Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
 
เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2558 สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (TAW) ในฐานะองค์กรสมาชิกของสมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิคส์ ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM) และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นำโดยนายลาเร่ อยู่เป็นสุข ประธานสหพันธ์, นายธีระวุฒิ เบญมาตย์ เลขาธิการสหพันธ์ฯ และคณะ เข้ายื่นหนังสือต่อประธานอนุกรรมาธิการศึกษา ติดตาม เพื่อการปฏิรูปแรงงาน ในคณะกรรมาธิการปฏิรูปการแรงงาน ต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รวมทั้งในวันเดียวกันยังได้เข้าหารือกับสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี เพื่อพิจารณาและแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานกรณีสหภาพแรงงานยาชิโยดาแห่งประเทศไทยเป็นกรณีเร่งด่วน
 
แน่นอนการตัดสินใจแบบนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหลายคนย่อมอาจมองว่านี้คือความขัดแย้งในสถานประกอบการเท่านั้น ที่สามารถจัดการได้ภายในพื้นที่โรงงาน แต่กรณีนี้ย่อมไม่ใช่เช่นนั้น เพราะภายใต้สถานการณ์ขมุกขมัวของการบริหารประเทศไทยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมาจากทหาร ดูราวกับว่าทหารได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำงานของสหภาพแรงงานโดยไม่เป็นอิสระ ทั้งๆที่ผ่านมามักไม่ปรากฏในสถานการณ์การเมืองทั่วไป
 
คำถามสำคัญ บทบาททหารอยู่ตรงไหนในสถานการณ์ปฏิรูปประเทศไทย ที่มาตราหนึ่งในรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ในขณะนี้ ระบุถึง การปฏิรูปแรงงานที่ชัดเจนมากในหลายๆเรื่อง
 
ฤา หลักการ กับ แนวปฏิบัติ จักสวนทางกัน 
 

(1) รู้จักสหภาพแรงงานสหภาพแรงงานยาชิโยดาแห่งประเทศไทย

สหภาพแรงงานยาชิโยดาแห่งประเทศไทย เป็นสมาชิกของสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (TAW) และยังเป็นสมาชิกสภาองค์การลูกจ้าง สภาแรงงานอิสระแห่งประเทศไทย เกิดจากการรวมตัวของแรงงานบริษัทยาชิโยดา อัลลอย วีล จำกัด เดิมชื่อบริษัทโคเซ่ ยาชิโยดา วีล จำกัด สหภาพแรงงานก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2556 
 
สำหรับบริษัทยาชิโยดาฯ เป็นบริษัทสัญชาติไทย 100 % ผลิตกระทะล้ออะลูมิเนียมอัลลอย 
(ล้อแม็กรถยนต์) สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและปิกอัพให้กับโรงงานชั้นนำและส่งขายต่างประเทศ มีพนักงานประจำประมาณ 200 คน ไม่มีพนักงานเหมาค่าแรง และมีแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าคอยช่วยเสริมงานประมาณ 10 คน
 
สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ 90 ถนนแจ้งวัฒนะ (ซอย 12) แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ส่วนโรงงานผลิตตั้งอยู่เลขที่ 101/51/1 หมู่ที่ 20 นิคมอุตสาหกรรมนวนคร ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง ปทุมธานี 
 
บริษัทฯก่อตั้งเมื่อปี 2526 แต่จดทะเบียนกับกรมธุรกิจการค้าเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2543  ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 44 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 66 ล้านบาทในปี 2553 และ 132 ล้านบาทในปี 2555 ตามลำดับ และเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2558 ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน BOI ร่วมด้วย วงเงินลงทุน 72 ล้านบาท มีกรรมการบริหารงาน 6 คน คือ (1) นายบัณฑิต ชาญคณิต (กรรมการผู้จัดการ) (2) นางอัจฉริยา ชาญคณิต (3) นายปิยวร ชาญคณิต (4) นางสาวมาริสา ชาญคณิต (5) นางผกามาศ ยู่จินตนากร (6) นายปราจิน เอี่ยมลำเนา มีพันเอกบรรจง นาดี กองพันบริการ กองบริการศูนย์การทหารม้า ค่ายอดิศร ถนนพหลโยธิน ตำบลปากเพรียว อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี เป็นที่ปรึกษาบริษัทฯ
 
สินค้าที่ผลิตส่งให้ทั้งบริษัทในประเทศ คือ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด , บริษัทสยามนิสสัน ออโตโมบิล จำกัด, บริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, บริษัทบริดจสโตน เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และยังส่งออกไปที่ต่างประเทศทั้งในยุโรป เอเชีย และตะวันออกกลาง   
 
บริษัทในเครือที่สำคัญ ได้แก่ 

(1) บริษัทจันทร์เกษมอินเตอร์เนทชั่นแนล จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 90 ซอยแจ้งวัฒนะ 12 แยก 4 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ก่อตั้งเมื่อธันวาคม 2539 ทุนจดทะเบียน 260 ล้านบาท ขายยางรถยนต์และแบตเตอรี่ มี (1) นางผกามาศ ยู่จินตนากร (2) นายเกรียงศักดิ์ ชาญคณิต (3) นางอัจฉริยา ชาญคณิต 
(4) นายบัณฑิต ชาญคณิต (5) นางสาวมาริสา ชาญคณิต (6) นายปิยวร ชาญคณิต (7) นายชาลี พงษ์ญาดา เป็นกรรมการ  

(2) บริษัทโคเซ่ อะลูมินั่ม (ประเทศไทย) จำกัด สัญชาติฮ่องกง-ญี่ปุ่น ตั้งอยู่ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ เลขที่ 45/1 หมู่ที่ 9 ต.ธนู อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ก่อตั้งเมื่อธันวาคม 2539 ทุนจดทะเบียน 260 ล้านบาท ผลิตและพ่นสีวงล้อรถยนต์และชิ้นส่วนยานพาหนะที่ทำจากอลูมินั่ม  คณะกรรมการปัจจุบัน ประกอบด้วย  
(1) นายคาซูฮิเดะ มัตซึโอะ (2) นางสาววราภรณ์ ผ่องพูลใส (3)นายฟูยูกิ มัตซึดะ (4) นายชุนคิชิ คามิยา 
(5) นายอิคุโอะ คุโบะ (6) นายเคนอิจิ โยโคยามา เดิมบริษัทนี้ชื่อ บริษัท โคเซ่ จันทร์เกษม จำกัด มีนายบัณฑิต ชาญคณิต , นายปิยวร ชาญคณิต , นายชุนคิชิ คามิยา , นายชิซุโอะ อาริตะ และพลเรือโทสมนึก เทพวัลย์ เป็นกรรมการ

(3) บริษัทดีโอนีส ฮอฟแมน (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ เลขที่ 45 หมู่ 9 ถ.โรจนะ ต.ธนู อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ส่วนสำนักงานใหญ่ที่เดียวกับบริษัทจันทร์เกษมอินเตอร์เนทชั่นแนล จำกัด ผลิตตะกั่วถ่วงล้อรถยนต์ เมื่อปลายปี 2555 ได้รับการส่งเสริมเพื่อฟื้นฟูการลงทุนในกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ คือ วัสดุถ่วงล้อ เงินลงทุน 27.8 ล้านบาท จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) 
 

(2) สถานการณ์ปัญหา : “แค่ไม่ปรับขึ้นโบนัสและเงินเดือนประจำปี ทำไมต้องมีทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง”

ย้อนไปเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 ทางบริษัทฯได้เรียกตัวแทนคณะกรรมการลูกจ้างจำนวน 
9 คน เข้าประชุมเพื่อชี้แจงเรื่องการปรับขึ้นเงินโบนัสและเงินเดือนประจำปี 2558 ว่าในปีนี้บริษัทฯจะไม่มีการปรับขึ้นเงินแต่อย่างใด โดยให้เหตุผลว่าต้องดูแนวโน้มทางการตลาดเป็นสำคัญ ดังนั้นบริษัทฯจึงได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าพนักงานต้องช่วยกันผลิตล้อแม็กให้ได้ 45,000 วงภายใน 2 เดือน ถึงจะได้รับโบนัสจำนวน 
1 เดือนเท่านั้น โดยตัวแทนคณะกรรมการลูกจ้างได้พยายามชี้แจงเหตุผลและความจำเป็น เพื่อให้บริษัทฯปรับเปลี่ยนข้อเสนอดังกล่าว 
 
อย่างไรก็ตามวันที่ 6 สิงหาคม 2558 ทางผู้บริหารฯบริษัทได้มีการแจ้งต่อพนักงานให้ทราบเรื่องดังกล่าวโดยตรง ว่าบริษัทฯจะไม่มีการจ่ายเงินโบนัสและปรับขึ้นเงินประจำปี โดยไม่มีการหารือกับคณะกรรมการลูกจ้างก่อนการชี้แจงแต่อย่างใด
 
จำเป็นต้องขยายความเพิ่มเติมในกรณีนี้ว่า ก่อนมีการจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมาในปลายปี 2556 นั้น ปกติแล้วเรื่องการจ่ายโบนัส บริษัทฯจะจ่ายในช่วงเดือนกรกฎาคมและธันวาคมของทุกปี หรือปีละ 2 ครั้ง โดยเดือนกรกฎาคมจ่ายตามปกติทั่วไปจำนวน 1 เดือน ส่วนเดือนธันวาคมจะอิงกับผลประกอบการ ส่วนการปรับเงินขึ้นจะมีการปรับในเดือนกรกฎาคมของทุกปีเช่นเดียวกัน
 
แต่ภายหลังมีสหภาพแรงงานเกิดขึ้นมาแล้ว และมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงระหว่างบริษัทฯกับสหภาพแรงงาน เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 โดยข้อตกลงนี้มีระยะเวลา 3 ปี คือ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2557 - 28 กุมภาพันธ์ 2560 สำหรับกรณีการจ่ายโบนัสนั้นได้ระบุไว้ว่า “โบนัสตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป บริษัทไม่สามารถการันตีการจ่ายโบนัสให้ได้ แต่จะพิจารณาตามผลประกอบการของบริษัทฯ โดยนายจ้างจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งโดยทั่วกัน” 
 
ในกรณีของโบนัสที่ในบันทึกข้อตกลง ในที่นี้จึงหมายถึงเฉพาะโบนัสที่จะจ่ายในเดือนธันวาคมเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับเดือนกรกฎาคม ที่เป็นสภาพการจ้างเดิมก่อนมีสหภาพแรงงานแต่อย่างใด รวมถึงในเรื่องการปรับเงินขึ้นประจำปีด้วยเช่นเดียวกันที่ยังคงเป็นสภาพการจ้างเดิม ที่บริษัทฯจักต้องปฏิบัติตาม
 
ดังนั้นเมื่อถึงเดือนกรกฎาคม 2558 ซึ่งเป็นรอบของการจ่ายเงินโบนัสจำนวน 1 เดือน และการปรับขึ้นเงินประจำปีตามสภาพการจ้างเดิมที่เป็นแนวปฏิบัติที่ผ่านมา กลับพบปัญหาว่าบริษัทฯไม่ปฏิบัติตามสภาพการจ้างเดิมดังที่ได้อธิบายไปในตอนต้น ทำให้พนักงานเมื่อทราบการชี้แจงของบริษัทฯในวันที่ 6 สิงหาคม 2558 จึงหมดกำลังใจในการทำงานและไม่ยอมทำงานล่วงเวลาในเย็นวันนั้นจนถึงขณะนี้ คือวันที่ 8 สิงหาคม 2558 จึงส่งผลต่อยอดการผลิตที่จะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่บริษัทฯได้กำหนดไว้ ทำให้บริษัทฯเกิดความเสียหายต่อลูกค้า 
 
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคมเป็นต้นมา บริษัทฯจึงได้มีการแจ้งว่าจะมีการเลิกจ้างพนักงานจำนวน 4 คน ซึ่งสถานะหนึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานที่มีบทบาทชัดเจนร่วมด้วย และไม่ยอมทำงานล่วงเวลา (ขณะนี้ยังไม่ได้เลิกจ้าง เพียงแจ้งต่อคณะกรรมการลูกจ้างเท่านั้น) เพราะทำให้บริษัทฯได้รับความเสียหาย อีกทั้งยังอ้างว่าสหภาพแรงงานเป็นต้นเหตุในการยุยงไม่ให้พนักงานทำงานล่วงเวลา 
 
ทั้งๆที่มาตรา 24 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ก็ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานเว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ ไป” ดังนั้นนายจ้างจึงไม่มีสิทธิที่จะมาบังคับให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้ ยกเว้นเพียง “ในกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานฉุกเฉิน หรือเป็นงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่จำเป็น” 
 
ดังนั้นสหภาพแรงงานฯจึงได้ทำหนังสือถึงสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (สสค.) จังหวัดปทุมธานี เพื่อให้เข้ามาไกล่เกลี่ยในเรื่องที่เกิดขึ้นนี้
 
8 สิงหาคม 2558 ทาง สสค.ปทุมธานี จึงได้แจ้งให้บริษัทฯระงับหนังสือเลิกจ้างพนักงานจำนวน 4 คนไว้ก่อน โดยในเบื้องต้นให้สหภาพแรงงานฯพูดคุยกับสมาชิกเพื่อขอให้มีการทำงานล่วงเวลาไปก่อน แล้ววันที่ 10 สิงหาคม 2558 ค่อยมาหารือในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้พนักงานพร้อมที่จะทำงานล่วงเวลา ภายใต้เงื่อนไขว่าทางบริษัทฯต้องมีการหารือกับสหภาพแรงงานก่อน กรณีที่บริษัทไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขสภาพการจ้างเดิม และไม่มีการชี้แจงเหตุผลใดๆ
 
ขณะเดียวกันทาง สสค.ปทุมธานีได้โทรศัพท์หานายลาเร่ อยู่เป็นสุข ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อขอทราบข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องที่เกิดขึ้นนี้
 
อีกทั้งยังมีข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2558 มีทหารจำนวนหนึ่งประมาณ 7-8 คน ได้มีการเปลี่ยนมาใส่ชุดพนักงาน และเข้ามาอยู่ในโรงงานเพื่อเฝ้าดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2558 ได้มีตำรวจนอกเครื่องแบบเข้ามาประจำในบริษัทฯด้วยเช่นกัน
 
จำเป็นต้องอธิบายเพิ่มเติมว่า ท่าทีของบริษัทฯที่มีต่อสหภาพแรงงานเป็นไปในเชิงลบอย่างยิ่ง มีตัวอย่างรูปธรรมชัดเจนใน 2 กรณี คือ
 
ในช่วงการยื่นข้อเรียกร้องเมื่อกุมภาพันธ์ปี 2557 ภายหลังจัดตั้งสหภาพแรงงานแล้ว พนักงานที่เป็นแกนนำสหภาพแรงงานจำนวน 4 คน ถูกบุคคลที่ไม่ทราบว่าเป็นผู้ใดจำนวนหนึ่งเข้ามาที่บริษัทฯ และมีการควบคุมตัวพนักงาน 2 คนออกไปข้างนอก อีกคนหนึ่งไปพูดคุยที่ห้างบิ๊กซีนวนคร อีกคนหนึ่งไปคุยที่หมู่บ้านไทธานี นวนคร เทศบาลเมืองปทุมธานี โดยมีการเจรจาให้ลาออก ส่วนบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งได้มีการควบคุมและกดดันพนักงานในบริษัทให้ลาออกจากสหภาพแรงงาน ขณะเดียวกันบริษัทฯก็ได้มีการออกคำสั่งห้ามแกนนำสหภาพแรงงานจำนวน 15 คน เข้ามาในบริษัทฯระหว่างไกล่เกลี่ยข้อพาทแรงงาน ภายหลังการเจรจาข้อเรียกร้องจบ แกนนำจำนวน 8 คน ได้รับเงื่อนไขบริษัทฯและลาออกจากงาน
 
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2558 มีตำรวจสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง ปทุมธานี เข้ามาที่บริษัทฯโดยอ้างว่ามีคำสั่งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เชิญแกนนำสหภาพแรงงานจำนวน 4 คน ไปพูดคุยที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ราบ 11) ทั้งนี้ทางสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานีในขณะนั้นได้ประสานให้มีการปล่อยแกนนำทั้งสี่คนออกมาก่อน
 
ต่อมาในวันที่ 10 สิงหาคม 2558 ทาง สสค.ปทุมธานี ได้เข้ามาไกล่เกลี่ยในกรณีดังกล่าวอีกรอบหนึ่งแล้วที่บริษัทฯ ผลการเจรจาในเบื้องต้นยังมีความไม่ชัดเจนว่า ทางบริษัทฯจะมีแนวทางในเรื่องการปรับเงินขึ้นประจำปีและโบนัสที่ต้องจ่ายในเดือนกรกฎาคมอย่างไร ยกเว้นการทำให้ลูกจ้างกลับมาทำงานล่วงเวลาให้ได้ก่อน บริษัทถึงจะเจรจาในเรื่องอื่นๆต่อไป
 

(3) แนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น : การประสานความร่วมมือขององค์กรพันธมิตร 

ภายหลังการเข้าหารือของสหพันธ์แรงงานยานยนต์ฯ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2558 ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี ข้อเสนอเบื้องต้น คือ ขอให้มีการเปิดเจรจาร่วมกันระหว่างคณะกรรมการลูกจ้าง, บริษัท, ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ในที่นี้คือ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี และสำนักแรงงานสัมพันธ์ กระทรวงแรงงาน โดยมีสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทยเข้าเจรจาในฐานะองค์กรต้นสังกัดร่วมด้วย โดยมุ่งเน้นการแสวงหาหนทางแก้ไขปัญหาโดยยึดหลักแรงงานสัมพันธ์ที่ดีและหลักสุจริตใจเป็นบรรทัดฐานสำคัญในการเจรจา ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการเจรจาหาทางออกร่วมกันที่ดีในทุกฝ่าย
 
ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2558 สหพันธ์แรงงานยานยนต์ฯ ในฐานะองค์กรสมาชิกของสมาชิกของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้เข้าชี้แจงสถานการณ์ปัญหาในที่ประชุมประจำเดือน คสรท. เดือนสิงหาคม เนื่องด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ได้ส่งผลต่อความหวาดกลัวของพนักงานอย่างมากในการทำงานร่วมกับการจับตาดูของทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบที่แฝงเข้ามาในโรงงาน ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติให้ 
 
(3.1) ประสานงานกับกระทรวงแรงงาน เพื่อให้เข้ามาคลี่คลายสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยไว ทั้งนี้ได้มีการประสานงานเบื้องต้นอย่างไม่เป็นทางการกับนายสุวิทย์ สุมาลา ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน 
 
(3.2) ประสานกับพลโทเดชา ปุญญบาล ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการแรงงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อย่างเร่งด่วนถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งมีการนำทหารเข้ามาเกี่ยวข้องในกรณีดังกล่าวนี้ร่วมด้วย  รวมทั้งนำเข้าสู่ที่ประชุมของคณะอนุกรรมาธิการศึกษา ติดตาม เพื่อการปฏิรูปแรงงาน ในคณะกรรมาธิการปฏิรูปการแรงงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ทางนายชาลี ลอยสูง และนายยงยุทธ เม่นตะเภา ในฐานะรองประธาน คสรท. ได้เป็นอนุกรรมาธิการในคณะดังกล่าว เพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป 
 
ว่าไปแล้ว พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 แม้ไม่ใช่กฎหมายที่ดีที่สุดสำหรับแรงงานในสถานประกอบการ แต่นั่นย่อมไม่ใช่ข้ออ้างในการไม่เคารพกฎหมายและไม่ใช้เครื่องมือที่เป็นกลไกให้กฎหมายสามารถดำเนินแก้ไขความขัดแย้งในสถานประกอบการ ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปให้สามารถยุติลงได้เสียก่อน นี้ไม่นับว่ากลไกศาลแรงงานก็ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งสำหรับการคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง 
 
แต่การที่เลือกนำ “อำนาจนอกระบบ” โดยมีตัวละครที่เรียกชื่อว่า “ทหาร” และ “ตำรวจ” เข้ามากระทำต่อคนงานผ่านรูปแบบที่เกิดขึ้นนี้ ย่อมเป็นภาพสะท้อนสำคัญของศักยภาพของผู้เกี่ยวข้องในกระทรวงแรงงาน ที่ไม่สามารถจัดการปัญหาเหล่านี้ได้ และปล่อยให้คนงานตัวเล็กๆที่แทบจะไม่มีอำนาจต่อรองใดๆถูกกดทับกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าท่ามกลางสถานการณ์ปฏิรูปประเทศไทย ที่การปฏิรูปแรงงาน อาจกลายเป็นเพียง “คำหวานเคลือบยาพิษ” หลอกลวงให้แรงงานตายใจไปวันๆ
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net