Skip to main content
sharethis

เฟซบุ๊ก แฟนเพจ บีบีซีไทย - BBC Thai รายงานว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นเอชซีอาร์ (UNHCR)ได้จัดการประชุมร่วมกับผู้นำค่ายผู้ลี้ภัยและองค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้องราว 70 คน ถึงร่างแผนการส่งกลับผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนไทย-พม่า ซึ่งจะใช้หลักการสมัครใจเดินทางกลับ ขณะที่ตัวแทนผู้ลี้ภัยยังคงแสดงความกังวลว่า แผนการดังกล่าวเกิดขึ้นเร็วเกินไป และยังไม่ต้องการให้มีการผลักดันผู้ลี้ภัยกลับประเทศ

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยจากพม่า พำนักอยู่มากกว่า 110,000 คน กระจายอยู่ตามค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งตามแนวชายแดน โดยค่ายเหล่านี้เปิดมานานกว่า 30 ปีแล้ว โดยการเจรจาเรื่องการส่งกลับ ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับบรรดาผู้ลี้ภัย เนื่องจากยังคงรู้สึกไม่แน่ใจในรัฐบาลพลเรือนของพม่า และ ขณะเดียวกันยังคงมีรายงานการปะทะในหลายพื้นที่ของพม่า รวมถึงในรัฐกะเหรี่ยงซึ่งเป็นภูมิลำเนาของประชากรส่วนใหญ่ในค่ายผู้อพยพ

ทั้งนี้ ร่างแผนการดังกล่าวใช้ชื่อว่า “แผนปฏิบัติการสำหรับผู้ลี้ภัยที่สมัครใจกลับประเทศ” โดยนาย เอียน ฮอลล์ ผู้ประสานงานอาวุโสประจำยูเอ็นเอชซีอาร์ ได้นำเสนอแผนดังกล่าวในการประชุมร่วมกับผู้นำค่ายผู้ลี้ภัยและองค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยระบุถึงรายละเอียดในเรื่องการอำนวยการในกระบวนการส่งกลับ เช่น รายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทาง การช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น เด็ก คนชรา หรือผู้พิการ และการรับรองความมั่นใจให้กับผู้ลี้ภัยในเรื่องความสมัครใจเดินทางกลับ

บลูมมิ่ง ไนท์ ซาน เลขาธิการร่วม คณะกรรมการผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง ซึ่งดูแลการจัดการค่ายผู้อพยพ 7 แห่งตามแนวชายแดน ระบุว่าคณะกรรมการผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง ไม่ประสงค์จะร่วมมือกับยูเอ็นเอชซีอาร์ในการดำเนินตามแผนการดังกล่าว โดยเหตุผลหลักคือ คณะกรรมการผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงไม่ได้มีส่วนรวมหรือเกี่ยวข้องกับแผนการนี้มาแต่ต้น และไม่ใช่แผนของพวกเขา

บเว เซ เลขาธิการคนที่หนึ่ง คณะกรรมการผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง แสดงความไม่เห็นด้วยโดยเน้นย้ำแนวทางของคณะกรรมการผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงว่า การส่งตัวกลับจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการลงนามข้อตกลงหยุดยิง และมี “สันติภาพที่แท้จริง” อย่างไรก็ตาม เขายังเชื่อมั่นในยูเอ็นเอชซีอาร์ เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรู้ว่าพวกตนจะไปที่ไหนและอนาคตจะเป็นอย่างไร

ลูอิซ เคย์โป เลขาธิการคนที่หนึ่ง คณะกรรมการผู้ลี้ภัยชาวคะเรนนี ซึ่งดูแลค่ายผู้อพยพชาวคะเรนนี สอง ค่ายใน จ.แม่ฮ่องสอน ระบุว่าเห็นด้วยต่อแผนการดังกล่าว แต่ก็รู้สึกว่าค่อนข้างจะเร็วเกินไป และเห็นว่าทางยูเอ็นเอชซีอาร์ได้ดำเนินการตามแผนของรัฐบาลไทยและพม่า ซึ่งอาจจะรอจังหวะหลังการเลือกตั้งทั่วไปในพม่า ในวันที่ 8 พ.ย.นี้ และหลังจากนั้นอาจจะมีสัญญาณไฟเขียวให้ผู้อพยพเดินทางกลับ

นายเอียน ฮอลล์ ซึ่งเป็นผู้นำเสนอร่างแผนการดังกล่าวอธิบายว่า แผนนี้เกิดขึ้น เนื่องจากทางยูเอ็นเอชซีอาร์จำเป็นต้องหาแนวทางเตรียมไว้ว่า จะทำอย่างไรหากผู้อพยพสมัครใจเดินทางกลับประเทศ โดยยืนยันว่านี่เป็นเพียงแค่ร่างแรก และหากผู้ลี้ภัยรู้สึกไม่สบายใจกับแผนดังกล่าว ก็จะหยุดดำเนินการ ทั้งนี้ แม้ว่าการจัดทำร่างแผนการจะเสร็จสมบูรณ์ภายใน 6 เดือนข้างหน้า แต่ผู้ลี้ภัยอาจจะได้กลับบ้านในอีก 6 ปีก็เป็นได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าพม่าต้องมีสันติภาพและการเมืองคลี่คลายด้วย

 

ที่มา: https://www.facebook.com/BBCThai/photos/np.1438563614506391.100001024807284/1682101905344176/?type=1&notif_t=notify_me_page

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net