Skip to main content
sharethis

ขณะที่ประเทศอย่างไอซ์แลนด์หรือนอร์เวย์เพิ่งลงมติยกเลิกกฎหมายที่ล้าหลังอย่างกฎหมายหมิ่นศาสนา แต่ในบางประเทศเช่นซาอุดิอาระเบียกลับมีการใช้กฎหมายนี้ปราบปรามคนเห็นต่างมากขึ้นเรื่อยๆ บทความของนักเขียนอียิปต์เปิดเผยถึงปัญหาจากการบังคับใช้กฎหมายนี้และข้อถกเถียงในแง่สิทธิมนุษยชนและการแยกรัฐจากศาสนา

25 ก.ค. 2558 ไมเกล นาบิล ซานัด นักเขียนและนักกิจกรรมเพื่อสันติภาพชาวอียิปต์เขียนบทความในวารสารวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศ Foreign Policy In Focus (FPIF) ถึงกรณีที่ประเทศไอซ์แลนด์มีมติยกเลิกกฎหมายหมิ่นศาสนาเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมาเทียบกับที่ประเทศอื่นเช่นซาอุดิอาระเบียที่ยังมีกฎหมายนี้อยู่

ซานัดระบุว่าสภาไอซ์แลนด์มีมติยกเลิกกฎหมายหมิ่นศาสนาที่มีอายุยาวนาน 75 ปี ถือเป็นชัยชนะของพรรคการเมืองชื่อพรรคไพเรทที่มีการเรียกร้องยกเลิกกฎหมายหมิ่นศาสนาหลังจากเหตุการณ์โจมตีนิตยสารชาลีเอบโดในฝรั่งเศส ถึงแม้ว่ากลุ่มศาสนาในไอซ์แลนด์จะแสดงตัวต่อต้านการยกเลิกกฎหมายนี้แต่ในสภาไอซ์แลนด์ก็มีการลงมติเสียงข้างมากให้มีการยกเลิกกฎหมายดังกล่าว

บทความใน FPIF ยังเปรียบเทียบกรณีในไอซ์แลนด์กับซาอุดิอาระเบียที่เพิ่งจะมีเหตุการณ์ศาลสั่งลงโทษนักกิจกรรม ราอีฟ บาดาวี ผู้ให้บริการกระดานสนทนาแลกเปลี่ยนชื่อเว็บ 'เสรีนิยมชาวซาอุดิอาระเบีย' ในข้อหาหมิ่นศาสนาและเลิกศรัทธาในศาสนาเมื่อเดือนที่แล้ว โดยมีบทลงโทษคือการสั่งโบย 1,000 ครั้ง และจำคุก 10 ปี ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามรณรงค์เรียกร้องปล่อยตัวบาดาวีผู้ได้รับเสนอชื่อชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเนื่องจากการส่งเสริมเสรีภาพในซาอุฯ แต่ก็ไม่ทำให้เขาได้รับการปล่อยตัว

ซานัดตั้งข้อสังเกตว่าในขณะที่ประเทศอย่างไอซ์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ กำลังมีการยกเลิกกฎหมายหมิ่นศาสนาที่เก่าแก่ แต่ประเทศอื่นๆ เช่นไอร์แลนด์กำลังมีการนำเสนอกฎหมายหมิ่นศาสนาฉบับใหม่ และในประเทศอย่างซาอุฯ และอียิปต์ก็มีการใช้กฎหมายนี้ปราบปรามประชาชนมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ในปี 2555 สถาบันวิจัยพิวระบุว่ามีประเทศ 1 ใน 5 ของโลกที่มีกฎหมายหรือนโยบายห้ามการหมิ่นศาสนา และประเทศ 1 ใน 10 ของโลกมีการลงโทษผู้ที่เลิกศรัทธาในศาสนา


กรณีของซาอุฯ : ปัญหาจากการบังคับใช้กฎหมาย

บทความของซานัดยังระบุถึงกรณีการบังคับใช้กฎหมายในซาอุฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีการลงโทษข้อหาหมิ่นศาสนาและเลิกศรัทธาโดยใช้ความรุนแรงอย่างการทารุณกรรม การโบยตี ไปจนถึงการประหารชีวิต ซานัดชี้ว่าปัญหาอย่างหนึ่งในระบบกฎหมายของซาอุฯ คือการบังคับใช้กฎหมายชะรีอะฮ์ซึ่งเป็นกฎหมายแบบอิสลามไม่มีการระบุนิยามเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนแต่ให้อำนาจตำรวจและผู้พิพากษาในการตีความและบังคับใช้โดยอ้างอิงจากคำสอนทางศาสนาเอง ทำให้มีการตีความข้อความจากศาสดาที่ระบุว่าให้ "สังหารผู้ที่เปลี่ยนศาสนา" ผู้พิพากษาในซาอุฯ จึงตัดสินลงโทษผู้ต้องหาอย่างโหดร้าย

ทั้งนี้ซาอุฯ เพิ่งมีการออกพระราชกฤษฎีกาใหม่เมื่อปีที่แล้วซึ่งระบุให้ผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประเทศถือเป็นผู้ก่อการร้ายโดยมีการรวมเอากลุ่มผู้ไม่นับถือศาสนาเข้าไว้ไปด้วย ซึ่งนอกจากกรณีของบาดาวีแล้วยังมีเหยื่อรายอื่นๆ ที่ถูกกฎหมายห้ามหมิ่นศาสนาและห้ามเลิกนับถือศาสนาเล่นงาน แต่ซาอุฯ เป็นประเทศที่ขาดความโปร่งใสและไม่มีภาคประชาสังคมที่มีประสิทธิภาพทำให้ตรวจสอบรายชื่อเหยื่อได้ยากมาก

โดยบทความของซานัดยกตัวอย่างผู้ที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อหาหมิ่นศาสนาหลายกรณี เช่น ฮัมซา คาชการี ผู้ที่ถูกตามล่าตัวถึงมาเลเซียและถูกส่งตัวกลับซาอุฯ เขาถูกกล่าวหาว่าเขียนข้อความเชิงต่อต้านศาสนา ทำให้ถูกกุมขังเป็นเวลา 20 เดือน จนกระทั่งเขายอมถอนคำพูดเรื่องการเลิกนับถือศาสนาถึงถูกปล่อยตัวออกมาโดยสิ่งแรกสุดที่เขาทำหลังจากถูกปล่อยตัวออกมาคือถ่ายรูปคู่กับครูสอนศาสนาในขณะที่ได้รับของขวัญเป็นคัมภีร์อัลกุรอาน

นอกจากกรณีคาชการีแล้วยังมีกรณีอื่นๆ ที่ถูกลงโทษข้อหาหมิ่นศาสนาทั้งๆ ที่จำเลยเขียนบทความเกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาของซาอุฯ หรือพูดคุยกับนักเรียนในเรื่องวิชาเคมีกับศาสนายูดาย มีอีกรายหนึ่งที่ถูกสั่งประหารชีวิตเพราะสบถต่อพระเจ้าแต่ก็ได้รับการอภัยโทษจากสมเด็จพระราชาธิบดีอัลดุลลาห์และเนรเทศไปยังตุรกีหลังจากที่ให้เขา "ไถ่บาป" และขอพระเจ้าให้อภัยแล้ว

ซานัดระบุว่า การลงโทษอย่างรุนแรงในซาอุฯ เป็นเรื่องเชิงปฏิกิริยาเพราะมีกลุ่มคนที่ไม่นับถือศาสนาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศ และราชวงศ์ของซาอุฯ ก็อาศัยศาสนาเป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจ การที่มีคนเชื่อศาสนาน้อยลงจึงทำให้ความชอบธรรมของพวกเขาลดลงไปด้วย ผลโพลล์จากกัลลัประบุว่าในปี 2553 มีชาวซาอุฯ ร้อยละ 7 เห็นว่าศาสนาไม่ใช่เรื่องจำเป็นต่อชีวิตของพวกเขา และในปี 2557 ทางการซาอุฯ สั่งบล็อคเว็บไซต์มากกว่า 24,000 เว็บ ส่วนใหญ่เป็นเว็บเกี่ยวกับผู้ไม่นับถือศาสนาและเว็บไซต์ภาพโป๊และมีการจับกุมประชาชนที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์เหล่านี้ 76 คน

ในช่วงปีที่แล้ว กลุ่มผู้ไม่นับถือศาสนาชาวซาอุฯ แอบจัดประชุมลับเป็นครั้งแรกในนครเมกกะ มีผู้เข้าร่วมราว 100 คน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้ทางการซาอุฯ ตื่นตระหนก เพราะนครเมกกะถือเป็นนครศักดิ์สิทธิ์ของอิสลามและผู้ที่เข้าไปประชุมลับร่วมกันคือกลุ่มคนที่เลิกนับถืออิสลามกลายเป็นแรงจูงใจให้กษัตริย์ซาอุฯ ออกพระราชกฤษฎีกา 3 เดือนหลังจากนั้น


กรณีของซูดาน : การกระทำโดยอาชญากรสงคราม

บทความของซานัดยังระบุถึงกรณีประเทศอื่นอย่างซูดานที่มีการลงโทษผู้เลิกนับถือศาสนาและผู้หมิ่นศาสนาแบบเดียวกับซาอุฯ นอกจากนี้ยังไม่มีภาคประชาสังคมหรือสื่ออิสระที่มีการพัฒนาทำให้รัฐบาลซูดานปราบปรามประชาชนที่เป็นเป้าหมายโดยไม่ได้รับความสนใจจากนานาชาติ โดยที่ซูดานมีกฎหมายอาญามาตรา 125 ที่สั่งลงโทษคนหมิ่นศาสนาด้วยการจำคุก การปรับ หรือการโบย ส่วนกฎหมายมาตรา 126 สั่งลงโทษผู้เลิกนับถือศาสนาด้วยการประหารชีวิต

มีการยกตัวอย่างคดีหนึ่งที่เป็นที่รู้จักในนาม "คดีตุ๊กตาหมีซูดานหมิ่นศาสนา" ในปี 2550 มีครูชื่อกิลเลียน กิบบอนส์ ถูกลงโทษข้อหาหมิ่นศาสนาเพียงเพราะเธอตั้งชื่อตุ๊กตาในห้องเรียนว่า "มูฮัมเหม็ด" เธอถูกสั่งจำคุกและถูกสั่งเนรเทศ มีกลุ่มสุดโต่งทางศาสนาก่อจลาจลเรียกร้องให้สังหารเธอ แต่เธอก็ใช้การถือสัญชาติพลเมืองอังกฤษทำให้เธอกลับประเทศอังกฤษได้อย่างปลอดภัย

อีกกรณีหนึ่งคือคดีของมูฮัมเหม็ด ทาฮา บรรณาธิการหนังสือพิมพ์อัลวิฟัคในซูดานซึ่งเป็นผู้นับถืออิสลามเคร่งครัดและเป็นสมาชิกกลุ่มแนวร่วมอิสลามแห่งชาติซูดาน แต่ในปี 2548 เมื่อหนังสือพิมพ์ของเขามีบทความตั้งคำถามเกี่ยวกับบรรพบุรุษของศาสดา เจ้าหน้าที่ทางการซูดานก็เข้าจับกุม ดำเนินคดี และตัดสินให้เขามีความผิดฐานหมิ่นศาสนาและสั่งปรับหนังสือพิมพ์ของเขา มีกลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนาเผาหนังสือพิมพ์ของเขาและลักพาตัวเขาไปสังหารตัดคอ


กรณีของอียิปต์ : เผด็จการทหารอิงเทวนิยม

ซานัดระบุว่าระบบกฎหมายของอียิปต์มีแต่ความยุ่งเหยิง ในขณะที่มาตราที่ 2 ของรัฐธรรมนูญปี 2557 ของอียิปต์ระบุให้กฎหมายชะรีอะฮ์เป็นแหล่งอ้างอิงหลักของการออกกฎหมาย แต่ในอีกด้านหนึ่งมาตราที่ 64 ในรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันก็ระบุให้มีการรับรองเสรีภาพทางด้านความเชื่อ ในมาตราเดียวกันนี้ยังมีการจำกัดเสรีภาพในการทำพิธีกรรมทางศาสนาของสามศาสนาคือยูดาย คริสต์ และอิสลาม ส่วนมาตราที่ 7 ของรัฐธรรมนูญระบุให้มัสยิดอัลอัสซาร์ในกรุงไคโรเป็นศาสนสถานของรัฐทำให้ร่างกฎหมายและคำตัดสินของศาลต้องถูกส่งไปที่อัลอัสซาร์เพื่อพิจารณาก่อน

ในแง่กฎหมายหมิ่นศาสนาอียิปต์อ้างอิงกฎหมายอาญาที่มีมาตั้งแต่ปี 2480 ในมาตรา 98 ที่ระบุว่าการหมิ่นศาสนาครอบคลุมแค่ 3 ศาสนาคือยูดาย คริสต์ และอิสลาม เท่านั้น แต่ในการบังคับใช้กฎหมายจริงซานัดระบุว่ามีแต่การใช้กับกรณีหมิ่นศาสนาคริสต์เป็นส่วนใหญ่ มีจำนวนหนึ่งใช้กับการหมิ่นศาสนาอิสลามนิกายชีอะฮ์ มีอยู่จำนวนน้อยมากที่เป็นการนำมาใช้กับการหมิ่นอิสลามนิกายซุนนี

ซานัดวิจารณ์มัสยิดอัลอัสซาร์ว่าเป็นสถาบันอนุรักษ์นิยมที่พยายามไล่ล่าผู้ไม่นับถือศาสนาให้เข้าคุก เช่นกรณีบล็อกเกอร์ผู้ไม่นับถือศาสนาชื่อ คารีม อาเมอร์ ในปี 2549 ที่กลายเป็นบล็อกเกอร์คนแรกของอียิปต์ที่ถูกลงโทษจำคุกเพราะข้อเขียนของตน เจ้าหน้าที่ทางการทารุณกรรมเขาหลายครั้งในช่วงที่ถูกกุมขังเพราะเขาเลิกนับถือศาสนาอิสลาม

และหลังจากเกิดการลุกฮือโค่นล้มมูบารัคในปี 2554 รัฐอียิปต์ก็ใช้ทุกมาตรการเป็นเครื่องมือกดขี่ผู้เรียกร้องประชาธิปไตย จำนวนคดีหมิ่นศาสนาและการลงโทษในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีจำนวนมากกว่าคดีในช่วง 30 ปีก่อนหน้านี้ของอียิปต์ ซึ่งในจำนวนที่ถูกกล่าวหาหมิ่นศาสนามีทั้งนักธุรกิจชื่อดัง กูเกิล นิตยสารชาร์ลีเอ็บโด และอดีตประธานาธิบดีนิโกลา ซาร์โคซี ของฝรั่งเศสรวมอยู่ด้วย

มีคดีหนึ่งที่สำคัญคือคดีที่ชาวคริสต์ผู้หนึ่งชื่อ กามาล อับดู มาซุด ถูกแท็กในรูปที่วิพากษ์วิจารณ์อิสลามทำให้มีกลุ่มม็อบที่โกรธแค้นล้อมเผาบ้านเขารวมถึงบ้านชาวคริสต์คนอื่นๆ ในหมู่บ้าน แต่แทนที่ตำรวจจะจับม็อบผู้ก่อเหตุกลับเป็นมาซุดที่ถูกจับข้อหาหมิ่นศาสนาแทน นอกจากมาซุดแล้วยังมีผู้ประสบชะตากรรมเดียวกันคือถูกโจมตีโดยกลุ่มม็อบคือกรณีของผู้ไม่นับถือศาสนารายอื่นๆ อีกสามกรณี และทั้งสามกรณีไม่มีการจับกุมม็อบที่โจมตีพวกเขาแต่พวกเขากลับถูกจับกุมข้อหาหมิ่นศาสนาแทน มีผู้ไม่นับถือศาสนาในอียิปต์หลายคนต้องหนีออกจากประเทศเพราะกลัวถูกปราบปราม

ถึงแม้ว่าจะมีการต่อสู้ทางอำนาจกันระหว่างกลุ่มผู้นิยมรัฐที่ไม่อิงศาสนา (Secularists) กับกลุ่มเคร่งอิสลามที่สนับสนุนรัฐบาลอียิปต์ แต่ก็ไม่แน่ชัดว่าสถานการณ์จะดำเนินต่อไปอย่างไร ซึ่งดูเหมือนว่าประธานาธิบดีคนล่าสุดของอียิปต์ที่เคยก่อรัฐประหารจะเข้าหาฝ่ายผู้นำศาสนาในอัลอัสซาร์และให้คำมั่นว่ากรณีกลุ่มผู้ไม่นับถือศาสนาจะจบลงเร็วๆ นี้ แต่ก็ไม่ได้บอกละเอียดว่าจะจบลงอย่างไร


กรณีในยุโรป : ผ่านมาแล้ว 4 ศตวรรษหลัง 'สงครามสามสิบปี'

'สงครามสามสิบปี' (Thirty Years War) ซึ่งเกิดขึ้นช่วงปี 2161-2191 (1618-1648) ในยุโรปเป็นสงครามระหว่างนิกายศาสนาที่สร้างความเสียหายไว้อย่างมากต่อยุโรปซึ่งมีคู่ขัดแย้งหลักๆ คือคริสต์นิกายคาทอลิกกับนิกายโปรแตสแตนต์ ซานัดระบุว่าถึงแม้ยุโรปทุกวันนี้จะดีขึ้นถ้ามองจากมุมของผู้อดกลั้นต่อความแตกต่างแต่พวกเขากว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ก็ต้องผ่านอะไรมามาก

ซานัดระบุถึงประเทศที่มีการยกเลิกกฎหมายหมิ่นศาสนาเมื่อไม่นานมานี้ เช่นประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ความสำเร็จมาจากพรรคเสรีนิยมชนะการเลือกตั้ง ส.ส. ในปี 2555 และมีการยกเลิกกฎหมายในปีเดียวกัน อีกประเทศหนึ่งคือไอซ์แลนด์ที่ยกเลิกกฎหมายหมิ่นศาสนาทำให้จำนวนประเทศที่ยังคงมีกฎหมายหมิ่นศาสนาในยุโรปเหลือเพียง 7 ประเทศคือ เยอรมนี, เดนมาร์ก, โปแลนด์, ไอร์แลนด์, อิตาลี, กรีซ และตุรกี ส่วนในฝรั่งเศสมีกฎหมายหมิ่นศาสนาที่บังคับใช้แค่ในบางพื้นที่ ขณะที่บางประเทศเช่นออสเตรีย ไม่มีกฎห้ามหมิ่นศาสนาแต่มีกฎห้าม "กล่าวว่าร้ายต่อคำสอนศาสนา"

ซานัดระบุว่ากรณีคนร้ายบุกโจมตีชาร์ลี เอ็บโด ซึ่งเป็นนิตยสารล้อเลียนศาสนาโดยเฉพาะอิสลามทำให้ชาวยุโรปหันมาถกเถียงอภิปรายกันเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกับเรื่องการหมิ่นศาสนา หลังจากนั้นประเทศนอร์เวย์ก็มีมติยกเลิกกฎหมายหมิ่นศาสนาเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา โดยมีทั้งพรรคอนุรักษ์นิยมและพรรคหัวก้าวหน้าเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้

อย่างไรก็ตามซานัดระบุถึงกรณีที่น่าสนใจเกิดขึ้นในไอร์แลนด์ ซึ่งถึงแม้ว่าในมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญจะระบุลงโทษผู้หมิ่นศาสนาแต่ศาลไอร์แลนด์ก็เคยทักท้วงว่าเป็นกฎหมายที่ปกป้องแต่ศาสนาคริสต์เท่านั้นขัดกับข้อความอื่นในรัฐธรรมนูญที่ระบุถึงความเท่าเทียมกันทางศาสนา ทำให้มีการออกกฎหมายหมิ่นศาสนาฉบับใหม่ในปี 2552 ทำให้ไอร์แลนด์สวนกระแสประเทศอื่นๆ ในยุโรปที่มักจะยกเลิกกฎหมายแบบนี้


ข้อถกเถียงต่อกฎหมายหมิ่นศาสนา

ซานัดระบุว่ามีข้อถกเถียงเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นศาสนาอยู่ 3 อย่างได้แก่ ข้อถกเถียงเชิงสิทธิมนุษยชน ข้อถกเถียงเชิงผู้นิยมรัฐที่ไม่อิงศาสนา และข้อถกเถียงแบบผู้ไม่นับถือศาสนา

ข้อถกเถียงในแง่สิทธิมนุษยชนสื่อว่ามนุษย์ทุกคนควรมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในทุกเรื่องของชีวิตรวมถึงเรื่องศาสนาโดยไม่ถูกลงโทษเพราะแสดงความคิดเห็น ทุกคนควรสามารถเข้าถึงมุมมองและการแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่ถูกปิดกั้นโดยอำนาจจากทางการผู้ที่อาจจะกล่าวว่าผู้แสดงความคิดเห็นบางคนว่าเป็นผู้หมิ่นศาสนา กล่าวคือทุกคนควรสามารถเข้าถึงและแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่ถูกจำกัดจากรัฐ

สำหรับข้อถกเถียงในแง่ผู้นิยมรัฐที่ไม่อิงศาสนามาจากฐานความคิดที่ว่ารัฐควรจะเป็นสถาบันที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามาเพื่อปฏิบัติงานในทางโลก รัฐจึงไม่มีหน้าที่ตัดสินลงโทษประชาชนโดยอ้างว่าพวกเขาก่ออาชญากรรมต่อต้านพระเจ้า รัฐเป็นองค์กรที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคง ความยุติธรรม และความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่หนึ่งๆ รัฐจึงไม่ควรทำให้เงินภาษีของประชาชนสูญเปล่าด้วยการสร้างศาสนสถานหรือไล่ล่าผู้ที่ไม่เชื่อในพระเจ้า

ส่วนข้อถกเถียงในแง่ผู้ไม่นับถือศาสนาระบุว่าพระเจ้าที่ต้องอาศัยกฎหมายที่เขียนขึ้นโดยมนุษย์เพื่อปกป้องเขาไม่ถือเป็นพระเจ้าที่แท้จริงได้ พระเจ้าที่มีอิทธิปาฏิหาริย์จริงคงจะมีอำนาจปกป้องตนเองและแก้แค้นผู้ที่กล่าวล่วงละเมิด พระเจ้าที่ไม่สามารถแก้แค้นด้วยตนเองและต้องอาศัยผู้ศรัทธาในการปกป้องเขาแทนไม่น่าจะถือว่าเป็นพระเจ้าได้

"มันผ่านมาแล้ว 24 ศตวรรษ ที่โสเครติส (นักปรัชญากรีซ) ถูกลงโทษเพราะกล่าวหมิ่นศาสนา และอีกหลายศตวรรษที่มีสงครามศาสนา การไต่สวนอย่างทารุณ และการล่าแม่มด แต่ทุกวันนี้มนุษย์ส่วนหนึ่งก้ยังคงขว้างปาก้อนหิน โบยตี จับคนขังคุก เผา ฆ่าตัดคอ และสังหารคนอื่นๆ เพื่อปกป้องพระเจ้าที่พวกเขาเชื่อ" ซานัด ระบุในบทความ

 

เรียบเรียงจาก

The War Over Blasphemy, Maikel Nabil Sanad, FPIF, 24-07-2015
http://fpif.org/the-war-over-blasphemy/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net