Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


    
When the rich wage war, it's the poor who die.

Jean-Paul Sartre

เมื่อคนรวยก่อสงคราม เป็นคนจนที่ตาย

ญอง ปอล ซาร์ตร์
 

บทความต่อไปนี้เป็นการระลึกถึงสงครามอ่าวเปอร์เซียซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเกือบ 25 ปีที่แล้วคือเมื่อปี ค.ศ.1991 ระหว่างสหรัฐอเมริกาพร้อมกองกำลังพันธมิตรและอิรัก ในขณะนั้นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คือจอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช ส่วนประธานาธิบดีของอิรักก็คือซัดดัม ฮุสเซน สงครามนี้เริ่มต้นมาจากการที่ซัดดัมได้นำกองทัพเข้ารุกรานเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดทางตอนใต้คือประเทศคูเวต ในวันที่ 1 สิงหาคม ปี ค.ศ.1990 สหรัฐฯ จึงได้นำกองกำลังพันธมิตรเข้าต่อสู้กับกองทัพอิรักในเดือนมกราคม ค.ศ.1991 จนสามารถปลดปล่อยคูเวตได้สำเร็จในเวลาเพียง 1 เดือน อย่างไรก็ตามบทความนี้ไม่ได้กล่าวถึงสงครามเป็นหลักแต่จะกล่าวถึงอิทธิพลของสื่อมวลชนอเมริกันในการโน้มน้าวมวลชนอเมริกันให้หันมาสนับสนุนรัฐบาลเพื่อทำสงคราม ซึ่งถือได้ว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งจากรัฐบาลของประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยม อันแสดงให้เห็นว่าสงครามแท้ที่จริงไม่ได้เกิดความจำเป็นเสมอไปแต่เกิดจากการโกหกของรัฐบาลรวมไปถึงลัทธิคลั่งชาติของสหรัฐฯ เองซึ่งแน่นอนว่าบทความนี้ย่อมไม่ได้เพียงแค่เสียดสีสังคมอเมริกันเท่านั้น

บทความต่อไปนี้เป็นการเก็บความบางส่วนจากจากบทความของ ดักลาส เคลเนอร์ นักสังคมวิทยาในหนังสือที่ชื่อ Media Culture :culture studies, identity and politics between the modern and the postmodern บทความนี้มีชื่อว่า Reading the Gulf War :production/text/reception สลับไปกับความเห็นของผู้เขียนเอง

เคลเนอร์ได้ชี้ให้เห็นว่าช่วงก่อนการทำสงครามนั้น สื่อมวลชนกระแสหลักอเมริกันต่างก้าวตามรัฐบาลและกระทรวงกลาโหมอยู่ต้อย ๆ ถึงแม้จะได้ชื่อว่าเป็นประเทศเสรีในการแสดงออกแต่ว่าสื่อมวลชนเองก็เป็นองค์กรทางธุรกิจที่ต้องเอาใจผู้บริโภคส่วนใหญ่ของประเทศ และมักจะตกอยู่ภายการครอบงำของรัฐอยู่บ่อยครั้ง เพราะสื่อมวลชนต้องอาศัยแหล่งข้อมูลสำคัญคือรัฐบาลและกองทัพเพื่อนำเสนอข่าว ยิ่งแข่งกันนำเสนอข่าวก็ต้องพึ่งรัฐบาลมากยิ่งขึ้น ดังนั้นในช่วงต้นเดือนสิงหาคม สื่อมวลชนทั้งหลายซึ่งถูกรัฐบาลของบุชวางยาจึงหันมาประสานเสียงสนับสนุนให้รัฐบาลอเมริกันดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่แข็งกร้าวต่ออิรัก รัฐบาลของบุชได้โกหกครั้งแรกโดยย้ำว่ากองทัพอิรักเตรียมพร้อมจะบุกซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศต่อไป รัฐบาลจึงมีความชอบธรรมในการนำทหารเข้าไปในซาอุดิอาระเบียเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ทั้งที่มีหลักฐานในภายหลังว่ากองทัพของซัดดัมไม่ได้มีความต้องการเช่นนั้นเลย

สื่อมวลชนอเมริกันได้สนับสนุนรัฐบาลอย่างมากล้นจนปิดช่องให้กับผู้ไม่เห็นด้วยกับสงครามในการแสดงความเห็นเพียงน้อยนิด หนังสือพิมพ์บางฉบับได้ตอกไข่ใส่สีว่ากองทัพของซัดดัมมีความดุร้าย ไม่เปิดให้มีการเจรจาใดๆ ทั้งสิ้นและจะบุกซาอุดิอาระเบียถ้าถูกตัดท่อน้ำมัน หรือถ้ากองทัพสหรัฐฯ บุกเข้าไป เลือดของทหารอเมริกันจะนองเลือด ทั้งที่ความจริงแล้วทางกองทัพอิรักมีความยินยอมอย่างเต็มที่ในการเจรจาทางการทูตกับสหรัฐฯ  หนังสือพิมพ์บางฉบับก็เสนอว่าซัดดัมเป็นที่เกลียดชังอย่างมากทั้งในบ้านและในกลุ่มประเทศอาหรับ การโค่นเขาย่อมจะได้รับการต้อนรับอย่างล้มหลาม ทั้งที่ความจริงทั้งในอิรักและกลุ่มอาหรับมีความนิยมต่อตัวซัดดัมแตกต่างกัน หนังสือพิมพ์บางฉบับได้เร่งเร้าให้ประธานาธิบดีบุชส่งกำลังทหารไปรบกับอิรักโดยพลันเพราะการบุกรุกอิรักของซัดดัมนั้นเป็นภัยต่อราชวงศ์ทั้งหลายในกลุ่มประเทศอาหรับ ทั้งที่ความจริงมีความพยายามระหว่างประเทศในกลุ่มอาหรับในการยุติความขัดแย้งในครั้งนี้และอิรักได้ส่งตัวแทนอย่างลับๆ ในการเจรจาถึง 8 ครั้ง แต่ถูกขัดขวางโดยรัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อบุชได้ประกาศส่งทหารอเมริกันไปยังซาอุดิอาระเบียโดยกล่าวว่าเป็นคำร้องขอของรัฐบาลซาอุดิอาระเบียแต่ต่อมามีการเผยว่าเป็นสหรัฐฯ เองที่กดดันให้ทางซาอุดิอาระเบียยอมให้ทหารอเมริกันเข้ามาในประเทศ นอกจากนี้ยังทางสื่อและรัฐบาลยังพยายามใส่สีของจำนวนทหารอิรักที่ตั้งอยู่ที่คูเวตรวมไปถึงบริเวณพรมแดนระหว่างคูเวตและซาอุดิอาระเบียจนเกินจริงด้วยเหตุผลเช่นนี้วิธีการเดียวในการแก้ไขวิกฤตการณ์ก็คือการทำสงครามเท่านั้น การเจรจาทางการทูตเป็นวิธีแบบ  "สตรี" ที่ไม่ได้ผล

นอกจากนี้ยังมีความพยายามของรัฐบาลอเมริกันในเติมสีแต้มสันให้กับอิรักว่าเป็นผู้ชั่วร้ายและเป็นภัยต่อโลก เหตุการณ์หนึ่งที่สร้างความสะเทือนใจให้กับสาธารณชนทั่วโลกอย่างมากก็คือ เด็กวัยรุ่นผู้หญิงชาวคูเวตคนหนึ่งได้ให้การต่อหน้าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯ ทั้งน้ำตาว่าเธอเห็นกับตาว่าทหารอิรักได้นำเอาเด็กทารกจำนวน 15 คนออกเครื่องอบแล้วทิ้งไว้บนพื้นให้ตายอย่างน่าอนาจ แต่ต่อมาก็มีการเปิดโปงว่าเด็กวัยรุ่นคนนั้นแท้ที่จริงเป็นลูกสาวของเอกอัครราชทูตคูเวตประจำสหรัฐฯ ที่บริษัทประชาสัมพันธ์ฮิลล์แอนด์โนทันซึ่งมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลได้นำตัวไปฝึกการแสดงและป้อนข้อมูลเท็จให้ตั้งแต่แรก นอกจากความชั่วร้ายอื่นๆ ของทหารอิรักในคูเวตยังถูกสร้างขึ้นมาเรื่อยๆ โดยบริษัทแห่งนี้โดยชาวอเมริกันและชาวโลกไม่มีโอกาสรู้เลยว่าความเป็นจริงในคูเวตเป็นอย่างไร สื่อมวลชนอเมริกันในแขนงอื่นๆ ยังสร้างภาพของซัดดัมว่าโหดเหี้ยมไม่ต่างจาก ฮิตเลอร์ เป็นซาตาน เป็นนักข่มขืน ชื่อของซัดดัมหรือ Saddam ยังถูกผันไปเป็นคำว่า Sadism (ชอบความรุนแรง) หรือ Sodomy (การร่วมเพศทางทวารหนัก) การทำสงครามระหว่างสหรัฐฯ กับอิรักจึงไม่ต่างจากสงครามระหว่างฝ่ายธรรมะและฝ่ายอธรรม

นอกจากนี้ คนอเมริกันเองรวมไปถึงนักวิชาการที่ต่อต้านสงครามเช่น เอ็ดวาร์ด ซาอิด และนอร์ม ชอมสกีไม่ได้รับการอนุญาตจากสื่อให้มีเวทีในการแสดงออกเท่าที่ควรและสื่อยังนำเสนอคนเหล่านี้ในภาพด้านลบว่าอ่อนแอ ไร้ระเบียบวินัย ตัวสื่อเองยังถูกรัฐบาลอเมริกันจำกัดในวงข้อมูลเพราะผู้สื่อข่าวจะเข้าไปในพื้นที่ได้ก็ต้องได้รับการอนุญาตจากรัฐบาลเท่านั้น สื่อมวลชนจึงเป็นผู้สร้างภาพของสงครามที่เกินจริงอย่างเช่น ในช่วงต้นๆ ของสงครามภาคพื้นอากาศเช่นจรวดแพทริออตปะทะกับจรวดสกัด สื่อมวลชนได้นำเสนอในภาพอันน่าตื่นตาตื่นใจมีการสร้างปั้นแต่งเนื้อเรื่องและฉากในสงครามฉกเช่นเดียวกับการแข่งขันฟุตบอลอเมริกันนัดชิงชนะเลิศ จนมีนักปรัชญาแนวหลังนวนิยมคือฌอง บาวดริล่าบอกว่าสงครามอ่าวไม่มีอยู่จริง สิ่งเหล่านี้ส่งเสริมลัทธิชาตินิยมของสหรัฐฯ เป็นอย่างมากมาย จึงไม่ต้องประหลาดใจว่าในตอนแรกสัดส่วนของคนอเมริกันที่เคยคัดค้านสงครามถึง 50 เปอร์เซ็นต์ต้องมาแปรผันในด้านตรงกันข้ามจนรัฐบาลสหรัฐฯ สามารถระดมพลไปรบในคูเวตได้ ในช่วงสงครามเองรัฐบาลของบุชก็โกหก โป้ปดถึงความเก่งกาจของตัวเองจนการทำสงครามทั้งที่มีการวางแผนได้ผิดพลาดเช่นมีการพลาดพลั้งสังหารพวกเดียวกันเอง

คนอเมริกันนั้นถูกปลุกปั่นโดยสื่อมวลชนให้เกิดกระแสชาตินิยมแบบสุดโต่งจนเกิดความฮึกเหิมผ่านสัญลักษณ์หลายประการเช่นตะโกนคำว่ายูเอสเออย่างบ้าคลั่งเมื่อคนจำนวนมากมาทำกิจกรรมร่วมกันเช่นแข่งกีฬาหรือพร้อมใจกันสวมริบบิ้นสีเหลืองหรือเล่นงานประณามคนที่ไม่เห็นด้วยกับสงคราม (อาจจะเข้าทำนองว่าใครไม่รักชาติก็ให้ออกนอกประเทศไป) นอกจากการปลุกปั่นของสื่อแล้วปัจจัยที่ทำให้เกิดชาตินิยมแบบเทียมๆ เช่นนี้มีหลายประการเช่น ความหดหู่จากสงครามเวียดนามและความหลงคิดว่าชาติตนเก่งกาจเพียงผู้เดียวเพราะสหภาพโซเวียตกำลังล่มสลาย แต่ในขณะเดียวกันคนอเมริกันก็ถูกรัฐบาลปลูกฝังภาพของอิรักเกินจริงเพื่อเป็นการปลุกกระแสความกลัวแบบไร้เหตุผลซึ่งสามารถทำได้อย่างง่ายดายเพราะสังคมอเมริกันถูกภาพยนตร์ฮอลลีวูดปลูกฝังให้คุ้นเคยกับความรุนแรงในด้านต่างๆ เช่นอาชญากรรมและสงครามมานานแล้ว จนชนิดที่ว่ามีคนอเมริกันคิดว่าอิรักอาจจะบุกสหรัฐฯ ส่วนคนอเมริกันเชื้อสายอาหรับซึ่งไม่รู้เรื่องด้วยต้องตกเป็นเหยื่อจากความรุนแรงจากสังคมอเมริกันที่ถูกสื่อมวลชนเช่นภาพยนตร์ล้างสมองให้เกิดอคติต่อพวกเขาเช่นกัน อำนาจของสื่อเช่นนี้ทำให้สังคมอเมริกันเกิดภาวะเหมือนทารก (Infantilize) ที่ต้องพึ่งพากับยอมมอบเสรีภาพให้กับผู้นำเช่นบุชเพียงคนเดียว คนอเมริกันที่ไม่เห็นด้วยกับกระแสสังคมจะถูกโจมตีด้วยอารมณ์ที่ดุเดือดหรือถูกคุกคาม ทำร้ายทั้งจิตใจและร่างกาย ถูกประนามว่าไม่ใช่คนอเมริกัน อันเป็นสิ่งที่เรียกว่าความถดถอยของสังคมอเมริกันที่เป็นประชาธิปไตยจนดูไม่ต่างจากสังคมแบบฟาสซิสต์แม้แต่น้อย

แม้มีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐฯ อาจจะต้องใช้กำลังทางทหารไม่ว่าเวลาใดเวลาหนึ่งสำหรับสถานการณ์เช่นนี้ เพราะย่อมมีนักการเมืองหรือทหารสายเหยี่ยวซึ่งเห็นว่าจำเป็นต้องตอบโต้กับผู้ใช้กำลังรุกรานประเทศอื่นเสียก่อน แต่การทำสงครามครั้งนี้ได้ทำให้เกิดผู้ได้กับผู้เสียซึ่งดูแตกต่างกันอย่างมากเช่น ประธานาธิบดีบุชเมื่อสงครามสิ้นสุดลงได้มีคะแนนความนิยมถึงร้อยละ 90 ตามจุดประสงค์ที่วางไว้แต่แรก สื่อมวลชนไม่ว่าซีเอ็นเอ็น ฟอกซ์นิวส์ เอบีซีก็ขายข่าวได้ ส่วนบริษัทค้าอาวุธซึ่งร่วมกันประโคมความชั่วร้ายของกองทัพอิรักตั้งแต่แรกก็ร่ำรวยจากการขายอาวุธ สหรัฐ ฯ ยังได้ประกาศความยิ่งใหญ่หรือระเบียบโลกใหม่หลังสงครามเย็น ทว่ากองทัพสหรัฐฯ ไม่ได้ตามไปโค่นล้มซัดดัมถึงในประเทศอิรัก เพราะความกลัวว่าจะเป็นสงครามเวียดนามครั้งที่ 2  (บุชผู้ลูกจึงรับหน้าที่นี้แทนในภายหลังและก็เจอเหตุการณ์เช่นนี้จริง ๆ) และได้ปลุกระดมให้ชนกลุ่มน้อยเช่นพวก   เคิร์ดรุกฮือขึ้นแทนและชนกลุ่มน้อยก็ถูกรัฐบาลซัดดัมปราบปรามอย่างโหดเหี้ยม ความล้มเหลวเช่นนี้รวมไปถึงความโหดร้ายของสงครามของสื่อมวลชนที่ถูกรัฐปู้ยี้ปู้ยำจนอิ่มตัวจนเป็นดาบสองคมได้นำเสนอภาพสงครามด้านลบ ทำให้คะแนนความนิยมของบุชตกต่ำลง เสริมย้ำด้วยความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้เขาไม่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ทหารอเมริกันถึงแม้จะเสียชีวิตจากสงครามครั้งนี้เพียง 279 คน แต่พวกที่ไปรบเมื่อกลับมาบ้านล้วนมีปัญหาทางด้านร่างกายและจิตใจ มีสถิติการฆ่าตัวตายและการก่ออาชญากรรมสูงมาก ทหารผ่านศึกจำนวนมากยังเกิดอาการทางร่างกายที่ร้ายแรงดังที่เรียกว่าโรคสงครามอ่าวหรือ Gulf war syndrome  ส่วนตัวอย่างผลกระทบทางด้านจิตใจที่โดดเด่นได้แก่นายทิโมธี แม็คเวห์ซึ่งวางระเบิดตึกที่ทำการของรัฐบาลแห่งรัฐโอกลาโฮมาเมื่อปี ค.ศ.1995 ถึงแม้อาชญากรรมของเขาจะไม่ได้มีแรงจูงใจเพราะเรื่องสงครามเป็นสำคัญแต่ผลกระทบจากสงครามก็ได้มีผลต่อความคิดของเขาไม่น้อยเลย หรือร้ายไปกว่านั้นนายบิน ลาเดนซึ่งเป็นคนซาอุดิอาระเบียได้วางแผนในการก่อวินาศกรรมที่นครนิวยอร์กอีก 10 ปีต่อมาจากการความรู้สึกสะเทือนใจที่กองทัพสหรัฐฯ ได้เข้ามาประจำการในประเทศของตนในช่วงสงครามอ่าวรวมไปถึงการที่สหรัฐฯ ทำการคว่ำบาตรอิรักจนเป็นเหตุให้เด็กชาวอิรักเสียชีวิตเป็นจำนวนหลายแสนคนอันเนื่องจากการขาดสารอาหาร

นอกจากนี้เรายังปฏิเสธไม่ได้ต่อสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อสังคมอเมริกันอย่างร้ายแรงก็คือ การตอแหล ปลุกปั่นของสื่อมวลชนจนทำให้คนอเมริกันมองไม่เห็นทางแก้ไขโดยวิธีการอื่นเช่นแบบการทูตซึ่งอาจจะใช้เวลาแต่อาจจะได้ผลที่ดีกว่ามุ่งเน้นไปที่การทำสงครามเพียงอย่างเดียวซึ่งก็กลายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำอีกในวันที่ 11 กันยายน ปี 2001  เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าก่อนที่ซัดดัม ฮุสเซนจะสั่งกองทัพอิรักบุกคูเวตในวันที่ 2 สิงหาคมนั้น เอกราชทูตของสหรัฐฯ ประจำอิรักคือนางเอพริล กลาสปีได้เข้าพบซัดดัมเมื่อวันที่ 25 กรกฏาคม และนางกลาสปีได้กล่าวเป็นทำนองซึ่งถูกตีความได้ว่าเปิดไฟเขียวให้อิรักโจมตีคูเวตได้ ถึงแม้เจ้าตัวจะปฏิเสธก็ตาม ดังนั้นตามมุมมองของผู้วิพากษ์นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ  จึงเป็นแผนของสหรัฐฯ ในการหาแพะเพื่อสำแดงความยิ่งใหญ่ทางทหารทั้งที่ก่อนหน้านั้นสหรัฐฯเคยให้การช่วยเหลือซัดดัมในการต่อสู้กับอิหร่านในช่วงสงครามอิรักและอิหร่านเมื่อทศวรรษที่ 80 อันเป็นปัจจัยที่ว่าเหตุใดซัดดัมจึงกล้าบุกรุกคูเวต

ปรากฎการณ์เช่นนี้อาจจะเป็นคำตอบได้ระดับหนึ่งสำหรับคนไทยเจ้าของภาษีที่ใช้เป็นงบประมาณของกองทัพที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องรวมไปถึงข้อเสนอของกองทัพเรือไทยในการใช้เงินกว่าสามหมื่นห้าพันล้านบาทในการซื้อเรือดำน้ำจากจีนที่กองทัพมักอ้างด้วยเหตุผลต่างๆ นาๆ ด้วยก็ได้กระมัง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net