้เลื่อนสั่งคดีออกไปช่วงกลางเดือนมกราคม 2557

นายไพศาล แสดงความกังวลว่า เกือบสองปีที่อัยการสูงสุดมีความเห็นส่งฟ้องแต่เรื่องกลับเงียบ จึงเกรงว่าคดีจะขาดอายุความ เพราะคดีเเพ่งจะหมดอายุความภายใน 10 ปี นับจากวันที่สามารถใช้สิทธิเรียกร้องหรือวันที่รู้ว่ามีการหลีกเลี่ยงอากร ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบการตีความของกรมศุลกากร แต่คาดว่าน่าจะหมดอายุความภายในปีหน้า (2559) ส่วนอายุความทางอาญา คือ 15 ปี นับอายุความจากปี 2549 ส่วนกรณีที่อ้างว่าไม่สามารถฟ้องคดีได้ เนื่องจากผู้ต้องหาเป็นชาวต่างชาติที่ยังไม่สามารถติดตามตัวได้ อัยการสามารถสั่งฟ้องคดีกรรมการบริษัทไทยก่อนเเละประสานงานต่างประเทศให้ส่งผู้ต้องหาชาวต่างชาติผ่านขบวนการส่งตัวผู้ร้ายข้ามเเดนต่อไป

“หวังว่าอัยการและเจ้าหน้าที่ดีเอสไอในฐานะพนักงานสอบสวนจะเร่งรัดดำเนินการต่อไป มิฉะนั้น การนิ่งเงียบที่ผ่านมาทำให้สงสัยว่าอาจมีเจ้าหน้าที่รัฐบางคนคอยให้ความช่วยเหลือบริษัทบุหรี่นี้ และหากพนักงานเจ้าหน้าที่คนใดเพิกเฉยหรือไม่ดำเนินการภายในเวลาอันควร อาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และมีความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช.” นายไพศาลระบุ

ทั้งนี้ การเลี่ยงภาษีทำให้บุหรี่ที่ผลิตในประเทศมีราคาสูงขึ้น ในขณะที่บุหรี่ในประเทศบางยี่ห้อมีราคาคงที่  ดร. สตีเฟน ลอริน ฮาแมนน์ ที่ปรึกษาด้านต่างประเทศ ศูนย์วิจัยและการจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า เมื่อบุหรี่ต่างประเทศราคาถูกลงเมื่อเทียบกับบุหรี่ในประเทศ ก็จะเป็นการดึงดูดนักสูบบุหรี่หน้าใหม่ เยาวชน เเละวัยรุ่นให้สูบบุหรี่มากขึ้น และเปลี่ยนพฤติกรรมไปสูบบุหรี่ต่างประเทศเนื่องจากให้ภาพลักษณ์ความเท่และทันสมัย

เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ไม่ประสงค์ออกนาม) แสดงความคิดเห็นเป็นการส่วนตัวว่า เป็นห่วงต่อการสำแดงราคาภาษีบุหรี่ ที่เป็นการค้าผิดปกติ (Abnormal Trade) ซึ่งยังใช้ราคาสำแดงเดิมเเละการต่อสู้คดีในศาลที่ไม่มีประสิทธิภาพเเละไม่มีข้อมููลเข้มเเข็งรองรับ  แม้การต่อสู้คดีอาจจะไม่สามารถเรียกเงินค่าเสียหายได้ แต่ครั้งนี้ถือเป็นการฟ้องร้องเพื่อศักดิ์ศรี เเละเป็นการสร้างแนวทางในเพื่อการป้องกันการเสี่ยงภาษีของบริษัทบุหรี่ในอนาคต  เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษยังได้เเนะนำให้มีการศึกษาวิจัยฐานราคาบุหรี่ที่แท้จริงเพื่อใช้ในการต่อสู้ในระดับองค์กรการค้าโลกต่อไป 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net