ชาตินิยมและความขัดแย้งระหว่างประเทศในปัจจุบันกรณีกัมพูชาและไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

                                                                                

การที่ดิฉันได้มีโอกาสฟังการบรรยายของ ดร. สก อุดม เดช (Sok Udom DETH) นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย Zaman ประเทศกัมพูชาเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2558 ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทำให้มองเห็นความสัมพันธ์หลายมิติของทั้งสองประเทศผ่านมุมมองทางประวัติศาสตร์ โดยอาศัยหลักวิเคราะห์ความขัดแย้งทางสังคมมาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งแนววิเคราะห์นี้ไม่ได้มองรัฐคู่ขัดแย้งเป็นเพียงแค่สอง“องค์”ที่เป็นผู้กระทำ แต่มองว่ารัฐทั้งสองต่างเป็นระบบทางสังคมที่มี “กลุ่มพลังทางสังคม”ด้านต่างๆ แยกย่อยลงไปอีก โดยที่กลุ่มพลังในแต่ละรัฐล้วนประเมินนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเลือกที่จะสนับสนุนหรือต่อต้านนโยบายใดๆบนพื้นฐานของผลประโยชน์ของกลุ่มตนเช่นนี้แล้วกลุ่มพลังหรืออำนาจเหล่านี้จึงมีบทบาทในการกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์หรือความขัดแย้งระหว่างรัฐในแต่ละห้วงเวลาในประวัติศาสตร์ 

ดร. เดช ยกตัวอย่างความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชาและไทยในอดีตมาจนปัจจุบันว่าดำเนินไปทั้งในทางที่เป็นมิตรและคู่ขัดแย้ง ขึ้นอยู่กับว่าใครคือผู้นำ กลุ่มพลังทางสังคมใดมีบทบาท และกำลังเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองอะไรบ้างในช่วงเวลานั้นๆ  เขากล่าวถึงบรรยากาศที่อึมครึมในช่วงสงครามเย็นที่ต่อมาค่อนข้างเป็นมิตรสมัยนายกรัฐมนตรีชาติชาย ชุณหะวัณที่พยายามให้เกิดความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และความตึงเครียดในภาวะที่แนวคิดชาตินิยมรุนแรงมามีบทบาทนำทางการเมืองทั้งภายในและภายนอกจนมีการปะทะกันจนมีผู้เสียชีวิตในสมัยนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในกรณีปราสาทเขาพระวิหาร แต่สิ่งที่น่าสนใจคือการแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นภายหลังการบรรยาย โดยมีประเด็นที่น่าสนใจสองประเด็นใหญ่ในด้านการศึกษาและวัฒนธรรม

ให้ด้านการศึกษา ดร.เดชและดิฉันเห็นตรงกันว่าแนวคิดชาตินิยมแบบรุนแรง ในกลุ่มประชาชนทั้งสองประเทศมีส่วนทำให้ความขัดแย้งยังคงอยู่ถึงแม้ว่าในบางยุคจะไม่ปรากฎอิทธิพลที่ชัดเจน  สาเหตุหนึ่งคือการศึกษาที่เน้นการปลูกฝังความคิดให้รักชาติแต่เป็นอริกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ฉันท์มิตร ทั้งนี้ดร.เดชเองและเพื่อนนักวิชาการประวัติศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้พยายามผลักดันให้มีการอนุญาตให้สอนประวัติศาสตร์ทางเลือกจากข้อมูลและมุมมองที่ต่างออกไปจากแนวชาตินิยมที่มีมาแต่เดิม ซึ่งไม่ทราบว่าการผลักดันครั้งนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ อย่างไรก็ตามในฐานะที่อาจารย์ ดร.เดช ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศจากหลายๆมุมมอง โดยหวังว่าการเปิดประชาคมอาเซียนและการเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆจะทำให้คนมีมุมมองที่เปิดกว้างเข้าอกเข้าใจชาติอื่นและมองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในหลายมิติมากขึ้น

ในด้านอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมกับชาตินิยม  ดร.เดชมองว่าอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่หลากหลายในประเทศไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อแนวคิดชาตินิยมในกัมพูชา ในประเทศมีกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม แต่ก็ได้รับการยอมรับโดยทั่วไป ส่วนในประเด็นศาสนา ชาวเขมรที่นับถือศาสนาอิสลามก็เป็นที่รู้จักทั่วไปในฐานะ “ชาวเขมรมุสลิม”  เพื่อนร่วมงานชาวจามก็ไม่ได้ปกปิดอัตลักษณ์ของตนแต่อย่างใด

ไม่ว่าสิ่งที่ ดร.เดชเชื่อจะเป็นจริงมากน้อยเพียงใดในสังคมกัมพูชาก็ตาม แต่สิ่งที่น่าสนใจคือเมื่อพิจารณาประเด็นชาติพันธุ์ในบริบทของไทย ความรู้สึกเหยียดทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมยังพบเห็นได้ทั่วไปในสังคมไทย เช่น คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีเชื้อสายลาวถูกทำให้กลายเป็น “คนอีสาน” และ “พูดภาษาอีสาน” ซึ่งถูกจัดว่าเป็นภาษาถิ่นของไทย (ในขณะที่นักภาษาศาสตร์เช่นดิฉันเองยังตั้งคำถามต่อชื่อ “ภาษาอีสาน” ว่าแท้ที่จริงแล้วเป็นเพียง “ชื่อใหม่” ที่ใช้เรียกภาษาลาวที่พูดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือไม่)  ถึงแม้จะเป็น “คนอีสาน” ซึ่งเป็น “คนไทย” แต่คนในภูมิภาคยังถูกดูถูกและไม่เป็นที่ยอมรับในฐานะพลเมืองที่เท่าเทียม

กรณี “คนอีสาน” เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการเหยียดที่เห็นได้ชัด ยังไม่นับรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่มีความเชื่อ ศาสนาและวัฒนธรรมที่ต่างออกไปจากวัฒนธรรมและภาษาของภาคกลาง  จึงกล่าวได้ว่าแนวคิดชาตินิยมแบบไทยที่เชิดชู “ความเป็นไทย” ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่เท่าเทียม—คนไม่เท่ากัน— นั่นหมายความว่าหาก “คนอีสาน” ยังเป็นอื่นได้ คนกัมพูชาย่อมมีระดับของความเป็นอื่นได้มากกว่านั้นอีกหรือไม่? หากเป็นจริงตามนั้น นั่นหมายความว่าแนวคิดเรื่องการเหยียดเช่นนี้ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการรักษาความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างประเทศทั้งสองหรือไม่? 

ในกัมพูชาจิตสำนึกชาตินิยมถูกหล่อหลอมด้วยการยกยอประวัติศาสตร์อาณาจักรโบราณที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ประเทศในปัจจุบัน ในสายตาของ ดร.เดช สิ่งที่น่าวิตกคือความยึดโยงที่ว่า ผู้ที่สร้างอาณาจักรโบราณเหล่านี้คือ “บรรพบุรษ” ที่สร้างความยิ่งใหญ่ไว้ให้แก่ “ลูกหลาน”ที่เป็นชาวกัมพูชาในปัจจุบัน ทั้งที่สิ่งที่หลงเหลืออยู่ในทางกายภาพ เช่นโบราณสถานต่างๆ ถูกสร้างขึ้นเพื่อเคารพบูชาความเชื่อทางศาสนาในยุคนั้น  การตีความของคนในปัจจุบันต่อวัตถุและโบราณสถานด้วยการทึกทักไปเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้มีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ

ดร.เดชยกตัวอย่างพระราชวังในพนมเปญที่มีลักษณะคล้ายสถาปัตยกรรมไทย และด้วยความคุ้นชินกับความเชื่อที่ว่าอาณาจักรขอมโบราณเก่าแก่กว่าชาวกัมพูชาหลายคนจึงด่วนสรุปว่าพระราชวังในพนมเปญเป็นต้นแบบให้ไทย ทั้งที่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ดร.เดชอธิบายว่าพระมหากษัตริย์กัมพูชาที่ทรงให้สร้างพระราชวังดังกล่าวเคยประทับในกรุงเทพฯและให้รับแบบอาคารจากไทยไปสร้าง 

ดร.เดชชี้ให้เห็นตัวอย่างของชาตินิยมที่มาจากการตีความเกินจริงและด่วนสรุปแบบผิดๆ ที่ช่วยตอกย้ำแนวคิดชาตินิยม (ซึ่งดิฉันเกรงว่าทั้งสองประการไม่ได้เกิดเฉพาะในหมู่ชาวกัมพูชาเท่านั้น) สิ่งที่น่าสนใจคือ การตีความเกินจริงและด่วนสรุปแบบผิดๆ สะท้อนการใช้เหตุผลที่บกพร่อง และจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อการใช้เหตุผลที่บกพร่อง การเหยียด และแนวคิดชาตินิยมสุดโต่งมารวมกัน หวังว่าเราจะไม่ไปถึงจุดนั้น...

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ปัจจุบัน เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ เป็นอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท