นักกฎหมายชี้ 9 จุดบอด พ.ร.บ.ว่าด้วยความปลอดภัยชีวภาพฯ

สมชาย รัตนชื่อสกุล ชี้ 9 จุดบอดในร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปลอดภัยชีวภาพของเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ เผยร่างกฎหมายไม่ได้มุ่งรักษาหลักความปลอดภัยทางชีวภาพ แต่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนมากกว่า

18 ส.ค. 2558 เครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร และมูลนิธิชีววิถี(BioThai) ได้ร่วมกันจัดงานสมัชชาความมั่นคงทางอาหาร ประจำปี 2558 ระหว่างวันที่ 18-19 ส.ค. 2558 ที่ ห้องคอนเวนชั่นเซ็นต์เตอร์ โรมแรมรามาการ์เด้นส์ โดยภายในงานได้มีการจัดเวทีอภิปราย ในหัวข้อ “พ.ร.บ.ความปลอดภัยชีวภาพ : เปิดทางจีเอ็มโอหรือปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ อภิปรายโดย ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

สมชาย เริ่มต้นการอภิปรายด้วยการตั้งข้อสังเกตุ การย้ายสถานที่จัดงานจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาจัดที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ว่าอาจจะเป็นเพราะการเสริมข้อการอภิปรายที่มีการพูดถึงเรื่องร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปลอดภัยชีวภาพของเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ โดยก่อนหน้าที่ได้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ. เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องกลับมาพูดถึงอีกครั้ง

อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวได้สอบถามผู้จัดงานถึงสาเหตุที่ต้องเปลี่ยนสถานที่จัดงาน ได้คำตอบว่า ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ขอกระชับเวลาในการจัดกิจกรรม จากเดิม 2 วันเต็ม ให้เหลือ 1 วันครึ่ง หลังจากเห็นตารางกิจกรรมทั้งหมด โดยไม่ได้มีการให้เหตุผลอื่นๆ ทางผู้จัดเห็นว่าไม่สามารถที่กระชับเวลาได้ จึงได้เปลี่ยนสถานที่จัดกิจกรรม ทั้งนี้การจัดงานสมัชชาความมั่นคงทางอาหารได้จัดเป็นประจำทุกปี โดยมีการจัดที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก่อนหน้านี้ 4 ครั้ง

พ.ร.บ.ว่าด้วยความปลอดภัยชีวภาพฯ กับ 9 จุดบอด

สำหรับการอภิปรายในวันนี้ สมชาย กล่าวเป็นการรวมรวบจุดบอดของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปลอดภัยชีวภาพ ทั้งหมด 9 ข้อ ซึ่งเป็นจุดที่สะท้อนให้เห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับประชาชน แต่เป็นการเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนที่สนใจลงทุนด้าน GMOs มากกว่า

“มีความพยายามที่จะผลักดันให้กฏหมายฉบับนี้เดินหน้า โดยหลักแล้วกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ หัวใจของมันคือการคุ้มครองเรื่องความหลากหลาย ไม่ใช่คุ้มครองผลประโยชน์ของพ่อค้า แต่หลักการของร่างกฏหมายฉบับนี้คือการทำมาค้าขาย ทำให้ง่าย ขายง่าย เสรี เกิดผลกระทบขึ้นมา ก็อาจจะไม่มีผู้รับผิดชอบ” สมชาย กล่าว

1.ร่าง พ.ร.บ. ที่ไม่ได้ยึดถือเรื่องความปลอดภัยไว้ก่อน

สมชาย กล่าวถึงแนวคิดนักวิทยาศาสตร์ต่อเรื่อง GMOs ว่า สามารถแบ่งออกได้สองฝั่งคือ ฝั่งที่เห็นด้วย และฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับ GMOs โดยทั้งสองฝั่งต่างแสดงหลักฐานสนุบสนุนความเห็นของตัวเอง และยังไม่มีฝ่ายใดสามารถแสดงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างชัดเจนว่า GMOs มีหรือไม่มีโทษ

โดยสมชาย มองว่า หากเกิดความเสียหายขึ้นจริง ความเสียหายจะมีผลรุนแรงต่อระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก และถ้าเกิดความเสียหายขึ้นแล้ว ก็จะไม่สามารถแก้ไขให้กลับไปเป็นอย่างเดิมได้

สมชาย ยกข้อยุติที่ได้มีการถกเถียงกันในเวทีระดับนานาชาติในเรื่อง GMOs โดยระบุว่ามีการให้ความสำคัญกับหลักความปลอดภัยทางชีวภาพ คือไม่จำเป็นต้องรอให้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ชัดว่า GMOs มีโทษถึงจะไปจัดการกับมันได้ เพียงแค่คาดว่าน่าจะมีความเสียหายเกิดขึ้น เราสามารถหยุดการดำเนินการใดๆ ไว้ก่อนได้

“หลักการนี้ได้รับการยอมรับกันในเวทีระหว่างประเทศ แต่สำหรับประเทศไทย เมื่อมาดูในกฎหมายร่าง พ.ร.บ ความปลอดภัยชีวภาพฯ ในมาตรา 35 ระบุว่าจะต้องมีข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนก่อน ผู้รับผิดชอบจึงจะสามารถสั่งให้ยกเลิกได้ นี่ไม่ใช่หลักปลอดภัยไว้ก่อน ในมาตรา 46 ระบุว่า ถ้าหากว่าสิ่งมีชีวิตที่มีการดัดแปลงพันธุกรรม ได้ขึ้นบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม แต่ต่อมามีข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน จึงจะปลดออกจากบัญชีได้ นี่ไม่ใช่หลักปลอดภัยไว้ก่อน” สมชาย กล่าว

2.ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม

สมชาย เล่าถึงการพิจารณาผลกระทบของ GMOs ในกฎหมายต่างประเทศหลายประเทศระบุว่า ต้องเอาผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมเข้าไปพิจารณาร่วมด้วย แต่ร่างกฎหมายของไทยกลับไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้  ซึ่งหากเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมขึ้นมาจริงๆ ก็จะไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบได้ ทั้งที่หลักการข้อตกลงระหว่างประเทศเปิดช่อง หรือให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ร่างกฎหมายตัวนี้ไม่ทำอย่างนั้น แม้ไทยจะเป็นภาคีในพีธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพและพิธีสารเสริมนาโงย่า-กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการรับผิดและชดใช้ความเสียหาย ก็ตาม

3.ไม่ใช่ความปลอดภัยชีวภาพ แต่เป็นการเปิดเสรี GMOs

สมชายชี้ถึงจุดบอดที่สำคัญอีกประการหนึ่งเมื่อได้ดูเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปลอดภัยชีวภาพ โดยระบุว่า หลักการสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือการเปิดเสรี GMOs

4. การใช้ในสภาพควบคุม/สภาพสนาม ไม่ต้องทำ EIA

ในร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยความปลอดภัยชีวภาพของเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ ให้คำนิยามของ “การใช้ในสภพควบคุม” ว่า การดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมทุกลักษณะ ในสภาพควบคุมปิด ซึ่งมีการใช้สิ่งหรือสภาพกีดขวางทางกายภาพ หรือเคมี หรือชีววิทยา หรือหลายลักษณะร่วมกัน เพื่อจำกัดการติดต่อสัมผัสกับสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมภายนอกซึ่งการสัมผัสอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของมนุษย์

และได้ให้คำนิยาม “การใช้การทดลองภาคสนามในสภาพจำกัด” ว่า การทดลองใช้สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมในภาคสนามซึ่งมีขอบเขตพื้นที่จำกัดตามความเหมาะสมของคณะกรรมการ ภายใต้เงื่อนไขและสภาพจำกัดที่จะลดและป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายนอก และป้องกันการเคลื่อนย้ายของสารพันธุกรรมสู่สิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหารของมนุษย์

สมชายระบุว่า การทำทั้งสองอย่างนั้น ในร่าง พ.ร.บฯ ไม่ได้ระบุให้มีการทำ EIA ก่อน ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจอนุญาติจะทราบได้อย่างไรว่าจะไม่มีผลกระทบเกิดขึ้น

5.การขึ้นบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม ไม่ต้องทำ EHIA  

สมชาย ให้ข้อมูลว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ได้แบ่ง GMOs ออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มที่ขึ้นบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมได้ อีกกลุ่มคือกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในบัญชี โดยเมื่อเทียบกฎหมายของประเทศอื่นๆ ไม่ได้มีการแบ่งออกเป็น สองประเภทอย่างนี้ 

ทั้งนี้ การปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม หมายถึง การดำเนินการใดๆ ซึ่งผู้นำเข้า ผู้ผลิต ผู้ใช้ในสภาพควบคุม ผู้ใช้ในการทดลองภาคสนามสภาพจำกัด มีเจตนาปลดปล่อยสิ่งมีชีวอตดัดแปลงพันธุกรรม หรือสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมปะปนสู่สิ่งแวดล้อม โดยไม่ควบคุมและจำกัดการติดต่อสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมภายนอก

สมชาย ให้ข้อมูลต่อไปว่า การขึ้นบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมร่าง พ.ร.บ. บอกว่าต้องทำ EIA แต่ไม่ด้บอกให้ทำ EHIA ไม่ต้องประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ มีเพียงผลกระทบสิ่งแวดล้อม อีกทั้งคนที่จะเป็นผู้พิจารณา EIA กฏหมายระบุบว่า จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ โดยคณะกรรมการชุดนี้ รัฐมนตีจะเป็นผู้แต่งตั้ง ซึ่งสิ่งที่ขาดหายไปคือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

6.ความเสียจาก GMOs ในบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม ไร้ผู้รับผิดชอบ

สมชาย ชี้จุดบอดอีกประการหนึ่งของร่าง พ.ร.บ. โดยระบุว่า กรณีที่เกิดความเสียจาก GMOs ที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีปลดปล่อย กฏหมายระบุว่าต้องมีผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายนั้น แต่ในกรณีที่ได้ขึ้นบัญชีปลดปล่อยแล้ว จะหลุดพ้นจากการรับผิดตามกฎหมายนี้ทันที ซึ่งจุดนี้เขาตั้งข้อสังเกตุว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องมีการแบ่ง GMOs ออกเป็น 2 ประเภท

7.ไม่มีการคุ้มครองเกษตรกร ที่พืชผลปนเปื้อน GMOs

8.ไม่การบังคับว่าต้องมีการประกันทางการเงิน

สมชายให้ข้อมูลว่า ในเวทีระหว่างประเทศ มีข้อตกลงกันว่า ต่อไปนี้หากใครจะทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับ GMOs  ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเสียงหายอยู่ ประเทศสมาชิกสามารถกำหนดหลักประกันทางการเงินได้ ซึ่งมีได้หลากหลายรูปแบบ เช่น บางประเทศกำหนดว่าใครก็ตามที่จะทำกิจกรรมที่เกียวกับ GMOs ต้องทำประกันภัย หรือในบางประเทศกำหนดให้วางหลักประกันค่าเสียหาย หรือกำหนดให้ทุกคนที่ทำธุระกิจเกี่ยวกับGMOs ต้องลงขันตั้งกองทุนว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งนี่เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิก ไปกำหนดเป็นกฎหมายในแต่ละประเทศว่าจะมี หลักประการทางการเงินอย่างไร แต่ในร่าง พ.ร.บ. ของไทย ไม่ได้ระบุเรื่องนี้เอาไว้

9.ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างรุนแรง

สมชาย วิเคราะห์ภาพรวมโครงสร้างอำนาจของผู้จะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลหากร่าง พ.ร.บ. ประกาศใช้จริง โดยระบุว่า กฏหมายนี้เป็นการตัดตอนภาคประชาชนออกจากการตัดสินใจแทบทั้งสิ้น โดยกฎหมายฉบับนี้จะมีการตั้งหน่วยงานผู้รับผิดชอบ โดยดูตามความเชี่ยวชาญและความชำนาญการ เช่น ถ้าเป็น GMOs ที่เกี่ยวกับพืช ก็อาจจะเป็นกรมวิชาการเกษตร หรือถ้าเป็น GMOs ที่เกี่ยวกับสัตว์ อาจจะเป็นกรมปศุสัตว์ ถ้าเป็น GMOs ที่เป็นจุลินทรีย์อาจะเป็น ไบโอเทค

อย่างไรก็ตาม สมชายระบุด้วยว่า การมีส่วนร่วมนั้นประชาชนที่ปรากฎในร่าง พ.ร.บ. นั้น เป็นการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน หลังจากที่คณะกรรมการชำนาญการให้ความเห็นชอบ EIA ไปแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท