Skip to main content
sharethis

โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า จากการขับเคลื่อนมาตรการรักษาความปลอดภัย สนับสนุน-อำนวยความสะดวกในการประกอบศาสนกิจ รวมทั้งรณรงค์ให้เป็นเดือนรอมฎอนแห่งสันติสุข ส่งผลให้สถานการณ์ในภาพรวมในห้วงเดือนรอมฎอนปีนี้ ดีกว่าห้วงเวลาเดียวกันของปีก่อนๆ

23 ก.ค. 2558 - พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เปิดเผยว่า จากการขับเคลื่อนมาตรการรักษาความปลอดภัย ให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการประกอบศาสนกิจ รวมทั้งการรณรงค์ให้เป็นเดือนรอมฎอนแห่งสันติสุข ส่งผลให้สถานการณ์ในภาพรวมในห้วงเดือนรอมฎอนปีนี้ ดีกว่าห้วงเวลาเดียวกันของปีก่อนๆ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. สถิติเหตุการณ์และการสูญเสียในห้วง 1 เดือนก่อนรอมฎอนและห้วงเดือนรอมฎอน ตั้งแต่ปี 2555 – 2558 ดังนี้

1.1 สรุปสถิติเหตุการณ์และการสูญเสียในห้วง 1 เดือนก่อนเดือนรอมฎอน

- ปี 55 จำนวน 57 เหตุการณ์ (ซุ่มโจมตี 1, ยิง 19, ระเบิด 21, วางเพลิง 15, ปะทะ 1) ซึ่งมีการสูญเสียแยกเป็น เจ้าหน้าที่รัฐ เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 33 ราย ราษฎร เสียชีวิต 15 ราย บาดเจ็บ 29 ราย ผู้ก่อเหตุรุนแรง เสียชีวิต 2 คน

- ปี 56 จำนวน 54 เหตุการณ์ (ยิง 19, ระเบิด 29, วางเพลิง 3, ปะทะ 3) ซึ่งมีการสูญเสียแยกเป็น เจ้าหน้าที่รัฐ เสียชีวิต      21 ราย บาดเจ็บ 51 ราย ราษฎร เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 27 ราย

- ปี 57 จำนวน 38 เหตุการณ์ (ยิง 18, ระเบิด 16, วางเพลิง 1, ฆ่าด้วยวิธีทารุณกรรม 2, ปะทะ 1) ซึ่งมีการสูญเสียแยกเป็น เจ้าหน้าที่รัฐ เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 23 ราย ราษฎร เสียชีวิต 10 ราย บาดเจ็บ 11 ราย ผู้ก่อเหตุรุนแรง เสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บ 2 คน

- ปี 58 จำนวน 12 เหตุการณ์ (ยิง 5, ระเบิด 6, ปะทะ 1) ซึ่งมีการสูญเสียแยกเป็น เจ้าหน้าที่รัฐ เสียชีวิต 8 ราย บาดเจ็บ    27 ราย ราษฎร เสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บ 2 ราย

 

1.2 สรุปสถิติเหตุการณ์และการสูญเสียในห้วงเดือนรอมฎอน

- ปี 55 จำนวน 66 เหตุการณ์ (ซุ่มโจมตี 1, ยิง 28, ระเบิด 26, วางเพลิง 10, ปะทะ 1) ซึ่งมีการสูญเสียแยกเป็น เจ้าหน้าที่รัฐ เสียชีวิต 17 ราย บาดเจ็บ 55 ราย ราษฎร เสียชีวิต 12 ราย บาดเจ็บ 31 ราย ผู้ก่อเหตุรุนแรง เสียชีวิต 1 คน

- ปี 56 จำนวน 70 เหตุการณ์ (ยิง 16, ระเบิด 38, วางเพลิง 15, ปะทะ 1) ซึ่งมีการสูญเสียแยกเป็น เจ้าหน้าที่รัฐ เสียชีวิต       13 ราย บาดเจ็บ 68 ราย ราษฎร เสียชีวิต 9 ราย บาดเจ็บ 14 ราย

- ปี 57 จำนวน 37 เหตุการณ์ (โจมตีที่ตั้ง 1, ยิง 18, ระเบิด 17, วางเพลิง 1,) ซึ่งมีการสูญเสียแยกเป็น เจ้าหน้าที่รัฐ เสียชีวิต 5 ราย บาดเจ็บ 31 ราย ราษฎร เสียชีวิต 16 ราย บาดเจ็บ 75 ราย

- ปี 58 จำนวน 33 เหตุการณ์ (ยิง 8, ระเบิด 20, วางเพลิง 1, ฆ่าด้วยวิธีทารุณกรรม 1, ประสงค์ต่ออาวุธ 3) ซึ่งมีการสูญเสียแยกเป็น เจ้าหน้าที่รัฐ เสียชีวิต 6 ราย บาดเจ็บ 25 ราย ราษฎร เสียชีวิต 9 ราย บาดเจ็บ 19 ราย

2. จากภาพรวมสถานการณ์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าสถิติเหตุการณ์และการสูญเสียลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับ     ห้วงเวลาเดียวกันของปีก่อนๆ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าเจ้าหน้าที่ได้ใช้มาตรการในการดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวด รวมทั้งให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการประกอบศาสนกิจได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งได้รับความร่วมมือจากร้านค้าไม่มีการจำหน่ายจ่ายแจกประทัด และไม่มีการจุดประทัดรบกวนการประกอบศาสนกิจแต่อย่างใด โดยพบว่าสถิติเหตุการณ์ในห้วง 20 วันแรกของเดือนรอมฎอนมีเพียง 11 เหตุการณ์ ในขณะที่ในห้วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนกลับมีเหตุการณ์สูงขึ้นถึง 22 เหตุการณ์ ทั้งนี้เพราะเป็นไปตามความเชื่อที่ถูกบิดเบือนว่าจะได้ผลบุญเป็นทวีคูณ ด้วยการลอบยิงและลอบวางระเบิดต่อพี่น้องประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ควบคู่ไปกับการเคลื่อนไหวชี้นำทางความคิดและบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่ออ้างเป็นความชอบธรรมในการสร้างสถานการณ์ความรุนแรง อย่างไรก็ตามพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงดังกล่าว ได้รับการต่อต้านจากภาคส่วนต่างๆ อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะผู้นำ 8 องค์กรทางศาสนาที่ได้ออกมาแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง เพราะเป็นพฤติกรรมที่ขัดต่อหลักคำสอนของศาสนาอิสลามอย่างร้ายแรง

โฆษก กอ.รมน. ภาค 4 สน. ระบุด้วยว่า "3.กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ยังคงเดินหน้าแก้ไขปัญหาตามแนวทางสันติวิธีภายใต้หลักกฎหมายที่เป็นธรรม และเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน โดยมุ่งเน้นรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินภายใต้ยุทธศาสตร์ประชาชนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เมืองเศรษฐกิจและชุมชนล่อแหลมให้รัดกุมยิ่งขึ้น รวมทั้งเร่งรัดบังคับใช้กฎหมายในคดีสำคัญที่เกิดขึ้นในห้วงรอมฎอนและในห้วงก่อนหน้านี้ เพื่อนำผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนงานการเมืองและการพัฒนาเข้าสู่หมู่บ้านเป้าหมายให้เกิดประสิทธิผลต่อไป"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net