Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

หลังจากสึกออกมาจากการเป็นพระภิกษุได้เพียง 2 วัน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ พร้อมด้วยคณะหลายคน ก็ได้เปิดประชุมแถลงข่าวเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เพื่ออธิบายถึงการจัดตั้งมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย(กปปส,) ที่มีนายสุเทพเป็นประธาน และกรรมการประกอบด้วย ถาวร เสนเนียม วิทยา แก้วภราดัย สาทิตย์ วงศ์หนองเตย อิสสระ สมชัย เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร พุฒิพงษ์ ปุณณกันต์ และ ชุมพล จุลใส เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดก็คือกลุ่มที่เคยเคลื่อนไหวปิดกรุงเทพฯเพื่อโค่นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาด้วยกัน

นายสุเทพอธิบายว่า มูลนิธิ กปปส. พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับฝ่ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ในการรักษาความสงบของบ้านเมืองและขับเคลื่อนประเทศไทย และยืนยันในจุดยืนเดิมว่า “ต้องการเห็นรัฐบาลนี้ปฏิรูปประเทศให้สำเร็จก่อนมีการเลือกตั้ง โดยไมจำเป็นว่าต้องใช้เวลาเท่าไร” และย้ำว่าอยากเห็นการปฏิรูปประเทศทำได้สำเร็จ โดยอธิบายว่า “ที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวของ กปปส.ไม่เคยพูดเรื่องเวลา ไม่มีกรอบ เรานึกถึงผลสำเร็จเป็นสำคัญว่าต้องปฏิรูปให้เสร็จเรียบร้อยก่อนเลือกตั้ง เพราะมิเช่นนั้นเราจะได้นักการเมืองแบบเก่าเข้ามาอีก”

ที่น่าสนใจจากคำอธิบายนี้ หมายความว่า นายสุเทพและคณะพร้อมจะให้ฝ่ายทหารบริหารประเทศต่อไป โดยไม่ต้องรักษาสัญญาเรื่องโรดแม็ป ที่จะต้องเร่งการร่างรัฐธรรมนูญให้สำเร็จ แล้วจัดการเลือกตั้ง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการสะท้อนความรู้สึกหวาดกลัวประชาธิปไตยของกลุ่มชนชั้นนำในสังคมไทยว่า ถ้ามีการเลือกตั้งแล้ว ฝ่ายพรรคเพื่อไทยจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนข้างมากให้ชนะเลือกตั้งกลับมาอีก ซึ่งความวิตกเช่นนี้ ก็คือที่มาของวิกฤตทางการเมืองที่ดำเนินไปในระยะ 10 ปีที่ผ่านมานี้

ดังนั้น สิ่งที่เรียกกันว่า “การปฏิรูป” ที่เสนอโดยกลุ่ม กปปส. และได้รับการยอมรับจากชนชั้นนำในสังคม รวมทั้งกลุ่มสลิ่มเสื้อเหลือง ที่อ้างกันว่าจะต้องมีการปฏิรูปกันถึง 11 ด้านนั้น จึงไม่ได้มีเนื้อหาสาระทางการเมืองอะไรที่จริงจังมากไปกว่า การหาทางให้นักการเมืองฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยไม่สามารถชนะเลือกตั้ง หรือชนะเลือกตั้งก็รักษาอำนาจไว้ไม่ได้ ซึ่งก็คือการสร้างระบบการเมืองที่สวนทางกับมติมหาชนนั่นเอง ถ้าหากยังไม่มีความแน่ใจว่าจะปฏิรูปแล้วเป็นไปตามเป้าหมายเช่นนี้ กลุ่มชนชั้นนำและสลิ่มเสื้อเหลือง ก็พร้อมจะให้มีการยื้อเวลาการเลือกตั้งออกไป ให้อำนาจเผด็จการทหารต่ออายุอยู่นานไปเรื่อย หมายถึงว่า การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งที่อ้างกันนั้น ก็คือการ “ปฏิรูปไม่รู้จักเสร็จ”นั่นเอง

จึงไม่น่าแปลกใจว่า แนวคิดเรื่องปฏิรูปก่อนเลือกตั้งโดยไม่จำกัดเวลา ได้รับการสนับสนุนโดยทันที โดยเฉพาะจากส่วนหนึ่งของสมาชิกสภาปฏิรูป (สปช.) เช่น นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอให้การลงประชามติรัฐธรรมนูญนั้น ให้มีคำถามควบคู่ไปเลยว่า จะให้มีการปฏิรูปประเทศ 2 ปีก่อนเลือกตั้งหรือไม่ ถ้าประชาชนรับรอง รัฐบาล คสช. ก็จะอยู่ไปเลย 2 ปี นายไพบูลย์ย้ำว่า จะให้สมาชิก สปช.ที่เห็นด้วยกับแนวทางนี้มาร่วมลงรายชื่อสนับสนุน เพราะข้อเสนอ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” เป็นไปตามคำเรียกร้องของประชาชน และเมื่อถึงขั้นตอนการลงประชามติก็สามารถออกเสียงไม่เห็นด้วยก็ได้

ส่วนกรณีนายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปช.อีกคนหนึ่ง เสนอว่า สภาปฏิรูปควรคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้รัฐบาลทำงานปฏิรูปต่อให้สำเร็จก่อนเลือกตั้ง โดยยังไม่ต้องมีการลงประชามติ โดยนายวันชัยอ้างว่า มีการเคลื่อนไหวจากนักการเมืองที่อยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อจะให้สภารับร่างรัฐธรรมนูญ และเคลื่อนไหวให้ประชามติรับร่าง เพื่อให้มีการเลือกตั้ง โดยอ้างกับชาวบ้านว่า การเลือกตั้งจะแก้ปัญหาของชาวบ้านได้ การกระทำเช่นนี้จะทำให้การปรองดองล้มเหลว ประเทศจะกลับมาขัดแย้งกันเหมือนเดิม เพื่อแก้ปัญหา คสช.ควรแก้ทุกอย่างที่เป็นต้นเหตุของการรัฐประหารให้เรียบร้อย แล้วค่อยจัดการเลือกตั้ง ไม่งั้นจะเข้าทางนักการเมือง

ข้อเสนอของนายไพบูลย์ นิติตะวัน และนายวันชัย สอนศิริ ถือว่าเป็นเรื่องเหลวไหล ส่วนหนึ่งคงจะอธิบายได้ว่า คนเหล่านี้หวังผลประโยชน์โดยตรงจากการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาต่อไป เพราะถ้ามีการเลือกตั้ง สภาแต่งตั้งของตนเองที่ทำหน้าที่อยู่คงต้องสิ้นสภาพ และโอกาสที่จะได้กลับมาโดยผ่านการเลือกตั้งของประชาชนนั้นแทบไม่มีเลย แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นการสะท้อนความคิดอันล้าหลังทางการเมืองของคนเหล่านี้ ที่ไม่รู้จักการแก้ปัญหาความหลักประชาธิปไตยสากล

ย้อนหลังกลับไปเมื่อก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2557 ฝ่ายพลังประชาธิปไตยได้เสนอข้อเสนอสวนทางฝ่าย กปปส.ว่า ต้อง “เลือกตั้งก่อนการปฏิรูป” หมายถึงว่า ปัญหาของประเทศสามารถแก้ไขได้ด้วยระบอบประชาธิปไตย คือใช้เสียงของประชาชนเป็นเสียงตัดสิน โดยหลักการแล้ว ระบอบประชาธิปไตยไม่ได้สร้างหลักประกันว่า ประเทศจะได้รัฐบาลที่ดี แต่สร้างหลักประกันว่ารัฐบาลแต่ละชุดจะบริหารงานภายใต้กรอบเวลาอันจำกัด เช่น 4 ปี และการเปลี่ยนอำนาจจะเป็นไปอย่างสันติวิธีด้วยเสียงของประชาชน ถ้าชนชั้นนำไทยยอมรับในกติกาเช่นนี้ตั้งแต่แรก ก็ไม่ต้องใช้วิธีการรัฐประหารอันล้าหลังมาเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ให้นานาชาติต่อต้าน เพราะถ้ามั่นใจว่ารัฐบาลชุดใดก็ตาม บริหารงานไมมี มีนโยบายอันไม่ถูกต้อง ก็ควรจะต้องใช้การรณรงค์ในหมู่ประชาชนให้เข้าใจ หรือถ้ากล่าวอย่างชัดเจน วิธีการที่ทำให้ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แพ้อย่างชัดเจนที่สุด คือการแพ้ด้วยเสียงของประชาชน ไม่ใช่การรัฐประหารหรือการกลั่นแกล้งลงโทษด้วยตุลาการ และถ้าใช้วิธีเช่นนั้น ปัญหาของประเทศจะคลี่คลายง่ายกว่านี้

ดังนั้น ขบวนการประชาธิปไตยจะต้องยืนยันในหลักการเดิม คือ “เลือกตั้งก่อนปฏิรูป” คือใช้วิธีการประชาธิปไตยในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง อันที่จริงแม้กระทั่งเรื่องโรดแมพของเผด็จการก็เป็นเรื่องไร้สาระ การเลือกตั้งสามารถที่จะจัดได้เลยทันที โดยถือว่าเป็นการเลือกตั้งแทนการเลือกตั้งที่ถูกลัก 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557 การปฏิรูปและกระบวนการอื่นถ้าจำเป็น ก็สามารถดำเนินการภายหลังการเลือกตั้ง และการมีรัฐบาลที่ถูกต้องชอบธรรมจากประชาชนได้

อันทีจริงในประวัติศาสตร์ไทย ก็เคยมีแล้วถึง 3 ครั้ง ที่มีการเลือกตั้ง โดยไม่ต้องคอยการร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จ เช่น การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2489 ก็มีขึ้นก่อนที่รัฐธรรมนูญจะร่างเสร็จและประกาศใช้ในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2489 ต่อมา หลังจากการรัฐประหารวันที่ 8 พฤศจิกายนพ.ศ.2490 ก็มีการจัดการเลือกตั้งวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2491 ก่อนที่รัฐธรรมนูญจะร่างเสร็จและประกาศใช้วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2492 จากนั้น เมื่อเกิดการรัฐประหารวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 ก็มีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2495 ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ร่างเสร็จและประกาศใช้อย่างเป็นทางการวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2495 หลังจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น

ดังนั้น ถ้าเรียกร้องให้ฝ่าย คสช.ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุติโรดแมพ และดำเนินการเลือกตั้งโดยทันทีก็น่าจะเป็นไปได้ ปัญหาของประเทศก็จะคลี่คลายด้วยวิธีการอันเป็นประชาธิปไตยแบบสากล การเมืองของประเทศไทยก็จะไม่อยู่ในสภาพล้าหลังเช่นนี้




เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 525 วันที่ 8 สิงหาคม 2558

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net