Skip to main content
sharethis

หวังไทยใช้เงื่อนไขที่ถูกจัดให้อยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 เป็นโอกาสทบทวนถึงสภาพปัญหาของการแก้ไขและปราบปราบการค้ามนุษย์ กระบวนการคุ้มครองและเยียวยาผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยจัดให้มีการรับฟังหรือการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม

29 ก.ค. 2558  เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ออกแถลงการณ์ "ข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทยปรับปรุงกลไกในการคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ และบุคคลที่ตกอยู่ในความเสี่ยง" โดยระบุว่า ที่ผ่านมา แม้จะเห็นความพยายามในการแก้ไขปรับปรุงสถานการณ์ด้านการค้ามนุษย์ของรัฐบาล แต่ก็พบว่า รัฐบาลยังมีข้อผิดพลาดปราศจากความรู้ความเข้าใจ ทำให้มาตรการที่ผ่านมาเป็นการปรามปรามมากกว่าการป้องกันและช่วยเหลือ ใน 7 ประเด็น พร้อมเสนอแนวทางแก้ปัญหา 5 ข้อ โดยหวังว่าประเทศไทยจะใช้เงื่อนไขที่ถูกจัดให้อยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 เป็นโอกาสทบทวนถึงสภาพปัญหาของการแก้ไขและปราบปราบการค้ามนุษย์ กระบวนการคุ้มครองและเยียวยาผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยจัดให้มีการรับฟังหรือการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เพื่อสร้างวัฒนธรรมด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การเยียวยาผู้เสียหาย และทำให้กระบวนการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาคอาเซียนเติบโตไปได้พร้อมกับความมั่นคงของมนุษย์แบบยั่งยืน

รายละเอียด มีดังนี้


แถลงการณ์
ข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทยปรับปรุงกลไกในการคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ และบุคคลที่ตกอยู่ในความเสี่ยง


ตามที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2558 และประกาศในรายงานให้ประเทศไทย อยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 คือ "กลุ่มประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายสหรัฐอเมริกาและไม่มีความพยายามแก้ไขปัญหา" ซึ่งรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเห็นว่า ประเทศไทยเป็นทั้งประเทศปลายทางและประเทศทางผ่านสำหรับแรงงานย้ายถิ่น บางส่วนได้ถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ มีการบังคับใช้แรงงานในกิจการประมง หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประมง ในโรงงาน และลูกจ้างทำงานบ้าน นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้เสียหายบางส่วนถูกผลักดันกลับโดยมิได้มีกระบวนการคัดแยกเหยื่อตามขั้นตอนที่เหมาะสม ปราศจากหลักประกันความปลอดภัย บางรายถูกบังคับให้เป็นขอทานบนท้องถนน หรือเข้าสู่ธุรกิจการค้าประเวณี

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) เห็นถึงความพยายามแก้ไขปรับปรุงสถานการณ์ด้านการค้ามนุษย์ของรัฐบาลตั้งแต่ภายหลังจากมีรายงานประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2557 แต่ก็ยังปราศจากความรู้ความเข้าใจ ทำให้มาตรการที่ผ่านมาเป็นการปรามปรามมากกว่าการป้องกันและช่วยเหลือซึ่งทำให้ขาดมาตรการที่ต่อเนื่องและเป็นระบบในหลายประการ

1. รัฐบาลไทยได้มีความพยายามมุ่งเน้นในการแก้ไขปัญหาของกรณีแรงงานประมง ทั้งการปรับปรุงกฎกระทรวงในการคุ้มครองแรงงานประมง การพยายามขึ้นทะเบียนเรือประมงและแรงงานประมง แต่ยังไม่ปรากฏข้อมูลของการนำผู้ที่เกี่ยวข้องหรือนายจ้างที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์แรงงานประมงมาดำเนินคดีได้สำเร็จ

2. รัฐบาลไทยได้พยายามปราบปรามกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ในกลุ่มผู้อพยพชาวโรฮิงญา มีการออกหมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้องกว่า 100 ราย แต่ก็มีหลักฐานที่ยืนยันว่ารัฐยังคงไม่สามารถหยุดยั้งกลุ่มขบวนการการค้ามนุษย์ได้ และการดำเนินคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญามักจะมีการพิพากษายกฟ้องจำเลยในคดี เนื่องจากกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ที่อ่อนแอมาก เจ้าหน้าที่ยังคงเน้นจำนวนตัวเลขของผู้ถูกจับกุมมากกว่าประสิทธิภาพ

3. รัฐบาลไทยยังคงละเลยการให้ความคุ้มครองดูแลผู้เสียหาย และพยาน ที่เป็นเด็กและผู้หญิง รวมทั้งผู้ชายที่มีสถานะเข้าเมืองผิดกฎหมาย ยังไม่มีหน่วยงานใดที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน ไม่มีการสนับสนุน ช่วยเหลือและเสริมศักยภาพการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะบ้านพักเด็กและครอบครัวฯ สถานคุ้มครองผู้เสียหายฯ การทำงานของสหวิชาชีพยังคงถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่ความมั่นคงซึ่งไม่มีความรู้ความเข้าใจ ขาดการสนับสนุนล่ามในการสื่อสารและการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม รวมถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่ไม่มีสัญชาติ และขาดแนวทางการพิสูจน์สัญชาติ โดยเฉพาะการพิสูจน์สัญชาติของกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง อย่างแรงงานข้ามชาติ ผู้อพยพ และไม่มีความคืบหน้าในการป้องกัน ช่วยเหลือในกรณีของการตกเป็นแรงงานขัดหนี้

4. รัฐบาลไทยยังคงไม่มีแนวทางในการให้ความคุ้มครองกลุ่มที่มีความเปราะบางเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่เป็นผู้ติดตามครอบครัว หรือเด็กที่เดินทางโดยลำพัง รวมถึงขาดกระบวนการคัดกรองที่ชัดเจน ทำให้มีเด็กบางส่วนถูกจัดให้อยู่ร่วมกับกลุ่มผู้ใหญ่ และหลายคนพลัดพรากจากผู้ปกครอง

6. รัฐบาลยังคงปล่อยให้หน่วยงานความมั่นคงของรัฐข่มขู่ กดดันการทำหน้าที่ของภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน โดยเฉพาะการฟ้องหมิ่นประมาทนักวิจัยและสื่อมวลชนที่นำเสนอเรื่องค้ามนุษย์ เช่น กรณีที่กองทัพเรือฟ้องสำนักข่าว Phuket Wan

7. รัฐบาลยังไม่ได้ให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติที่ทั้งหมดเป็นข้าราชการประจำ หน่วยงานด้านความมั่นคง และทหาร ซึ่งทำให้กระบวนการจัดการแก้ไขปัญหาของรัฐยังเป็นลักษณะของการรวมศูนย์อำนาจการจัดการและยังขาดความรู้ความเข้าใจด้านการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

เพื่อให้เกิดการพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยดังนี้

1. รัฐบาลจะต้องปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างของคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ โดยให้คณะกรรมการมีสัดส่วนจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะส่วนงานที่เป็นอิสระนอกเหนือจากหน่วยงานภาครัฐ และผลักดันให้เกิดคณะทำงานในระดับจังหวัด

2. รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีแนวทางการให้ความคุ้มครองที่เหมาะสมกับสถานะและเงื่อนไขของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เป็นไปหลักการสากล โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจน รวมถึงติดตามและให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง หรืออยู่นอกเหนือไปจากเงื่อนไขที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองอันเนื่องมาจากข้อจำกัดทางกฎหมายและหน่วยงานของรัฐ

3. รัฐบาลจะต้องสนับสนุน สร้างหลักประกันทางกฎหมายให้กับองค์กรภาคประชาสังคม รวมถึงสื่อมวลชนในการทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ ปรับปรุงการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่อาจกระทบต่อการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ

4. รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องกำหนดแนวทางและมาตรการในการคัดแยกผู้เสียหายจากขบวนการค้ามนุษย์ที่มีความเกี่ยวพัน ทับซ้อนกับสถานะอื่นๆ ของผู้อพยพเคลื่อนย้ายอื่นๆ เช่น ผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ผู้แสวงหาที่พักพิง ผู้ลี้ภัย  รวมถึงให้ความสำคัญกับกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ และการให้หลักประกันความปลอดภัยแก่ผู้เสียหายก่อนจะดำเนินการส่งกลับประเทศต้นทาง โดยบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภายนอกภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

5. รัฐบาลจะต้องมีแนวทางการให้ความคุ้มครองสถานะ เหมาะสมกับเงื่อนไขของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เป็นไปหลักการสากล และลดอุปสรรคในการเข้าถึงการปกป้องคุ้มครองตามกฎหมายของคนที่ไม่มีสถานะทางกฎหมายไม่เฉพาะแค่แรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย แต่รวมถึงผู้ติดตาม ผู้แสวงหาที่พักพิง และผู้ลี้ภัย

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) หวังว่าประเทศไทยจะใช้เงื่อนไขที่ถูกจัดให้อยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 เป็นโอกาสให้รัฐบาลไทยได้ทบทวนถึงสภาพปัญหาของการแก้ไขและปราบปราบการค้ามนุษย์ กระบวนการคุ้มครองและเยียวยาผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยจัดให้มีการรับฟังหรือการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เพื่อสร้างวัฒนธรรมด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การเยียวยาผู้เสียหาย และทำให้กระบวนการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาคอาเซียนเติบโตไปได้พร้อมกับความมั่นคงของมนุษย์แบบยั่งยืน

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net