Skip to main content
sharethis

อภิสิทธิ์ เผยไม่เอาคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ชี้ สปช. รีบคว่ำร่าง รธน. ก่อนให้ ปชช. ลงมติ ด้าน สปช. สิระ ขู่วันชัย หากลงมติไม่รับร่าง รธน. เจอฟ้องหนึ่งพันล้านบาท

แฟ้มภาพ: อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พบปะนายกและกรรมการสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่สมาคมฯ (19 ส.ค.58)  ภาพจากแฟนเพจ Abhisit Vejjajiva

25 ส.ค. 2558 มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 25 ส.ค. ที่พรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) บางกลุ่มจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังไม่แล้วเสร็จเนื่องจากไม่มีคำปรารภว่า การทักท้วงในเรื่องนี้เคยทำแล้วครั้งหนึ่งในปี 2540 ซึ่งมีบทสรุปไปแล้วว่าคำปรารภเขียนล่วงหน้าไม่ได้เพราะต้องบรรยายกระบวนการทั้งหมดจนกระทั่งเกิดการตรารัฐธรรมนูญ จึงคิดว่าไม่ควรนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นหลัก แต่ขอให้ดูสาระของรัฐธรรมนูญ เพราะการใส่เนื้อหาเรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ(คปป.) อย่างกระชั้นชิด เป็นการสร้างปัญหารัฐซ้อนรัฐ ซึ่งจะทำให้เกิดความขัดแย้งในอนาคต เป็นปัญหาต่อระบอบประชาธิปไตย

“ผมไม่เคยขัดข้องว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องถูกกำกับไม่ให้ใช้อำนาจในทางไม่ชอบ และไม่ขัดข้องที่จะมีบทบัญญัติให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งเดินหน้าเรื่องการปฏิรูป แต่สิ่งที่เขียนอยู่ไม่ได้บอกว่าการปฏิรูปคืออะไร ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯนอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติบังคับรัฐบาลได้

ผมขอยกตัวอย่างกรณีมีความคิดเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม ถ้ารัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ แล้วเสนอนิรโทษกรรมแบบที่เคยเกิดขึ้น รัฐบาล และสภาฯ ก็ขัดไม่ได้ ซึ่งจะเป็นปัญหา หรือแม้แต่การปฏิรูปตำรวจที่เคยเขียนไว้ดีกลับเอาออกไปหมด  แต่จะกลับเสนอเป็นกระทรวงตำรวจ ถ้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอยากปฏิรูป แต่เห็นว่าแนวทางนี้ไม่ใช่การปฏิรูปตำรวจก็จะไม่เกิดการปฏิรูปได้จริง ซึ่งจะทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น เพราะจะมีความพยายามแก้รัฐธรรมนูญ ในขณะที่ คปป. ก็จะขัดขวาง เพราะกระทบต่อตัวเอง แล้วใช้อำนาจที่มีมาบังคับซึ่งจะยิ่งเกิดความขัดแย้งมากขึ้น จึงอยากให้ สปช. คว่ำรัฐธรรมนูญฉบับนี้” อภิสิทธิ์ กล่าว

อภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของ สปช. ไม่อยากให้ สปช. ผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ไม่ใช่เพราะว่าจะทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) อยู่ต่อแต่เป็นการปรับปรุงเนื้อหาในรัฐธรรมนูญให้ดีก่อนทำประชามติ เพราะหลายเรื่องไปได้ แต่มีปัญหาเรื่อง คปป. ซึ่งมีช่องโหว่ในอนาคต เช่น รัฐบาลในอนาคตอาจสามารถแก้ไขกฎหมายลูกในการกำหนดกติกาการได้มาซึ่ งส.ว. และ คปป. ก็จะเกิดปัญหามาก

ดังนั้น ไม่ควรนำความขัดแย้งไปสู่จุดการทำประชามติ หรือหลังเลือกตั้ง จึงเห็นว่าสปช.ต้องคว่ำร่างรัฐธรรมนูญนี้ทันที ซึ่งการปรับปรุงเนื้อหาไม่จำเป็นต้องใช้เนื้อหาตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว แค่เชิญทุกฝ่ายมาหารือพร้อมบอกเป้าหมายกับสังคมที่ชัดเจนว่า ต้องการปฏิรูปอย่างไร และจะให้มีกลไกอะไรมากำกับดูแลที่ดีกว่าทำให้เกิดรัฐซ้อนรัฐ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเสร็จได้ภายใน 2-3 เดือน จากนั้นจึงทำประชามติ

อภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า แม้สังคมจะกังวลว่าบ้านเมืองจะกลับไปวุ่นวาย จึงมีความคิดสร้างอำนาจรัฐซ้อนรัฐ โดยปราศจากรูปธรรมของการปฏิรูป และไม่มีกลไกที่ชัดเจนในเรื่องป้องกันการใช้อำนาจในทางที่ผิด จะยิ่งเพิ่มความวุ่นวายความสับสนและความรุนแรงในอนาคต ดังนั้นเห็นว่า คสช. ควรเปิดใจหารือสิ่งที่ตัวเองเป็นกังวล หารือกันเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านราบรื่น โดยเขียนรัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายยอมรับทำให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า ทางออกที่ดีที่สุดคือ สปช. คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ และเมื่อมีคณะกรรมการ 21 คน มาปรับปรุงเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ คงเป้าหมายการปฏิรูป การรักษาความสงบและการเปลี่ยนผ่านที่ราบรื่นไว้ แต่ถ้าไม่รับฟังตนก็กังวลว่าจะเกิดความขัดแย้งในทุกขั้นตอนนับจากนี้เป็นต้นไป เพราะไม่มีทางลัด จะใจร้อนหรือคิดง่ายๆไม่ได้ เพราะปัญหามีที่มาที่ไปชัดเจน แต่ตอนนี้พูดปลายทางว่าปัญหาคือคนทะเลาะกัน โดยไม่ดูว่าความขัดแย้งมาจากต้นเหตุใด

“คปป. ที่เขียนขึ้นมาไม่มีรูปธรรมว่าขอบเขตการใช้อำนาจคืออะไร ต่างจากการบัญญัติในเรื่องการสกัดนโยบาย ประชานิยมดังนั้นหาก สปช. ผ่านร่างนี้จะนำไปสู่การทำประชามติจะสร้างปัญหาแน่ และความรุนแรงจะมากขึ้นเพราะคนที่ไม่เห็นด้วยก็ต้องเคลื่อนไหวหาก คสช.ไม่ให้ เคลื่อนไหวก็จะเกิดปัญหาว่าจะทำประชามติทำไม ซึ่งเป็นความขัดแย้งเบื้องต้น ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติก็จะเกิดปัญหากับหลายฝ่ายโดยเฉพาะคสช. หรือแม้ว่าผ่านประชามติ เข้าสู่การเลือกตั้ง ก็จะต่อสู้ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้อีก จึงมองไม่เห็นว่าการเดินเช่นนี้จะช่วยให้ประเทศเดินไปข้างหน้า และหลุดพ้นจากปัญหาเดิมได้อย่างไร” อภิสิทธิ์ กล่าว

ส่วนกรณีที่ พรรคเพื่อไทยประกาศคว่ำรัฐธรรมนูญนั้น อภิสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า สปช.ไม่ผ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะดีกว่า เพราะเมื่อไปถึงขั้นทำประชามติจะมีปัจจัยอื่นเข้ามา ทั้งภาวะเศรษฐกิจ ความต้องการเลือกตั้ง และยิ่งมีการพ่วงคำถาม จะทำให้เกิดความสับสนมากขึ้นก็จะเกิดความยุ่งยาก จึงอยากให้คำนึงด้วยว่าเราต้องใช้กติกานี้ใช้ตลอดไป อย่าคิดว่าผ่านๆไปก่อนไม่ได้ เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ที่ตนเคยแสดงจุดยืนว่าให้ผ่านไปก่อน เพราะยืนยันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้ได้ และไม่ใช่ต้นตอของปัญหา

แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีหลายจุดที่เป็นปัญหาแน่นอน จึงไม่อยากให้มองว่าเกิดการเลือกตั้งได้หรือไม่ แต่ต้องมองว่าถ้าจะเลือกตั้งได้ต้องอยู่ในภาวะอย่างไร เมื่อมีการรัฐประหารแล้วสังคมตั้งความหวังให้สะสางปัญหาเดิมเพื่อเดินไปข้างหน้า แต่ตนเห็นว่าสังคมจะเดินหน้าอย่างราบรื่นได้ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สปช.ต้องปลดสลักแล้วกลับมาตั้งหลักกันใหม่ แก้ในส่วนที่เป็นปัญหา และให้เกิดความชัดเจนในเรื่องหลักคิด

“ในอดีตรัฐธรรมนูญเพียงวรรค เดียวก็เป็นชนวนจนทำให้ฆ่ากันตายซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วไม่ใช่ว่า ดี99เปอร์เซ็นต์แล้วจะไม่มีปัญหาและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯที่ทำให้เกิดรัฐ ซ้อนรัฐจะทำให้เกิดความวุ่นวายมากผมถามง่ายๆว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์มีขึ้น มาเพื่อปฏิรูปแต่ไม่ให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินจะทำได้หรือ เพราะการบริหารราชการแผ่นดินและการปฏิรูปต้องควบคู่กัน ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดความขัดแย้งมาก ขอให้ตั้งหลักใหม่ ถ้าจะเสียเวลาอีก 2-3 เดือนก็ไม่เป็นปัญหา ถ้าพวกผมเห็นแก่ตัวอยากกลับไปเป็นผู้แทนก็คงบอกให้รีบผ่านเพื่อให้มีเลือก ตั้ง แต่ผมคิดว่าไม่ใช่ เพราะไม่ต้องการกลับไปเลือกตั้งแล้วไปวุ่นวายอีก แต่ต้องการการเลือกตั้งมีประชาธิปไตยที่ดีและสมดุล” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

เมื่อถามว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยต่อสายตานานาชาติ อภิสิทธิ์ กล่าวว่า นานาชาติคงมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว แต่ไม่สำคัญเท่ากับผลลัพธ์ที่มีต่อสังคมไทย ถ้าดีแต่นานาชาติไม่ชอบ เราก็ไม่จำเป็นต้องตามใจนานาชาติ แต่สิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่จะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่อยากให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย เพราะจะเกิดปัญหาตรงกันข้าม จึงอยากให้รับฟังรวมถึงกรณีที่จะพ่วงคำถามประชามติเรื่องรัฐบาลปรองดอง

ตนยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการพ่วงคำถามใดๆ ทั้งสิ้น เช่น ถามว่าจะปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง 2 ปี ถ้าผลออกมาว่าประชาชนเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญ และเห็นชอบกับคำถามด้วย จะปฏิบัติอย่างไร เพราะขัดแย้งกันเอง ทุกคนต้องเลิกคิดเรื่องการเมืองแต่ต้องคิดว่าอะไรดีที่สุดสำหรับบ้านเมืองในอนาคต วิธีคิดที่จะให้มีรัฐบาลแห่งชาติเพื่อแบ่งสรรผลประโยชน์ไม่ใช่การแก้ไขปัญหา เพราะต้นตอเกิดจากการใช้อำนาจรัฐในทางที่ผิด การจะให้ใครร่วมกันเป็นรัฐบาลไม่ใช่การแก้ไขปัญหานี้ ถ้าไม่มีการแก้ไขว่าการใช้อำนาจที่ผิดต้องถูกตรวจสอบด้วยกลไกที่เหมาะสม จึงอยากให้คิดว่าจะทำอย่างไรให้มีกติกาที่เหมาสมและยั่งยืนในอนาคต

สปช. สิระ ขู่ใครคว่ำร่าง รธน. จะฟ้องหนึ่งพันล้าน

ขณะเดียวกัน เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานว่า ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการ และคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ สิระ เจนจาคะ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีที่ วันชัย สอนศิริ สมาชิก สปช. ออกมาขู่คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ถ้าจงใจบอกว่าคว่ำแล้วในวันที่ 6 ก.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แล้วปรากฎว่าวันชัย ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอย่างที่ประกาศไว้จริง ตนและประชาชนจำนวนหนึ่ง จะดำเนินการฟ้องแพ่ง จำนวน 1,000 ล้านบาท ในฐานที่จงใจให้เกิดความเสียหายแก่ชาติบ้านเมือง เพราะเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินที่ได้จากภาษีประชาชน นำมาดำเนินการให้ สปช. และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ

 “เหมือนกับผมเป็นผู้รับเหมาสร้างบ้าน แล้วขู่เจ้าของเงินว่าจะทุบบ้านทิ้ง โดยที่เจ้าของเงินจะไม่ได้บ้าน และถ้าวันส่งมอบบ้านทุบจริงก็ถือว่าผิด จึงอยากถามจริยธรรมของนายวันชัยว่าอยู่ตรงไหน แทนที่จะเสนอให้ปรับแก้ให้ดีขึ้น กลับขู่ให้คว่ำ” สิระกล่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net