วารสาร ROAR เผยมุมมองการแย่งชิงทรัพยากรน้ำในดินแดนตะวันออกกลาง

บ.ก.วารสารเกี่ยวกับการต่อสู้ของประชาชนรากหญ้าชวนมองเรื่องความขัดแย้งในตะวันออกกลางในด้านการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ โดยในขณะที่ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการต่อสู้ของชุมชนกับภาครัฐที่ต้องการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ โครงการของภาครัฐเหล่านั้นยังสร้างความขัดแย้งกับประเทศใกล้เคียงและเกี่ยวเนื่องกับแรงจูงใจทางการเมืองด้วย

4 ส.ค. 2558 จอริส ลิเวอร์อิง บรรณาธิการวารสาร ROAR ซึ่งเป็นวารสารที่นำเสนอเรื่องราวการต่อสู้ของประชาชนระดับรากหญ้าเขียนบทความลงในวารสารถึงอีกมุมมองหนึ่งในกรณีความขัดแย้งหลายระดับในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยในขณะที่ผู้คนจำนวนมากเชื่อว่าความขัดแย้งส่วนใหญ่ในตะวันออกกลางมาจากการแย่งชิงทรัพยากรน้ำมัน แต่ลิเวอร์อิงระบุว่าสาเหตุหลักของความขัดแย้งอีกอย่างหนึ่งที่ผู้คนมักจะมองข้ามคือการแย่งชิงทรัพยากรน้ำในภูมิภาคที่มีพื้นที่ทะเลทรายเป็นจำนวนมากอย่างตะวันออกกลาง

ในแถบตะวันออกกลางซึ่งเป็นเขตอารยธรรมเมโสโปเตเมียที่ผู้คนเรียกว่าเป็น "ดินแดนแม่น้ำ 2 สาย" (แม่น้ำไทกริส-ยูเฟรติส) มีความสำคัญในฐานะแหล่งกำเนิดอารยธรรมยุคใหม่ แต่ทุกวันนี้พื้นที่ตะวันออกกลางกลายเป็นดินแดนที่มีความขัดแย้งหลายระดับทั้งความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ ความขัดแย้งระหว่างฝักฝ่ายทางนิกายและศาสนา ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มกบฏกับรัฐชาติ กลุ่มนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่แข่งขันกันแย่งชิงทรัพยากร รวมถึงการใช้กำลังสังหารประชาชนโดยกลุ่มติดอาวุธที่อ้างศาสนา

ลิเวอร์อิงเสนอว่าจากความขัดแย้งเหล่านี้มักจะมีคนมองว่าเป็นเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรน้ำมันเนื่องจากพวกเขาคิดว่าความขัดแย้งเหล่านี้เป็นการพยายามแทรกแซงพื้นที่โดยกลุ่มอำนาจจักรวรรดินิยม แต่ตัวลิเวอร์อิงเองมองว่ายังมีเรื่องของการแย่งชิงทรัพยากรที่สำคัญต่อชีวิตมนุษย์มากอย่างทรัพยากรน้ำด้วย

นอกจากแม่น้ำลำธารที่ไหลลงจากภูเขาสู่ทะเลจะถูกใช้เป็นเส้นแบ่งเขตแดนแล้วลิเวอร์อิงระบุว่าสายน้ำยังกลายเป็นชนวนของความขัดแย้งโดยยกตัวอย่างกรณีโครงการรอบแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส ที่เคยทำให้ซีเรีย อิรัก และตุรกี เกิดความตึงเครียดจนเสี่ยงจะปะทุเป็นสงครามกันเมื่อราว 25 ปีที่แล้ว จากการที่ตุรกีมีแผนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอิรักลดลงจนเป็นการทำลายมรดกทางอารยธรรมแถบลุ่มแม่น้ำไทกริสในอิรัก

กรณีที่ลิเวอร์อิงระบุถึงในบทความคือกรณีเขื่อนอิลิสุที่ทำให้เมืองฮะซานคีย์ฟที่มีอารยธรรมโบราณที่ยังไม่ถูกขุดพบจำนวนมากเสี่ยงต่อการถูกทำให้จมอยู่ใต้น้ำ หลังจากการประกาศโครงการเขื่อนในปี 2540 กลุ่มภาคประชาสังคมทั้งในประเทศอิรักและนานาชาติต่างพยายามเคลื่อนไหวต่อต้านโดยพูดถึงทั้งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อชุมชนในแหล่งอารยธรรมโบราณซึ่งมีผู้คนอาศัยอยู่ต้องอพยพออกจากพื้นที่ราว 78,000 คน

ถึงแม้ว่าโครงการเขื่อนดังกล่าวจะหยุดลงในปี 2552 จากการรณรงค์ต่อต้านที่สัมฤทธิ์ผลและกลุ่มผู้ให้กู้ยืมทำโครงการระงับการให้ทุนสนับสนุนเพราะธนาคารโลกระบุว่าโครงการเขื่อนอิลิสุไม่ผ่านมาตรฐานนานาชาติในการปกป้องสิ่งแวดล้อม แต่หลังจากที่ตุรกีหันไปใช้เงินทุนจากธนาคารแห่งชาติแทนทำให้โครงการเขื่อนของพวกเขากลับมาอีกครั้งและมีแผนการจะเสร็จสิ้นในปีนี้ ซึ่งลิเวอร์อิงระบุว่าเขื่อนดังกล่าวจะช่วยเพิ่มการผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียงร้อยละ 2 ของที่ประเทศต้องการใช้เท่านั้นทั้งที่เป็นกำลังการผลิตที่สามารถเพิ่มได้ด้วยวิธีอื่นที่มีการทำลายน้อยกว่านี้

ลิเวอร์อิงตั้งข้อสังเกตกว่าโครงการเขื่อนดังกล่าวไม่น่าจะแค่เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรหรือช่วยพัฒนาประเทศอย่างที่รัฐบาลตุรกีกล่าวอ้างแต่เพียงอย่างเดียว มีผู้กังขาหลายคนมองว่าโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐบาลตุรกีจำนวนมากที่เป็นการทำลายวัฒนธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นมักจะเป็นโครงการที่ตั้งขึ้นในเขตที่มีชาวเคิร์ตอาศัยอยู่จำนวนมาก และตุรกีเองซึ่งในอดีตคือจักรวรรดิออตโตมันก็มีแรงจูงใจเฝ้าฝันถึงการสร้างตุรกีให้มีอำนาจนำในภูมิภาคอีกครั้งเช่นเดียวกับยุคของจักรวรรดิออตโตมัน

บทความใน ROAR ระบุว่ารัฐบาลกลางของตุรกีนำโดยประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกาน มักจะอ้างว่าในตุรกีไม่มี "ปัญหาชาวเคิร์ด" คือการพยายามปฏิเสธว่าไม่มีการแบ่งแยกหรือเลือกปฏิบัติต่อประชาชนชาติพันธุ์กลุ่มนี้ในประเทศตุรกีแต่มักจะอ้างว่าที่ชาวเคิร์ดมีความยากลำบากเพราะความด้อยพัฒนา รัฐบาลตุรกีจึงใช้จุดนี้อ้างความชอบธรรมในการพัฒนาพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเคิร์ดและคิดว่าโครงการพัฒนาจะช่วยให้ชาวเคิร์ดหายโกรธแค้นรัฐบาลได้ แต่ประชาชนในท้องถิ่นกลับไม่เห็นเช่นนั้น คนในท้องถิ่นส่วนมากมองว่าโครงการเขื่อนของรัฐบาลตุรกีเป็นความพยายามบังคับให้ชาวนาและชาวบ้านต้องย้ายถิ่นฐานไปในเมืองเพื่อให้เกิดการดูดกลืนทางสังคม อีกทั้งยังเป็นยุทธศาสตร์ในการใช้เขื่อนเป็นด่านกีดขวางเพื่อสกัดกั้นกองกำลังติดอาวุธชาวเคิร์ด 'พีเคเค'

ในบทความยังระบุอีกว่าประชาชนในพื้นที่ถูกขับให้ออกจากบ้านของตัวเองด้วยค่าชดเชยเป็นราคาบ้านและที่ดินตามราคาตลาด จากนั้นจึงให้พวกเขาไปอาศัยอยู่ในบ้านพักที่จัดหาให้ในละแวกใกล้เคียงแต่ไม่ได้ให้อยู่ฟรี พวกเขาต้องจ่ายค่าบ้านหลังใหม่ในราคา 7-8 เท่าของราคาบ้านเดิมของพวกเขา แต่ผู้คนที่ถูกไล่ที่ก็ไม่มีทางเลือกอื่น ทำให้ต้องเป็นหนี้รัฐบาล 20 ปี หรือไม่ก็ต้องอาศัยอยู่ตามชานเมืองและทำงานรายได้ต่ำกลายเป็นคนงานที่ถูกกดค่าแรง

ลิเวอร์อิงระบุว่าโครงการเขื่อนในตุรกีสร้างผลกระทบต่อผู้คนหลายแสนคนแล้ว และไม่เพียงแค่ส่งผลกระทบในตุรกีเองเท่านั้นแต่ยังส่งผลต่อประเทศใกล้เคียงอย่างซีเรียและอิรัก ซึ่งในหลายๆ ครั้งตุรกีก็ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายสากลที่ระบุให้ประเทศที่สร้างเขื่อนใหญ่ๆ ต้องมีการหารือร่วมกับรัฐอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของพวกเขาได้

เรื่องความขัดแย้งของทรัพยากรน้ำระหว่างสามประเทศนี้ย้อนไปตั้งแต่สมัยราว 50 กว่าปีที่แล้วที่ซีเรียเริ่มมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่กับแม่น้ำยูเฟรติสจนทำให้ทั้งซีเรียและอิรักยกทัพไปประจำการที่ชายแดนหลังสร้างเขื่อนเสร็จในปี 2518 และต่อมาเมื่อผู้นำอตาเติร์กของตุรกีทำการตัดการไหลของน้ำเป็นเวลา 9 วันเพื่อจุอ่างเก็บน้ำของเขาเองให้เต็ม ก็ทำให้เกิดการประท้วงจากซีเรียและอิรักรวมถึงการแสดงท่าทีข่มขู่

บทความของลิเวอร์อิงระบุว่าโครงการเขื่อนของตุรกีที่เรียกว่า 'จีเอพี' จะส่งผลให้การไหลของน้ำเข้าสู่ซีเรียลดลงร้อยละ 40 และไหลเข้าสู่อิรักลดลงร้อยละ 80 เมื่อประเมินร่วมกับสถานการณ์อื่นอย่างสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางตั้งแต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐอิรักและกลุ่มติดอาวุธไอซิสและสถานการณ์ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศจำนวนมากแล้วก็ถือเป็นหายนะทางสิ่งแวดล้อมและทางมนุษยธรรมซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหาความมั่นคงทางอาหารและการขาดเสถียรภาพในภูมิภาคไปอีกหลายปี

ลิเวอร์อิงระบุว่าปัญหาเขื่อนอิลิสุเป็นแค่เรื่องโดยสังเขปของกรณีปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรน้ำในพื้นที่ตะวันออกกลางเท่านั้น ลิเวอร์อิงมองว่าทรัพยากรน้ำมีส่วนสำคัญในวาระทางการเมืองและผลกระทบต่อชุมชนรวมถึงการรุกรานเพื่อยึดครองพื้นที่ของกลุ่มติดอาวุธไอซิสซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ได้ยึดครองเมืองรามาดีเมืองที่อยู่ติดกับแม่น้ำยูเฟรติส อีกทั้งการยึดครองทรัพยากรน้ำของทางการตุรกีก็ทำให้การเจรจาหาสันติภาพกับกลุ่มกบฏชาวเคิร์ดเสี่ยงต่อความล้มเหลว

ลิเวอร์อิงมองว่าปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรน้ำในส่วนหนึ่งของภูมิภาคตะวันออกกลางมีส่วนเกี่ยวพันกับเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา และพรมแดนประเทศ จึงควรต้องสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ชุมชนต่างๆ ในพื้นที่เล็งเห็นว่าพวกเขาต้องพึ่งพาอาศัยและร่วมมือกันเพื่อก้าวข้ามการหาผลประโยชน์จากรัฐบาลกลางและจากอำนาจต่างชาติไปให้ได้

 

เรียบเรียงจาก

Water: source of life and conflict in the Land of Rivers, ROAR, Joris Leverink, 01-08-2015
http://roarmag.org/2015/08/water-conflict-turkey-middle-east/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท