Skip to main content
sharethis
สามเดือนหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวในเนปาลเมื่อวันที่ 25 เมษายนและอาฟเตอร์ช็อคอีกหลายครั้ง ยูนิเซฟชี้ว่าเด็กๆ ยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากมายในขณะที่ครอบครัวของพวกเขาต้องตกอยู่ในสภาพยากจนลงเรื่อยๆ โดยเด็กๆ ยังคงต้องการความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
 
 
กรุงกาฐมาณฑุ 25 กรกฎาคม 2558 – สามเดือนหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวในเนปาลเมื่อวันที่ 25 เมษายนและอาฟเตอร์ช็อคอีกหลายครั้ง ยูนิเซฟชี้ว่าเด็กๆ ยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากมายในขณะที่ครอบครัวของพวกเขาต้องตกอยู่ในสภาพยากจนลงเรื่อยๆ โดยเด็กๆ ยังคงต้องการความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
 
แม้ว่าการความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมจะก้าวหน้าไปมากในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา แต่เด็กหลายแสนคนยังคงต้องการที่อยู่อาศัย อาหาร น้ำ ตลอดจนการเข้าถึงสุขอนามัยที่ดี การรักษาพยาบาล การศึกษา และการปกป้องคุ้มครอง โดยเด็กประมาณหนึ่งล้านคนที่ได้รับผลกระทบยังคงอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีความเสี่ยงสูงต่อแผ่นถล่มและน้ำท่วม นอกจากนี้การเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยกำลังเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้นเนื่องจากฤดูมรสุม ซึ่งจะส่งผลร้ายต่อเด็กๆ ในการเข้าถึงน้ำ สุขอนามัย การศึกษา การรักษาพยาบาล และทำให้พวกเขามีความเสี่ยงต่อการถูกทำร้าย การถูกแสวงประโยชน์ต่างๆ รวมถึงเสี่ยงต่อการค้าถูกมนุษย์มากขึ้น
 
หลังจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งแรก พบว่ามีเด็กกว่า 10,000 คนที่อยู่ในภาวะขาดสารอาหารเฉียบพลัน โดยรวมถึงเด็กกว่า 1,000 คนซึ่งอยู่ในภาวะขาดสารอาหารรุนแรงเฉียบพลัน นอกจากนี้ มีเด็กกว่า 200 คนที่ยังคงพลัดพรากจากพ่อแม่หรือผู้ปกครอง และกว่า 600 คนสูญเสียพ่อหรือแม่หรือทั้งพ่อและแม่จากเหตุแผ่นดินไหว ในขณะที่ห้องเรียนกว่า 32,000 แห่งพังราบเรียบ และบ้านเรือนเกือบ 900,000 หลังถูกทำลายหรือได้รับความเสียหาย 
 
จากการประเมินของรัฐบาล พบว่า ประชากรระหว่าง 700,000 คนจนถึงเกือบหนึ่งล้านคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งได้รับความเสียหายมากที่สุด อาจตกลงไปอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนสากล (international poverty line) ซึ่งอยู่ที่รายได้ไม่เกิน 1.25 เหรียญสหรัฐต่อวัน  
 
"เหตุภัยพิบัติร้ายแรงอย่างเช่นแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 25 เมษายน และ 12 พฤษภาคมนั้น ไม่เพียงแต่คร่าชีวิตผู้คนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังทำลายทรัพย์สิน เครื่องมือทำกิน และทำให้รายได้ต่อครัวเรือนลดลงอย่างมากโดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่เปราะบางที่สุด" นายโทโมโอะ โฮซูมิ ผู้แทนองค์การยูนิเซฟประจำประเทศเนปาลกล่าว "ในช่วงเวลาเช่นนี้ ครอบครัวยากจนมักแก้ไขปัญหาด้วยวิธีที่อันตราย เช่น ลดปริมาณอาหารที่บริโภคในแต่ละวัน จำกัดรายจ่ายด้านการรักษาพยาบาลและการศึกษาแล้วส่งบุตรหลานออกไปทำงานเพื่อช่วยครอบครัว – ทั้งหมดนี้อาจเกิดผลกระทบในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของเด็กๆ เงินช่วยเหลือที่ยูนิเซฟมอบให้ จะสามารถช่วยให้ครอบครัวยากจนเหล่านี้ได้เข้าถึงปัจจัยพื้นฐาน เช่น อาหารและยารักษาโรคโดยไม่ต้องใช้วิธีที่จะมีผลเสียต่อพวกเขาเอง"  นายโฮซูมิกล่าว
 
ทั้งนี้ ยูนิเซฟจะมอบเงินช่วยเหลือจำนวน 15 ล้านเหรียญสหรัฐให้แก่ครอบครัวประมาณ 330,000 ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งในจำนวนนี้มีเด็กอยู่ประมาณ 450,000 คนใน 19 เขตที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด เงินช่วยเหลือนี้จะเข้าถึงประชากรที่ขาดโอกาสที่สุด เช่น เด็กดาลิต คนพิการ สตรีที่สูญเสียสามี ผู้สูงอายุและกลุ่มชาติพันธุ์ โดยผ่านโครงการช่วยเหลือทางสังคมที่มีอยู่แล้วของรัฐบาล
 
"เหตุการณ์แผ่นดินไหวนี้ทำให้เราได้เห็นว่าเนปาลยังไม่สามารถลดระดับความยากจนของประชากรได้มากนัก” นายโฮซูมิ กล่าวต่อไป  “นอกเหนือจากการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ผ่านมาแล้ว สิ่งที่ยูนิเซฟต้องเร่งทำคือช่วยรัฐบาลวางแผนการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่เด็กๆ และครอบครัวของพวกเขา ทั้งนี้การช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งและขยายระบบคุ้มครองทางสังคมของประเทศให้กว้างขวางขึ้น และการปรับปรุงการรับมือกับแผ่นดินไหว จะช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของเด็กๆ อย่างต่อเนื่องแม้ในยามปกติ  และช่วยให้ครอบครัวของพวกเขาสามารถรับมือกับเหตุการณ์ภัยพิบัติใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ดีขึ้น”  
 
ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา ยูนิเซฟได้ให้ความช่วยเหลือต่างๆ แก่เด็กและครอบครัวซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด เช่น:
 
•    จัดซื้อสิ่งของบรรเทาทุกข์กว่า 1,000 เมตริกตัน ซึ่งรวมถึงเต็นท์ ชุดสุขอนามัย อาหารบำบัด วัคซีนป้องกันโรคและยาต่างๆ ชุดปฐมพยาบาล มุ้ง ชุดสำหรับเด็กแรกเกิด อุปกรณ์การเรียนการสอน และชุดสำหรับพัฒนาการเด็กเล็ก 
•    ช่วยเด็กกว่า 100,000 คนให้ได้เรียนหนังสือในศูนย์การเรียนรู้ชั่วคราวที่ยูนิเซฟให้การสนับสนุน  
•    จัดหาน้ำสะอาดให้ประชาชนกว่า 650,000 คนในบ้านพักและศูนย์พักพิงชั่วคราว  
•    ซ่อมแซมศูนย์คลอดบุตรภายในที่ทำการสาธารณสุขกว่า 150 แห่งให้กลับมาใช้งานได้ดังเดิม 
•    ช่วยเด็กและผู้หญิง 513 คนจากการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์หรือถูกล่อลวงอย่างผิดกฎหมาย
•   ให้ความช่วยเหลือเยียวยาทางจิตใจแก่เด็กเกือบ 30,000 คนจากประสบการณ์เลวร้ายที่ผ่านมา
 
“เราดำเนินงานคืบหน้าไปได้อย่างมากภายใน 90 วันที่ผ่านมาด้วยความร่วมมือกับรัฐบาลและพันธมิตรต่างๆ ในขณะเดียวกันด้วยระดับความเสียหายและความสูญเสียอันใหญ่หลวงรวมถึงการเข้าหน้ามรสุม เราจึงยังต้องดำเนินงานอีกมากเพื่อช่วยให้ผู้ประสบภัยได้กลับมามีชีวิตปกติดังเดิม โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่ขาดโอกาสที่สุด" นายโฮซูมิกล่าว
 
 
ชมวิดีโอขอบคุณทุกความช่วยเหลือจากประเทศไทย https://youtu.be/ZuaEaIUedF8
ดาวน์โหลดภาพถ่ายและวิดีโอได้ที่: http://uni.cf/1HPxXuS

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net