Skip to main content
sharethis

21 ส.ค. 2558 จากเหตุระเบิดที่บริเวณแยกราชประสงค์เมื่อช่วงหัวค่ำวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา จนล่าสุดมีผู้เสียชีวิตแล้ว 20 ราย บาดเจ็บหลายราย วันถัดมาเจ้าหน้าที่จากกรุงเทพมหานคร ก็ได้ทำความสะอาดพื้นที่โดยรอบเนื่องจากเต็มไปด้วยเศษแก้ว เศษกระจก อย่างไรก็ตามการทำความสะอาดบริเวณที่เกิดเหตุของ กทม. ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในเวลาต่อมาถึงความเหมาะสมและอาจกระทบต่อการแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์

 

 

ฟังชัดๆ ผู้ว่าฯ ตอบทำความสะอาดเร็วไปหรือไม่ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ตอบคำถามกรณีข้อสงสัย กทม.ทำความสะอาดบริเวณศาลพระพรหมเร็วไปหรือไม่สำหรับการเก็บหลักฐานจากเหตุระเบิด

Posted by Fahroong Srikhao ฟ้ารุ่ง ศรีขาว on 20 สิงหาคม 2015

 

ล่าสุดวันนี้(21 ส.ค.58) เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘Fahroong Srikhao ฟ้ารุ่ง ศรีขาว’ เผยแพร่วิดีโอคลิปสัมภาษณ์ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า “ไม่ทำก็ว่า ทำก็สงสัยนะครับ หน้าที่เราเป็นหน้าที่ทำความสะอาดครับผม แล้วถ้ารัฐบาลไม่ได้สั่งเป็นอย่างอื่นเราก็ต้องทำครับ ลองคิดดูสิครับ ถ้ารัฐบาลไม่ห้ามผมทำความสะอาด แล้วผมไม่ทำความสะอาดพวกคุณจะพูดอีกอย่างใช่ไหมครับ ว่า กทม. ไม่ได้เรื่องใช่ไหมครับ ให้ความเป็นธรรมผมหน่อยนะ นะครับ”

“รัฐบาลไม่ได้ห้าม ผู้ที่รับผิดชอบเรื่องหลักฐานต่างๆ ไม่ได้ห้าม เราก็ต้องทำความสะอาดครับ นี่คือหน้าที่ของ กทม. ครับ ให้ความเป็นธรรมแก่พวกเราหน่อยนะครับ เราก็โดนมามากแล้วเหมือนกันนะครับ” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

นักวิชาการ ชี้ไม่มีเฮดจัดการที่ชัด ทำ ชิวๆ แต่ไม่เป็นระบบยิ่งสร้างความแคลงใจกับ ปชช.

ด้าน กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช ผู้ศึกษาด้าน Critical Terrorism วิจารณ์การดำเนินการของ กทม. ดังกล่าวโดยว่า ในต่างประเทศมันแทบจะแบ่งส่วนกันอย่างชัดเจน อย่างในอเมริกาก็จะมี เช่น เอ็นเอสเอ หรือสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Agency - NSA) หรือพวกโครงการความมั่นคงของเขา พอเกิดเหตุขึ้นมาแล้วก็จะเป็นฝั่งตำรวจหรือ สำนักงานสอบสวนกลาง FBI เข้ามาดูแลเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้น และถ้าสมติจะแก้แค้นหรือว่าอะไรนั้นก็เป็นเรื่องของทางทหารหรือว่าหน่วยข่าวกรองกลาง CIA ฝั่งปฏิบัติงาน มันก็จะมีการแบ่งกันชัดเจน

เรื่องนี้มันเป็นระดับความมั่นคงของรัฐ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เพราะการเลือกจู่โจมพื้นที่สาธารณะแล้วไม่มีข้อเรียกร้องต่อเอกชนคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ โดยทั่วไปจะเป็นเรื่องของการจู่โจมรัฐหรือมีข้อเรียกร้องต่อรัฐ เป็นประเด็นความมั่นคงของรัฐ เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะถือว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคงที่จะเข้ามาดูแลบริเวณนั้นๆ และอำนาจของฝ่ายพลเรือนต้องถอยออกชั่วคราว นี่คือหลักการทั่วไปมาตรฐานของโลก ซึ่งหม่อม(ผู้ว่าฯ กทม.) จบจากอเมริกามาน่าจะเข้าใจดี มันไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจยาก

กฤดิกร กล่าวต่อว่า ความผิดก็มีอยู่บ้างที่ฝ่ายความมั่นคงที่ไม่ไปห้ามทาง กทม. และยังดูเหมือนช่วยเหลือด้วยซ้ำ จึงมองว่าเป็นความผิดของฝ่ายความมั่นคงเองด้วยที่ไม่ประสานงานที่ดี รวมทั้งตอนนี้ใครเป็นเฮดในการดูและพื้นที่ เป็นตำรวจ ทหารหรือ กอ.รมน. ทุกคนเหมือนพุ่งตัวเข้าไปเหมือนกับว่าเป็นเฮดในการดูแลสถานการณ์ดังกล่าว แต่ใครเป็นเฮดจริงๆ ควรมีการตั้งหน่วยงานที่ดูแลที่ชัดเจน อย่างกรณีอเมริกาก็มี FBI แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็ไม่ชัดเจนว่าใครเป็นเฮดที่ปฏิบัติในพื้นที่ นี่คือปัญหาของเราที่โทษหนักสุดอยู่ที่ ผู้ว่าฯ กทม.

สำหรับมุมมองที่ต้องการทำให้ภาพสถานการณ์กลับมาและการสัญจรเป็นปกติ โดยเฉพาะแยกราชประสงค์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ  กฤดิกร มองว่า เข้าใจวิธีคิดที่ทำให้ทุกอย่างดูชิวๆ ผ่านไปได้ด้วยดี ควบคุมสถานการณ์ได้ มันเป็นวิธีการหนึ่งของกาควบคุมความกลัว แต่ชิวเกินไปมันไม่ได้แปลว่าดี ถ้าชิวแล้วทุกอย่างมีการจัดการอย่างเป็นระบบอันนั้นก็โอเค แต่ไม่ใช่ว่าชิวๆ รีบๆ เร่งๆ อย่างที่เป็นอยู่ที่ยังพบซากเนื้อของเหยื่อระเบิดอยู่ในบริเวณพื้นที่อยู่เลย มันยิ่งจะสร้างความแคลงใจให้กับคนมากขึ้นด้วยซ้ำ ความกลัวมันก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น เพราะจะทำให้ประชาชนไม่มั่นใจว่าจะสามารถหาตัวผู้กระทำความผิดมาได้หรือไม่

กฤดิกร กล่าวด้วยว่า บริเวณดังกล่าวก็เคยถูกเสื้อแดงปิดอยู่หลายวันก็ยังสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้ ถ้าจะยอมปิดเพิ่มสัก 2-3 วันหรือสัปดาห์หนึ่งเพื่อเคลียร์ทุกอย่างให้เป็นปกติ คิดว่าคนกรุงเทพก็สามารถเข้าใจสถานการณ์ได้เพราะไม่ใช่สถานการณ์ปกติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net