Skip to main content
sharethis

เปิดความเห็น 2 นักศึกษาแม่โจ้กับมุมมองที่แตกต่างต่อประเพณี ‘รับน้อง 7 วัน’ และระบบโซตัส : รุนแรง ละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำลายวิธีคิดประชาธิปไตย หรือ สามัคคี เท่าเทียม และให้คุณค่าแก่ส่วนร่วม ?

การเข้าศึกษาต่อในรั้วมหาวิทยาลัยถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของวัยรุ่นทุกคน จากรั้วโรงเรียนสู่โลกที่กว้างขึ้น ในช่วงเปิดเทอมของปีการศึกษาใหม่ในระดับอุดมศึกษา แทบทุกมหาวิทยาลัยและทุกคณะจึงต้องมีการรับน้องและประชุมเชียร์ โดยแต่ละที่ก็มีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกันไป ส่วนใหญ่ทำเพื่อให้นักศึกษาใหม่คุ้นชิน และได้ปรับตัวกับสังคม และเพื่อนใหม่ที่มีความหลากหลาย

และดูจะเป็นสิ่งที่เดินวนกลับมาที่เดิมทุกๆ ปี การรับน้อง และการประชุมเชียร์เป็นประเด็นที่ถูกยกมาถกเถียงกันเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของคุณค่า ประโยชน์ ความสมัครใจ การละเมิดสิทธิฯ ความเหมาะสม กระทั่งการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในการรับน้องของบางมหาวิทยาลัย นำมาซึ่งกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เองเป็นอีกหนึ่งมหาวิทยาลัยที่อยู่ใจกลางข้อถกเถียงเหล่านั้น ฝั่งหนึ่งเห็นว่า การรับน้องมีการบังคับและใช้ความรุนแรง รวมทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งก็ยืนยันว่า  การรับน้องของแม่โจ้ เป็นประเพณีสำคัญของมหาวิทยาลัย เป็นสิ่งที่ได้รับการสืบทอดต่อกันมา ซึ่งช่วยสร้างความรัก ความสามัคคี และแสดงถึงความเท่าเทียมในฐานะลูกแม่โจ้

ประชาไท นำเสนอแง่มุมความคิดเห็นต่อการรับน้องที่แตกต่าง เพื่อต้อนรับปีการศึกษาใหม่ โดยนำเสนอจากแง่มุมของนักศึกษาแม่โจ้ มหาวิทยาลัยซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องการรับน้องและความเข้มแข็งของระบบโซตัส

00000

ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย หรือ ‘เหน่อ’ ประธานสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยแม่โจ้แพร่ และเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Anti-Sotus ซึ่งเป็นกลุ่มออนไลน์บนเฟซบุ๊ก รณรงค์ต่อต้านโซตัสและการรับร้องซึ่งละเมิดสิทธิมนุษยชนและมีการใช้ความรุนแรง ดังนั้นสิ่งที่เหน่อต้องทำนอกจากการกระจายข้อมูลข่าวสารการรณรงค์บนโลกออนไลน์แล้ว เขายังต้องเคลื่อนไหวในรั้วมหาวิทยาลัยแม่โจ้ควบคู่ไปด้วย

เหน่อ เล่าให้ฟังว่าหลังจากผ่านพ้นช่วงแอดมิดชั่น และทราบผลว่าเขาติดคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตแพร่ เขาจึงเริ่มศึกษาเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับมหาวิทยาลัย เพื่อเตรียมพร้อมที่จะจากบ้านที่นครปฐม เดินทางไปใช้ชีวิตที่ภาคเหนือ เขาเล่าว่าเมื่อเสิร์ชคำว่า ‘แม่โจ้’ ในกูเกิ้ล สิ่งที่ตามมาด้วย มักจะเป็นคำว่า ‘แม่โจ้ โซตัส’ ‘แม่โจ้ รับน้อง’ เมื่อได้ศึกษาแล้วค้นพบว่าการรับน้องหรือระบบโซตัสของแม่โจ้มีความรุนแรง เขาจึงเกิดมีความคิดที่ไม่เห็นด้วย จึงตั้งสเตตัสวิพากษ์ระบบโซตัส และการรับน้อง ติดแท็ก  #FreeMaejo ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งนั่นทำให้เขากลายเป็นที่จับตามองของรุ่นพี่ซึ่งได้เห็นสเตตัสที่ไม่เห็นด้วยกับการรับน้องในแม่โจ้ของเขา

แม่โจ้ มีประเพณีสำคัญคือการรับน้อง 7 วัน เหน่อโดน ‘รับน้อง’ ตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปในรั้วแม่โจ้ เขาถูกจับตาโดยรุ่นพี่นอกสาขาที่เคร่งครัดในระบบโซตัส เหน่อเล่าให้ฟังว่าในการรับน้อง 7 วันนั้น ตัวเขาได้ถูกรับน้องโดยใช้ความรุนแรงโดยรุ่นพี่ตลอดระยะเวลาการรับน้อง หนักบ้าง เบาบ้าง และเมื่อเขาแสดงออกชัดเจนกว่าเดิมว่าไม่เอาระบบโซตัส เขาจึงถูกคุกคามเพียงเพราะความคิดเห็นที่แตกต่าง

เรื่องราววงใน ‘รับน้อง 7 วัน’

เหน่อเรียกการรับน้อง 7 วันแบบติดตลกว่า ‘7 วันอันตราย’ โดยเล่าให้ฟังว่า ในวันแรกของการรับน้อง รุ่นพี่จะรับเลี้ยงดูแลอย่างดี วันที่สองหรือสามจะมีคอนเสิร์ต และเลี้ยงขันโตก เหมือนรับนักศึกษาใหม่ธรรมดา แต่พอเข้ามาวันที่ 3-4 เหน่อใช้คำว่า ‘เริ่มเปิดเกมส์’ เขาเล่าว่าในวันนี้รุ่นพี่จะให้น้องร้องเพลงมหาวิทยาลัยครึ่งวัน พอตกกลางคืนสัก 1-2 ทุ่ม รุ่นพี่จะให้นักศึกษาไปที่สนามกีฬามหาวิทยาลัย ให้นั่งเป็นแถวๆ มีรุ่นพี่มายืนล้อม เหน่อบอกว่าในตอนนั้นเขาก็ไม่ได้รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นถัดไป

จากนั้นก็จะมี "ผี" คือคนที่ใส่ชุดคล้ายๆ ทหาร ใส่โม่งคลุมศีรษะ ถือธงแม่โจ้ พูดภาษาแปลกๆ ฟังไม่รู้เรื่อง พร้อมกับรถที่คล้ายๆรถอีแต๋น วิ่งรอบสนาม เบิ้ลเครื่องเสียงดังๆ สร้างบรรยากาศให้ดูน่ากลัว และเริ่มมีตะโกนว้าก เหน่อบอกว่าในความรู้สึกเขารู้สึกว่ามันคล้ายพิธีบูชายัญ จากนั้นจุดสำคัญคือการจุดประทัดยักษ์ ซึ่งเหน่อก็ไม่รู้ว่าจุดจากไหนแต่คิดว่าไม่ไกลจากสนามนัก พอประทัดอันแรกถูกจุดเสียงดังตูมแรก พื้นก็สนั่นสั่นไหว นักศึกษาบางคน ช็อค ร้องไห้ แต่ก็ออกไปไหนไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตามรุ่นพี่ก็จะมีการคัดคนที่มีปัญหา ทนเสียงดัง ทนแรงกดดันไม่ได้ ย้ายไปอยู่โซนบีล่วงหน้าเลย ซึ่งในการรับน้องของแม่โจ้จะแบ่งเป็น 2 โซนคือ โซนเอคือ คนที่เข้ารับน้องได้ครบถ้วนทุกวัน ส่วนโซนบีคือ คนที่มีปัญหาสุขภาพร่างกายตั้งแต่ต้น หรือคนที่มีปัญหาสุขภาพหรือปัญหาติดขัดอื่นๆ ระหว่างรับน้อง 7 วันก็จะถูกคัดแยกมาไว้โซนนี้

ในวันรับน้องวันแรก เหน่อเล่าให้ฟังว่าเขาโดนว้ากถึง  3-4 ทุ่ม แล้วจากนั้นรุ่นพี่ก็จะให้วิ่งก้มหน้ากลับไปที่หอพัก ที่หน้าหอพักจะมีรุ่นพี่ยืนขนาบ ต่อแถวสองข้าง แล้วว้ากตะโกนให้เด็กปี 1 ร้องตอบว่า "แม่โจ้ครับ/แม่โจ้ค่ะ" ไปเรื่อยๆ แล้วรุ่นพี่จะถามตลอดทางว่า "เลือดสีอะไร?" เราต้องตอบ "เขียว/ขาว/เหลือง" เป็นสีของแม่โจ้ และพอถามว่า "พ่อชื่ออะไร" ก็ต้องตะโกนตอบทั้งก้มหน้าว่า “แม่ชื่อโจ้/พ่อชื่อโจ้"

เราต้องตะโกน "โจ้ครับ/ค่ะ ไปตลอดทาง"

พอเสร็จ เมื่อกลับไปที่หอพัก ซึ่งเขาเรียกว่าเขต "อภัยทาน" เด็กปี 1 จะเงยหน้าได้แล้ว ซึ่งตรงนั้นจะมีรุ่นพี่ยืนเรียงแถวเหมือนต้อนรับ คอยปรบมือตลอดทางที่เดินกลับเข้าไปในหอ พูดปลอบใจว่า "สู้ไหวนะคะ" “เก่งมากเลยนะคะ" แล้วจากนั้นปี 1 ก็จะขึ้นไปพักได้

มีการรับน้องแบบนี้ไปจนถึงวันสุดท้าย มีการว้าก และทำร้ายร่างกายบ้าง รุ่นพี่จะให้วิ่งก้มหน้ารอบมหาวิทยาลัยวันละหลายกิโลเมตร ระหว่างทางรุ่นพี่บางคนก็จะเข้ามาตบหัว เตะเจาะยาง พอตกบ่ายส่วนใหญ่จะออกไปทำกิจกรรมกับชุมชน งานจิตอาสา ปลูกป่า ฯลฯ ซึ่งใครไม่ไหวก็ย้ายตัวเองไปโซนบี ซึ่งจะมีการสอนร้องเพลง และว้ากน้องในหอประชุมมหาวิทยาลัย และในวันที่ 7 จะเป็นพิธีใหญ่ที่เรียกว่า  ‘วันคลอด’ เป็นวันที่รุ่นพี่จะคลอดเราให้เป็น ‘ลูกแม่โจ้’

คิดว่าทำไมระหว่างการรับน้องเขาต้องให้เราก้มหน้าด้วย?

เหน่อบอกว่า รุ่นพี่มีปรัชญาว่า ‘คุณจะได้ดูตัวเอง สำนึกบุญคุณของผืนแผ่นดิน’

“แต่ผมคิดว่ามันเป็นอุบายหนึ่งของการก้มหน้ายอมรับอำนาจ หรือปกปิดตัวของรุ่นพี่ที่เป็นคนว้าก หรือกระทำด้วย ผมเคยถามรุ่นก่อนๆ ที่เขาว่าประเพณี ทำมาแปดสิบปี ผมนั่งคุยกับศิษย์เก่า/ปัจจุบัน ทุกวัน ครูอาจารย์ คุยถามรายละเอียด แต่ละช่วงอายุไม่เหมือนกันเลย 1-10 แบบหนึ่ง จากนั้นก็แบบหนึ่ง บางช่วงวิ่งเป็นกองร้อยแบบตำรวจทหาร ไม่รู้ก้มหน้ามาได้อย่างไร...ช่วงไหน” เหน่อ กล่าว

วันคลอดเพื่อเป็นลูกแม่โจ้...

เหน่อเล่าว่าวันคลอดจะเหมือนกันทั้งโซนเอและโซนบี เพียงแต่โซนเอจะมีความเข้มข้นมากกว่า โดยรุ่นพี่จะให้ปี 1 รวมตัวกันก่อนเป็นแถวและรุ่นพี่ปี 2 จะยืนขนาบสองฝั่งข้างถนนเป็นแถวยาว ซึ่งโซนเอคือกลุ่มที่ผ่านรับน้องได้โดยไม่เจ็บไม่ไข้ ก็จะถูกคลอดอย่างซีเรียส และจริงจังมากกว่า ส่วนตัวเหน่อนั้นอยู่โซนบี ก็แค่เดินไปเป็นพิธีกรรมเล็กน้อย เหมือนเป็นรอบซ้อมให้กับรุ่นพี่ก่อนไปคลอดให้โซนเอ

รุ่นพี่ที่ขนาบน้องปี 1 ทั้งสองฝั่ง เรียกว่า "สายสะดือ" เป็นสายสะดือที่จะไปคลอดน้องปี 1 ให้เป็นลูกแม่โจ้ ซึ่งเหน่อเล่าว่าพิธีการของโซนบีนั้น เขาถูกให้ลงบ่อ ล้มลุกคลุกคลานในนั้น นิดๆหน่อยๆ จะมีศิษย์เก่าทั่วประเทศเข้ามาฉุด กระชาก ลาก ดึง เพื่อพยายามตัดสายสะดือของปีสอง ศิษย์เก่าบางคนเมามาเลยก็ฟัดกันเป็นเรื่องเป็นราวก็มี และเมื่อรุ่นพี่ทำให้ถ้าสายสะดือของปี2 ขาดก็เริ่มใหม่เกือบทั้งคืน ส่วนของโซนเอ เขาจะให้ลงไปในน้ำ แล้วที่ขอบสระจะมีการจุดไฟกองหนึ่งขึ้น เหมือนทำพิธีอะไรสักอย่าง ถ้ามองไกลๆ ก็จะเหมือนเผาจริงๆ ปีที่เหน่อรับน้อง เขาบอกว่าพิธีการเสร็จสิ้นหกโมงเช้ารวมกันทั้งโซนเอ และบี จากนั้นจะต่อด้วยพิธีบายศรีเพื่อรับขวัญ เขาว่าผ่านเจ็ดวันขวัญคงกระเจิงแล้วต้องรับขวัญกันหน่อย ก็จะมีรุ่นพี่ปีสูงๆ มารับขวัญ

เหน่อเล่าต่อว่า เขาทราบมาว่ามีเงินสะพัดในกิจกรรมรับน้องประมาณ 40 ล้านบาทในแต่ละปี จากการสนทนากับผู้บริหารที่ดูแลด้านนี้ เพราะมีกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เช่น บริษัทรับทำเสื้อ ร้านทำข้าวกล่อง ฯลฯ นอกนั้นก็จะเป็นเงินที่เก็บนอกรอบ เช่น เหน่อและเพื่อนๆ อยู่วิทยาเขตแพร่ เวลาไปทำกิจกรรมรับน้องที่เชียงใหม่ก็ต้องเช่าบ้านใกล้ๆ มหาวิทยาลัย ซึ่งเขาไม่ให้เช่า 7 วันก็ต้องจ่ายเต็มเดือน และยังต้องเช่ารถสิบล้อขนมอเตอร์ไซต์สำหรับใช้ในการรับน้อง ค่าเช่าต่อครั้งก็เป็นหมื่น เอาวิ่งขับตามดูแลน้องในสาขาไม่ให้รุ่นพี่สาขาอื่นที่หัวรุนแรงเข้ามาทำร้ายน้องในความดูแลของตน

ความรุนแรงที่เผชิญในการรับน้อง

ในช่วงแรกที่เหน่ออยูู่โซนเอ เขาเล่าว่ามีรุ่นพี่ปี 2 ในสาขาคอยคุมและดูแลอยู่เยอะเหมือนกันเพราะเขาถูกเพ่งเล็งตั้งแต่ต้น เขาเล่าว่าระหว่างรับน้องที่ให้วิ่งก้มหน้า เขาโดนทำร้ายร่างกายบ่อยครั้ง คือวิ่งก้มหน้าอยู่รุ่นพี่ก็จะเดินมาด้านหลัง ซัดลิ้นปี่บ้าง เจาะยางบ้าง ตบหัวบ้าง หาว่าเราชายตามองเขา แต่ดีหน่อยที่เขาจะแยกผู้ชายกับผู้หญิง  รุ่นพี่ผู้ชายห้ามยุ่งรุ่นน้องผู้หญิง รุ่นพี่ผู้หญิงห้ามยุ่งกับรุ่นน้องผู้ชาย เหน่อบอกว่าเขาโดนแบบนี้ไป 3-4 วัน จนกระทั่งวันหนึ่งเกิดหน้ามืด รุ่นพี่ก็ให้ไปพัก หลังจากพักจนหายดีตอนแรกเหน่อตั้งใจจะกลับไปโซนเอ เพราะตอนนั้นคิดแค่ว่า ตายก็ตาย จะเอามันส์แล้ว เพราะเดี๋ยวเขาจะหาว่าใจปอดเอาแต่ค้านอย่างเดียว แต่รุ่นพี่ก็ขอให้ย้ายไปโซนบีเพราะปลอดภัยกว่า รุ่นพี่ที่ดูแลเหน่อหลายๆคนจะได้ไปดูแลคนอื่นได้

แต่อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่อยู่โซนบี ซึ่งปี1 จะอยู่รวมกันในหอประชุมซึ่งบริเวณกำแพงมีช่องเล็กๆ เหน่อบอกว่าเขาก็ยังโดนรุ่นพี่บางคนที่เพ่งเล็งเขา เอาปืนและมีดสปาต้ามาขู่ลอดซี่กรง ตอนนั้นเขายอมรับว่ากลัวมาก แต่ก็ยังพยายามหาเครือข่ายคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรับน้องเช่นนี้ โดยการเข้าไปแชร์ เข้าไปพูดเรื่องนี้กับเพื่อนรุ่นเดียวกัน

‘ถูกกระทืบ’ เพราะเคลื่อนไหวต่อต้านโซตัสและการใช้ความรุนแรง

หลังจากรับน้อง 7 วันจบลง แม่โจ้ก็ยังคงมีการรับน้องตลอดทั้งปี แยกกันไปตามวิทยาเขต ซึ่งเหน่อไม่ได้เข้าร่วมแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตามในช่วงก่อนปิดเทอมก่อนขึ้นปี 2 ก่อนที่เขาจะกลับบ้าน เหน่อเล่าว่าเขาโดนรุ่นพี่สิบกว่าคนบุกมาที่บ้านพักที่เช่ารวมกันกับเพื่อน และทำร้ายร่างกายเขาโดยการเตะ ต่อย และกระทืบ เพราะไม่ชอบที่เขาแอนตี้การรับน้องของแม่โจ้ เหน่อบอกว่าหลังจากโดนทำร้ายเขาก็แจ้งให้อาจารย์ทราบ เรื่องราวใหญ่โตถึงขั้นอธิการบดี ตำรวจ มานั่งพูดคุย ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องดีที่ทำให้หลังจากนั้นไม่มีใครกล้ามาทำอะไรหรือคุกคามเขาอีก

เหน่อมองว่าเรื่องการที่เขาโดนทำร้ายเป็นส่วนหนึ่ง ส่วนสำคัญของการลดทอนดีกรีความรุนแรงระบบโซตัสในแม่โจ้ วิทยาเขตแพร่ แต่สิ่งสำคัญคือเขาอยากให้ผลกระทบครั้งนี้ได้ขยายผลไปยังวิทยาเขตเชียงใหม่ด้วย แต่อาจจะเป็นเรื่องยากเพราะวิทยาเขตเชียงใหม่นั้น มีระบบโซตัสที่เข้มแข็งกว่ามาก

แต่ถึงแม้ว่าการโดนกระทืบครั้งนั้นจะส่งผลกระทบในด้านบวก ในอีกด้านก็ทำให้เขาเคลื่อนไหวน้อยลงด้วย จากแต่ก่อนที่คิดปุ๊บทำเลย แต่พอโดนแบบนี้ทำอะไรก็ต้องเริ่มคิดหน้าคิดหลังเพราะเขาก็ยังมีคนรอบตัวและครอบครัวที่เป็นห่วง ช่วงแรกๆ เหน่อเล่าว่าเขามีอาการเครียด นอนไม่หลับเป็นเดือนๆ เพราะผวากลัวคนมาทำร้ายอีก แต่อย่างไรเขาก็บอกตัวเองเสมอว่าจะไม่เลิกการเคลื่อนไหว เขามองว่าเขามาไกลเกินกลับ

มองปัญหาในระบบโซตัส และเหตุผลของการออกมาต่อต้าน

“ก็เพราะเห็นเรื่องนี้สำคัญในสังคมประชาธิปไตย ผมคิดว่าผมเสียเวลากับการศึกษามากพอแล้วในระบบ แล้วมันทำลายวิธีคิดประชาธิปไตยของเรา”

เหน่อบอกต่อว่า เขาพูดคุยหรือถามนักวิชาการที่ได้พบเจอตลอด เพื่อพยายามหาทางออกให้กับการศึกษาไทยว่าอะไรคือจุดแรกที่ต้องเริ่มแก้ไขกับระบบการศึกษา เขารู้ดีว่าการศึกษาไทยจับตรงไหนมันก็เป็นปัญหา แต่คำตอบส่วนใหญ่เลยที่ได้มาซึ่งตรงกับที่เขาคิด คือ ระบบโซตัส เขาคิดว่าการศึกษาไทยต้องทำให้เด็กกล้าพูด กล้าทำ กล้าคิด ให้เด็กมีสำนึกความเป็นพลเมือง และสร้างวิธีคิด

“ถ้าผมต้องการให้โลกสงบสันติ ผมไม่สามารถเอาคุณไปล้างสมอง หรือยิงคุณทิ้งเพื่อสร้างโลกสันติ เราต้องปล่อยทุกอย่างตามโลกาภิวัฒน์ อะไรที่ไม่เปลี่ยนแปลงมันจะล่มสลาย เพราะมันคือวัฒนธรรม ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงเลยนี่แหละคือประเพณี”

เขาบอกว่าในความคิดของเขาโซตัสมีความขัดแย้งและย้อนแย้งในตัวเองทุกกระบวนท่า เช่น เรื่องน้ำใจ เช่นในแม่โจ้ เขาบอกว่าพอมีการรับน้อง ซึ่งน้องมีรุ่นละ 5,000 กว่าคน รุ่นพี่ก็จะถาม น้องสาขาอะไรคะ สาขาอะไรคะ แล้วพอไม่ใช่สาขาตัวเองเขาก็ไม่ได้ดูแลเท่ากับสาขาตัวเอง หรือความย้อนแย้งในระเบียบวินัย เครื่องแต่งกาย เพราะปีหนึ่งต้องมีชุดเครื่องแบบที่ต้องใส่ไปไหนมาไหนแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย เหน่อบอกว่ามีคนเคยถามรุ่นพี่ว่า “พี่คะ ทำไมหนูต้องใส่ชุดปีหนึ่ง ชุดสุภาพแบบนี้?” พี่ตอบว่าก็เวลาเจอกันด้านนอกเราไม่รู้ใครเป็นใครไง สมมติว่าน้องรถล้ม พี่เห็นน้องใส่ชุดนี้พี่จะได้เข้าไปช่วยน้องได้ แต่เหน่อคิดว่ามันขัดแย้งในการอธิบายมากๆ เพราะถ้ารุ่นพี่ไปเจอคนอื่นรถล้ม รุ่นพี่จะไม่มีสำนึกความเป็นพลเมืองเลยหรือที่จะไปช่วยเขา

อีกเรื่องคือเรื่อง ‘วินัยดี’ ปี1 นั้นวินัยดีมาก พอขึ้นปี2 กลายเป็นเละเทะ รุ่นพี่บางคนใส่ยีนส์ เหน่อคิดว่าถ้ารุ่นพี่จะสอนให้น้องวินัยดี ทำไมไม่ทำให้เป็นตัวอย่างไม่ว่าจะอยู่ปีไหนก็ตาม

เหลือเวลาอีก 2 ปีในรั้วแม่โจ้ อยากเห็นอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง?

ปัจจุบันเหน่อเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 เขาพยายามเคลื่อนไหวในเรื่องโซตัสของแม่โจ้มาเป็นเวลา 2 ปีเต็ม  เหน่อบอกว่า ที่ผ่านมาเขาได้ร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่ม ‘แม่โจ้เสรี’ กลุ่มเคลื่อนไหวในเรื่องโซตัสของแม่โจ้  ซึ่งเขาจะยังคงเคลื่อนไหวแบบนี้ไปเรื่อยๆ หวังว่าพลังของพวกเขาจะช่วยทำอะไรให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้มากกว่านี้บ้าง

“ผมทำเพจแอนตี้โซตัส ก็จะอัพเดทข่าวไปเรื่อยๆ ถ้าคนก็กดไลค์มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วเพจมันคงแอคชั่นได้มากขึ้น ในส่วนของแม่โจ้ผมก็มีอุดมคติที่อยากให้เกิดขึ้น ตอนนี้คาดหวังว่าการเข้ามาของอาเซียนอาจจะทำให้มีนักศึกษาต่างชาติเข้ามา มันก็น่าจะเปลี่ยนไม่มากก็น้อย”

00000

สุรชัย ศรีนรจันทร์

มองต่างมุมกับอีก 1 นักศึกษาแม่โจ้

‘เอสดี้’ สุรชัย ศรีนรจันทร์ อดีตนักศึกษาคณะสารสนเทศและการสื่อสารและประธานสภานักศึกษา ปี 2555 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตเชียงใหม่ เป็นอีกหนึ่งตัวแทนจากแม่โจ้ ที่จะมาบอกเล่าถึงอีกมุมมองที่ต่างออกไปที่มีต่อการรับน้องของมหาวิทยาลัยตนเอง เอสดี้เล่าถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของการรับน้องแม่โจ้ คุณค่าของการรับน้อง ผ่านคำขวัญมหาวิทยาลัย ‘เลิศน้ำใจ วินัยดี เชิดชูประเพณี สามัคคี และ อาวุโส’ ข้อดีและประสบการณ์ที่ดีจากการรับน้องในมุมมองที่แตกต่าง

“ก่อนอื่นนะครับต้องขอบอกก่อนเลยว่า ตัวผมเองไม่ได้ยึดที่ตัวระบบ ว่าเป็นระบบโซตัสหรือระบบอะไร ส่วนตัวผมมองว่าระบบโซตัสเป็นการบัญญัติขึ้นมาของต่างชาติ แต่ถ้าพูดถึงแล้ว ถ้าคำเป็นภาษาไทย ถามว่าคนไทยของเราใช้มานานแล้วยัง ในเรื่องของความอาวุโส ในเรื่องของความมีวินัย ในเรื่องของประเพณี ในเรื่องของความสามัคคี ต่างๆเหล่านี้ถ้าเป็นคำของภาษาไทยเนี่ย เราใช้มาก่อนที่จะมีคำว่าโซตัสเกิดขึ้นมา...”

ภาพจาก สุรชัย ศรีนรจันทร์

เอสดี้ เสริมว่า คำว่าอาวุโสนั้น ในไทยเรามีการไหว้ครู เรามีการเคารพพ่อแม่ เรามีอะไรพวกนี้ก่อนที่จะมีโซตัสแล้ว ดังนั้นเขาจึงไม่ได้ยึดความเชื่อตามหลักโซตัส แต่ยึดตามหลักประเพณีและวัฒนธรรมไทยที่มีมาก่อนมากกว่า โดยเล่าต่อว่า สมัยก่อนคนที่มาเรียนที่แม่โจ้มาจากหลายพื้นที่ มีหลายยศถาบรรดาศักดิ์ อีกทั้งแม่โจ้ยังตั้งอยู่ในเขตป่าเขา ทุกคนจึงต้องสามัคคีกันเพราะพื้นที่ห่างไกลและกันดาร ดังนั้นจึงเกิดการหลอมรวมเพื่อให้ทุกคนเท่าเทียมกัน ‘แม่โจ้มีค่าเท่ากับศูนย์’ เอสดี้กล่าวว่า การมีค่าเท่ากับศูนย์ ไม่ใช่ว่าตัวเราไม่มีค่าอะไรเลย แต่คุณจะรวยเป็นมหาเศรษฐี เป็นลูกท่านหลานเธอ เมื่อคุณเข้ามาที่แม่โจ้คุณมีค่าเท่ากัน คุณมีศักดิ์เท่ากัน คุณทำอะไรคุณต้องเสมอภาคกัน จากนั้นชุดความคิดนี้จึงมีการถ่ายทอดกันมาเรื่อยๆ

“ถ้าศึกษาแม่โจ้ดีๆ แล้วจะแตกต่างจากที่อื่นในเรื่องของการนำโซตัสเข้ามาใช้ โซตัสที่อื่น เช่น มหาวิทยาลัยอื่นๆเนี่ย ที่เรารู้ว่าใช้ระบบโซตัสเนี่ย เขาจะใช้คำว่า อาวุโส ขึ้นก่อน แต่ที่แม่โจ้ของเรา คำว่าอาวุโสเราอยู่ท้ายสุดเลย ที่แม่โจ้ใช้คำว่าเลิศน้ำใจขึ้นก่อน...แล้วอาวุโสปิดท้าย ของแม่โจ้จะเป็น ‘เลิศน้ำใจ วินัยดี เชิดชูประเพณี สามัคคี และ อาวุโส’ ”

หลายคนมองว่าการรับน้องของแม่โจ้ มีการใช้ความรุนแรง?

“ก่อนอื่นเลยต้องบอกว่าแม่โจ้ของเราไม่ได้มีความรุนแรงและไม่ได้อนาจาร แต่แน่นอนเรามีเรื่องของการว้าก การใช้เสียง ที่บอกว่าแม่โจ้มีความรุนแรงเนี่ย ในมุมมองของผมเองที่มองแบบกลางนะ ผมมองว่าแม่โจ้ของเราส่วนมากการรับน้องจะเป็นความลับ พอเป็นความลับ คนภายนอกไม่รู้ว่าแม่โจ้ทำอะไร แต่การใช้โซตัสของมหา’ลัยอื่นๆ ภายนอกมันเปิดเผยชัดเจน เช่น ม.ด้านวิศวะ ก็จะมีเรื่องของการทำร้ายร่างกาย มีภาพมีอะไรหลุดออกไปในเรื่องของการชกต่อย ตีน้อง ทำร้ายทารุณน้อง การจี้เทียน อะไรต่างๆ ที่เป็นข่าว อันนั้นคือของที่อื่น แต่ที่แม่โจ้ของเราไม่เคยมีเรื่องอะไรพวกนี้ออกไป เพราะแม่โจ้ของเราไม่มีกิจกรรมเหล่านี้”

“แต่เรื่องของการบังคับ ของการว้าก พวกเรามี เป็นปรกติ เพราะการคุมคนหมู่ใหญ่เราต้องใช้เสียงเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกอย่างเงียบที่สุด เพื่อสร้างความเกรงกลัว”

เอสดี้ อธิบายต่อว่า การว้ากคือการสร้างความเกรงกลัวและไม่ต่อต้านอะไรขึ้นมา แต่ที่ทำไปเพราะเราต้องการสอน น้องจะได้ฟัง เหมือนเราตะเบ็งเสียงเพื่อให้เขาเงียบ ไม่ได้ให้เกรงกลัวว่าฉันเป็นพี่ คุณต้องฟังฉันนะ

“แต่ถามเรื่องของการทำร้ายร่างกาย การชกต่อย มีไหม...ยอมรับว่ามี แต่ไม่ใช่หลักการของแม่โจ้ เป็นเพียงแค่บางบุคคลเท่านั้น ที่อาจจะมีอารมณ์ มีความรู้สึกส่วนตัว อารมณ์ร่วมมากเกินไป แต่แม่โจ้ของเราไม่ได้อนุญาตให้คุณตีน้อง ทำร้ายร่างกายน้องได้ แม่โจ้ของเรามีประกาศออกมาทุกๆ ปี ว่าห้ามทำร้ายร่างกายน้อง”

“ในทุกกิจกรรม ที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้น มีรุ่นพี่เป็นผู้ดำเนินกิจกรรม และมีผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร กำกับดูแลกิจกรรมตลอดเวลา หากมีกิจกรรมอื่นๆ นอกเหนือนั้น โทษขึ้นต่ำคือพักการเรียน และไล่ออก ถ้าใครทำร้ายร่างกายน้อง โทษสูงสุดคือพักการเรียนและไล่ออก จะไม่มีโทษที่ต่ำกว่านี้ เราชัดเจนแบบนี้เลย” อดีตประธานสภาปี 2555 กล่าวอย่างหนักแน่น

ตามที่เอสดี้เล่ามา เหมือนกับว่าระหว่างการรับน้อง จะไม่ให้น้องได้โต้แย้งหรือแสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อการรับน้อง?

“เบื้องต้นการหลอมรวม เรายอมรับว่าเราต้องบังคับให้ฟัง การหลอมรวมหรือการสอนให้เขาเชื่อในสิ่งที่พวกเรากำลังสอน คืออย่างน้อยเขาต้องฟังเราก่อน แล้ววันหนึ่งเนี่ย ถามว่าถ้าหลังจากที่สอนไปแล้วเขามีข้อขัดแย้งเขาตอบโต้ได้ไหม...เขาตอบโต้ได้”

“บางสิ่งบางอย่างที่ผมเจอตอนปีหนึ่ง ผมไม่ตอบโต้นะ แต่พอผมขึ้นปีสองเป็นพี่ สิ่งไหนที่เห็นว่ามันควรปรับเปลี่ยน ควรแก้ไข เราก็แก้ไข เราก็ไม่ทำกับน้อง และเราก็บอกเพื่อน โดยเฉพาะเมื่อเรามาเป็นผู้นำองค์กรนักศึกษาเราต้องบอกว่าสิ่งไหนที่ทำได้และสมควรทำ...ใช้เหตุผล แต่แค่ว่าตอนปีหนึ่งเราไม่ไดพูดเท่านั้นเอง ปีหนึ่งเราไม่ได้พูดเราต้องฟัง แต่หลังจากเสร็จกิจกรรมเราพูดคุยกับพี่ได้ไหม มันก็ปกติครับ ไม่ได้ว่าเราห้ามหือกับรุ่นพี่เลย ที่บอกว่าเห้ย ห้ามหือนะ ห้ามตอบโต้นะ อันนี้มันแค่ชั่วคราว แต่ถ้าถามว่าเราคุยกันดีๆเราก็คุยได้” เอสดี้ กล่าว

แล้วกรณีล่าสุดกับข่าว น.ศ.แม่โจ้ประกอบประทัดยักษ์แล้วระเบิดในบ้านพักตัวเอง ?

เอสดี้ อธิบายในข้อเท็จจริงตรงนี้ว่า เหตุการณ์นี้ ตำรวจกำลังอยู่ในระหว่างการสอบปากคำและมีความเป็นไปได้สูงที่คนที่ประกอบประทัดยักษ์ จะทำเป็นอาชีพ เพราะเท่าที่ตรวจที่เกิดเหตุพบว่าการประกอบประทัดนั้นทำในระดับมืออาชีพ ไม่น่าจะใช่ที่จะเอามาใช้ในการรับน้อง

อย่างไรก็ตาม การใช้ประทัดยักษ์ในการรับน้องของแม่โจ้ มีจุดประสงค์เพียงเพื่อสร้างบรรยากาศการเปิดงานหรือเปิดกิจกรรมพัฒนานักศึกษาใหม่เท่านั้น เป็นเหมือนสัญญาณในการเริ่มกิจกรรม สร้างให้บรรยากาศฮึกเหิม ที่สำคัญคือการจุดประทัดยักษ์ไม่ได้จุดในรัศมีของนักศึกษา หรือพื้นที่ซึ่งทั้งน้องใหม่หรือรุ่นพี่นั่งอยู่อย่างแน่นอน โดยปรกติในการรับน้องจะซื้อประทัดมาจากทั่วไป ใช้เพียงแค่เสียงของประทัดเท่านั้น

ในการเปิดงานรับน้องใหม่ ทั้งประทัด หรือที่จะมีการใช้รถอีแต๋นตามที่เหน่อเรียก ซึ่งจริงๆคือรถจี๊ป ทั้งหมดเป็นแค่ส่วนหนึ่งของกิจกรรมเท่านั้น ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ ส่วน ‘ผี’ ตามความเข้าใจ คือเป็นแค่รุ่นพี่สวมชุดวอร์มสีเขียว เป็นตัวนำกิจกรรม แต่เรียกกันไปให้ดูน่ากลัว จริงๆไม่ได้มีอะไร ทั้งหมดเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในกิจกรรมของการเปิดงานรับน้อง งานเปิดก็คล้ายๆกับพาเหรดที่มีองค์ประกอบหลายๆอย่าง

ซึ่งจริงๆบรรยากาศ ณ ตอนนั้นไม่ได้ น่ากลัวหากสัมผัสจริงๆ น้องๆ บางคนยังหัวเราะด้วยซ้ำ ทุกอย่างเป็นเพียงการสร้างบรรยากาศเท่านั้น เอสดี้กล่าวว่า การรับน้องไม่ใช่เพื่อให้น้องเกรงกลัว แต่เพื่อให้น้องได้เป็นลูกแม่โจ้หรือเด็กแม่โจ้ที่มีความอดทน สู้งาน ขยัน เคารพผู้อาวุโส มีความสามัคคี ตามแก่นหลักของมหาวิทยาลัย

“ผมเข้ามาเรียนในปี ‘52 ก็มีกิจกรรมลักษณะเช่นนี้อยู่แล้ว ทุกๆ ปีกิจกรรมก็จะคล้ายๆ กัน มีเปลี่ยนรายละเอียดบ้างตามสมัย แล้วแต่บริบท สถานการณ์ และความคิดของผู้นำกิจกรรมปีนั้นๆ โดยทั้งหมดอยู่ในดุลพินิจของมหาวิทยาลัย”

เอสดี้ เสริมต่อว่า แม่โจ้ให้ความสำคัญกับประเพณีรับน้องเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นหากใครมาทำร้ายประเพณีถือว่าร้ายแรงมากสำหรับแม่โจ้ แต่ในกรณีสิ่งที่เหน่อทำ สิ่งที่เหน่อนำเสนอ บางอย่างก็ถูกต้องอย่างที่เหน่อพูด เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การทำร้ายร่างกาย ซึ่งเป็นอย่างที่เหน่อพูดว่ามันต้องไม่มี เขาเห็นด้วย และแม่โจ้เองก็มีกฏบังคับว่าไม่ให้มีทั้งสองเรื่องนี้ แต่ถามว่ายังมีคนลักลอบไหมมันก็ยังมี แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่เหน่อวิพากษ์ก็เป็นส่วนหนึ่งของการรับน้อง ดังนั้นจึงอาจจะมีคนบางกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับประเพณีมากๆ ไม่พอใจได้

“แต่ถามว่าในแม่โจ้ของเราเหน่อสามารถยืนอยู่ได้ไหม หรือว่าคนที่แอนตี้โซตัสสามารถยืนอยู่ได้ไหม ถ้าคุณแสดงตัวชัดเจน คุณเข้าหาผู้บริหารเลย เขาพร้อมที่จะปกป้องแน่นอน และพร้อมที่จะอธิบายว่าสิ่งที่คุณมองว่า เฮ้ย มันไม่ถูกต้องนะ มันริดลอนสิทธิมนุษยชนนะ...ตรงไหน อย่างไร ยังไง แต่ถ้าอิงหลักวิชาการเลยจริงๆแล้ว ตอนนี้ทุกวันนี้เราไม่สามารถบังคับอะไรกันได้เลย เพราะการบังคับคือการริดลอนสิทธิ ใช่หรือไม่...ดังนั้นมันก็ต้องมีการพูดคุยกัน ซึ่งเหน่อก็ได้เข้าพูดคุยกับผู้บริหารหลายครั้งและบางสิ่งบางอย่างที่เหน่อแอนตี้เหน่อก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น...”

00000

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2558 พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกประกาศนโยบายเกี่ยวกับการรับน้อง ไว้ในนโยบายเร่งด่วน นโยบายที่ 8 "เร่งทบทวนมาตรการการจัดกิจกรรมรับน้องของนักเรียนนักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่างๆ และมาตรการติดตาม ควบคุม การลักลอบการจัดกิจกรรมรับน้องทั้งภายในและภายนอกสถาบันการศึกษาให้เป็นไปในแนวทางที่สร้างสรรค์ ปลอดภัย ปราศจากการใช้ความรุนแรง การละเมิดและคุกคามทางเพศ รวมทั้งไม่ขัดต่อหลักศีลธรรมขนบประเพณีอันดีงามและเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยให้มีผลบังคับใช้ให้ทุกสถาบัน การศึกษายึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด"

ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ได้ออกประกาศเรื่องการจัดกิจกรรมต้อนรับน้องใหม่ประชุมเชียร์ในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งลงประกาศเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2558 โดยมีนโยบายตอนหนึ่งระบุว่า “การจัดกิจกรรมต้อนรับน้องใหม่และประชุมเชียร์ต้องเคารพสิทธิ เสรีภาพและหลักความเสมอภาค ไม่มีความรุนแรง และห้ามล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลทั้งทางร่างกาย และจิตใจ ไม่ดื่มสุราและเสพสิ่งมึนเมาทุกชนิด” และกำหนดมาตราการ ให้ผู้บริหารสภาบันอุดมศึกษาแต่ละสถาบัน ถือเป็นหน้าที่ และความรับผิดชอบในการดำเนินการตามนโยบายและมาตราการข้างต้นอย่างเคร่งครัด

เสียงจากผู้บริหารมหาวิทยาลัย

ประชาไทได้ติดต่อเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อขอสัมภาษณ์อธิการบดีมหาวิทยาลัย ในวันที่ 6 ส.ค. 2558 เพื่อขอสอบถามถึงจะมุมมองของผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อประเพณีการรับน้อง 7 วัน และระบบโซตัสในแม่โจ้ รวมทั้งข้อเท็จจริงกรณีเกิดเหตุประทัดยักษ์ระเบิดเมื่อวานนี้ และแนวทางของทางมหาวิทยาลัยต่อแนวนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และประกาศของคณะกรรมการอุดมศึกษา เรื่องการจัดกิจกรรมต้อนรับน้องใหม่ประชุมเชียร์ในสถาบันอุดมศึกษา ทางด้านเจ้าหน้าที่แจ้งว่า อธิการบดีติดภาระกิจประชุม จึงไม่สามารถสัมภาษณ์ได้

ทั้งนี้ ต่อกรณีการเกิดประทัดยักษ์ระเบิดในบ้านพัก จนเป็นเหตุให้นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ได้ระบาดเจ็บสาหัส มือซ้ายขาด  (อ่านข่าวที่นี่) ASTVผู้จัดการออนไลน์ ได้สัมภาษณ์ กฤษดา ภักดี รองอธิการบดี ฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยได้รับการยืนยันว่า กรณีที่นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะผลิตกรรมการเกษตร สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและนิเทศการเกษตร ทำพลุจนเกิดอุบัติเหตุระเบิดทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส ขณะนี้ถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่เพื่อทำการผ่าตัด มือและขาซ้ายนั้น ขณะนี้อาการพ้นขีดอันตรายแล้ว ส่วนค่ารักษาพยาบาลทางมหาวิทยาลัยจะดูแลอย่างเต็มที่

ส่วนกรณี ที่มีข่าวว่าทำพลุเพื่อนำมารับน้องใหม่นั้น ยืนยันไม่เป็นความจริง ทางมหาวิทยาลัยไม่มีนโยบายให้รับน้องนอกสถาบัน ซึ่งการทำเสียงเอฟเฟกต์ก็ใช้จากยูทิวบ์ ไม่ได้ใช้พลุจริง เรื่องที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นการทำส่วนตัวมากกว่า 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net