Skip to main content
sharethis

22 ก.ค.2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ ถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ที่คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ จ.กระบี่ ซึ่งชุมนุมอยู่ที่ข้างทำเนียบรัฐบาล ว่า ต้องการให้เข้าใจเกี่ยวกับการชุมนุมเคลื่อนไหว เพราะในอนาคตจะมี พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ หากยังคงชุมนุมอยู่ ก็จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้ให้กระทรวงพลังงานไปทำความเข้าใจแล้ว และการพุดคุยก็ทำมาอย่างต่อเนื่อง หากไม่สามารถตกลงกันได้จนได้ข้อยุติ ก็จะส่งคนกลางเข้าไปพูดคุยแทน และการที่จะนำคนมาชุมนุมเพิ่มเติม ไม่สามารถห้ามได้ จะมาก็มา แต่ต้องให้เข้าใจข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการชุมนุม ว่าไม่สามารถทำได้ขณะนี้ ดังนั้น จึงควรมาพูดคุยกัน น่าจะเหมาะสมกว่า

“การที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่หรือไม่ ผมไม่สามารถบอกได้ ว่าแนวโน้มจะเป็นอย่างไร เพราะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนในพื้นที่ด้วย แต่อยากชี้แจงว่า หากไม่สามารถจัดหาพลังงานทดแทนได้ และในอนาคตไม่มีพลังงานใช้ หรือใช้พลังงานในราคาสูง คนที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ไม่เลื่อนเปิดซองเสนอราคาก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ 5 ส.ค.

วันเดียวกัน ณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จะเดินหน้าทำความเข้าใจกับผู้คัดค้าน ‘โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่’ โดยพร้อมเปิดเวทีรับฟังในภาคใต้ การผลักดันการสร้างโรงไฟฟ้าเพราะเป็นประโยชน์กับคนท้องถิ่น ที่ไฟฟ้าไม่เพียงพอมีความเสี่ยง และ เหตุการณ์แหล่งก๊าซฯ เจดีเอ หยุดจ่ายในขณะนี้ ก็แสดงถึงความไม่มั่นคงด้านพลังงาน โดยโรงไฟฟ้าจะนะ ต้องเดินเครื่องด้วยน้ำมันดีเซลทำให้ค่าไฟแพงขึ้น และต้องนำไฟฟ้าจากภาคกลางไปเสริมเสริมในพื้นที่

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้า ถ่านหินสะอาดกระบี่ อยู่ระหว่างพิจารณาแผนป้องกันผลกระทบด้านสุขภาคและสิ่งแวดล้อม หรืออีเอชไอเอ และเพื่อให้การเตรียมพร้อมก่อสร้างไม่ล่าช้า ทาง กฟผ.ก็ได้ออกประกาศให้เอกชนยื่นซองประกวดราคาก่อสร้าง ในเอกสารระบุดชัดจะได้ก่อสร้างก็ต่อเมื่อ รัฐบาลอนุมัติก่อสร้าง โดยต้องผ่านแผนอีเอชไอเอแล้ว ดังนั้น การเปิดซองประมูลยังเป็นไปตามเวลาที่กำหนดไว้วันที่ 5 สิงหาคมนี้

“ข้อเสนอของผู้คัดค้านที่ให้นำน้ำมันปาล์มมาผลิตไฟฟ้า 2,000 เมกะวัตต์ เรื่องนี้ต้องดูข้อเท็จจริง ปาล์มราคาแพงกว่าน้ำมันเตา และ ทำได้อย่างมากไม่เกิน 200 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาคใต้ที่ 2,700 เมกะวัตต์” ณรงค์ชัย กล่าว

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net