พระไทยมีสิทธิ์รับเงินบริจาคเป็น ‘สมบัติส่วนตัว’ หรือไม่?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

แม้ว่าวินัยสงฆ์จะห้ามพระรับเงิน แต่พระเถรวาทไทยที่ยืนยันว่ารักษาและปฏิบัติตามธรรมวินัยในพระไตรปิฎกอย่างไม่ผิดเพี้ยน ก็รับเงินเป็น “สมบัติส่วนตัว” กันเป็นปกติ โดยอ้างความจำเป็นตามยุคสมัย แต่คำถามคือมีวิธีอื่นที่ “ชอบธรรม” มากกว่าในการแก้ปัญหาความจำเป็นตามยุคสมัยหรือไม่?

ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจก่อนว่า ที่เรียกกันว่าสถาบันสงฆ์ องค์กรสงฆ์ หรือ "คณะสงฆ์ไทย" หมายถึงคณะสงฆ์ที่รับรองโดยกฎหมาย (พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505) เท่านั้น ส่วนคณะสงฆ์อื่นๆ แม้จะเชื่อกันว่าบวชตามธรรมวินัยของพุทธศาสนา หากไม่อยู่ภายใต้กฎหมายคณะสงฆ์ดังกล่าวก็ไม่จัดเข้าในกลุ่ม "คณะสงฆ์ไทย" หรือไม่ถือว่าเป็น "พระสงฆ์ไทยตามกฎหมาย" (และไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับการอุปถัมภ์คุ้มครองจากรัฐตาม “ร่างกฎหมายอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา” ที่กำลังรอคลอด) เช่นกลุ่มสันติอโศก ภิกษุณี

ประเด็นคือ พระสงฆ์ไทย คณะสงฆ์ไทยตามกฎหมายนั้น ระบบการบวชหรือการใช้ชีวิตศึกษาเรียนรู้ของพระนอกจากต้องเป็นไปตามธรรมวินัยแล้ว ยังต้องเป็นไปตามกฎหมายคณะสงฆ์ด้วย แปลว่าทำ "ถูกตามธรรมวินัย" อย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้อง "ถูกตามกฎหมายคณะสงฆ์" ด้วย (เช่น มีคุณสมบัติครบตามธรรมวินัยว่าเป็น "พระอุปัชฌาย์" ได้ แต่ไม่สามารถเป็นพระอุปัชฌาย์ได้ ถ้าไม่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย เป็นต้น)

ที่สำคัญการเป็นพระสงฆ์ไทย คณะสงฆ์ไทยตามกฎหมายดังกล่าว ทำให้รัฐมีพันธะต้องจัดงบประมาณประจำปีสนับสนุนคณะสงฆ์ อีกทั้งทรัพย์สินที่เรียกว่า "ศาสนสมบัติ" เช่นวัด ศาสนวัตถุ หรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ภายในวัด ที่ดินของวัด รายได้จากค่าเช่าที่ดินเป็นต้น ย่อมเป็น "สมบัติของรัฐ" ฉะนั้น เมื่อพระสงฆ์ภายใต้กฎหมายคณะสงฆ์ ที่มีสิทธิ์ใช้ทรัพยากรทั้งหมดภายในวัดซึ่งเป็นของรัฐ ก็แปลว่าพระสงฆ์ก็ต้องเป็น "บุคคลากรของรัฐ" ด้วย(?)

คำถามคือ เมื่อพระสงฆ์ซึ่งเป็นบุคลากรของรัฐได้ใช้ทรัพยากรของรัฐ (วัด ที่ดิน ฯลฯ) ในทางที่ก่อให้เกิดรายได้ต่างๆ ขึ้นมา เช่นกิจกรรมพุทธพาณิชย์ต่างๆ รายได้ที่เกิดขึ้นควรเป็น "รายได้ของรัฐ" หรือไม่?

กล่าวคือ ควรจะเป็นรายได้ที่ต้องส่งเข้ารัฐเพื่อเป็น "งบประมาณอุปถัมภ์ศาสนา" สมทบกับงบที่รัฐจัดสรรให้คณะสงฆ์นำไปสนับสนุนวัดต่างๆ ทั่วประเทศอย่างเท่าเทียมหรือไม่? ไม่ใช่เป็นของวัดใครวัดมัน วัดที่รวยก็รวยล้นฟ้า วัดที่จนก็จนกรอบ

ถ้ารายได้ของวัดควรจัดเป็นรายได้ของรัฐ (ในส่วนงบประมาณอุปถัมภ์ศาสนา) คำถามต่อมาคือพระแต่ละรูปซึ่งเป็น "บุคลากรของรัฐ" จะมีสิทธิรับเงินบริจาคเป็นสมบัติส่วนตัวหรือไม่? ในเมื่อท่านเป็นพระตามกฎหมาย ที่มีสิทธิ์ตามกฎหมายในการใช้ทรัพยากรของวัดฟรีทุกอย่าง เมื่อท่านได้รับเงินบริจาคมาก็ควรมอบให้เป็น "ส่วนกลาง" ของวัด แล้วมีระบบบริหารจัดการ การเบิกใช้ที่เป็นธรรมแก่พระทุกรูปไม่ใช่หรือ

หากยืนยันว่า รายได้ของแต่ละวัดต้องเป็นของวัดใครวัดมันเท่านั้น ไม่ต้องส่งเข้ารัฐเพื่อสบทบเป็น “งบประมาณอุปถัมภ์ศาสนา” และพระแต่ละรูปก็มีสิทธิ์รับเงินเป็น "สมบัติส่วนตัว" ข้อยืนยันเช่นนี้ย่อมขัดแย้งกับสถานะขององค์กรสงฆ์ที่เป็นองค์กรของรัฐ (มีอำนาจรัฐ ใช้งบประมาณของรัฐตามกฎหมายคณะสงฆ์) หรือไม่? และขัดกับสถานะของพระที่เป็นบุคลากรของรัฐ (มีสถานภาพและสิทธิตามกฎหมายในการใช้ทรัพยากรของรัฐและมีสิทธิได้ตำแหน่ง เลื่อนตำแหน่ง สมณศักดิ์ ค่าตอบแทน สิทธิทางการศึกษา การรักษาพยาบาลและอื่นๆเหมือนบุคลากรอื่นๆของรัฐ เช่นข้าราชการเป็นต้น แม้จะไม่เหมือนกันเป๊ะเสียทีเดียวก็ตาม) หรือไม่? 

หากจะยืนยัน “สิทธิเอกชน” ก็ต้อง “แยกศาสนาจากรัฐ” คือแยกองค์กรศาสนาเป็นองค์กรเอกชน วัดก็จะมีสิทธิ์ในทรัพย์สินและรายได้ของวัดใครวัดมันแบบเดียวกับองค์กรเอกชนทั่วไป ถูกตรวจสอบภายใต้กฎหมายในมาตรฐานเดียวกับเอกชนทั่วไป พระแต่ละรูปก็จะไม่มีสถานะคลุมเครือว่าเป็นบุคลากรของรัฐหรืออะไรแน่ แต่ชัดเจนไปเลยว่าเป็นเอกชนที่มีสิทธิ์ในสมบัติส่วนตัวและเสียภาษีเหมือนปัจเจกบุคคลอื่นๆ

ฉะนั้น การอ้างความจำเป็นตามยุคสมัยอย่างเดียว ไม่ได้อธิบายความชอบธรรมว่าทำไมพระซึ่งมีสถานะตามกฎหมายเป็นบุคคลกรของรัฐมีสิทธิใช้ทรัพยากรของรัฐฟรี และใช้สร้างรายได้ต่างๆได้ ทำไมจึงยังมีสิทธิครอบครองรายได้นั้นเป็นสมบัติส่วนตัว หากยอมรับเช่นนี่ก็แปลว่าใครๆ ก็สามารถบวชแล้วได้สถานะพระและสิทธิตามกฎหมายสร้างรายได้ให้กับตัวเอง เมื่อลาสิกขาบทไปก็สามารถนำรายได้ส่วนตัวนั้นเป็นหลักล้าน หรือหลักสิบหลักร้อยล้านหรือมากกว่านั้นออกไปจากวัดเป็นสมบัติส่วนตัวในชีวิตฆราวาสได้สบายๆ

ยิ่งกว่านั้น สถานะทางกฎหมายของคณะสงฆ์ไทยนอกจากจะมีปัญหาดังกล่าวแล้ว ที่สำคัญยังเป็นสถานะที่ขัดกับหลักการของรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ ซึ่งเป็นรัฐฆราวาสที่ต้องแยกรัฐกับศาสนาจากกัน เพื่อไม่ให้รัฐแทรกแซง “เสรีภาพทางศาสนา” ได้ (รัฐไทยแทรกแซงเสรีภาพทางศาสนาได้ตลอดเวลา ทั้งโดยผ่านกลไกอำนาจตามกฎหมายของคณะสงฆ์ เช่นกรณีห้ามบวชภิกษุณี กรณีฟ้องตัดสินให้สันติอโศกไม่ใช่ “พระภิกษุไทย” เป็นต้น และรัฐบาลแทรกแซงโดยตรง เช่นกรณีปฏิรูปพุทธศาสนาซึ่งเป็นเรื่องที่พระสงฆ์ต้องมีอิสระทำกันเองมากกว่า เป็นต้น)

ยิ่งเมื่อมองจากมาตรฐานของ “ศีลธรรมสมัยใหม่” ที่เน้นการปฏิบัติต่อกันบนหลักความยุติธรรมบนพื้นฐานของเสรีภาพและความเสมอภาคในกรอบรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ซึ่งเป็นรัฐฆราวาสด้วยแล้ว สถานะที่มีอภิสิทธิ์ของคณะสงฆ์ไทยเช่นนั้น นอกจากจะขัดกับมาตรฐานของศีลธรรมสมัยใหม่แล้ว ยังตั้งคำถามได้อีกว่า เป็นสถานะที่มีความชอบธรรมและสามารถสนับสนุนศีลธรรมทางสังคมในบริบทโลกสมัยใหม่ได้หรือไม่ หากไม่ได้ ทำไมศาสนาจึงเป็นภาระของรัฐ!   

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท