ผู้กองยอดรัก: ละครรักกุ๊กกิ๊กเกี่ยวกับทหารที่ถูกสร้างใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐประหาร ตั้งแต่ทศวรรษ 1970

 
 
ภาพโปรโมทละคร ผู้กองยอดรัก เวอร์ชั่นล่าสุดกับภาพถ่ายทหารกับชาวบ้านที่ประท้วงการสำรวจปิโตเลียมที่ขอนแก่น หลังการรัฐประหาร 2557
 
นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 ประเทศไทยเผชิญกับห้วงเวลาของการผลิตซ้ำละครเกี่ยวกับกองทัพแนวโรแมนติก คอมมาดี้ มาถึง 9 ครั้งแล้ว และมักจะเผยแพร่หลังจากการรัฐประหาร ซึ่งบทละครจะนำเสนอเพื่อสร้างความชอบธรรมและภาพชวนฝันให้กับทหาร
 
เห็นได้ชัดเจนว่าคนไทยอย่างน้อยต้องเคยดูการผลิตซ้ำของละครผู้กองยอดรักอย่างน้อยหนึ่งเวอร์ชัน จากทั้งหมด 9 เวอร์ชัน ซึ่งผู้กองยอดรักนั้นมาจากนิยายของ กาญจนา นาคนันทน์ เป็นนามปากกาของ นงไฉน ปริญญาธวัช ผลงานของเธอถูกนำมาเป็นทำเป็นภาพยนตร์สองครั้งในปี พ.ศ. 2516  และ พ.ศ. 2524 นำมาทำเป็นละครโอเปร่า 7 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2515 พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2531 พ.ศ. 2549 พ.ศ. 2545 และ พ.ศ. 2550 และในครั้งล่าสุดนี้ การเผยแพร่ในเวอร์ชันปี พ.ศ. 2558  ที่ออกอากาศทางช่อง 3 ทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์
 
สิ่งที่น่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่งคือ การผลิตซ้ำของละครผู้กองยอดรักนั้นมักทำในปีถัดมาภายหลังการรัฐประหาร
 
 
การประชาสัมพันธ์ให้ทหารที่ต้องมี
 
ชานันท์ ยอดหงษ์ นักประวัติศาสตร์ และนักเขียนเรื่องนายใน  กล่าวว่า นวนิยายของ กาญจนา เช่น ผู้กองยอดรัก ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามสร้างสำนึกรักแผ่นดินบ้านเกิด ผ่านการสร้างสัญลักษณ์คู่ตรงข้ามระหว่างสังคมเกษตรกรรมในชนบทกับความสมัยใหม่ในสังคมเมือง และความเหลื่อมล้ำระหว่างสถานภาพทางเศรษฐกิจสังคม
 
ชานันท์กล่าวต่อไปว่า แต่ละครั้งที่ผลิตก็มีเงื่อนไขและบริบททางการเมืองสังคมแตกต่างกัน หรือมีนัยยะซ่อนเร้นที่ต่างกัน เช่น ผู้กองยอดรัก เผยแพร่ในรูปแบบละครครั้งแรกในช่อง 4 บางขุนพรหมปี พ.ศ. 2515 ภายหลังหลังการรัฐประหารปี พ.ศ. 2514 โดยจอมพลถนอม กิตติขจร  ต่อมาที่มีการรัฐประหารโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะในปี พ.ศ. 2549  ผู้กองยอดรักก็ถูกนำมาผลิตซ้ำอีกครั้งในรูปแบบละครฉายช่องทีไอทีวีในปีถัดมาคือปี พ.ศ. 2550 และในลักษณะเดียวกันหลัง รัฐประหารปี พ.ศ. 2557 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ละครผู้กองยอดรักก็ผลิตซ้ำอีกครั้งใน พ.ศ. 2558 โดยช่อง 3 ซึ่งมักผลิตละครสนับสนุนอุดมการณ์ผ่ายขวาจัดอย่างชัดเจนอยู่สม่ำเสมอ
 
ชานันท์กล่าวว่า “หนึ่ง ในอุดมการณ์นั้นก็คือ ทหารเป็นที่พึ่งพิงของประชาชน”  
 
“ในเนื้อเรื่อง ตัวละครทหารจึงมีหน้าที่รักษาพยาบาล เยียวยาความเจ็บป่วยประชาชนและเป็นผู้เสียสละจับอาวุธใช้ความรุนแรงปราบปราม ”ศัตรู” เพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ” ชานันท์กล่าว
 
การผลิตซ้ำละครผู้กองยอดรักครั้งล่าสุด ที่นำแสดงโดย ฉันทวิชช์ ธนะเสวี และ  มาร์กี้ ราศรี บาเล็นซิเอก้า  ตอกย้ำภาพลักษณ์ของทหาร และระบอบเผด็จการทหารว่า ลึกๆ แล้วเป็นคนดี มีความเป็นผู้ดี ตลก และ โรแมนติกอีกด้วย ละครยังพยายามทำให้แนวคิดแบบขวาจัดที่ว่า การที่ทหารมีอำนาจเป็นเรื่องปกติ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ
 
ในทุกเวอร์ชันของละครผู้กองยอดรักจะมีเนื้อเรื่องเหมือนกันคือ พัน น้ำสุพรรณ เด็กหนุ่มบ้านนอกจากจังหวัดสุพรรณบุรี ที่มีสำเนียงเหน่อสุพรรณ ซึ่งภาษาพูดของพันทำให้เขาดูตลก และ ไร้เดียงสา พัน สมัครใจเป็นทหารและตามจีบ ผู้กอง ฉวีผ่อง ลูกสาวของ พันเอกผวน โดยพันเลือกสมัครเป็นทหารเกณฑ์แทนการจับใบดำ ใบแดง แสดงให้เห็นแล้วเห็นเล่าว่าเป็นหน้าที่ พันและพระในหมู่บ้าน บอกพ่อแม่ที่ไม่อยากให้พันไปเป็นทหารเกณฑ์ว่า “การรับใช้ประเทศชาติคือหน้าที่ของลูกผู้ชายที่สมบูรณ์แบบ”
 
ชานันท์กล่าวว่า “ละครล้มเหลวที่ไม่ได้ตั้งคำถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่ยังจะต้องมีการเกณฑ์ทหารอยู่”
 
ภาพของ "ลูกผู้ชายตัวจริง" กลายเป็นการทำงานรับใช้ในบ้าน และการคลานเข่ากับพื้น ในฉากนี้ ผู้บังคับบัญชาของเหล่าพลทหารใหม่จากสุพรรณบุรี สั่งให้ทุกคนคลานกับพื้นไปที่ค่าย ในขณะที่ตัวเขาเองนั่งรถบัสว่างๆ กลับค่าย 
 
พันกับเพื่อนทหารเกณฑ์ อ่ำ ซึ่งมาทำงานเป็นทหารรับใช้ให้พันเอกผวน
 
พันเอกผวนและครอบครัวของเขามีทหารเกณฑ์มาช่วยในส่วนงานบ้านซึ่งในละครพันก็ทำหน้าที่นี้  ด้วยลักษณะนิสัยที่ไม่ถือตัวของพัน เขาจึงยินดีต่อรองซื้อขายในราคาถูก  นวดขาให้ภรรยาของผู้พัน และ ทำงานบ้านสารพัด
 
พันเอกผวนมักขู่ว่าจะจับพันไป “ขังลืม”
 
พันเอกผวนกลั่นแกล้งพันและพวกโดยขู่ว่าจะจับขังลืม ซึ่งในตอนที่ 8 ของละครเรื่องนี้ ผู้พันผวนจับพัน “ขังลืม” โดยให้เหตุผลว่าจะได้ไม่ต้อมาสร้างความยุ่งยากให้ตน
 
พัน กราบภรรยาพันเอกผวน
 
ประชาไทสัมภาษณ์นายทหาร ยศพันเอกคนหนึ่ง ถึงความสมจริงของละครเรื่องนี้ พันเอกท่านนี้เล่าว่า ละครเป็นสิ่งที่ไม่เป็นความจริงโดยสิ้นเชิง เนื่องจากมีเพียงแค่นายทหารชั้นสูงเท่านั้นที่จะมีทหารรับใช้ได้ และเป็นไปไม่ได้ที่แพทย์ทหารจะมีทหารรับใช้มาเป็นคนขับรถ
 
“ผมคิดว่าละครมุ่งเสนอแต่เรื่องการที่ทหารเกณฑ์ต้องมาเป็นทหารรับใช้เกินไป ซึ่งมันสร้างภาพที่ไม่ดีให้กองทัพ ที่ว่าผู้ชมจะคิดว่า นี้คือสิ่งที่พวกทหารทำกับทหารใหม่”
 
พันเอกท่านนี้อธิบายต่อไปว่า งานของทหารใหม่ร้อยละ 95 คือการลาดตระเวนชายแดน และปกป้องด่านหน้า ซึ่งแน่นอนเป็นงานที่ไม่สบาย และอีกร้อยละห้านั้นส่วนใหญ่จะเป็นทหารใหม่ที่มีการศึกษา ซึ่งจะได้ทำงานเป็นเลขานุการ ทำงานนั่งโต๊ะกับคอมพิวเตอร์ เช่น การพิมพ์เอกสารใน Word หรือ PowerPoint หรือแล้วแต่งานที่ผู้คุมจะสั่ง
 
“ซึ่งแน่นอนว่าทหารผู้ช่วยเหล่านี้ต้องไปจ่ายตลาดให้ผู้คุม และ งานในส่วนงานบ้านนั้นก็จะทำให้ในของกองทัพเท่านั้น ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทหาร” พันเอกท่านหนึ่งกล่าว
 
“แต่ไม่มีทหารใหม่คนไหนต้องเอาหินไปดองเกลือ” ซึ่งมีตอนหนึ่งในละครที่พันทำแบบนี้ให้กับภรรยาของผู้พันผวน  “ เป็นเรื่องตลกที่ละครมีเรื่องแบบนี้ ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีทหารเกณฑ์คนไหนจะสบายอย่างพันในเรื่องเลย ” พันเอกท่านหนึ่งกล่าว
 
ด้านชานันท์ กล่าวถึงทหารรับใช้ว่า ละครล้มเหลวตรงที่ไม่ได้ตั้งคำถามกับการใช้ทหารรับใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวทั้งที่งบของทหารรับใช้มาจากภาษีของประชาชน 
 
ลบภาพเก่า สร้างภาพชวนฝันของทหาร
 
ชานันท์กล่าวว่า ละครและภาพยนตร์ที่ว่าด้วยทหารมีทั้งตลก สงคราม ดราม่า เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งสามอย่างหลังมักได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างมหาศาล  หรือมักถูกผลิตขึ้นเมื่อรัฐรู้สึกไม่มั่นคง  เช่นเดียวกับ ผู้กองยอดรัก ที่ทำหน้าที่ ลบภาพความเป็นเผด็จการ ล้าหลัง ป่าเถื่อน หยาบคาย ใช้ความรุนแรง ละเมิดสิทธิมนุษยชนของทหาร มาตลอด ละครที่เต็มไปด้วย รักโรแมนติก อารมณ์ขัน ตลกโปกฮา  ความมีชีวิตชีวาของตัวละครที่เป็นทหาร
 
ซึ่งชานันท์ได้เปรียบเทียบละครผู้กองยอดรักกับ “คู่กรรม” นิยายที่ถูกทำเป็นละครและภาพยนตร์รวม 10 ครั้ง ละครเวทีอีกสองครั้ง ซึ่งเรื่องราว รักโรแมนติก ระหว่างทหารญี่ปุ่นกับสาวไทย ได้สร้างความทรงจำใหม่เกี่ยวกับการรุกรานอาณานิคมของชาติตะวันตกของกองทัพญี่ปุ่นในภาคพื้นเอเชียและมหาสมุทรแปซิฟิกในสงครามมหาเอเชียบูรพา (Greater East Asia War) จากความรุนแรงอำมหิตกลายเป็นความรักระหว่างรบของหนุ่มสาว
 
ชานันท์กล่าวต่อไปว่า อารมณ์ขันและความรักเป็นทั้งสิ่งที่เผยให้เห็นความเป็นมนุษย์ และสิ่งประกอบสร้างทางสังคมที่ต้องอิงกับแต่ละบริบทของสังคม  ซึ่งในกรณีของละครภาพยนตร์โรแมนติก คอมมาดี้ เกี่ยวกับทหาร มักกล่าวถึง ความรักข้ามสถานะทางสังคมระหว่างทหารเกณฑ์ กับทหารหญิงหรือลูกสาวทหารที่ตำแหน่งสูงกว่า เพราะมันช่วยทลายการจัดระเบียบช่วงชั้นทางสังคมในองค์กรทหาร ที่เป็นอำนาจนิยมและเต็มไปด้วยการถือยศตำแหน่งและช่วยให้การฝึกหัดทหารที่ไร้มนุษยธรรมแลดูมีความเป็นมนุษย์มากขึ้นด้วยความรักใคร่และความตลกโปกฮา  และลดภาพขึงขังดุดัน เหี้ยมเกรียมให้ดูอ่อนโยน เป็นมิตรและไร้ความรุนแรง
 
ในละครตอนแรก พันคิดเพ้อฝันว่าจะได้แต่งกับผู้กอง 
 
พลทหารพันตกหลุมรักแพทย์ทหารหญิงผู้กอง ฉวีผ่อง ผู้กองแสนสวยลูกสาวของพันเอกผวน โดยผู้พันเอกผวนจะเตือนพันตลอดว่าไม่สมควรที่จะมารักลูกสาวตนเพราะพันมีฐานนะที่ด้อยกว่าลูกสาวตน
 
แต่เมื่อผู้พันได้รูความจริงทีหลังว่าพันโกหกถึงความเป็นมาของตนที่จริงแล้วพันนั้นเรียนจบกฎหมาย ผู้พันผวนจึงพูดว่า การกระทำของพันคือการปิดทองหลังพระ ซึ่งสื่อถึงอุดมคติของประชาชนที่อยู่ภายใต้การปกครองของทหาร คือ ง่ายต่อการสั่ง เก่งแต่ยากจน และ ถ่อมตน
 
เพื่อนทหารเกณฑ์คนหนึ่งของพัน
 
“การฝึกหัดทหารที่ไร้มนุษยธรรมแลดูมีความเป็นมนุษย์มากขึ้นด้วยความรักใคร่และความตลกโปกฮา  และลดภาพขึงขังดุดัน เหี้ยมเกรียมให้ดูอ่อนโยน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไร้ความรุนแรง” ชานันท์กล่าว
 
ชานันท์ กล่าวว่า อารมณ์ขันในละคร ยังเป็นทั้งเครื่องมือทลายกำแพงชนชั้น ลดทอนความสูงส่ง และความศักดิ์สิทธิ์ของบุคคลได้ เห็นได้จากการล้อเลียน ทำให้บุคคลที่มีอำนาจ เกียรติยศหรือถูกสถาปนาให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กลายเป็นตัวตลก
 
“ถ้าในชีวิตจริงทหารใหม่เล่นหัวเล่นหางผู้คุมแบบนั้น พวกเขาถูกจับขังคุกทันทีแน่นอน”
แต่นี่คือละครคอมมาดี้ดังนั้นนักแสดงก็ไม่ได้ทำตามกฎในชีวิตจริง
 
ความคิดเห็นในกระทู้พันทิป จากหัวข้อ  “ผู้กองยอดรัก กับภาพลักษณ์ ทหาร” เล่าว่า การสร้างมุขตลกโดยตัวละครที่เป็นทหารเพื่อจะทำให้ทหารดูเป็นมิตร ง่ายต่อการเข้าถึง แต่กลับจะเป็นการสร้างภาพให้ทหารดูโง่ซะมากกว่า
 
จาก15 ความคิดเห็นมีสองความคิดเห็นที่บอกความรู้สึกกับละครเรื่องนี้ว่า “ปัญญาอ่อน”
แต่อีก 5 ความคิดเห็น บอกว่าอย่าไปจริงจังกับละครมาก ให้ดูเพื่อคลายเครียด
 
“จะเอาอะไรมากกับละคร เค้าทำเพื่อความสนุกสนาน ถ้าเครียดกับเรื่องนี้มากก็ปิดไฟนอนซะ”
 
ส่วนความคิดเห็นที่ถูกลบ กล่าวพาดพิงถึงละครกับเผด็จการทหาร และเล่าว่าละครนำเสนอความโง่ ความคิดที่ไม่จริง และทำให้ภาพลักษณ์ของทหารใหม่ดูไม่ดี จากผลสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่าคนไทยปฏิเสธที่จะจริงจังกับละครในขณะที่คนประเทศอื่นนำสิ่งที่เห็นในละครมาวิพากษ์วิจารณ์ต่อ
 
โง่ จน เจ็บ
 
ชานันท์ กล่าวว่า “โฆษณาชวนเชื่อมักจะมาในรูปแบบละครหรือภาพยนตร์ เพื่อประโยชน์ในการสร้างภาพจำให้กับกลุ่มอัตลักษณ์”
 
ชานันท์ กล่าวต่อไปว่า ในสื่อประเภทนี้ เราจึงไม่เห็นภาพของทหารจับอาวุธปราบปราม ทำร้ายหรือฆ่าผู้ที่ชุมนุมทางการเมือง ข่มขู่คุกคามครอบครัวของนักเคลื่อนไหว ในฐานะเครื่องมือรักษาระบอบเผด็จการ กลับแต่จะเห็นภาพของทหารเข้าไปรักษาโรคพยาธิตามชุมชนต่างๆในชนบท ซึ่งเท่ากับว่ายังมอง "ชนบท" แบบวาทกรรม "โง่ จน เจ็บ" อยู่ ว่าไม่รู้สุขอนามัย กินสกปรก ไม่มีเงินกินอาหารดีๆ จนต้องป่วยพิกลพิการ
 
ซึ่งในตอนที่เก้าของละครผู้กองยอดรักนั้น ทหารใหม่ต้องไปเดินทางไปดอยเพื่อขุดฝายป้องกันน้ำท่วมให้ชาวเขา ซึ่งในตอนแรกที่พันไปถึงก็ได้ช่วยชาวเขาคนหนึ่งจากอาการที่เชื่อว่าถูกวิญญาณสิง แต่ที่จริงเป็นแค่อาการข้างเคียงจากการกินอาหารสุกๆ ดิบๆ
 
นอกจากนี้พลทหารพันสอนชาวเขาเรื่องสุขลักษณะซึ่งเป็นสิ่งที่รู้กันอยู่แล้วผ่านเพลงที่มีเนื้อหาตลกขบขันโดยมีท่าประกอบโดยใช้มือ  ซึ่งเพลงนี้ทำนองเดียวกับเพลงเพลงช้าง ซึ้งเนื้อร้องประกอบไปด้วย "ล้างๆๆๆๆ ล้างมือสะอาดดีหรือเปล่า หนาวๆๆๆๆ ร่างกายอุ่นพอเหรือเปล่า" ซึ่งในส่วนนี้ ทำใจเชื่อได้ยากว่าชาวดอยจะเป็นเหมือนเด็กที่ต้องให้ทหารมาบอกพวกเขาว่าจะต้องใส่เสื้อกันหนาวเมื่ออากาศเย็น
 
ผู้กองฉวีผ่องสอน "ชาวเขา" ล้างมือ และใส่เสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น (เริ่มนาทีที่ 32.22)
 
พันสอนชาวเขาใช้ช้อนกลาง
 
การสร้างภาพชวนฝันของทหารไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่หรือเป็นปรากฏการณ์ที่นานๆครั้งจะเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง
 
ผู้กองยอดรักไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่อของภาพลักษณ์ชวนฝันของทหารเพียงแค่อันเดียวเพลงยอดนิยมที่ติดหูคนไทยมากมายก็สร้างภาพลักษณ์ชวนฝันของทหารเช่นกัน เช่น เพลง “ลาสาวแม่กลอง” ของ โจ้ อัมรินทร์ และยังมีเพลง “ทหารใหม่ไปกอง” ของ ยอดรัก สลักใจ ที่พูดถึงทหารใหม่ถูกส่งไปประจำการห่างไกลจากคนรักซึ่งเป็นธีมเดียวกับเพลง “แนวหน้าลาแฟน” ของ หนู มิเตอร์ และร้องแก้โดย ดาว มยุรี เพลง “แนวหลังยังคอย”
 
แต่ไม่ใช่ภาพของทหารในเพลงจะมีแต่การต้องจากคนรักไปไกลเท่านั้น ยังได้ไปพบรักใหม่ระหว่างประจำการด้วย อย่างเพลง ทบ. 2 ลูกอีสาน ของไผ่ พงศธร ที่พูดถึงทหารเกณฑ์จากภาคอีสานต้องไปประจำการที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้  ซึ่งตอนหนึ่งของเพลงร้องว่า
 
 “ในวันดีๆ ที่ไม่มีสถานการณ์ สาวเว้ายาวีกับบ่าวอีสาน เคยยิ้มให้กันแบ่งปันน้ำใจ
ต่างภูมิลำเนา แต่ว่าเฮาก็เป็นคนไทยปลดประจำการกลับบ้านเมื่อไหร่ เบอร์ที่น้องให้จะหมั่นโทรมา”
 
ทหารสานสัมพันธ์กับสาวมุสลิม ในมิวสิควิดิโอ ทบ.2 ลูกอีสาน
 
เป็นที่น่าสนใจว่าเพลงนี้อาจจะเป็นเพลงโปรดของ พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด หรือ ไก่อู รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และโฆษก คสช. คนปัจจุบันก็ได้ เพราะพลตรีไก่อูก็เคยร้องเพลงนี้ในงานเลี้ยงสังสรรค์
 
ภายหลังได้ดูละครที่ผลิตซ้ำในธีมทหารที่น่ารักซึ่งเป็นการสร้างภาพชาตินิยมมากกว่าการความเป็นจริง
การผลิตซ้ำแล้วซ้ำอีกของละครผู้กองยอดรักในช่วงเวลาที่เหมาะเจาะเช่นนี้ถือเป็นชั่วโมงของการฉายภาพ "อุดมการณ์ชาตินิยม” อย่างแท้จริง
 
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษ บน Prachatai English ชื่อ Romancing the tanks: how military rom-com’s constant remakes since the ʼ70s legitimize coups แปลเป็นภาษาไทยโดย ปณิดา ดำริห์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท