Skip to main content
sharethis
 
ก.แรงงานหารือหอการค้าญี่ปุ่น สร้างสัมพันธ์นายจ้างกับลูกจ้าง
 
พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ต้อนรับ H.E.Mr.Shiro SADOSHIMA เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ กล่าวว่า เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานหอการค้าญี่ปุ่นได้เข้าพบ โดยได้มีข้อมูลว่าปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยมากกว่า 1,600 บริษัท มีลูกจ้างคนงานประมาณ 8 แสนคน ซึ่งเรื่องสำคัญที่ได้พูดคุยกันคือ เรื่องของแรงงาน และความเข้าใจกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง โดยทางการหอการค้าญี่ปุ่นได้แนะนำว่าคงต้องเปลี่ยนทัศนคติของแรงงานไทยในการที่จะยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างให้ใช้กลยุทธ์ในการเจรจามากกว่าการประท้วงเป็นเครื่องมือในการเจรจา เห็นว่าสัมพันธภาพและความเข้าใจกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในประเทศไทย โดยภาพรวม 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ไม่ได้มีปัญหาอะไร โดยส่วนที่ยังเป็นปัญหามีจำนวนไม่มาก และมักอยู่ในเมืองที่มีอุตสาหกรรมจำนวนมาก เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชลบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ ปราจีนบุรี เป็นต้น ซึ่งกระทรวงแรงงานพยายามเข้าไปแก้ไขโดยการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ด้วยความเป็นราชการในการบริหารจัดการปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ทำให้ต้องคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมป้องกันการถูกละเมิดจากนายจ้าง ขณะเดียวกันก็ต้องคุ้มครองดูแลนายจ้างไม่ให้ถูกละเมิดหรือถูกคุกคามจากสหภาพแรงงานหรือกลุ่มลูกจ้างที่มีอิทธิพล ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่กระทรวงแรงงานกำลังทำความเข้าใจกับทุกฝ่าย
 
“กระทรวงแรงงานพยายามจะพัฒนาฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐาน เพื่อจะพัฒนาให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต เพื่อจะรองรับการลงทุนของประเทศต่างๆ ที่เข้ามาในประเทศไทย ให้คนงานไทยเราสามารถเข้าไปทำงานได้”
 
(RYT9, 6/8/2558)
 
สหภาพแรงงานการบินไทยเตรียมอุทธรณ์ศาลแรงงาน-หลังพิพากษาให้ชดใช้ 326 ล้าน
 
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “ประวัติศาสตร์แรงงานไทย ...ต้องจารึกไว้ในแผ่นดิน” โดยเนื้อความระบุว่า “เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ที่ผ่านมา ศาลแรงงานกลาง ได้ตัดสินคดีให้บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ชนะคดีฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายผู้แทนสหภาพแรงงานฯ 4 คน ได้แก่ นางแจ่มศรี สุกโชติรัตน์ นายดำรงค์ ไวยคณี นายสมศักดิ์ มาณพ และนายสุภรณ์ วราภรณ์ จากการชุมนุมเรียกร้องของพนักงาน เมื่อวันที่ 18-19 มกราคม 2556 เพื่อขอความเป็นธรรมในการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปี 2556 โดยคำนวนเป็นมูลค่าเสียหายทั้งสิ้น 326,516,130.11 บาท เนื่องจากบุคคลทั้ง 4 เป็นผู้ร่วมลงลายมือชื่อทำข้อตกลงกับฝ่ายบริหารเพื่อให้พนักงานยุติการชุมนุมในคืนวันที่ 19 มกราคม 2556"
 
แถลงการณ์ ระบุว่า “ ด้วยความเคารพต่อคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางที่พิพากษาให้บุคคลทั้ง 4 ต้องชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดตามฟ้องคือ 326,516,130.11 บาท ซึ่งหลังจากนี้ บุคคลทั้ง 4 จะดำเนินการอุทธรณ์ฎีกาต่อไปตามขั้นตอนกฏหมาย”
 
“ส่วนการดำเนินการอื่นๆ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ความสำนึกผิดชอบชั่วดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง บุคคลทั้ง 4 จะได้ดำเนินการต่อไปตามควร”
 
(มติชนออนไลน์, 6/8/2558)
 
กยศ.จับมือบ.เอกชนกระตุ้นพนักงานชำระหนี้คืน
 
ดร.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กยศ. ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท บาธรูมดีไซน์ จำกัด เพื่อส่งเสริมวินัยทางการเงิน และความรับผิดชอบต่อสังคม ให้แก่บุคลากรที่เป็นผู้กู้ยืมเงินกองทุนฯ และเป็นต้นแบบขององค์กรนายจ้างที่ดีที่เห็นถึงความสำคัญของเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งมาจากภาษีของประชาชน โดยบริษัท บาธรูมดีไซน์ ถือเป็นองค์กรธุรกิจเอสเอ็มอีแห่งแรกที่มีนโยบายกระตุ้นให้บุคลากรชำระหนี้คืนกองทุนฯ เพื่อให้โอกาสแก่รุ่นน้องได้เรียนต่อ โดยจะดำเนินหักเงินเดือนพนักงานที่เป็นหนี้ กยศ. 
 
“ กยศ.วางแผนจะขยายความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และขอเชิญชวนหน่วยงานองค์กรนายจ้างทุกแห่งที่สนใจเข้าร่วมเป็นเครือข่ายส่งเสริมความรับผิดชอบทางการเงิน และความรับผิดชอบต่อสังคม โดยได้มีมาตรการลดหย่อนหนี้ หรือลดเบี้ยปรับ เพื่อเป็นการจูงใจบุคลากรในสังกัดองค์กรนายจ้างที่เป็นผู้กู้ยืมให้ชำระเงินคืน เพื่อลดการค้างชำระหนี้กองทุนฯ ทั้งนี้หน่วยงานที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายเครือข่ายสัมพันธ์ กยศ. โทร.0-2610-4862” ผู้จัดการ กยศ. กล่าว
 
(เดลินิวส์, 6/8/2558)
 
เตรียมฝึกอาชีพลูกจ้าง “ซัมซุงโคราช” ก่อนถูกเลย์ออฟสิ้นปี พบอยากทำก๋วยเตี๋ยว เบเกอรี ขายกาแฟ
 
นายสิงหเดช ชูอำนาจ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือพนักงานจำนวน 1,365 คน ของบริษัท ซัมซุง อิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ นครราชสีมา จำกัด ที่ถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ไม่มีงานทำและเกิดผลกระทบ ว่า สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 5 (สพภ.) นครราชสีมา ได้ให้การช่วยเหลือแล้ว ใน 2 มาตรการ คือ 1. ประสานงานร่วมกับสำนักงานจัดหางานจังหวัด เพื่อรับลงทะเบียนสำหรับผู้ว่างงาน รวมทั้งรับสมัครฝึกอาชีพไปด้วย ซึ่งมีผู้ถูกเลิกจ้างที่มาลงทะเบียนแล้วจำนวน 1,076 คน พร้อมทั้งสมัครเข้าฝึกอาชีพกับ สพภ.5 จำนวน 54 คน และ 2. ประสานงานไปยัง บริษัท ซัมซุงฯ เพื่อสำรวจว่าลูกจ้างที่เหลืออยู่มีความต้องการในการฝึกอาชีพอิสระและอาชีพเสริม เพื่อจัดทำโครงการฝึกอาชีพ เพราะบริษัทจะเลิกจ้างทั้งหมดเนื่องจากจะปิดกิจการใน ธ.ค. 2558
       
“บริษัท ซัมซุงฯ แจ้งว่า ลูกจ้างที่ทางบริษัทสำรวจความต้องการในการฝึกอาชีพ มีอาชีพที่ได้รับความสนใจ 6 สาขาอาชีพ คือ การทำก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋น 40 คน การทำเบเกอรี 52 คน การทำน้ำผลไม้กาแฟ 64 คน นวดแผนไทย 49 คน ช่างเย็บผ้า 38 คน ช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศ 14 คน รวม 257 คน โดยขอรับการสนับสนุนการฝึกอาชีพให้กับพนักงาน ซึ่งทาง สพภ.5 จะได้ดำเนินการฝึกอาชีพต่อไป” นายสิงหเดช กล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 6/8/2558)
 
กรมการจัดหางาน รับสมัครคนหางานเพื่อไปทำงานในไต้หวัน
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางานเปิดเผยว่า กรมการจัดหางานเปิดรับสมัครคนหางานเพื่อไปทำงานในไต้หวันกับนายจ้างบริษัท Tripod Technology Corporationโดยบริษัทฯ ต้องการจ้างแรงงานไทยตำแหน่งพนักงานผลิตแผงวงจรไฟฟ้า (PCB) จำนวน 25 คน(ชาย 10 คน หญิง 15 คน) และขึ้นบัญชีสำรองจำนวน 5 คน (ชาย 2 คน หญิง 3 คน)คุณสมบัติของผู้สมัครเป็นเพศชายอายุ20- 40ปี เพศหญิง 20-35 ปีส่วนสูง ชาย 160-175เซนติเมตร หญิง 150-165 เซนติเมตรวุฒิการศึกษามัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3) ระดับสายตาไม่สั้น ไม่บอดสี (ตาสองข้างต้องอยู่ในระดับ 1.0) ระดับการฟังต้องอยู่ในระดับ 0-44 เดซิเบล (DB) ไม่แพ้กลิ่นหรือน้ำยาสารเคมีหลักฐานที่ใช้ในการสมัคร ได้แก่สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนสำเนาทะเบียนบ้าน รูปถ่าย 2 นิ้ว จำนวน 1 รูป สำเนาหนังสือเดินทาง (ถ้ามี) สำเนาวุฒิการศึกษา การคัดเลือกจะทำการสัมภาษณ์ผ่านโปรแกรม Skype ในวันที่ 26 สิงหาคม 2558 ณ สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ทั้งนี้เป็นการดำเนินการเพื่อจัดส่งไปทำงานโดยวิธีรัฐจัดส่ง คนหางานไม่เสียค่าสมัครหรือค่าบริการใดๆ ทั้งสิ้น ผู้ได้รับการคัดเลือกให้ไปทำงานจะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ได้แก่ ค่ารูปถ่าย ค่าทำหนังสือเดินทาง (กรณียังไม่มี) ค่าตรวจสุขภาพ ค่าตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ค่าวีซ่า ค่าบัตรโดยสาร เครื่องบิน ค่าสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ รวมค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นไม่เกิน 15,000 บาท
 
ผู้สนใจสามารถติดต่อสมัครด้วยตนเองพร้อมหลักฐานการสมัครได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1 – 10 หรือสำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
อาคารสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 ชั้น 10 ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพฯโทร. 0-2245-1034หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694
 
(โลกวันนี้, 7/8/2558)
 
ก.แรงงาน ร่วม ILO ทำหลักสูตรพัฒนาทุนมนุษย์ หนุนกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานลุ่มน้ำโขง
 
นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน  เป็นประธานเปิดการประชุมผู้ประสานงานด้านทักษะฝีมือแรงงานอาเซียนของ ILO ณ โรงแรมพูลแมน คิงพาวเวอร์ กรุงเทพฯ โดยกล่าวว่า ประเทศไทยและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เป็นองค์กรที่มีความร่วมมือด้านแรงงานกับแต่ละประเทศอยู่แล้ว ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมครั้งต่อเนื่องจากครั้งที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศผู้รับและประเทศผู้ส่งแรงงานข้ามชาติ ซึ่งประเทศผู้รับจะได้รับแรงงานที่มีฝีมือแรงงานที่ดีขึ้น ขณะที่ประเทศผู้ส่งจะมีแนวทางในการพัฒนาฝีมือแรงงานของตนเองให้ดีขึ้นเช่นกัน จากนี้แรงงานจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้ทำงานที่มีคุณค่ามากขึ้น ซึ่งกระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้มีสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเชียงแสน จ.เชียงราย มีภารกิจในการพัฒนาฝีมือแรงงานและให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการแก่ประเทศในกลุ่ม CLMV
 
รองปลัดกระทรวงแรงงาน มีแนวคิดต่อไปว่า ประเทศไทยควรเป็น HUB ของการพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง หรือ CLMV ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย จากนั้นจะเพิ่มความร่วมมือกับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงให้เกิดขึ้น เพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ที่อยู่ในลุ่มน้ำโขงที่ยังด้อยทักษะฝีมือได้พัฒนาทักษะฝีมือขึ้นมารองรับการผลิตและการบริการและสามารถกระจายแรงงานเหล่านี้ไปสู่อุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการย้ายการลงทุนไปสู่ลุ่มน้ำโขง นอกจากการจัดทำหลักสูตรด้านการพัฒนาฝีมือแรงงานแล้ว ควรร่วมมือจัดตั้งกองทุนการพัฒนาฝีมือแรงงานให้เกิดขึ้น เนื่องจากในอนาคตอุตสาหกรรมต่างๆ จะเกิดขึ้น การพัฒนาแรงงานเหล่านี้จะสามารถส่งผลไปยังกลุ่มประเทศต่างๆ เหล่านี้เพิ่มขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นการที่แรงงานสามารถผลิตให้มีฝีมือและนำไปใช้ประโยชน์ต่อนักลงทุนที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศเหล่านั้นได้ซึ่งการพัฒนาฝีมือแรงงานทุนมนุษย์ในกลุ่มลุ่มน้ำโขงจะทำให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนเนื่องจากมีแรงงานที่มีประสิทธิภาพและผลที่เกิดจากการพัฒนาทุนมนุษย์จะทำให้กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงมีความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันและนำพาประเทศไปสู่การเติบโตทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ และทำให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
 
"ต่อไปเส้นพรมแดนด้านฝีมือแรงงานของแต่ละประเทศจะไม่แตกต่างกันในเรื่องมาตรฐาน คนจะมีฝีมือมากขึ้น การลงทุนในแถบนี้จะมีมากขึ้น ถ้าเรามีอุตสาหกรรมในภูมิภาคแถบนี้มาก เราก็จะได้เปรียบมาก ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่างๆร่วมกัน ฉะนั้นการพัฒนาทุนมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญ" รองปลัดกระทรวงแรงงานกล่าว
 
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลแคนาดาและสาธารณรัฐเกาหลี สำหรับผลลัพธ์จากการประชุมครั้งนี้จะนำแผนปฏิบัติการที่ได้จากการหารือร่วมกันมาปรับปรุงเป็นรูปแบบไตรภาคีเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มประเทศอาเซียนต่อไป
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 10/8/2558)
 
แรงงานนอกระบบทวงถามความคืบหน้าเพิ่มสิทธิ ม.40
 
วันที่ 10 สิงหาคม ที่สำนักงานประกันสังคม(สปส.)สำนักงานใหญ่ นนทบุรี นางอรุณี ศรีโต ประธานเครือข่ายศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ พร้อมคณะ เดินทางมาหารือและทวงถามความคืบหน้าข้อเสนอที่เคยยื่นขอให้สปส.พิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมมาตรา 40
 
นางอรุณี กล่าวว่า ได้ยื่นข้อเสนอให้สปส. อาทิ การขอให้ขยายสิทธิเงินทดแทนขาดรายได้ให้ครอบคลุมการพักรักษาตัวที่บ้านและเพิ่มเป็นวันละ 300 บาท จากเดิม 200 บาท เนื่องจากค่าชดเชยไม่ควรน้อยกว่าค่าจ้างที่ได้รับต่อวัน ,ขอให้เพิ่มค่าทำศพเป็น 40,000 บาทและเพิ่มเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต ,ขอให้เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตร ,ขอให้ใช้นิยามคำว่าทุพพลภาพ ในหลักเกณฑ์เดียวกับมาตรา33
 
ในกรณีผู้ประกันตนมีทายาท ขอให้บุคคลที่ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุไว้ เป็นผู้มีสิทธิในลำดับแรก ,ขอให้สปส.รับรองเครือข่ายชุมชนเพื่อให้บริการผู้ประกันตนมาตรา40 เพื่อให้การบริการประชาชนเป็นไปอย่างทั่วถึง สมาชิกแรงงานนอกระบบมองว่ายินดีที่จะจ่ายเงินสมทบที่มากขึ้น หากได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น
 
นายรักษ์ศักดิ์ โชคชัยสถิตย์ รองเลขาธิการสปส. กล่าวว่า การดำเนินการตามข้อเสนอนั้นจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือกรณีการขอให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ เช่น การเพิ่มเงินทดแทนรายได้เป็น 300 บาท เพิ่มค่าทำศพเป็น 40,000 บาท นั้นจะตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบก่อนเพื่อไม่ให้กระทบต่อความมั่นคงของกองทุน
 
ส่วนที่สามารถดำเนินการได้เลยคือสิทธิเบิกเงินทดแทนโดยใช้ใบรับรองแพทย์ และกรณีทุพพลภาพ ที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เดียวกับประกันสังคมมาตรา 33และมาตรา 39 ส่วนการให้สิทธิกรณีบำเหน็จชราภาพ แก่บุคคลที่ผู้ประกันตนระบุไว้ นั้นอยู่ระหว่างศึกษาและพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
 
(มติชนออนไลน์, 10/8/2558)
 
แรงงานประมงเพิ่มนายจ้างได้ไม่เกิน ๒ รายในจังหวัดเดียวกัน
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานในกิจการประมงทะเล เนื่องด้วยเป็นงานที่คนไทย ไม่ทำ มีความเสี่ยงอันตราย ยากลำบาก และต้องใช้ชีวิตอยู่ในทะเลระยะยาวจึงก่อให้เกิดการขาดแคลนแรงงานแม้จะมีการจ้างแรงงานประเทศเพื่อนบ้านถึงร้อยละ ๙๐ ของแรงงานประมง อีกทั้ง เมื่อแรงงานต่างด้าวออกทะเลและครบกำหนดกลับขึ้นบนฝั่งแล้ว จะมีนายจ้างรายอื่นพาแรงงานดังกล่าวไปลงเรือต่อไปอีก ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมการจัดหางานจึงได้กำหนดให้แรงงานต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตทำงานในกิจการประมงทะเลสามารถเพิ่มนายจ้างได้ ไม่เกิน ๒ รายในจังหวัดเดียวกัน โดยต้องได้รับความยินยอมจากนายจ้างเดิม ซึ่งนายทะเบียนการทำงานของคนต่างด้าวจะพิจารณาอนุญาตตามเหตุผลความจำเป็น โดยที่แรงงานต่างด้าว ยังสามารถทำงานกับนายจ้างรายเดิมได้
 
นายสุเมธฯ กล่าวต่อว่า การใช้แรงงานต่างด้าวในกิจการประมง สามารถดำเนินการได้ตลอดทั้งปี(ทุกวัน) โดยการนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมายตาม MOU ซึ่งเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ถูกต้องและเหมาะสม ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินการให้สะดวก รวดเร็ว ประหยัด คุ้มค่า สามารถจ้างงานต่อเนื่องถึง ๔ ปี หากนายจ้างเห็นว่าลูกจ้างทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในเริ่มแรกสามารถทำงานได้ ๒ ปี ต่ออายุได้อีก ๒ ปี จนครบ ๔ ปี จากนั้นเดินทางกลับประเทศต้นทางเพียง ๓๐ วัน (จากเดิมที่กำหนดไว้ ๓ ปี) และกลับมาทำงานใหม่ได้ ซึ่งการจ้างแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้“สบายใจทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง”
 
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัด ๒๒ จังหวัดชายทะเล เว็บไซต์กรมการจัดหางาน www.doe.go.th หรือที่ สายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. ๑๖๙๔
 
(โลกวันนี้, 10/8/2558)
 
แรงงานไทยไป ‘เกาหลีใต้’ ครองแชมป์ ถูกระงับการเดินทางมากสุด
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า เดือนกรกฎาคม 2558 มีคนงานไทยเดินทางไปทำงานในต่างประเทศผ่านด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิ จำนวน 16,856 คน โดยนิยมเดินทางไปทำงานประเทศในยุโรปมากที่สุด จำนวน 7,638 คน ได้แก่ สวีเดน จำนวน 3,680 คน และฟินแลนด์ จำนวน 3,438 คน รองลงมาเป็นประเทศในเอเชีย จำนวน 6,326 คน ได้แก่ ไต้หวัน จำนวน 3,284 คน เกาหลีใต้ จำนวน 1,584 คน และประเทศญี่ปุ่น 567 คน ประเทศในตะวันออกกลาง จำนวน 2,397 คน ประเทศในแอฟริกา จำนวน 228 คน ประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ จำนวน 190 คนประเทศในทวีปออสเตรเลียและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก 60 คนและประเทศในทวีปอเมริกาใต้ 17 คน คนหางานถูกระงับการเดินทางไปประเทศเกาหลีใต้มากที่สุด 123 คน รองลงมาได้แก่ โอมานบาห์เรน อินเดีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย จากทั้งหมดที่ได้ระงับการเดินทาง จำนวน 242 คน
 
ที่ผ่านมาผู้ที่มีพฤติกรรมจะลักลอบไปทำงานในต่างประเทศมักจะถูกชักชวนหลอกลวงจากสายนายหน้าให้เดินทางเข้าไปลักลอบทำงานโดยอ้างรายได้ที่สูงเกินจริง ตลอดจนการอ้างประเทศใหม่ๆที่คนหางานไม่รู้จัก หรือเป็นประเทศที่คนหางานไม่เคยไปทำงาน ทำให้อยากทดลองไปทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อเดินทางไปแล้วมักจะไม่มีงานทำ และถูกลอยแพ และบางรายต้องถูกจับกุมเนื่องจากการลักลอบทำงานเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ดังนั้น กรมการจัดหางานจึงขอย้ำเตือนแรงงานไทยที่ประสงค์จะไปทำงานต่างประเทศไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ นอกจากนี้ ต้องทราบกฎหมายกฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจ้างงานในประเทศที่จะเดินทางไปทำงาน รวมทั้งที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ของสำนักงานแรงงานไทยหรือสถานทูต/สถานกงสุลไทยประจำประเทศนั้นๆ เพื่อใช้ในการติดต่อขอความช่วยเหลือ
 
(RYT9, 10/8/2558)
 
บุรีรัมย์จัดนัดพบแรงงาน 5,000 อัตรา ช่วยผู้ว่างงาน-นักศึกษาจบใหม่
 
นายอนันต์ กลั่นขยัน จัดหางาน จ.บุรีรัมย์ เปิดเผยว่า สำนักงานจัดหางาน จ.บุรีรัมย์ ร่วมกับบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด สาขาบุรีรัมย์ จัดงานวันนัดพบแรงงานย่อย ในวันที่ 19 ส.ค. 2558 เวลา 09.30-16.00 น. ที่ห้างบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาบุรีรัมย์ (บริเวณศูนย์อาหาร)
 
ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้นายจ้าง และแรงงานที่ต้องการมีงานทำ รวมไปถึงนักศึกษาที่จบการศึกษาใหม่ ได้พบปะตกลงจ้างงานกันโดยตรงตามความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย ทำให้ได้รับความสะดวก ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย เพื่อลดปัญหาการว่างงาน และป้องกันการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานออกนอกพื้นที่ ทั้งยังมีการทดสอบความถนัดทางอาชีพ แนะแนวอาชีพให้กับนักเรียน และประชาชนทั่วไปด้วย
 
โดยจากการสำรวจในปีนี้ คาดว่าปีนี้จะมีผู้ว่างงานจากภาวะภัยแล้งมากกว่า 15,000 คน จากทุกปีที่ผ่านมามีผู้ว่างงานเฉลี่ยปีละกว่า 10,000 คนเท่านั้น ทางสำนักงานจัดหางานจังหวัด จึงได้ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ผู้ประกอบการ และภาคเอกชน จัดหาตำแหน่งงานว่างทั้งในและต่างจังหวัดไว้รองรับผู้ว่างงานมากกว่า 5,000 อัตรา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานประเภทพนักงานฝ่ายผลิต พนักงานขาย และงานด้านบริการ
 
ดังนั้น จึงขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ผู้อยู่ในวัยแรงงานและนักศึกษาที่จบการศึกษาใหม่ รวมถึงแรงงานภาคการเกษตรที่ประสบภัยในหลายพื้นที่ สอบถามรายละเอียด ได้ที่สำนักงานจัดหางาน จ.บุรีรัมย์ โทร. 0-4466-6538 ต่อ 107 ในวันเวลาราชการ
 
(RYT9, 10/8/2558)
 
สำนักงานสถิติฯ เปิดผลสำรวจการทำงานเดือนก.ค. พบคนทำงานภาคเกษตรลดลง 1 ล้านคน ไปเพิ่มอาชีพอื่น เช่น ก่อสร้าง การผลิต ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น 6.9 แสนคน
 
รายงานข่าวจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนก.ค.58 โดยเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน พบว่า จำนวนผู้ที่ทำงานในภาคเกษตรกรรมได้ลดลงมากถึง 1.08 ล้านคน จากเดิมที่มี 13.21 ล้านคน เหลือเพียง 12.13 ล้านคน เพราะส่วนใหญ่ย้ายไปทำงานในภาคอื่น เห็นได้จากจำนวนผู้ที่ทำงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 690,000 คน หรือมีจำนวน 25.97 ล้านคน โดยสาขาที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดเป็นงานก่อสร้าง 170,000 คน รองลงมาเป็นสาขาการผลิต สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า และสาขาการศึกษา ซึ่งการเพิ่มขึ้นดังกล่าว อาจเกิดจากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงในปีนี้ ส่งผลให้เกษตรกรตัดสินใจย้ายมาทำอาชีพอื่นมากขึ้น เช่นเดียวกับสาขาอื่นที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น คือ สาขาการขายส่งขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ 80,000 คน สาขากิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ 60,000 คน สาขาที่พักแรม และบริการด้านอาหาร และสาขาการบริหารราชการ การป้องกันประเทศและการประกันสังคมภาคบังคับ เพิ่มขึ้นเท่ากัน 30,000 คน และสาขากิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย 10,000 คน ส่วนสาขาที่ลดลงมากที่สุด คือ สขากิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ 30,000 คน และสาขากิจกรรมการบริการด้านอื่นๆ เช่น กิจกรรมบริการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพร่างกาย การดูแลสัตว์เลี้ยง การบริการซักรีดและซักแห้ง 20,000 คน ที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาอื่นๆ
 
(เดลินิวส์, 10/8/2558)
 
ก.แรงงาน แจงค่าใช้จ่ายไปทำงานนอก แบบ "รัฐจัดส่ง"
 
ก.แรงงาน แจงการจัดส่งแรงงานเดินทางไปทำงานต่างประเทศแบบ ‘รัฐจัดส่ง’ ช่วยลดภาระเงินค่าใช้จ่ายให้แรงงาน ไปอิสราเอลจ่าย 76,500 บ. เกาหลีใต้จ่าย 33,000 บ. ไต้หวันจ่าย 15,000 บ. และญี่ปุ่นจ่าย 6,005 บ. พร้อมมีศูนย์ประสานบริการการไปทำงานต่างประเทศ(TOEA) 10 แห่ง ในส่วนภูมิภาค ป้องกันการหลอกลวงคนหางาน ขจัดปัญหาสาย/นายหน้าเถื่อน
 
นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีจำนวนแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางานให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศและยังทำงานอยู่ในต่างประเทศ ณ เดือนมิถุนายน 2558 จำนวนทั้งสิ้น 148,240 คน ประเทศที่มีแรงงานเดินทางไปทำงาน 5 อันดับแรก ได้แก่ ไต้หวัน  59,021 คน มาเลเซีย 38,824 คน สิงคโปร์ 36,000 คน อิสราเอล 25,824 คน และสาธารณรัฐเกาหลี 22,825 คน
 
โดยพบว่ามีผู้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เดินทางไปทำงานต่างประเทศในเดือนมิถุนายน 2558 จำนวน 12,628 คน เป็นชาย 9,775 คน (ร้อยละ 77.40) และเป็นหญิง 2,853 คน (ร้อยละ 22.60) ส่วนใหญ่แจ้งความประสงค์ไปทำงานในตำแหน่งคนงานทั่วไป 1,542 คน งานเกษตรเก็บผลไม้ป่า 1,420 คน และงานผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ 1,195 คน นอกนั้นเป็นตำแหน่งคนงานเกษตร พนักงานโรงงาน งานผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ นวดแผนโบราณ เป็นต้น
 
สำหรับการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศโดยรัฐ เดือนมิถุนายน 2558 มียอดจัดส่ง จำนวน 1,107 คน ซึ่งหากเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายการเดินทางแบบ‘รัฐจัดส่ง’กับแบบเดิมที่เดินทางผ่านบริษัทจัดหางานของเอกชน พบว่าแรงงานไทยลดค่าใช้จ่ายลงได้ประมาณ 226 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายไปทำงานต่างประเทศแบบ‘รัฐจัดส่ง’มีดังนี้  1.ประเทศอิสราเอล มีค่าใช้จ่ายไม่เกิน คนละ 76,500 บาท ซึ่งหากเป็นแบบเดิมที่บริษัทจัดหางานจัดส่ง จะมีค่าใช้จ่าย คนละ 300,000 บาท ทำให้ลดลงคนละ 223,500 บาท 2.สาธารณรัฐเกาหลี มีค่าใช้จ่ายไม่เกิน คนละ 33,000 บาท แบบเดิมกรณีบริษัทจัดหางานจัดส่ง จะมีค่าใช้จ่าย คนละ 200,000 บาท ทำให้ลดลงคนละ 167,000 บาท 3. ไปฝึกปฎิบัติงานเทคนิคประเทศญี่ปุ่น มีค่าใช้จ่ายไม่เกิน คนละ 6,005 บาท แบบเดิมกรณีบริษัทจัดหางานจัดส่ง จะมีค่าใช้จ่าย คนละ 300,000 บาท ทำให้ลดลงคนละ 293,995 บาท และ 4.ประเทศไต้หวัน มีค่าใช้จ่ายไม่เกิน คนละ 15,000 บาท แบบเดิมกรณีบริษัทจัดหางานจัดส่ง จะมีค่าใช้จ่าย คนละ 70,000 บาท ทำให้ลดลงคนละ 55,000 บาท
 
ยอดประมาณการรายได้ส่งกลับผ่านธนาคารในเดือนมิถุนายน พบว่า รายได้ส่งกลับผ่านธนาคารแห่งประเทศไทยของคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศทั้งหมด 6,715 ล้านบาท แต่เมื่อเปรียบกับช่วงเดียวกันในปี 2557 มีจำนวน 7,194 ล้านบาท ซึ่งลดลง 497 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.66
 
ทั้งนี้คนหางานผู้ประสงค์เดินทางไปทำงานต่างประทศ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียด ข้อสงสัย หรือขอรับเอกสารข้อมูลต่างๆได้ที่ ศูนย์ประสานบริการการไปทำงานต่างประเทศ(TOEA) ในส่วนภูมิภาค ทั้ง 10 แห่ง ตั้งอยู่ ณ จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ ขอนแก่น อุดรธานี ชัยภูมิ หนองคาย สกลนคร เชียงราย ลำปาง และสุโขทัย ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการประสานงานและอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนในการติดต่อหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลดปัญหาการหลอกลวง ขจัดและ/หรือลดบทบาทของสาย/นายหน้าจัดหางานเถื่อน ตลอดจนเป็นศูนย์ทะเบียนคนหางานไปทำงานต่างประเทศ และเตรียมความพร้อมคนหางานก่อนเดินทางไปทำงานต่างประเทศ 
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 11/8/2558)
 
โปรดเกล้าฯ พรบ.กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (ฉบับ4) พ.ศ.2558 เปิดทางลูกจ้างออมเพิ่ม
 
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ (๑๑ส.ค.) พระราชบัญญัติ กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๘ 
 
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นปีที่ ๗๐ ในรัชกาลปัจจุบัน 
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ 
 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคําแนะนําและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้ 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๘” 
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป 
 
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ ๒)พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน 
 
“มาตรา ๑๐ ทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง ให้ลูกจ้างจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนโดยให้นายจ้าง 
หักจากค่าจ้าง และให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามอัตราที่กําหนดในข้อบังคับของกองทุน 
ซึ่งการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบต้องไม่ต่ํากว่าร้อยละสองแต่ไม่เกินร้อยละสิบห้าของค่าจ้าง” 
 
มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๐/๑ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสํารองเลี้ยงชีพพ.ศ. ๒๕๓๐
 
“มาตรา ๑๐/๑ ในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นว่าท้องที่หนึ่งท้องที่ใดเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย 
หรือเหตุการณ์ใดที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ให้รัฐมนตรีมีอํานาจกําหนดประเภทธุรกิจ 
ระยะเวลา หรือเงื่อนไขใด เพื่อให้ลูกจ้างหรือนายจ้างหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบ 
เข้ากองทุนได้คราวละไม่เกินหนึ่งปี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด” 
 
มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน 
“มาตรา ๑๖ ในการลงทุนหรือหาผลประโยชน์ของกองทุน ให้ผู้จัดการกองทุนนําเงินสะสม 
และเงินสมทบไปลงทุนหรือหาผลประโยชน์ตามนโยบายการลงทุนที่ลูกจ้างได้แสดงเจตนาไว้ ในกรณีที่ 
ลูกจ้างไม่แสดงเจตนาเลือกนโยบายการลงทุน ให้ลงทุนหรือหาผลประโยชน์ตามนโยบายเดิมที่ลูกจ้าง 
เคยลงทุนไว้ หากไม่มีนโยบายเดิม ให้ลงทุนหรือหาผลประโยชน์ตามนโยบายที่กําหนดไว้ในข้อบังคับ 
ของกองทุน หากข้อบังคับของกองทุนไม่ได้กําหนดไว้ ให้ลงทุนหรือหาผลประโยชน์ตามนโยบายที่มีความเสี่ยง 
น้อยที่สุด” 
 
มาตรา ๖ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของ (๑) ของมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๐ 
“รายได้ของกองทุนตามวรรคหนึ่ง (ก) (ข) (ง) และ (จ) อาจกําหนดในข้อบังคับของกองทุน 
ให้บันทึกตามส่วนได้เสียของลูกจ้างหรือบันทึกเฉลี่ยตามจํานวนลูกจ้างของนายจ้างรายใดรายหนึ่ง 
หรือหลายรายก็ได้” 
 
มาตรา ๗ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน 
“มาตรา ๒๓ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๓/๒ มาตรา ๒๓/๓ และมาตรา ๒๓/๔ เมื่อลูกจ้าง 
สิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิก ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้าง 
ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในข้อบังคับของกองทุนและตามที่กําหนดในมาตรา ๒๓/๑ โดยให้ 
จ่ายรวมทั้งหมดคราวเดียวภายในเวลาไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันสิ้นสมาชิกภาพ” 
 
มาตรา ๘ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๓/๒ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน 
“มาตรา ๒๓/๒ เมื่อลูกจ้างรายใดสิ้นสมาชิกภาพตามข้อบังคับของกองทุนด้วยเหตุเกษียณอายุ 
หรือออกจากงานเมื่อมีอายุไม่ต่ํากว่าห้าสิบห้าปีบริบูรณ์ หากลูกจ้างรายนั้นแสดงเจตนาขอรับเงินจากกองทุน 
เป็นงวด ให้ผู้จัดการกองทุนจ่ายเงินจากกองทุนตามเจตนาของลูกจ้าง โดยลูกจ้างรายนั้นยังคงเป็นสมาชิก
ของกองทุนต่อไปได้ตามระยะเวลาที่กําหนดในข้อบังคับของกองทุน แต่ลูกจ้างรายนั้นและนายจ้างไม่ต้อง 
จ่ายเงินสะสมหรือเงินสมทบสําหรับลูกจ้างรายนั้นอีก ทั้งนี้ การรับเงินจากกองทุนเป็นงวดให้เป็นไป 
ตามหลักเกณฑ์ที่นายทะเบียนประกาศกําหนด” 
 
มาตรา ๙ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๒๓/๔ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสํารองเลี้ยงชีพพ.ศ. ๒๕๓๐ 
“มาตรา ๒๓/๔ ในกรณีที่นายจ้างถอนตัวจากกองทุนหลายนายจ้างและยังมิได้จัดให้มีกองทุนใหม่ 
หรือลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะออกจากงานไม่ว่าด้วยเหตุใด หรือกองทุนเลิก หากลูกจ้างได้แสดงเจตนา 
ให้ผู้จัดการกองทุนหรือผู้ชําระบัญชีโอนเงินทั้งหมดที่ตนมีสิทธิได้รับจากกองทุนหรือเงินที่เหลือจาก 
การขอรับเงินเป็นงวดตามมาตรา ๒๓/๒ หรือขอให้โอนเงินที่คงไว้ในกองทุนตามมาตรา ๒๓/๓ ไปยัง 
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหรือกองทุนอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันในกรณีการออกจากงาน 
หรือการชราภาพ ให้ผู้จัดการกองทุนหรือผู้ชําระบัญชีดําเนินการตามที่ลูกจ้างได้แสดงเจตนาไว้ 
ทั้งนี้ นายทะเบียนอาจประกาศกําหนดวิธีการและเงื่อนไขไว้ด้วยก็ได้” 
 
มาตรา ๑๐ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน 
“มาตรา ๓๕ ผู้จัดการกองทุนใดไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๑๒ ทวิ 
หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ มาตรา ๒๓ มาตรา ๒๓/๑ มาตรา ๒๓/๒ หรือมาตรา ๒๓/๔ 
ตองระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท” 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ 
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา 
นายกรัฐมนตรี
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ ที่ใช้บังคับในปัจจุบันมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป สมควรแก้ไขเพิ่มเติม ให้เหมาะสมโดยแก้ไขให้ลูกจ้างสามารถจ่ายเงินสะสมในอัตราที่สูงกว่านายจ้างจ่ายเงินสมทบได้ อันจะเป็น การเปิดโอกาสให้ลูกจ้างสามารถออมเงินได้เพิ่มขึ้น ในกรณีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์ใด ที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอํานาจออกประกาศให้ลูกจ้าง หรือนายจ้างหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเข้ากองทุนได้ ปรับปรุงหลักเกณฑ์การนําเงินสะสม และเงินสมทบไปลงทุนหรือหาผลประโยชน์สําหรับลูกจ้างที่ไม่ได้แสดงเจตนาเลือกนโยบายการลงทุน ปรับปรุง วิธีการบันทึกรายได้ของกองทุนประเภทกองทุนหลายนายจ้าง และแก้ไขหลักเกณฑ์การจ่ายเงินจากกองทุน แก่ลูกจ้างที่สิ้นสมาชิกภาพเพราะออกจากงานให้สามารถขอรับเงินจากกองทุนเป็นงวดได้ รวมทั้งเพิ่มกรณี การโอนเงินไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหรือกองทุนอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันในกรณีการออกจากงาน หรือการชราภาพได้ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและแก้ปัญหาอุปสรรคในการดําเนินงานของกองทุนและ เพื่อให้ลูกจ้างสามารถออมเงินได้อย่างเพียงพอต่อการดํารงชีพเมื่อชราภาพ จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 12/8/2558)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net