Skip to main content
sharethis

19 ส.ค.2558 ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพมหานคร สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับชมรมนักข่าวอาเซียนและกระทรวงการต่างประเทศ จัดการประชุม Annual ASEAN Journalists Club Forum หัวข้อ “ภูมิศาสตร์การเมืองในภูมิภาค ผลกระทบต่อสามเสาหลักในภูมิภาคประเทศสมาชิก” เพื่อส่งเสริมความเข้าใจเรื่องประชาคมอาเซียนให้กับสื่อมวลชนไทย  ทั้งนี้ภายในงานได้มีการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ประชาคมอาเซียนกับภูมิศาสตร์การเมืองใหม่ในภูมิภาค” โดยสุรินทร์ พิศสุวรรณ ประธานสถาบันนวัตกรรมแห่งอนาคต

สุรินทร์  กล่าวว่า ภาคประชาสังคมต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของภูมิภาคอาเซียน และบทบาทของสื่อเองก็ต้องพยายามในการเชื่อมต่อและหล่อหลอมผู้คนในภูมิภาคอาเซียน 690 ล้านคน ให้ก้าวข้ามแดนในการทำงานร่วมกันให้ได้ ซึ่งการเติบโตของอาเซียนเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจ โดยเฉพาะประเทศไทยเป็นจุดที่สว่างที่สุด เราจึงต้องอาศัยความได้เปรียบตรงจุดนี้เพื่อจะเป็นศูนย์กลางของอาเซียนให้ได้ และสร้างการเชื่อมโยงในทุกภาคส่วนให้เกิดขึ้นร่วมกัน โดยเฉพาะบทบาทของสื่อมวลชนเป็นบทบาทที่สำคัญที่จะช่วยสร้างความเข้าใจในเรื่องอาเซียนให้เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษา  ศาสนา การเมือง การปกครอง  เศรษฐกิจ วัฒนธรรมที่แตกต่างกันของทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน  สำหรับประเทศไทยเราเป็นอันดับสองของภูมิภาคอาเซียน แต่ปัญหาคือเราพร้อมหรือไม่ที่จะพัฒนาร่วมกับประเทศอื่น  ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องเตรียมตัว หาประโยชน์และฉวยโอกาสจากการรวมตัวกันของภูมิภาคอาเซียนให้ได้

ประธานสถาบันนวัตกรรมแห่งอนาคตกล่าวว่า สิ่งที่สำคัญอีกเรื่องคือ เราต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง การทะเลาะเบาะแว้งในประเทศเราเอง ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจของประเทศและด้านอื่นๆ เพราะสังเกตได้อย่างชัดเจน ว่าถึงแม้ว่าเราจะเป็นอันดับสองของภูมิภาคอาเซียน แต่การเติบโต การลงทุนทางเศรษฐกิจไม่ได้หลั่งไหลมาในประเทศเรา เนื่องจากความไม่มีเสถียรภาพของประเทศเรา ดังนั้น เราจะต้องประณามใครก็ตามที่เป็นคนทำให้ปัญหาเพิ่มพูนมากขึ้น  และที่สำคัญเราจะต้องร่วมกันในการหลีกเลี่ยงความแตกแยก ความเผชิญหน้ากัน และร่วมกันพัฒนาประเทศและความเป็นภูมิภาคอาเซียนของเราให้เติบโตขึ้นได้

“เราไม่สามารถแอบอยู่หลังกำแพง และต้องยกระดับตัวเองเพื่อก้าวไปสู่อาเซียน เราจะไม่ได้รับประโยชน์เลยหากเราไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเอง เราจะต้องทำงานร่วมกัน พร้อมทั้งผูกพันเข้าด้วยกัน เพื่อที่เราจะโตขึ้นกับการแข่งขันในโลก และเราหวังว่าจะไม่มีความแตกแยกมากไปกว่านี้ ถ้าเราทำให้นิมิตรหมายอาเซียนเป็นอนาคตสำหรับเรา และหากสื่อมวลชนเข้ามาเป็นตัวกลางในการสื่อสารและสร้างความเข้าใจ และการตื่นตัวในภูมิภาคอาเซียนจะทำให้ความฝันและแรงบันดาลใจเป็นจริง ซึ่งเราจะต้องทำให้เรื่องของอาเซียนเข้าไปอยู่ในดีเอ็นเอของเราซึ่งเป็นสื่อมวลชน นี่เป็นอำนาจที่สื่อจะทำได้” สุรินทร์  กล่าว

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์แห่งประเทศไทยกล่าวในงานสัมมนา “หัวข้อภูมิศาสตร์การเมืองใหม่ในภูมิภาค ผลกระทบต่อสามเสาหลักในภูมิภาค ผลกระทบต่อสามเสาหลักในภูมิภาคและประเทศสมาชิก” ว่า  เราได้มีการผลักดันให้เกิดการศึกษาเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นในมหาวิทยาลัยของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นในกรุงเทพมหานคร ภาคเหนือ หรือภาคใต้โดยการผลักดันร่วมกันของ ดร.สุรินทร์และรัฐบาลในหลายยุคสมัย เพื่อใช้ศึกษาถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งหลังจากที่ได้มีการศึกษาเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าภูมิภาคอาเซียนมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง ศาสนา แต่สิ่งที่สำคัญ แม้ว่าเราจะเรียนรู้เรื่องอาเซียนมากแค่ไหนก็ตาม แต่เป็นการยากที่จะทำให้เราเชื่อว่าเราเป็นทั้งคนไทยและเป็นคนอาเซียนด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลก ที่หลายคนรู้จักโตเกียว นิวยอร์ก แต่ไม่รู้จักเมืองหลวงของประเทศเพื่อนบ้านเราด้วยซ้ำ เราจึงจำเป็นที่จะต้องสื่อสารและเรียนรู้กันให้มากกว่านี้

กรรมการและเลขานุการมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์แห่งประเทศไทยกล่าวว่า  ทุกครั้งที่มีการประชุมก็จะเป็นการจัดประชุมแบบเมืองต่อเมืองในภูมิภาคอาเซียน แต่ไม่เคยมีการจัดประชุมประชาชนในภูมิภาคอาเซียนให้พบกัน จึงอยากให้การดำเนินการในเรื่องนี้เป็นรูปธรรม โดยอยากเห็นการจัดตั้งมหาวิทยาลัยอาเซียน หรือมหาวิทยาลัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เกิดขึ้น เพื่อเรียนรู้เรื่องราวของอาเซียนร่วมกัน ถ้าหากเกิดขึ้นได้ ก็จะเป็นประโยชน์ที่เราจะเรียนรู้อาเซียนร่วมกัน เหมือนที่อียูมีมหาวิทยาลัยที่ประเทศอิตาลี เราถูกแบ่งแยกซึ่งกันและกันมานานแล้ว หากเราสามารถทำเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรมก็จะทำให้เราสามารถศึกษาและเรียนรู้ร่วมกันได้

ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า  ในอีกหลายสิบปีข้างหน้าการเปลี่ยนแปลงในเรื่องน่านน้ำของภูมิภาคอาเซียนจะมีมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ประเทศจีน และสหรัฐอเมริกาก็ได้ส่งเรือดำน้ำและเครื่องบินเข้ามาสอดแนมในภูมิภาคนี้เพิ่มมากขึ้น และไม่ใช่แค่ภูมิภาคเราเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ภูมิภาคอื่นๆ ก็ต้องเผชิญกับเรืองนี้ อาทิประเทศเกาหลีใต้และประเทศสิงคโปร์ก็เริ่มสร้างความเข้มแข็งให้กับกองทัพเรือของเขาเช่นกัน  ความขัดแย้ง ความเปลี่ยนแปลงด้านน่านน้ำก็จะมีเพิ่มมากขึ้น ตะเข็บชายแดนที่มีความเชื่อมโยงกันในภูมิภาคอาเซียนก็จะมีปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น ทั้งปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ 

ความขัดแย้งทางด้านชายแดน ปัญหาเรื่องการอพยพย้ายถิ่นฐานก็จะมีมากขึ้น ที่สำคัญในแต่ละประเทศก็จะมีปัญหาของตนเอง จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าถ้าหากปัญหาเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นเราจะมีวิธีการจัดการอย่างไรในการเแก้ไขปัญหานี้  ทั้งนี้สิ่งที่น่าวิตกมากที่สุดคือเรื่องการป้องกันปัญหาผู้ก่อการร้าย ซึ่งเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ยาก ซึ่งเราจะต้องสร้างความมั่นคงภายในให้เกิดขึ้นก่อน จึงจะไปแก้ปัญหาในเรื่องอื่นๆ ได้

เกษมสันต์ วีระกุล นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญ AEC กล่าวว่า ตนไม่ค่อยสนใจเรื่องเออีซี แต่สนใจในเรื่องอาเซียนบวกหกมากกว่า เพราะมีอำนาจทางเศรษฐกิจสูง เนื่องจากมีประเทศมหาอำนาจอย่างรัสเซีย  เข้ามาร่วมด้วย จึงจะทำให้ขนาดของจีดีพีเศรษฐกิจขยายมากขึ้น และจะทำให้เศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคอาเซียนเติบโตมากขึ้น  โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2020 ลาวจะเป็นประเทศที่ประชากรมีรายได้เป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาคอาเซียน อันดับสองคือประเทศพม่า ที่อีก 5 ปี จีดีพีจะโตขึ้น 7%  และอินโดนีเซียก็จะโตขึ้น 5-6%  สิงคโปร์จะโตขึ้น 4%  มาเลเซียจะโตขึ้น 3% ขณะที่เวียดนามจะนำหน้าประเทศไทย โดยจีดีพีจะโตขึ้น 7% ส่วนไทยจะโตขึ้นเพียง 3% และประเทศเวียดนามก็กลายเป็นฐานการผลิตของประเทศสิงคโปร์ที่จะกระจายสินค้าไปทั่วโลก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net