Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

“เดี๋ยวครูรับเอง”

ประโยคเพียงประโยคเดียว ที่ช่วยพลิกสถานการณ์ทั้งหมดให้เปลี่ยนไปจากเดิม จากให้คนที่เกือบหมดหวัง มีไฟลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง และช่วยพลิกผันชีวิตของเด็กคนหนึ่ง ให้ได้มีโอกาสเรียนหนังสือเหมือนเพื่อนร่วมรุ่นคนอื่นๆ และแม้เป็นเพียงประโยคสั้นๆ ที่ฟังดูเหมือนง่าย แต่คนพูดต้องอาศัยความกล้าหาญมากเหลือเกิน

ประโยคนี้เกิดขึ้นเมื่อวันก่อนที่ทีมไปพบกับผู้บริหารและคุณครูของโรงเรียนแห่งหนึ่ง เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจถึงสาเหตุว่าทำไมโรงเรียนแห่งนี้ถึงไม่รับเด็กที่มีเชื้อเอชไอวีเข้าเรียนหนังสือ

และไม่ใช่โรงเรียนแห่งนี้แห่งเดียวเท่านั้น ยังมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มหาวิทยาลัยบางแห่งทำแบบนี้เช่นกัน ซึ่งช่วงเปิดเทอมทีไร เรามักจะได้ยินข่าวค (ร) าวอยู่เสมอว่าที่นั่นที่นี่ไม่รับเด็กที่ติดเชื้อฯ เข้าเรียน หรือหากไม่มีเชื้อฯ แต่พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นผู้ที่มีเชื้อฯ เด็กก็มักจะถูกปฏิเสธให้ไปเรียนที่โรงเรียนอื่น หรือพื้นที่อื่น ที่ไม่มีใครรู้

หลายโรงเรียนมักให้เหตุผลแบบเดียวกันว่า กลัวผู้ปกครองของเด็กคนอื่นๆ จะรับไม่ได้ที่โรงเรียนให้เด็กมีเชื้อฯ มาเรียนร่วมด้วย แล้วจะโจมตีโรงเรียน ทำให้โรงเรียนเสียหาย กับอีกเหตุผล คือ กลัวเด็กคนอื่นๆ ติดเชื้อฯ ตามไปด้วย แล้วยิ่งถ้าเป็นเด็กเล็ก โอกาสที่จะเล่นกันจนเลือดตกยางออก ย่อมมี

ดังนั้น วิธีป้องกันปัญหาของโรงเรียนหรือสถานศึกษาก็คือ ไม่รับเข้ามาเรียน (ที่นี่) ซะ แต่ยินดีหากเด็กได้ไปเข้าเรียนที่อื่น?!?

กรณีล่าสุดก็เช่นกัน คุณครูหลายคนพยายามถามผู้ปกครองว่าได้ลองไปสมัครเรียนที่อื่นบ้างหรือยัง? ซึ่งเรื่องที่น่าเศร้ากว่าก็คือ ทุกโรงเรียนที่ไปสมัครต่างปฏิเสธที่จะให้เด็กคนนี้เรียนหนังสือ

ปฏิเสธเพียงเพราะเขามีเชื้อเอชไอวี!!

การมีเชื้อเอชไอวีของเด็กน้อย ทำให้ผู้ปกครองต้องวิ่งวุ่นมากว่า ๑ ปีเพื่อหาที่เรียนให้ แต่โรงเรียนกี่แห่งๆ ที่ไปก็ไม่มีใครรับ ทุกที่ต่างผลักภาระออกไปว่า “ให้ไปเรียนที่อื่น”

แล้วเด็กน้อยจะไปเรียน “ที่อื่น” ได้อย่างไร? ในเมื่อทุกที่ต่างผลักออกไปให้ “ที่อื่น” เหมือนกันหมด แล้วที่อื่นนี่คือที่ไหน ถ้าไม่มีสักที่จะเปิดใจพอให้เด็กมีเชื้อฯ เรียนหนังสือร่วมด้วย?

แม้ข้อเท็จจริงในเรื่องเอดส์ที่ว่า คนส่วนใหญ่ในโลกใบนี้ติดเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน และการใช้ชีวิตประจำวันร่วมกัน วิ่งเล่น เรียนหนังสือ กินข้าว ดื่มน้ำ แปรงฟันด้วยกันไม่ทำให้ใครติดเชื้อเอชไอวี แต่คนก็ยังรังเกียจผู้ติดเชื้อฯ กับภาพมายาคติเก่าๆ ที่ว่าผู้ติดเชื้อฯ ต้องป่วยโทรม อยู่ไม่นานก็ต้องตาย

วันนั้นข้อมูลข้อเท็จจริงหรือเหตุผลนานัปการที่ทีมยกมาพูดคุยกับทางโรงเรียนดูเหมือนจะสู้ไม่ได้เลย หากไม่มีครูที่พร้อมจะเปิดใจ เข้าใจ เพียงคนหนึ่ง แม้เพียงคนเดียวที่กล้าหาญพอในหมู่เพื่อนครู หรือผู้บริหารโรงเรียนว่า เขาพร้อมจะรับเด็กที่มีเชื้อเอชไอวีให้มาเรียนหนังสือ

“เดี๋ยวครูรับเอง” ประโยคง่ายๆ ที่ทลายกำแพงที่ขวางกั้นทุกอย่าง จนในที่สุด เมื่อมีครูที่เข้าใจ พร้อมเปิดรับ และให้โอกาส เด็กน้อยมีเชื้อฯ คนนี้ก็ได้เข้าเรียน

แม้เป็นเพียงประโยคง่ายๆ แต่ทำให้ชีวิตของใครหลายคนง่ายขึ้นอีกเป็นกอง

“ครูอยากให้ทุกอย่างจบที่ห้องนี้ ขอให้ทุกคนเป็นปกติ อย่าไปพูดอะไรต่อ ให้รู้กันเพียงแค่นี้” ครูคนเดิมกล่าวปิดท้าย

ประโยคปิดท้ายของคุณครู อย่างน้อยก็ทำให้ทีมเชื่อมั่นว่า โรงเรียนแห่งนี้มีครูคนหนึ่งที่พร้อมจะดูแลปกป้องศิษย์ ซึ่งยังหมายถึงปกป้อง “สิทธิมนุษยชน” ของเด็กคนหนึ่งอีกด้วย

แล้วจะดีกว่านี้ไหม? หากผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ไม่ปล่อยให้เรื่องเหล่านี้เป็นเพียงฝันร้ายของใครหลายๆ คน

จะดีกว่านี้ไหม? หากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีนโยบายที่ระบุลงไปอย่างชัดเจนว่าสถานศึกษาต้องไม่กีดกันเด็กที่มีเชื้อเอชไอวีในการเข้าถึงการศึกษา เพื่อให้เด็ก “ทุกคน” มีโอกาสได้เรียนหนังสือตามสิทธิและหน้าที่ทางการศึกษาของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 อย่างแท้จริง

จะดีกว่านี้ไหม? ถ้าคนในสังคมก็พร้อมจะเปิดใจยอมรับว่า เราทุกคน ไม่ว่าจะมีเชื้อฯ หรือไม่มีเชื้อฯ ก็อยู่ด้วยกันได้

หากเป็นเช่นนั้นจริง เรื่องเหล่านี้ก็จะไม่ใช่เรื่องของ “เด็กมีเชื้อเอชไอวี” ตามลำพัง

 

สถานการณ์ปัจจุบัน

จากเดิมที่มีข้อตกลงในโรงเรียนว่า จะมีเฉพาะครูและผู้บริหารไม่กี่คนที่ทราบเรื่องการติดเชื้อฯ ของเด็ก แต่ขณะนี้ ครูคนอื่นๆ ทราบผลเลือดของเด็กคนดังกล่าวด้วย และครูจำนวนมากไม่เห็นด้วยและมีความกังวลที่เด็กมาเรียนหนังสือที่นี่ อย่างไรก็ตาม เด็กคนนี้จะยังได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนแห่งนั้นอยู่ โดยระหว่างนี้ผู้บริหารโรงเรียนร่วมกับองค์กรที่ทำงานด้านเอดส์ได้พยายามหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจเรื่องเด็กที่มีเชื้อเอชไอวีและสิทธิเด็ก และเพื่อทำให้เด็กได้รับการยอมรับในการอยู่ร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net