Skip to main content
sharethis

18 ส.ค. 2558 อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้เผชิญความเสี่ยงสองด้านพร้อมกัน คือ การก่อวินาศกรรมและการลดค่าเงินหยวน ความรุนแรงของการก่อวินาศกรรมบริเวณสี่แยกราชประสงค์คืนวันที่ 17 สิงหาคมส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและการลงทุน สะท้อนมาที่ค่าเงินอ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบ 6 ปีสู่ระดับ 35.5 บาทต่อดอลลาร์ มีแนวโน้มทดสอบระดับ 36 บาทในไม่ช้า ส่วนดัชนีตลาดหลักทรัพย์อาจมีโอกาสได้เห็นตัวเลขระดับ 1,200 จุด

จากผลกระทบของปัจจัยลบเพิ่มเติมในไตรมาสสอง ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป คาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะต่ำกว่า 2.9% (ซึ่งคาดการณ์ไว้เมื่อ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา) แต่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะลดลงอีกเท่าไหร่ต้องรอให้ปัจจัยและตัวแปรต่างๆ มีความชัดเจนมากกว่านี้ก่อน จึงจะทำการประเมินและเผยแพร่อีกครั้งหนึ่ง  

หากสามารถสร้างความเชื่อมั่นและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุวินาศกรรมได้อีก ผลกระทบต่อการท่องเที่ยว การลงทุนและเศรษฐกิจไทยมีขอบเขตจำกัด มีผลกระทบระยะสั้นค่อนข้างมากต่อตลาดการเงิน การปรับตัวลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์และค่าเงินเท่านั้น ภาคการท่องเที่ยว ภาคการลงทุนและภาคการบริโภคสามารถกลับมาฟื้นตัวได้เร็วและไม่มีผลกระทบอะไรมากนัก

หากไม่สามารถแสวงหาข้อเท็จจริงไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ รวมทั้งไม่สามารถจัดการควบคุมสถานการณ์รุนแรงหรือเป็นเหตุหรือข้ออ้างในการไม่กลับคืนประชาธิปไตยตามระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดล้วนไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ นำมาสู่ความไม่แน่นอน การสูญเสียความเชื่อมั่นและความเสี่ยงวิกฤติความรุนแรงอาจเพิ่มมากขึ้นได้ จะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจมาก เพราะก่อให้เกิดความไม่แน่นอนต่อชีวิตและทรัพย์สิน มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมต่อเนื่องซึ่งเป็นแหล่งรายได้เฉลี่ยของระบบเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันไม่ต่ำกว่า 1.7-1.8 ล้านล้านบาทต่อปี คิดเป็น 14.2-14.5% ของจีดีพี เฉพาะส่วนของรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 10.3% ของจีดีพี การประเมินยังเป็นเพียงการประเมินในเบื้องต้นเท่านั้น เนื่องจากยังมีปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนสูงและปัจจัยเสี่ยง รวมทั้งยังไม่สามารถแสวงหาข้อเท็จจริงบางอย่างได้ในขณะนี้

ช่วง 1 ปีที่ผ่านมาหลังวิกฤตการณ์ทางการเมืองและการชัดดาวน์กรุงเทพฯยุติลง ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวเร็วอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว ขยายตัวสูง สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ยังคงอ่อนแอ รายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวในเกณฑ์สูง ช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 14.9 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 7.26 แสนล้านบาท โดยทางการมีเป้าหมายของปี พ.ศ. 2558 ต้องการให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยมากถึง 28 ล้านคน เป้าหมายรายได้ 2.2 ล้านล้านบาท หลังจากเหตุการณ์วินาศกรรมนี้แล้ว เป้าหมายนี้คงจะไม่บรรลุเพราะทางการต้องทำให้ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อเดือนอยู่ที่เฉลี่ยนเดือนละ 2.3-2.4 ล้านคน ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกสามารถทำได้สำเร็จแต่ครึ่งปีหลังเกิดความไม่แน่นอนจากความไม่สงบ หากควบคุมได้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจลดลงในระดับ 300,000 คนและเป้าหมายน่าจะใกล้เคียงปี พ.ศ. 2556   หากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ นักท่องเที่ยวอาจจะลดลงมากกว่า 500,000 คนโดยประมาณ 

หากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ อาจจะกระทบต่อรายได้การท่องเที่ยวประมาณ 10-20% (เทียบเคียงกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองปี 2553 และ ปี 2557) กรณีเลวร้ายสุดน่าจะกระทบต่อรายได้การท่องเที่ยวประมาณ 220,000-440,000 ล้านบาท ส่งผลต่อประชากรมากกว่า 1.5 ล้านคนที่มีรายได้ที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวโดยตรง นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวเป็นแหล่งสร้างงานในภาคกิจกรรมโรงแรม บริการด้านอาหารไม่ต่ำกว่า 2.6 ล้านอัตรา ภาคขนส่งคมนาคม การท่าอากาศยาน ธุรกิจสายการบินและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆอีกไม่ต่ำ 3 ล้านอัตรา   

ส่วนกรณีผลกระทบการลดค่าเงินหยวนของจีน อนุสรณ์ กล่าวว่า การประเมินผลกระทบจากการลดค่าเงินหยวนหรือริหมินปี้ของจีนต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกอาจซับซ้อนกว่าที่คาดการณ์กัน เตือนจีนอาจลดค่าเงินอีกรอบหนึ่งหรือลอยตัวค่าเงิน การเคลื่อนไหวลดค่าเงินอย่างฉับพลันสะท้อนวิกฤตการณ์ฟองสบู่จีนอาจรุนแรงกว่าที่คิดและเพิ่มความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาน้ำมันและสินค้าเกษตรทั่วโลก กระทบต่อภาคส่งออกไทยทั้งสินค้าเกษตร ยางพารา มันสำปะหลัง สิ่งทอ รองเท้าเครื่องหนัง อัญมณีเครื่องประดับ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ เป็นต้น 

ส่วนวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ขั้นกลาง อาจจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากจีน ส่งออกในกลุ่มดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเพราะไทยและจีนเป็นส่วนหนึ่งของสายผลิตห่วงโซ่อุปทานเดียวกันในสินค้าส่งออกบางตัว อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตของภาคส่งออกไทยโดยรวมในปีนี้น่าจะหดตัวติดลบเกิน 3% การส่งออกของไทยไปจีนกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์มากกว่าร้อยละ 50 เป็นสินค้าขั้นกลางอีกร้อยละ 10    

ภาคการท่องเที่ยวโลกได้รับผลกระทบโดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐอเมริกา แต่การท่องเที่ยวไทยอาจกระทบไม่มาก และบางส่วนอาจได้รับผลบวกมาเที่ยวอาเซียนและไทยมากขึ้นแทนที่จะไปยุโรปอเมริกาที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่ามาก ประกอบกับค่าเงินอาเซียนและเงินบาทก็อ่อนค่าด้วย เม็ดเงินของนักท่องเที่ยวจีนหมุนเวียนอยู่ในระบบการท่องเที่ยวโลกประมาณปีละ 1.6-1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ขณะที่จีนพยายามดิ้นรนเพื่อรักษาระดับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ให้เกิดความผันผวน การตัดสินใจใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนด้วยการลดค่าเงิน คือ การส่งออกปัญหาภายในบางส่วนให้ประเทศอื่นร่วมรับผิดชอบ การลดค่าเงินเป็นเพียงสัญญาณช่วงแรกของวิกฤติฟองสบู่จีนที่มีลักษณะบางประการคล้ายวิกฤตการณ์เศรษฐกิจเอเชียปี พ.ศ. 2540 ขอให้ทางการเตรียมรับมือกับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจจีนจากฟองสบู่แตกในตลาดการเงินและอสังหาริมทรัพย์ นักลงทุนและตลาดการเงินต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่สัญญาณของฟองสบู่จีนได้ปรากฏชัดมาหลายปีแล้ว

การลดค่าเงินสะท้อนปัญหาภายในของเศรษฐกิจจีนแล้ว แต่เป็นการตัดสินใจสำคัญที่ใช้กลไกนี้ในการขับเคลื่อนการส่งออกที่กำลังอ่อนกำลังลงโดยกลไกด้านราคาผ่านระบบอัตราแลกเปลี่ยน การพลักดันการส่งออกและการท่องเที่ยวของจีนทำได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะประเทศอื่นที่เป็นคู่แข่งทางการค้าต่างแข่งขันกันลดค่าเงิน การแข่งขันกันลดค่าเงินไม่เป็นผลดีต่อระบบการค้าโลกและทำให้ปริมาณการค้าโลกอาจชะลอลงจากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ทุกประเทศมีความจำเป็นต้องหันมาพึ่งตลาดภายในและการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศมากขึ้น การลดค่าเงินยังเป็นการเป็นเพิ่มบทบาทของเงินหยวนในตลาดการเงินโลกด้วย

ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมกลไกตลาดและระบอบอำนาจนิยมภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์นั้นไม่สอดคล้องกัน ก่อให้เกิดวิกฤติและปัญหาเรื่องเสถียรภาพได้ การแสวงหากำไรอย่างเสรี กลไกตลาดไปด้วยกันไม่ได้กับระบบการเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจ กลไกตลาดไปกันได้ดีกับระบบการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย ระบบรวมศูนย์อำนาจภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์ต้องควบคู่ไปกับระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลางและการวางแผนการผลิตเพื่อคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่เพียงปัจเจกชนรายใดรายหนึ่ง วิกฤติครั้งนี้จะเป็นบทพิสูจน์ว่า ทุนนิยมโดยรัฐสังคมนิยมแบบจีนมีจุดแข็งจุดอ่อนตรงไหน และ วิกฤติครั้งนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญในจีนหลังที่เคยเกิดขึ้นแล้วในยุคสี่ทันสมัย (เติ้ง เสี่ยว ผิง)ช่วงทศวรรษ 1980 และ ยุคอภิวัฒน์ใหญ่จีนโดยพรรคคอมมิวนิสต์ (เหมา เจ๋อ ตุง) เมื่อ ค.ศ. 1949    

อย่างไรก็ตาม การลดค่าเงินหยวนและการทะยอยเปิดเสรีภาคการเงินจะเพิ่มบทบาทเงินหยวนในระบบการเงินโลก เพิ่มบทบาทเศรษฐกิจบนเวทีการค้าการลงทุนโลกมากขึ้น และความสำคัญของเศรษฐกิจจีนจะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจมากกว่า 30% จีนไม่ควรปล่อยให้ความผันผวนของเงินหยวนยืดเยื้อเพราะกระทบต่อความเชื่อมั่นในการที่จะเป็นเงินสกุลสำคัญของโลกในอนาคต และ จีนต้องต่อรองให้เงินหยวนเข้าสู่ตะกร้าเงินของ IMF ให้ได้ 

ทั้งนี้ หากตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ประกาศในระยะต่อไปต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ เงินหยวนและตลาดหุ้นจะเป็นเป้าหมายของการถูกเทขาย ทำให้ค่าเงินหยวนและตลาดหุ้นจีนอาจจะปรับตัวลดลงกว่าระดับปัจจุบันได้อีกและมีความผันผวนสูง ปัญหาเศรษฐกิจจีนอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯอาจไม่ต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ และ การลดค่าเงินหยวนยังไม่มีผลกระทบใดๆต่อเสถียรภาพทางการเงินของไทย เพราะไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูง มีสัดส่วนหนี้สินต่างประเทศระยะสั้นน้อย มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 4.8%-5% ในปีนี้ ส่วนสัดส่วนการใช้เงินหยวนในการชำระสินค้าและบริการยังอยู่ในระดับต่ำมากเพียงแค่ 1% ของมูลค่าทางการค้าระหว่างไทยจีน โดยไทยมีสัดส่วนการค้ากับจีนในช่วงครึ่งปีแรกปีนี้ประมาณ 15% สถานการณ์ในจีนจึงมีผลต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าสถานการณ์ในกรีซหรืออียู    

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net