Skip to main content
sharethis

ยื่นหนังสือ รมว.ศึกษาฯ ปฏิรูปรับน้องยึดหลัก 5 ประการ ไม่ละเมิด, ไม่บังคับ, รับผิดชอบ, เท่าเทียม และ เปิดเผย โปร่งใส

3 ส.ค.2558 เครือข่ายปฏิรูปรับน้องประชุมเชียร์เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้มีหลักรับน้อง 5 ประการ โดยเน้น 'หลักสิทธิมนุษยชน' เป็นเรื่องสำคัญ

โดย เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ANTI SOTUS’ แผยแพร่แถลงการณ์เครือข่ายปฏิรูปรับน้องประชุมเชียร์เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุ ถึง กระทรวงศึกษาธิการ, สำนักงานการอุดมศึกษา, สถาบันอุดมศึกษา, โรงเรียน นักศึกษาปี 1 รุ่นพี่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั่วประเทศ เรื่อง นำเสนอหลักการรับน้อง 5 ประการ ในโอกาสเปิดภาคการศึกษาปี 2558

ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้

ในวาระเข้าสู่ปีการศึกษาใหม่ เป็นช่วงเวลาที่เยาวชนไทยจำนวนนับแสนคนทั่วประเทศ ก้าวเข้าสู่ชีวิตใหม่ในสถานศึกษาระดับสูงทั่วประเทศ ไม่ว่าจะมหาวิทยาลัย, วิทยาลัย, สถาบันราชภัฏ หรือสถาบันการศึกษาในรูปแบบต่างๆ เพื่อนเยาวชนของเราเหล่านั้น แบกความหวังความฝันทั้งของตนและครอบครัว เข้าสู่รั้วสถาบันใหม่ ที่จะขัดเกลาบ่มเพาะความคิดพวกเขาต่อไปอีกหลายปี

และเป็นประจำทุกปีเช่นกัน ที่แทบทุกสถาบัน จะต้องมีต้อนรับน้องใหม่ รับน้อง, ซ่อมน้อง, ประชุมเชียร์ และอีกมากมายในชื่อเรียกที่แตกต่างกัน แต่แทบทุกแบบจะมีจุดร่วมเดียวกันคือ รูปแบบที่เรียกว่าระบบ SOTUS หรือรูปแบบของอำนาจนิยม โดยรุ่นพี่คือผู้มีอำนาจในการสั่งการ มีการว้าก กดดันลงโทษ ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ออกคำสั่งบีบบังคับให้ทำกิจกรรมที่รุนแรง ไม่ว่าจะทางกาย วาจา หรือทางใจ ส่งผลให้เกิดการกดดันทางสังคม เกิดปัญหาทางการเงิน ส่งผลต่อสุขภาพจิตของนักศึกษาใหม่ เกิดการย้ายคณะ ย้ายสถาบัน และในหลายกรณี ก็นำไปสู่การบาดเจ็บ หรือสูญเสียชีวิต ดังที่เป็นข่าวอยู่เสมอมา

ที่สำคัญไปกว่านั้น ระบบรับน้องใหม่ชนิดนี้ เป็นการปลูกฝังวิธีคิดแบบ “อำนาจนิยม” คือการใช้อำนาจจากการเป็นรุ่นพี่ออกคำสั่ง มีการลงโทษและทำตามคำสั่งที่ไร้เหตุผล อันเป็นคุณค่าที่ขัดแย้งอย่างยิ่งต่อการศึกษาในโลกสมัยใหม่ ที่เน้นให้ผู้เรียนมีความคิดเชิงวิพากษ์(Critical Thinking) ตั้งคำถาม และใช้สติปัญญาและเหตุผล

กิจกรรมรับน้องแบบอำนาจนิยม SOTUS จึงไม่เพียงแต่สร้างบาดแผลทางกาย แต่ยังทิ้ง “บาดแผลทางความคิด” แก่เยาวชนของชาติ ซึ่งท้ายที่สุดก็จะส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อสังคมไทยต่อไป

เครือข่ายปฏิรูปรับน้องประชุมเชียร์เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อันเป็นการรวมตัวกันของเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนหลากหลายสถาบัน จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ, มหาวิทยาลัย, โรงเรียน, สถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ให้พิจารณายกเลิกกิจกรรมรับน้องแบบอำนาจนิยม SOTUS และพิจารณานำหลักการรับน้องในลักษณะสร้างสรรค์ 5 ประการไปปรับใช้

ซึ่งหลักรับน้อง 5 ประการ มีดังนี้

1. Non-Violence ไม่ละเมิด : ไม่ละเมิดกฏหมาย ปราศจากความรุนแรงทั้งกายวาจาและใจ ไม่มีการว้าก ลงโทษ หรือออกคำสั่งที่ขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

2. Freedom ไม่บังคับ : เป็นกิจกรรมทางเลือก เข้าหรือไม่เข้าก็ได้ ไม่มีกลไกกดดันบังคับไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

3. Responsibility รับผิดชอบ : มีกลไกรับผิดชอบที่ชัดเจน เช่น มีหน่วยงานทางการ หรืออาจารย์ควบคุมดูเล จัดในมหาวิทยาลัย ไม่กระทบการเรียนการสอน

4. Equality เท่าเทียม : ปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม ไม่ใช้ความเป็นอาวุโสเป็นข้ออ้างใช้อำนาจในการข่มขู่ออกคำสั่ง

5. Transparency เปิดเผย โปร่งใส : กิจกรรมเปิดเผยต่อสาธารณะ ไม่เป็นความลับ ผู้ปกครองหรือหน่วยงานต่างๆเข้าตรวจสอบได้

หลักการทั้ง 5 ข้อนี้ จะเป็นหลักอันสำคัญในการกำกับและพิจารณากิจกรรมการรับน้องที่สร้างสรรค์ และที่สำคัญหลักการเหล่านี้ก็มีอยู่ในข้อบังคับในประกาศกระทรวงอยู่แต่เดิมแล้ว แต่ไม่มีการนำไปบังคับใช้ปฏิบัติอย่างจริงจังเท่าที่ควร

เครือข่ายปฏิรูปรับน้องประชุมเชียร์เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหวังว่า การนำเสนอครั้งนี้ จะนำไปสู่การลงมือปฏิบัติจริง และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมการศึกษาไทยในทิศทางที่สร้างสรรค์ต่อไป

ดังสุภาษิตที่ว่า “หว่านพืชใด ย่อมได้ผลนั้น” หากเราหว่านพืชอำนาจนิยม SOTUS ให้กับเยาวชน อนาคตเราย่อมได้บุคลากรของชาติที่นิยมการว้ากแทนการใช้เหตุผล นิยมการปฏิบัติตามคำสั่งอันไร้สาระแทนการคิดวิเคราะห์ตั้งคำถาม การบ่มเพาะขัดเกลาเยาวชนของชาติผ่านกิจกรรมรับน้องในวันนี้ จึงหมายถึงอนาคตของสังคมไทยในวันหน้า

เราจึงขอเรียกร้องให้สถาบันการศึกษาและอาจารย์ รุ่นพี่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมรับน้องทั่วประเทศ ร่วมกันหว่านพืชทางความคิดที่สร้างสรรค์ เพื่ออนาคตของชาติที่ดีต่อไป

Voice TV รายงานด้วยว่า ชวิศ วรสันต์ ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปรับน้องประชุมเชียร์เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการรับน้องแบบ SOTUS  หรืออำนาจนิยม ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งทางด้านกาย วาจาใจ  รวมทั้งยังทำให้เกิดการสูญเสีย และมีการใช้อำนาจจากรุ่นพี่

ดังนั้นจึงเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และมหาวิทยาลัย รวมทั้งโรงเรียนต่างๆ ยกเลิกการรับน้องแบบโซตัส โดยใช้หลัก 5 ประการ คือ ไม่ละเมิด  ไม่บังคับ มีความรับผิดชอบจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  มีความเท่าเทียมกัน และรับน้องอย่างเปิดเผย ตรวจสอบได้

ด้าน นงศิลินี โมสิกะ ผู้เชี่ยวชาญสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งรับมอบหนังสือจากตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวว่า จะนำหลักการรับน้อง 5 ประการ เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมาทางกระทรวงศึกษาธิการ มีความเข้มงวดต่อกิจกรรมรับน้อง โดยไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิ และความรุนแรงอยู่แล้ว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net