พนักงานทำความสะอาด ‘คุณพี่-คุณน้า-คุณป้า-คุณย่า-คุณยาย’ ในที่ทำงาน

เมื่อไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย จะมีงานให้ผู้สูงวัยทำไหม? คำตอบคือมีแล้วนั่นก็คือ ‘พนักงานทำความสะอาด’ ตลาดแรงงานหลักสำหรับ ‘หญิงสูงวัย-ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา’ พบ ‘งานหนัก-ขาดความมั่นคง-เสี่ยงอันตรายจากสารเคมี’ และลักษณะการจ้างส่วนใหญ่ถูกแปรรูปไปเป็นงาน ‘เหมาช่วง’ เกือบหมดแล้ว

คุณเคยสังเกตไหมว่าในออฟฟิศของคุณมี  “คุณพี่-คุณน้า-คุณป้า-คุณย่า-คุณยาย” แรงงานหญิงสูงวัยกำลังทำงานหนักอยู่

อีกหนึ่งคนทำงานที่ถือว่าเป็น “กระดูกสันหลัง” ในสถานประกอบการและหน่วยงานต่าง ๆ นั่นก็คือ “พนักงานทำความสะอาด” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานหญิง โดยอาชีพนี้มีความพิเศษอยู่ที่ไม่ปิดกั้นเรื่องอายุและวุฒิการศึกษาของพนักงาน ถือว่าเป็นไม่กี่อาชีพที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงที่มีอายุถึง 50-60 ปี สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้

การจ้างงานพนักงานทำความสะอาดนั้นจะมีอยู่ 3 รูปแบบคือ 1. สถานประกอบการนั้น ๆ จ้างเป็นพนักงานประจำโดยตรง 2. สถานประกอบการนั้น ๆ จ้างเป็นพนักงานชั่วคราว และ 3. สถานประกอบการนั้น ๆ จ้างผ่านบริษัทเหมาช่วง

ปัจจุบันส่วนใหญ่แล้วการจ้างงานพนักงานทำความสะอาดแบบจ้างตรงเป็นพนักงานประจำของสถานประกอบการต่าง ๆ เริ่มหายไป และหันมาใช้การจ้างผ่านบริษัทเหมาช่วงทำความสะอาดแทน ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนแนวคิดการจ้างงานของสถานประกอบการและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุนด้านสวัสดิการในการจ้างพนักงานประจำ กองทุนเงินทดแทน กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมทั้ง “เลี่ยง” ภาระหน้าที่ตามกฎหมายอย่างอื่นอีกที่ผู้ประกอบกิจการในฐานะนายจ้างจะต้องร่วมรับผิดชอบกับลูกจ้าง ส่งผลให้หลายงานที่สถานประกอบการและหน่วยงานนั้น ๆ เคยจ้างงานโดยตรง ต้องหันมาใช้ระบบ "จ้างเหมาช่วง" ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานระดับพื้นฐานเช่น งานรักษาความปลอดภัย งานซ่อมบำรุง และงานทำความสะอาด เป็นต้น

บริษัทรับเหมาช่วงทำความสะอาด

ธุรกิจบริษัทเหมาช่วงทำความสะอาดในประเทศไทยเกิดขึ้นมาเพื่อรองรับในหลากหลายอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็น การทำความสะอาดแบบเฉพาะทาง เช่น โรงพยาบาล อาคารสำนักงาน พื้นที่ส่วนกลางต่าง ๆ สนามบิน โรงงาน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ครัว ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว เป็นต้น

ข้อมูลจากชมรมผู้ประกอบการรักษาความสะอาด ระบุว่ากรมธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ประเมินว่าในปี พ.ศ. 2556 ตลาดการทำความสะอาดมีมูลค่าโดยประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาทมีบริษัทที่ให้บริการด้านการทำความสะอาดกว่า 2,600 บริษัท แรงงานที่อยู่ในระบบของบริษัทช่วงทำความสะอาดมีการจ้างงานทั้งประจำและชั่วคราว มีอยู่ประมาณ 6-7 แสนคน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานหญิงอายุ 18-55 ปี โดยมีสัดส่วนของแรงงานข้ามชาติอยู่ประมาณร้อยละ 10 ในอุตสาหกรรมนี้ ส่วนใหญ่แล้วพวกเธอได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำหรือมากกว่าขึ้นอยู่กับลักษณะงานและเวลาการทำงาน

บริษัทรับเหมาช่วงทำความสะอาดโดยทั่วไปนั้นส่วนใหญ่มักจะมีรูปแบบของการจ้างงานเหมาเป็นแบบ 3 ฝ่าย ได้แก่ ผู้ว่าจ้าง คนกลางหรือผู้รับเหมาช่วง และพนักงาน ซึ่งมีการทำสัญญาจ้างงานระหว่างผู้รับเหมาช่วงกับพนักงานและมีการจ้างงานแบบรับเหมาเฉพาะพนักงาน เพราะผู้ว่าจ้างจะจ่ายค่าจ้างให้กับบริษัทรับเหมาช่วงตามจำนวนพนักงาน โดยที่คนกลางหรือบริษัทรับเหมาช่วงนั้นจะเป็นผู้จัดหาอุปกรณ์ในการทำความสะอาดให้กับพนักงาน

ลักษณะการดำเนินงานที่ต้องเข้าไปแข่งขันเสนอราคาและประมูลงานตามสถานประกอบการและหน่วยงานต่าง ๆ ของบริษัทรับจ้างเหมาช่วงทำความสะอาดนี้นั้น ทำให้มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคาค่าบริการ ทั้งนี้สัญญาจ้างทำความสะอาดนั้นมักจะมีอายุสัญญาปีต่อปี และเมื่อครบกำหนดสัญญาสถานประกอบการหรือหน่วยงานผู้ว่าจ้างอาจจะเรียกบริษัทเหมาช่วงรับทำความสะอาดอื่น ๆ มาเสนอราคาเปรียบเทียบหรือทำการประมูลใหม่ ดังนั้นเมื่อบริษัทรับเหมาทำความสะอาดแต่ละบริษัทรับงานมาในราคาที่ถูกกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ต้องมีการลดค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนด้านสวัสดิการแรงงาน บริษัทรับเหมาทำความสะอาดจึงต้องใช้พนักงานที่มีสัญญาระยะสั้น ให้สวัสดิการเฉพาะที่กฎหมายกำหนด ทำให้มีการเข้า-ออก เปลี่ยนต้นสังกัด ของพนักงานงานในอุตสาหกรรมนี้เกือบตลอดเวลา

รวมทั้งการผลักภาระต้นทุนไปให้แก่พนักงานทำความสะอาดเอง ไม่ว่าจะเป็น การกดค่าแรงต่ำที่สุด (ตามค่าแรงขั้นต่ำ) การให้อุปกรณ์ป้องกันในการทำงานที่ราคาถูกแต่ไม่ได้มาตรฐาน การใช้บทลงโทษต่อพนักงานเมื่อเกิดความผิดพลาด เช่น  ถ้าขาดงานไปโดยไม่แจ้งก็จะต้องทำงานโดยไม่ได้รับค่าแรงชดเชยวันทำงานที่หายไป, การหักเงินเดือน และการยึดเงินค่าประกันการทำงาน เป็นต้น

การจ้างงานแบบเหมาช่วง/เหมาค่าแรง หรือ ซับคอนแทรค (sub-contract)

"งานจ้างเหมา" ตามกฎหมายแรงงานของไทย หมายถึง งานที่ทำให้แก่บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งเรียกว่า "สถานประกอบการผู้จ้าง" โดยบุคคลหนึ่งเรียกว่า "คนงานจ้างเหมา" เมื่องานนั้นคนงานทำด้วยตนเองภายใต้เงื่อนไขที่เป็นจริงของการพึ่งพาหรือการอยู่ใต้บังคับบัญชาของสถานประกอบการผู้จ้าง ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้คล้ายกับลักษณะของความสัมพันธ์ในการจ้างงานตามกฎหมายและแนวปฏิบัติแห่งชาติ และซึ่ง 1.งานนั้นได้ทำขึ้นเนื่องจากมีความสัมพันธ์ตามสัญญาโดยตรงระหว่างคนงานกับสถานประกอบการผู้จ้าง หรือ 2. คนงานนั้นได้ถูกจัดหาให้แก่สถานประกอบการผู้จ้าง โดยผู้รับเหมาช่วงหรือคนกลาง

ปัจจุบันลักษณะของงานจ้างเหมามีอยู่ในตลาดแรงงานทั่วโลก โดยข้อมูลจาก The ICEM Mini Guide to Dealing with Contract and Agency Labour ระบุไว้ว่าการจ้างงานประจำและจ้างโดยตรงกำลังถูกแทนที่ด้วยการจ้างงานแบบเหมาช่วง/เหมาค่าแรง (contract and agency labour) และการจ้างงานที่ไม่มั่นคงหลายรูปแบบ การจ้างงานลักษณะดังกล่าวนี้มีแนวโน้มขยายตัวไปอีกมาก ส่งผลให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “แรงงาน 2 ระดับชั้น” ขึ้นทั่วโลก แรงงานระดับชั้นแรก คือคนงานที่ถูกจ้างงานประจำและจ้างโดยตรง มีสภาพการจ้างค่อนข้างดีกว่า แต่ก็มีจำนวนลดลงเรื่อยๆ แรงงานระดับชั้นที่สอง ก็คือคนงานที่ถูกจ้างงานโดยไม่มีความมั่นคง ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า มีสวัสดิการน้อยกว่า และอยู่ในงานที่ไม่มีความแน่นอน

ความไม่มั่นคงในการจ้างงานที่ขยายตัวมากขึ้นนี้ ยังส่งผลให้จำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานลดลงด้วย สิ่งนี้ทำเกิดวงจรที่เป็นผลเสียต่อคนงานวนเวียนกลับไปกลับมา กล่าวคือ เมื่อคนงานส่วนใหญ่ไม่ได้รับปกป้องหรือคุ้มครองจากสหภาพแรงงาน ก็ส่งผลสถานการณ์ของคนงานทั้งหมดโดยรวมเลวร้ายลงไป ซึ่งรวมไปถึงผลเสียต่อตัวคนงานประจำเองด้วยแม้พวกเขาจะถูกจ้างงานโดยตรงก็ตาม ปัญหาจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานที่ลดน้อยถอยลง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องมีการดำเนินการแก้ไขให้ดีขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อคนงานและต่อสังคมด้วย ในขณะที่บริษัทต่าง ๆ มักกล่าวว่า การจ้างงานแบบเหมาช่วง/เหมาค่าแรงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการการลดต้นทุนของบริษัท แต่ในขณะเดียวกัน บริษัทเหล่านั้น (รวมถึงรัฐบาลในประเทศต่าง ๆ) ได้กำลังทำลายมาตรฐานการจ้างงานลง ทำให้คนงานต้องเผชิญกับภาวการณ์ยากลำบากอันเกิดมาจากงานที่ไม่มีความมั่นคงที่มากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างจำนวนมากที่เกิดขึ้นในบริษัทที่พยายามใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของกฎหมาย และพบความพยายามอย่างมากของบริษัทที่จะลดข้อผูกมัดด้านการจ้างงานลง วิธีการต่าง ๆ เหล่านี้ประกอบด้วย

• การจ้างงานผ่านสัญญาระยะสั้นที่ต่ออายุใหม่ไปเรื่อยๆ อาจมีการหยุดพักเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะเริ่มสัญญาใหม่ ทำให้บริษัทสามารถหลีกเลี่ยงกฎระเบียบหรือกฎหมายที่กำหนดให้จ้างลูกจ้างชั่วคราวได้เพียงในช่วงเวลาหนึ่ง แต่หลังจากนั้นต้องบรรจุเป็นพนักงานประจำ ในทวีปอเมริกาเหนือ คนงานในลักษณะนี้ถูกเรียกว่า “คนงานชั่วคราวแบบประจำ”

• ให้ทดลองงานยาวนานอย่างโหดร้าย

• ไม่มีการฝึกอบรมทักษะการทำงานในการฝึกงานและการทดลองงาน

• ใช้การจ้างงาน “ตามฤดูกาล” ตลอดทั้งปี

• การสร้างตัวแทนจัดหาคนงานหรือนายหน้าจ้างเหมาช่วงแบบปลอมๆ หรือบริษัทกำมะลอขึ้นมาเพื่อหลีกเลี่ยงภาระผูกพันต่อคนงาน

• ไม่ต่อสัญญาจ้างให้คนงานที่ต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิในการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือคนงานที่ร่วมยื่นข้อเรียกร้อง แม้แต่ในเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัย หรือการนำคนงานที่ไม่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเข้ามาทำงานแทนที่

รายได้-สวัสดิการ ต่ำ

พนักงานทำความสะอาดเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีรายได้ต่ำ โดยข้อมูลจาก รายงานค่าจ้างรายอาชีพ พ.ศ. 2557 ของกองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน พบค่าจ้าง (เฉลี่ยทั้งประเทศ) ของผู้ทำความสะอาดอาคาร, พนักงานทำความสะอาดอาคาร ในภาคบริการ สูงสุดอยู่ที่ 9,000 บาท ต่ำสุดอยู่ที่ 7,800 บาท และค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 8,314 บาท ส่วนค่าจ้างผู้ทำความสะอาดอาคาร, พนักงานทำความสะอาดอาคาร ในภาคอุตสาหกรรม สูงสุด ต่ำสุด และค่าจ้างเฉลี่ยเท่ากันหมดอยู่ที่ 7,800 บาท เท่านั้น

ตัวอย่างอัตราค่าจ้างพนักงานทำความสะอาดประจำของบริษัทรับเหมาทำความสะอาดแห่งหนึ่งในกรุงเทพ มีอัตราเรียกเก็บค่าบริการที่ต้องจ่ายให้กับบริษัทเหมาช่วง ทำงานจันทร์-ศุกร์ 10,000 บาท/คน/เดือน จันทร์-เสาร์ 12,000 บาท/คน/เดือน จันทร์-อาทิตย์ 13,500 บาท/คน/เดือน ทั้งนี้พบว่าส่วนใหญ่พนักงานทำความสะอาดจะได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำคือวันละ 300 บาท (ปี พ.ศ. 2558) และค่าตอบแทนในการทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุด ซึ่งโดยรวมแล้วมักจะไม่ถึง 13,500 บาท ต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดที่บริษัทเหมาช่วงเรียกเก็บจากผู้รับบริการต่อพนักงานทำความสะอาด 1 คน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีบริษัทรับเหมาทำความสะอาดหลายแห่งที่ประกาศรับสมัครตำแหน่งพนักงานทำความสะอาดว่าจะมีรายได้ 9,000-16,000 บาท แต่รายได้ที่สูงขึ้นของคนทำงานในอุตสาหกรรมนี้ก็ต้องแลกกับชั่วโมงการทำงานที่สูงขึ้นด้วย 

ในด้านการรวมตัวต่อรองพบว่าพนักงานทำความสะอาดไม่มีการรวมตัวกันในรูปแบบสหภาพแรงงาน ทำให้ไม่มีพลังในการต่อรองกับบริษัทรับเหมาช่วงทำความสะอาด ในด้านหนึ่งเป็นเพราะสังคมไทยยังไม่มีการให้องค์ความรู้ด้านสหภาพแรงงานแก่คนทำงานมากนัก รวมทั้งลักษณะการกระจายตัวไปทำงานตามสถานประกอบการและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ผู้ว่าจ้างบริษัทรับเหมาช่วงทำความสะอาดที่เป็นต้นสังกัดที่แท้จริงของพนักงานทำความสะอาดประมูลมาได้ ก็เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้พนักงานไม่สามารถรวมตัวกันต่อรองได้ ส่วนใหญ่การจะได้รับสวัสดิการที่ดีจึงต้องหวังพึ่งบริษัทต้นสังกัดซึ่งแปรผันตามขนาดและความมีชื่อเสียงของบริษัทรับเหมาทำความสะอาดนั้น ๆ รวมทั้งความสามารถในการเอาตัวรอดเฉพาะหน้าของตัวพนักงานเอง

จากงานศึกษาเรื่อง "การจัดสวัสดิการแรงงานในบริษัทรับเหมาช่วง : ศึกษากรณีพนักงานทำความสะอาดหญิง" วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี พ.ศ. 2544  ของ นวพร ยรรยง ซึ่งได้ทำการศึกษาบริษัทรับเหมาช่วงทำความสะอาดในกรุงเทพที่กระจายตัวอยู่ในเขตต่าง ๆ ถึง 58 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งมีพนักงานแตกต่างกันตั้งแต่ 12 คน ถึง 3,000 คน โดยการศึกษาได้แบ่งบริษัทรับเหมาช่วงนั้นเป็น 3 กลุ่ม ตามจำนวนพนักงาน คือ บริษัทรับเหมาช่วงขนาดเล็กมีพนักงานตั้งแต่ 1-49 คน ขนาดกลางมีพนักงานตั้งแต่ 50-100 คน และขนาดใหญ่มีพนักงานตั้งแต่ 101 คนขึ้นไป โดยได้ทำการสัมภาษณ์พนักงาน 15 แห่ง ขนาดละ 5 แห่ง (เล็ก-กลาง-ใหญ่) และสัมภาษณ์พนักงานแห่งละ 5 คน ได้ข้อค้นพบที่น่าสนใจว่าการจัดสวัสดิการให้แก่พนักงานนั้น (แบ่งออกเป็นด้านต่าง ๆ ได้แก่ สวัสดิการเกี่ยวกับสุขอนามัย, ความปลอดภัย, ความมั่นคง, เศรษฐกิจ, เงินโบนัสและเงินสวัสดิการ, การศึกษา, กิจกรรมและนันทนาการ และความสะดวกสบายและคมนาคม) บริษัทที่มีขนาดใหญ่จะมีการจัดสวัสดิการในทุก ๆ ด้านดีกว่าบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ในส่วนความต้องการของพนักงานทำความสะอาดนั้นพบว่าสวัสดิการที่พนักงานต้องการมากที่สุดคือสวัสดิการทางด้านเศรษฐกิจและโบนัส ทั้งนี้ข้อเสนอแนะของการศึกษานี้คือบริษัทเหมาช่วงทำความสะอาดควรคำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของพนักงาน เพื่อจะได้จัดสวัสดิการให้ตรงกับความต้องการของพนักงาน โดยเปิดโอกาสให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการมากยิ่งขึ้น

ส่วนงานศึกษา "ประสบการณ์ของพนักงานทำความสะอาดหญิงในบริษัทรับเหมาทำความสะอาด" วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (สังคมสุขภาพ) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2552 ของ รังษิญาณี สรัสสมิต พบว่าพนักงานทำความสะอาดหญิงไม่ได้รวมตัวอย่างเหนียวแน่นเพื่อสร้างสหภาพแรงงานขึ้นมาต่อต้านกับอำนาจของบริษัทรับเหมาทำความสะอาดต้นสังกัด มีเพียงการสานสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมอาชีพที่ทำงานในบริษัทรับเหมาทำความสะอาดอื่น ๆ เพื่อผลประโยชน์ในด้านการแลกเปลี่ยนข่าวสารต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ เป็นข้อมูลในการเลือกว่าจะทำงานกับบริษัทที่ประมูลงานได้ โดยต้องทำงานเพิ่มในพื้นที่เดิม หรือทำงานกับบริษัทเดิม ซึ่งอาจต้องย้ายไปทำงานในพื้นที่ใหม่ เป็นต้น โดยที่บริษัทรับเหมาทำความสะอาดทำได้เพียงหาคนมาแทน และหากพนักงานคนเก่าหวนกลับมาสมัครงาน ทางบริษัทก็ยอมรับให้กลับเข้ามาทำงานอีกครั้ง ในด้านการจัดการสุขภาพตนเองของพนักงานหญิงนั้น มีวิธีที่หลากหลาย เช่น การสับหลีกระหว่างการทำงาน และวิถีทางสุขภาพ โดยยอมมาทำงานตามกฎของบริษัท แต่อีกด้านหนึ่งก็แอบออกไปจากพื้นที่งาน เช่น หายไปโดยไม่บอกในช่วงพักเที่ยง หรือขออนุญาตออกไปพบแพทย์ โดยมาทำงานก่อนเวลา และเข้าไปขออนุญาตผู้มีอำนาจทุกฝ่ายในพื้นที่ทำงาน เพราะเหตุแห่งสุขภาพ จึงทำให้มีผู้มีอำนาจทุกฝ่ายต้องยอม ดังนั้นเธอจึงได้รับค่าจ้าง และถือว่าได้แจ้งแก่ผู้มีอำนาจแล้ว ไม่ได้หนีงาน เป็นต้น

อันตรายจากการทำงาน

แผลที่เกิดจากการสัมผัสน้ำยาทำความสะอาดในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานทำความสะอาด

ถึงแม้จะมีอุปกรณ์ป้องกัน แต่กระนั้นในการทำงานพนักงานทำความสะอาดก็มีความเสี่ยงสูงที่จะสัมผัสสารพิษอันตราย โดยเฉพาะการสัมผัสน้ำยาถูพื้นและน้ำยาล้างห้องน้ำ 

ในงานศึกษาเรื่อง "ความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณมือ ของพนักงานทำความสะอาดในบริษัทรับจ้างทำความสะอาดแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร" ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ.2552 ของ รชยา หาญธัญพงศ์ ที่ได้ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างเป็นพนักงานทำความสะอาดในบริษัทรับจ้างทำความสะอาดแห่งหนึ่งในกรุงเทพ โดยการใช้แบบสอบถามและตรวจร่างกายในรายที่สงสัยเป็นผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณมือพนักงานทำความสะอาด 434 คน ผลการศึกษาพบว่า ความชุกของการเกิดผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณมือในพนักงานทำความสะอาดเท่ากับร้อยละ 13.4 โดยผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณมือพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณมืออย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ ประวัติภูมิแพ้ ประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว ระยะเวลาการใส่ถุงมือในแต่ละครั้ง และการสัมผัสสาร Benzalconium และ Etoxylated nonylphenol ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในน้ำยาถูพื้น

ส่วนน้ำยาล้างห้องน้ำชนิดมีฤทธิ์เป็นกรดและมีฤทธิ์กัดกร่อนที่รุนแรงก็เป็นสารเคมีที่สามารถเข้าสู่ร่างกายของพนักงานทำความสะอาดได้โดยง่าย ทั้งนี้จากบทความ “อันตรายจากสารกัดกร่อนในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดครัวเรือน” ในวารสาร มฉก.วิชาการ ปีที่ 16 ฉบับที่ 32 มกราคม - มิถุนายน 2556 ของ ปานทิพย์ รัตนศิลป์กัลชาญ ระบุว่า ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสผ่านทางผิวหนังโดยตรงหรือไอระเหยของกรดเข้าทางการสูดดมถือว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ โดยถ้าถูกผิวหนังก็จะทำให้เกิดการระคายเคืองอย่างรุนแรง ทำให้ผิวหนังอักเสบบวม แดง เจ็บแสบ เป็นแผล ไอระเหยกรดเกลือในปริมาณน้อยทำให้ระคายเคืองตา ตาแดง เยื่อบุตาอักเสบ ในความเข้มข้นสูง ๆ ทำให้เกิดแผลไหม้ หรือตาบอด การสูดดมไอระเหยของกรดเกลือนาน ๆ จะส่งผลให้เกิดการกัดกร่อนต่อระบบทางเดินหายใจอย่างช้า ๆ มีอาการแสบจมูก ลำคอ ไปจนถึงหายใจลำบาก การสูดดมในปริมาณมาก ๆ เป็นเวลานาน จะส่งผลทำให้เป็นแผลไหม้ มีแผล อักเสบที่จมูกและลำคอ ปอดบวมและหายใจลำบากการกลืนกินเข้าไป จะทำให้เกิดการระคายเคืองและแผลไหม้ที่ปาก ลำคอ ท่ออาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งมีผลทำให้เกิดมีอาการตั้งแต่ กลืนลำบาก น้ำลายยืด คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องท้องร่วง ชัก หรือถึงขั้นเสียชีวิต 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท