Skip to main content
sharethis
ท่ามกลางความรุนแรง มีร้านอาหาร 2 ร้านที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยนักธุรกิจชาวมลายูมุสลิมรุ่นใหม่ คือ ร้านไก่ทอดบากุส และร้านอินตออัฟ คอฟฟี่ จ.ปัตตานี ซึ่งได้ผสมผสาน ความเป็นมลายู ลงไปกับความเป็นสากลได้อย่างลงตัว  
 
 
กว่าสิบปีที่ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส และสี่อำเภอของสงขลา ตกอยู่ในความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมือง คนจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะคนจีนที่เป็นผู้กุมเศรษฐกิจ ย้ายออกไปจากพื้นที่ เศรษฐกิจและการลงทุนก็ชะลอตัว จากข้อมูลของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกระทรวงพาณิชย์พบว่า พบว่า ระหว่าง พ.ค. 56 - ก.ย. 57 ดัชนีความเชื่อมั่นด้านการค้าและการลงทุนในสามจังหวัดนั้นต่ำกว่า 50 ซึ่งเป็นค่ากลางมาโดยตลอด แสดงว่า ผู้ประกอบการในพื้นที่ไม่มีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ตั้งแต่ความรุนแรงปะทุขึ้นรอบล่าสุดเมื่อ 11 ปีที่แล้ว อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นชะลอตัวลง โดยมีการขยายตัว 1.4 เปอร์เซนต์ต่อปี (ระหว่างปี 2547-2552) เทียบกับก่อนหน้าที่ความรุนแรงจะปะทุอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจนั้นอยู่ที่ 6.0 เปอร์เซนต์ต่อปี 
 
แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา สามจังหวัดนั้นมีความคึกคักขึ้นในเชิงวัฒนธรรม ดูได้จากการมีตลาดนัด งานกลางคืน เช่นงานตาดีกา กลับมาจัดอีกครั้ง ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ. ปัตตานี) กล่าวว่า นี่คือส่วนหนึ่งของการเปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรม ที่อยากให้มีมากขึ้น เพราะทำให้ประชาชนมีความสุข เช่นเดียวกับการเปิดพื้นที่ทางการเมือง เพราะทำให้ผู้คนรู้สึกมีความสุข รู้สึกปลอดภัย และคลายความตรึงเครียดอีกด้วย “ฝ่ายความรุนแรงต้องตระหนักถึงความสำคัญของพื้นที่กลาง ที่ให้คนมาสมาคมสังสรรค์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ฝ่ายรัฐก็ต้องยอมให้มีการเปิดพื้นที่เช่นกัน”
 
นอกจากงานรื่นเริงแล้ว ในช่วงระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็มีธุรกิจร้านอาหารเปิดมากขึ้น โดยเฉพาะร้านที่เน้นความคิดสร้างสรรค์ นำเสนออาหารรูปแบบใหม่ๆ ให้ชาวปาตานี นักวิเคราะห์มองว่า ประชาชนในสามจังหวัดต้องการที่ให้ใช้สอย จับจ่าย และทำกิจกรรมรื่นเริง หลังจากอยู่ในสถานการณ์ตรึงเครียดมานาน และด้วยเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทั้งสามจังหวัด มีแหล่งให้จับจ่ายใช้สอย เช่น ห้างสรรพสินค้า และร้านอาหารแบบสมัยนิยม น้อย 
 
สกู๊ปชิ้นนี้จะพาไปรู้จักร้านอาหารสองร้านที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยนักธุรกิจชาวมลายูมุสลิมรุ่นใหม่ คือ ร้านไก่ทอดบากุส และร้านอินตออัฟ คอฟฟี่ แอนด์ แกลอรี ในอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ซึ่งได้ผสมผสาน ความเป็นมลายู ความเป็นท้องถิ่น ลงไปกับความเป็นสากลได้อย่างลงตัว  
 
ร้านบากุส ณ หอนาฬิกา จังหวัดปัตตานี (ภาพถ่ายตอนเช้า ร้านยังไม่เปิด)
 
ดูเผินๆ หลายคนอาจนึกว่า นี่คือ เคเอฟซี แต่ไม่ใช่ นี่คือไก่ทอด บากุส แห่งปัตตานี ร้านไก่ทอดและอาหารฝรั่งฮาลาลซึ่งเปิดมากว่าสี่ปีแล้ว ด้วยโลเคชั่นหน้าหอนาฬิกา และตึกสามชั้นที่ตั้งเด่นเป็นสง่า บากุสเป็นร้านไก่ทอดชื่อดังของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่คนจากนราธิวาส และยะลา ถึงขั้นมาขับรถมาปัตตานีเพื่อมากินบากุสเลยก็มี 
 
ด้วยความที่คนในสามจังหวัดนั้นเคร่งครัดในศาสนา ความมั่นใจว่า อาหารที่กินนั้น ผลิตด้วยวิธีที่ถูกต้องตามหลักศาสนานั้นสำคัญมาก ร้านอาหารที่เจ้าของร้านเป็นมุสลิม และผู้ปรุงอาหารเป็นคนมุสลิมจึงจะได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ามากกว่า 
 
ไก่ทอดบากุสทั้งแบบรสดั้งเดิมและรสเผ็ด
 
บากุส (Bagus) เป็นภาษามลายู แปลว่า ยอดเยี่ยม ดำเนินกิจการโดยสองสามีภรรยา มูฮาหมัด ดูมีแด และ โรฮาณีย์ ปูเต๊ะ ชาวปัตตานี ทั้งสองไม่ได้มีภูมิหลังเกี่ยวกับการทำอาหารเลย มูฮาหมัดเป็นอดีตพนักงานธนาคารและใช้ชีวิตทำงานอยู่ที่ กทม. กว่าแปดปี ส่วนโรฮาณีย์เป็นอาจารย์สอนภาษามลายูกลาง ที่ ม.อ. ปัตตานี และไปเรียนจบปริญญาโทที่มาเลเซีย 
 
ในช่วงที่มูฮำหมัดยังทำงานธนาคารอยู่ เขาเบื่อหน่ายกับงานที่ทำจึงใช้เวลาว่างไปเรียนทำไก่ทอด และเปิดร้านขายไก่ทอดอยู่แถวหลัง ม.อ. ซึ่งเป็นโลเคชั่นที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ และเปิดอยู่เจ็ดถึงแปดเดือนก็ต้องปิดไป ต่อมาเมื่อทั้งคู่แต่งงานกัน โรฮาณีย์เห็นว่า อุปกรณ์ทอดไก่ยังอยู่ จึงชักชวนสามีเปิดร้านอีกครั้ง ณ ใกล้ๆ หอนาฬิกาปัตตานี เพราะในสามจังหวัดนั้นไม่มีร้านไก่ทอดแบบเคเอฟซีเลย และถึงมี เคเอฟซีก็ไม่ฮาลาล 
 
ทั้งคู่ไม่ได้มองการเปิดร้านไก่ทอดนี้เป็นการทำธุรกิจเพื่อผลกำไรมากที่สุด แต่มองว่าเป็นการทำธุรกิจเพื่อสังคมมุสลิม และเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นมุสลิมที่ดี “มันเป็นหน้าที่ของเรา ที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม เมื่อเราตายไป เราจะโดนพระเจ้าสอบถาม เราจะได้ตอบได้ว่า เราได้ทำเพื่อสังคมแล้ว พอเราเปิด เราก็ไม่ได้คิดมากว่ามันต้องอยู่รอดหรือกำไรเท่าไหร่ คิดแค่ว่า อย่างน้อยเราได้ทำแล้ว เราได้ให้ทำตัวเลือกอาหารใหม่ๆ กับคนมุสลิมในสามจังหวัดแล้ว” 
 
ร้านบากุสคึกคักในยามเย็น
 
ร้านบากุสไม่ได้มีแต่ไก่ทอดแบบต่างๆ (ที่หน้าตาคุ้นเคยตามร้านฟาสฟู้ดชื่อดัง) แต่ยังมีอาหารฝรั่งหลากหลายอย่าง เช่น สเต๊ก สปาเก๊ตตี้ อีกด้วย 
 
เมื่อเปิดร้านใหม่ ด้วยคุณภาพของอาหารทำให้มีลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ จนร้านไม่มีที่นั่ง จึงมาเซ้งตึกสามชั้นที่เป็นร้านในปัจจุบัน โดยสองชั้นล่างใช้สำหรับร้านบากุส และมีแผนจะเปิดชั้นสามเป็นสถานีวิทยุชุมชน โรฮาณีย์บอกว่า ตอนนี้ร้านขายดีมาก และขายดียิ่งขึ้นช่วงเทศกาล เช่น ก่อนรอมดอน ปีใหม่ และวันเด็ก พนักงานกว่า 30 ชีวิตต้องทำงานอย่างหนัก เพราะลูกค้าแห่มาจนแน่นร้าน ลูกค้าก็จะต้องรอคิวนานมาก มากกว่าสิบคิว และขายไก่ได้ถึงเกือบ 280 กิโลกรัมต่อวัน ส่วนวันธรรมดาก็ประมาณ 100 กิโลกรัมต่อวัน 
 
ผู้เขียนได้ลองชิม ไก่ทอด และไก่ป๊อปสไปซี่ ความกรอบและนุ่มของไก่ รสชาดนั้นดีเลยทีเดียว ไม่แปลกใจว่า ทำไมร้านจึงได้รับความนิยมมากเช่นนี้ 
 
โรฮาณีย์ ปูเต๊ะ เจ้าของร้านบากุส (กลาง) นั่งดูผู้เขียน (ขวา) ชิม ไก่ทอด และไก่ป๊อปสไปซี่ ของบากุส 
 
จุดที่ทำให้ร้านบากุสได้รับความนิยมในหมู่คนสามจังหวัด เพราะหนึ่ง ได้รับความไว้วางใจว่า กระบวนการทำอาหารที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด และสองคือ การปรับความสากลให้เป็นท้องถิ่นได้อย่างลงตัว 
 
“ที่ร้านเก่า การตกแต่งร้านไม่ดูเหมือนเป็นร้านมุสลิมเลย แต่งแนวเรโทร บางคนก็เลยไม่นึกว่า Bagus เป็นภาษามลายู ก็อ่านชื่อร้านแบบภาษาอังกฤษว่า ‘เบกัส’ ก็มี พอย้ายร้านมาตรงนี้ เราเลยพยายามโชว์ความเป็นท้องถิ่น เขียนชื่อร้านด้วยอักษรยาวีควบคู่กับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทำให้ลูกค้าคนมลายูรู้สึกคุ้นเคยกับร้าน รู้สึกเป็นร้านของเขา” โรฮาณีย์กล่าว  
 
ป้ายในร้านบากุส จะมีทั้งภาษามลายู ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย
 
มีครั้งหนึ่งที่มีลูกค้าต่างชาติมาที่ร้านบากุส และเนื่องจากบากุสเป็นร้านดังของสามจังหวัด เขาจึงถามหาอาหารจานเด็ดที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของอาหารปาตานี “เราก็บอกว่า ไม่มี เราก็งงๆ ตัวเองเหมือนกันว่า อาหารที่เราทำเนี่ยมันคืออะไรกันแน่” โรฮาณีย์บอกว่าเธอกำลังพัฒนาสูตรไก่ทอดที่แสดงถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นปาตานีอยู่ เช่น เบอเกอร์ไก่กอและ แต่เนื่องจากรสชาดยังไม่ลงตัวเลยยังไม่ทำขาย 
 
แน่นอนว่า ร้านมีชื่อเสียงขนาดนี้ย่อมมีคนติดต่อขอซื้อแฟรนชายส์อย่างแน่นอน แต่ทั้งคู่ไม่สนใจที่จะขายแฟรนชายส์ของบากุส เพราะเกรงว่าจะไม่สามารถควบคุมคุณภาพได้อย่างทั่วถึง  
 
ป้ายในร้านบากุส จะมีทั้งภาษามลายู ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย
 
“เรายังไม่ขายแฟรนชายส์ของไก่บากุส เพราะเรายึดหลักอมานะห์ในศาสนาอิสลาม ซึ่งหมายถึง ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของเรา ถ้าเราขายแฟรนชายส์ไปแล้ว เราก็ต้องดูแลผู้ที่ซื้อแฟรนชายส์ไปอย่างดีที่สุด ถ้าดูแลเขาไม่ดี ก็จะผิดหลักการข้อนี้ ก็จะเป็นบาป” อาจารย์ ม.อ.ปัตตานี วัย 30 ปีกล่าว ส่วนมูฮาหมัดบอกว่า “ผมมองการทำร้านอาหารเป็นงานศิลปะ เราไม่ขายแฟรนชายส์ เพราะเราไม่ได้คิดแบบนักธุรกิจ”
 
อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าทั้งคู่จะไม่ขยายธุรกิจ แต่แทนที่จะเปิดร้านไก่ทอด ทั้งคู่เลือกทำอะไรที่แปลกแหวกแนวสำหรับวงการอาหารฮาลาลกว่านั้น นั่นคือ การทำซูชิฮาลาล 
 
ร้านบากุชิ ได้รับความนิยมจากชาวมลายูมุสลิม ที่อยากลองอาหารแปลกใหม่ ภาพจาก เฟซบุ๊ก บากุชิ 
 
“การทำร้านอาหารของเรา คือภารกิจในการเพิ่มทางเลือกการกินให้คนมุสลิม เราทำร้านไก่ทอดแล้ว ก็ไปทำร้านอย่างอื่นที่สังคมมุสลิมยังขาดอยู่” มูฮาหมัดบอกกับผู้เขียน 
 
สำหรับชาวกรุงเทพฯ อาหารญี่ปุ่นนั้นมีให้เลือกทานมากมาย หลากหลายแบบ และระดับราคา แต่สำหรับชาวมลายูมุสลิมนั้น ส่วนใหญ่ไม่เคยลองกินอาหารญี่ปุ่นโดยเฉพาะซูชิ เพราะมีร้านอาหารญี่ปุ่นฮาลาลน้อยมาก นอกจากนี้ ด้วยความที่ซูชิประกอบด้วยปลาดิบเป็นส่วนสำคัญ หากประกอบอาหารอย่างไม่ใส่ใจเพียงพอ อาจผิดต่อการผิดหลักศาสนาได้ 
 
บากุชิ (Bagushi) เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีทั้งชาบู (ไม่บุฟเฟต์) กับซูชิบาร์ เปิดที่โลตัส อ.จะนะ จ.สงขลา เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ร้านบากุชิได้รับการตอบรับดีมากเช่นเดียวกับบากุส มูฮาหมัดบอกว่า ลูกค้าส่วนใหญ่จะนิยมทานชาบู กับเบนโตะ มากกว่าซูชิ เพราะมุสลิมที่นั่นส่วนใหญ่ยังไม่ชินกับการทานของดิบ มูฮาหมัดเผยว่า มีลูกค้าหลายรายที่สั่งปลาดิบแล้วขอให้เอาไปเบิร์นให้สุกเสียก่อน 
 
ผู้เขียนซึ่งชอบทานซูชิมาก ยังไม่ได้มีโอกาสไปลองร้านบากุชิ แต่ได้ทราบว่า แซลมอนซาซิมิราคาจานละ 99 บาทนั้น เป็นแซลมอนนอร์เวย์ที่ร้านซื้อมาจากแมคโคร 
 
ก่อนจะเปิดร้านบากุชิ สองสามีภรรยาได้ตระเวนดูและชิมซูชิฮาลาลหลายที่ เช่น ที่จังหวัดเชียงใหม่ และที่มาเลเซีย ศึกษากระบวนการทำซูชิ และดูว่า จุดไหนที่เสี่ยงต่อการไม่ฮาลาล และส่งพนักงานบากุสไก่ทอด ไปเรียนการทำซูชิ และกลายมาเป็นพนักงานร้านบากุชิชุดแรก 
 
โรฮาณีย์กล่าวว่า จุดที่ไม่ฮาลาลของซูชิคือมิริน หรือน้ำที่เกิดจากการหมักข้าว ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้ข้าวซูชิออกรสเปรี้ยวนิดๆ การหมักมิรินที่นานไปอาจเกิดเป็นแอลกอฮอล์ซึ่งจะทำให้ไม่ฮาลาลได้ “เราเลยต้องเปลี่ยนสูตร ต้องไปติดต่อโรงงาน ไม่ให้เขาหมักจนถึงจุดที่จะเป็นแอลกอฮอล์”
 

ความคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดอาหารฮาลาลให้ชาวปาตานี 

 
มูฮาหมัดบอกว่า เขามีไอเดีย และมองหาไอเดียในการทำร้านอาหารเพื่อชาวสามจังหวัดอยู่ตลอดเวลา ทั้งคู่เดินทางไปกรุงเทพฯ บ่อยครั้งเพื่อไปดูต้นแบบร้านอาหารแบรนด์ยอดนิยมต่างๆ ตามห้างสรรพสินค้า เช่น หากอยากดูต้นแบบการทำร้านพิซซ่า ก็ไปดูพิซซ่าฮัท ร้านกาแฟ ก็สตาร์บัค ร้านชาบู ก็ชาบูชิ ร้านอาหารญี่ปุ่นก็ยาโยอิ ร้านสเต๊กก็ซิสเลอร์ 
 
เบนโตะ จากร้านบากุชิ ภาพจาก เฟซบุ๊ก บากุชิ
 
แต่เนื่องจากร้านเหล่านี้ไม่ฮาลาล ทั้งคู่ก็อาจเข้าไปนั่งแล้วสั่งเครื่องดื่มเท่านั้น และไปลองหาชิมดูที่มาเลเซีย 
 
“ตลาดอาหารฮาลาลนั้นใหญ่มหาศาล มีร้านอาหารฮาลาลตอนนี้อยู่น้อยมาก  คนมุสลิมส่วนใหญ่อยู่ปลายน้ำของตลาดนี้ทั้งนั้น ปลายน้ำ แปลว่า ผู้เปิดร้านอาหาร ต้นน้ำ คือ วัตถุดิบ กลางน้ำ คือ การทำเครื่องปรุงรสเพื่อใช้ในการประกออาหาร”
 
มูฮาหมัดบอกว่า ตอนนี้เขากำลังมองลู่ทางทางธุรกิจในการทำแบรนด์วัตถุดิบและเครื่องปรุงรสฮาลาล เช่น ซอสอาหารญี่ปุ่นฮาลาล เป็นต้น เป็นแบรนด์ของชาวมุสลิมเอง ซึ่งนี่ก็จะเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการร้านอาหารชาวมุสลิมอื่นๆ เอาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปทำอาหารฮาลาลได้อย่างสะดวกและสบายใจขึ้น
 
เมื่อถามว่า ไอเดียต่อไปคืออะไร มูฮาหมัดยิ้มและตอบว่า อยากทำร้านอาหารฟิวชั่น แบบตะวันตกเจอตะวันออกอย่างร้าน “On The Table” ซึ่งเป็นร้านอิตาเลียนสไตล์ญี่ปุ่นซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในกรุงเทพฯ ขณะนี้ ส่วนโรฮาณีย์นั้น ด้วยความที่เป็นอาจารย์ ม.อ. เธอบอกว่าอยากทำร้านแบบ Too Fast Too Sleep ที่ข้างๆ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝั่งสามย่าน ซึ่งเป็นร้านกาแฟและอาหารที่เปิดให้นักศึกษา หรือใครก็ตามมาอ่านหนังสือ ติวหนังสือ หรือนั่งทำงานได้ 24 ชม. แต่ด้วยความรุนแรงในพื้นที่ ที่เหตุรุนแรงมักเกิดกลางดึก โปรเจกต์นี้จึงต้องพับไว้ก่อน 
 

ร้านน้ำชาฮิปสเตอร์ แห่งดินแดนนักปราชญ์ 

 
“ร้านน้ำชา” ที่มีขายทั้ง ชา กาแฟ โรตี และอาหารทานเล่นอื่นๆ เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวปาตานี หากเป็นร้านน้ำชาในหมู่บ้าน คนที่มานั่งร้านน้ำชาส่วนใหญ่นั้นเป็นผู้ชาย และรู้จักกันแทบทั้งหมด เจ้าของร้านก็รู้จักลูกค้าแทบทุกคน พวกเขามาคุยกันเรื่องการเมืองและสังคมต่างๆ ที่อาจเริ่มต้นมาจากข่าวหนังสือพิมพ์ เรียกได้ว่า ร้านน้ำชาแบบดั้งเดิมของปาตานีคือ ปริมณฑลสาธารณะ ตามทฤษฏีของฮาเบอร์มาส ที่ผู้คนจะมาแลกเปลี่ยนความเห็นกันในประเด็นสาธารณะต่างๆ วัฒนธรรมร้านน้ำชาอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนสามจังหวัดมีความตื่นตัวทางการเมืองค่อนข้างสูงก็เป็นได้ เมื่อพิจารณาอัตราผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งในปี 2554 ถึง 77.48 เปอร์เซนต์ สูงกว่าอัตราการออกมาใช้สิทธิทั้งประเทศซึ่งอยู่ที่ 75.03 เปอร์เซนต์ 
 
แต่จะเป็นอย่างไร เมื่อหนุ่มสถาปนิกชาวปัตตานี ที่ไปใช้ชีวิตอยู่ย่านที่ล้ำที่สุดของกรุงเทพฯ มาหลายปี กลับมาเปิด “ร้านน้ำชา” ที่บ้านเกิด ความฮิปสเตอร์จึงบังเกิดที่ย่านเมืองเก่าของปัตตานี 
 
อินตออัฟ (In-t-af) คือร้านน้ำชาที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายความโหยหาปาตานีที่สันติสุข ชื่อร้าน In-t-af คือการเล่นกับการเรียงตัวอักษรของคำว่า Fatoni (ฟาฏอนี) ซึ่งเป็นชื่อภาษาอาหรับของ ปาตานี นั่นเอง 
 
ร้านอินตออัฟ ยามเย็น ภาพจาก อินตออัฟ เฟซบุ๊ก 
 
“พวกเราเป็นคนที่นี่ เราได้อ่านประวัติศาสตร์ปาตานี แล้วเจอชื่อฟาฏอนี ซึ่งมีความหมายดีด้วย แปลว่า ดินแดนของนักปราชญ์ เรานั้นอยากสื่อถึงอัตลักษณ์ความเป็นปาตานี แต่เนื่องจากคำนี้อาจดูชาตินิยมเกินไป เราเลยใส่ลูกเล่นลงไปนิดหน่อย กลายเป็นชื่อร้าน อินตออัฟ” อาซีซี ยีเจะแว หนึ่งในเจ้าของร้าน สถาปนิกหนุ่มจากรั้วอุเทนถวายกล่าว
 
การเลือกมาเปิดร้านที่ย่านเมืองเก่านั้นไม่ใช่ความบังเอิญ สถาปนิกชาวมลายูทั้งสี่คนหลงรักในความงามของตึกเก่าที่ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมแบบจีนและตะวันตก ที่เรียกว่า ชิโน โปรตุกีส ซึ่งได้อิทธิพลจากมาเลเซียสมัยที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษเป็นอย่างมาก แรกเริ่มเดิมที่พวกเขาไม่ได้คิดจะเปิดร้านน้ำชากาแฟ แต่จะเปิดแกลอรี่และสำนักงานออกแบบ แต่ต่อมา เห็นว่า การเปิดร้านน้ำชาน่าจะไปได้รอดในเชิงธุรกิจมากกว่า จึงเป็นที่มาของอินตออัฟ 
 
ร้านอินตออัฟ ส่วน outdoor ริมฝั่งแม่น้ำปัตตานี ภาพจาก อินตออัฟ เฟซบุ๊ก 
 
ร้านอินตออัฟ เป็นตึกแถวสองชั้น ชั้นล่างมีส่วนที่มีหลังคาให้ลูกค้านั่งพื้น และส่วนที่เปิดโล่ง ที่ลูกค้าสามารถดื่มน้ำชากาแฟและชมวิวของแม่น้ำปัตตานีไปด้วย ส่วนชั้นสองเป็นห้องละหมาด สถาปนิกทั้งสี่คนเลือกที่จะตกแต่งร้านแบบ “วาบิ ซาบิ” นั่นคือการโชว์ปูนเปลือยๆ ดิบๆ มองความไม่สมบูรณ์ของวัสดุเหล่านั้นเป็นความงาม แต่ก็ใช้ว่าทุกคนจะอินกับความงามของเศษอิฐเศษปูน 
 
“ตอนร้านเปิดใหม่ๆ มีลูกค้าหลายคนเลยถามว่า ‘นี่แต่งร้านเสร็จแล้วใช่ไหม’” อาซีซีบอกกับผู้เขียน  
 
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่พวกเขาชอบการเสพงานศิลปะตามแกลอรี่ที่กรุงเทพ ในร้านจึงยังมีมุมจัดแสดงภาพ ให้ลูกค้าได้ดูงานศิลปะพร้อมๆ กับการจิบน้ำชากาแฟ 
 
อาซีซีเล่าว่า พวกเขาใช้เวลาถึงหนึ่งปีเพื่อตกแต่งตึกหลังนี้ให้เป็นร้านอินตออัฟที่เห็นในปัจจุัน ภาพจากเฟซบุ๊ก อินตออัฟ
 
“ตอนที่ผมเรียนที่ กทม. ก็ชอบไปดูงานศิลปะ เราก็เลยเอาไอเดียตรงนี้มาประยุกต์กับร้านน้ำชาของเรา พวกเราอยากให้ชาวบ้านเข้าถึงศิลปะได้ง่าย ไม่อยากให้รู้สึกว่า ศิลปะคือสิ่งที่ต้องปีนบันไดดู เริ่มจากอะไรที่ใกล้ตัว ก็ปอเนาะเนี่ยแหละ”
 
ชุดภาพถ่ายขาวดำโรงเรียนปอเนาะ โดย อำพรรณี สะเตาะ เป็นงานชุดแรกที่ถูกเอามาจัดแสดงที่อินตออัฟ 
 
“ปอเนาะ เป็นโรงเรียน เป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจ เป็นศูนย์กลางทางจิตใจของคนในชุมชน ภาพถ่ายพวกนี้แสดงให้เห็นความสวยงามของนปอเนาะในอดีต ผมอยากสื่อไปถึงคนที่คิดต่าง อยากให้เขาตั้งคำถามกับสิ่งทีทำอยู่ และอยากให้สังคมทบทวนบทบาทของปอเนาะ ที่ในอดีตนั้นเป็นที่ที่ปราศจากความรุนแรง” อาซีซีกล่าว 
 
นิทรรศการภาพถ่ายขาวดำ ปอเนาะ โดย อำพรรณี สะเตาะ
 
อย่างไรก็ตาม อินตออัฟมีลักษณะของความเป็น “ร้านกาแฟ” ในเมือง มากกว่าจะเป็นร้านน้ำชาในชนบท เราสามารถพบเห็นลูกค้าได้ทั้ง ไทยพุทธ คนไทยเชื้อสายจีน และคนมลายูมุสลิม ทั้งหญิงและชายในปริมาณที่พอๆ กัน (หรือลูกค้าหญิงอาจมากกว่าด้วยซ้ำ) ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ วัยเรียนและวัยทำงาน และลูกค้าและเจ้าของร้านก็ไม่ได้รู้จักกันทุกคน อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นร้านที่ลูกค้ามาพบปะสังสรรค์ด้วยความรู้สึกคุ้นเคยมากกว่าร้านกาแฟในกรุงเทพฯ ที่ผู้คนค่อนข้างห่างเหินกัน 
 
แล้วคนรุ่นเก่าคิดอย่างไรกับร้านอินตออัฟ? อาซีซีบอกว่า ยิ้มและตอบว่า มีอยู่เหมือนกันที่ "คนรุ่นนั้นเขาเขิน ไม่กล้ามานั่ง" 
 

ไฟของนักธุรกิจหน้าใหม่ ท่ามกลางไฟแห่งความขัดแย้ง

 
เจ้าของร้านไก่ทอดบากุสเล่าว่า เมื่อไม่กี่เดือนหลังย้ายร้านมาที่ตึกสามชั้นนี้ คืนหนึ่งก็มีระเบิดที่ปั๊มน้ำมันฝั่งตรงข้าม อีกฝั่งของวงเวียนหอนาฬิกา ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ระเบิด 33 จุดปี 2557 ระเบิดเสียงดังมาก และไฟก็ดับทั้งร้าน เพื่อความปลอดภัย ทางร้านจึงตัดสินใจปิดประตูไม่ให้ลูกค้าออก “ลูกค้าของเราก็เยี่ยมมาก นั่งจุดเทียนกินไก่ต่อกันเฉย” แล้วลูกค้าทั้งร้านก็ได้กินไก่ฟรีในคืนนั้น 
 
ทหารพรานยืนประจำการที่หน้าร้านบากุส เพราะฝั่งตรงข้ามและซอยข้างๆ นั้นเคยเคยเกิดเหตุระเบิดมาก่อน
 
“เราเปิดธุรกิจที่นี่ เราก็ไม่เคยรู้สึกสบายใจ ไว้วางใจกับความไม่สงบหรอก แต่เราเชื่อว่า เรามีเจตนาดีต่อพี่น้องมุสลิมที่นี่” โรฮาณีย์กล่าว “การที่พวกเราต้องอยู่ในสถานการณ์กดดันจากความขัดแย้งและความรุนแรงมานาน การได้กินอาหารดีๆ ก็เหมือนได้ปลดปล่อยเช่นกัน”  
 
ส่วนเจ้าของร้านอินตออัฟกล่าวว่า เขาไม่ได้คิดมากว่า ความรุนแรงจะกระทบกับธุรกิจ แต่เนื่องจากเขาเป็นคนที่นี่ ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป 
 
อาซีซียังกล่าวอีกว่า ก่อนเปิดร้าน มีคนทักท้วงมามากมายว่า ที่นี่เป็นย่านคนจีน ลูกค้ามลายูที่ไหนจะมา  “แต่ร้านผมก็ดึงคนมุลิมมลายูมาได้ ไม่ได้จำเป็นต้องไปเปิดร้านแต่ย่านมุสลิม” สถาปนิกวัย 34 กล่าว “ผมเป็นมุสลิม แต่มาอยู่ย่านคนจีน ผมอยากแสดงให้เห็นว่า เราอยู่ด้วยกันได้” 
 
ทั้งสองเห็นตรงกันว่า ความรุนแรงในพื้นที่ที่เรื้อรังมาเป็นเวลานาน เหมือนเป็นแรงผลักดันให้คนปาตานีไม่อยู่เฉย ให้ลุกขึ้นมาทำอะไรด้วยตัวเอง พึ่งตัวเอง เปลี่ยนแปลงสังคมของพวกเขาด้วยตัวเอง
 

เศรษฐกิจสามจังหวัด ขึ้นอยู่กับราคายางพารา

 
อย่างไรก็ตาม อับดุลกอเดร์ ยูโซะ จากสมาพันธ์นักธุรกิจมลายูชายแดนใต้ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิโรรส ในอ.เมือง จ.ยะลา กล่าวว่า ร้านอาหารเปิดใหม่ ไม่ได้เป็นสัญญาณบอกว่า เศรษฐกิจในสามจังหวัดดีขึ้น หากแต่เป็นเพราะมีคนว่างงานมากขึ้นต่างหาก 
 
“ธุรกิจร้านอาหารบูม ธุรกิจร้านเสื้อผ้าบูม ก็เพราะว่าพอยางราคาตก คนคิดอะไรไม่ออก ก็ไปเปิดร้านเสื้อผ้า และอาหาร หรือร้านมือถือ  ซึ่งเป็นกิจการที่ดูจะเริ่มต้นง่ายและความเสี่ยงต่ำ แต่จริงๆ แล้วไม่หรอก เพราะลูกค้าในสามจังหวัดมีจำกัด เปิดตอนแรกๆ อาจจะคึกคักเดือนแรกๆ แต่ในระยะยาว ถ้าสายป่านไม่ยาวพอก็อาจต้องปิดไป” อย่างไรก็ตาม อับดุลกอเดร์ชื่นชมผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ ที่เป็นผู้นำความแปลกใหม่ของธุรกิจร้านอาหารมาสู่ชาวปาตานี และกล่าวว่า หากมีร้านอาหารสมัยนิยมจำนวนมาก ก็อาจไปไม่รอด และอาหารเหล่านี้ไม่ได้เป็นอาหารที่คุ้นเคยจนถึงขั้น “กินได้ทุกวัน”
 
อับดุลกอเดร์กล่าวว่า เศรษฐกิจของสามจังหวัดนั้นผูกกับราคายางพาราเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะจังหวัดยะลา ที่ไม่ติดทะเล และมีชายแดนแค่ที่เบตง เมื่อราคายางตำต่ก ภาพรวมเศรษฐกิจก็แย่ไปด้วย 
 
“พอราคายางตก ภาวะการซื้อขายก็ไม่เกิดขึ้น เพราะคนก็เริ่มประหยัดกัน  ธุรกิจตอนนี้อยู่ในชวงประคองตัว”
 
ความรุนแรงในพื้นที่ ทำให้มีการลงทุนน้อย โรงงานอุตสาหกรรมน้อย การท่องเที่ยวก็แทบไม่มี เพราะไม่มีใครกล้ามา อัตราคนว่างงานจึงสูง ไม่มีงานทำก็ไม่มีกำลังซื้อ อับดุลกอเดร์กล่าว 
 
อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาดสุขภาพนั้น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิโรรสกล่าวว่า มีแนวโน้มขยับขึ้นเล็กน้อย 
 
“ช่วงยางพาราราคาสูง คนก็มีกำลังไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน พอราคายางตก เขาก็ยังเคยชิน และอยากได้รับบริการที่สะดวกสบายเช่นเดิม ไม่อยากเปลี่ยนไปโรงพยาบาลรัฐ เขาก็ไปทำประกัน ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเลยไปได้”
 
สำหรับธุรกิจโรงแรมในสามจังหวัดนั้น มีการเทคโอเวอร์กิจการจากเจ้าของเดิมที่ไม่ใช่คนมลายู โดยคนมลายูมากขึ้น อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมไม่ได้ถือว่าดีขึ้น แต่ก็ไปได้เรื่อยๆ และยังเป็นธุรกิจที่อยู่ได้ เพราะรายได้หลักมาจาก การที่หน่วยงาน องค์กรต่างๆ เช่น หน่วยงานภาครัฐ เข้ามาจัดประชุมและเสวนา    
 
ความรุนแรงได้เปลี่ยนโฉมหน้าของนักธุรกิจในสามจังหวัดไปบ้าง ที่เห็นได้ชัดคือในกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง สาธารณูปโภค อับดุลกอเดร์บอกว่า เนื่องจากความรู้สึกไม่ปลอดภัย บริษัทรับเหมาของชาวจีนไม่กล้าที่จะรับงานในพื้นที่ชนบทที่ตนเองไม่คุ้นเคย กลายเป็นโอกาสให้บริษัทของคนมลายูในท้องถิ่นมารับเหมางานเหล่านั้นแทน 
 
มูฮำหมัด ดือราแม บรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ มีส่วนช่วยในการทำรายงานชิ้นนี้
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net