Skip to main content
sharethis

WRITER คุยกับ เตย วจนา วรรลยางกูร ลูกสาว วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนผู้ลี้ภัยทางการเมือง ที่ไม่เคยปฏิเสธว่าตัวเองเป็น "เสื้อแดง" เชิญรู้จักวัฒน์ ในฐานะพ่อ ใครจะรู้ว่านักเขียนที่เคร่งขรึม จะมีมุมตลกโปกฮา ชวนหัวเราะได้ตลอด

หลายคนรู้จักวัฒน์ วรรลยางกูร ดีในฐานะนักเขียน นักแต่งเพลง และคอลัมนิสต์ คนรุ่นใหม่บางคนที่เพิ่งตื่นตัวทางการเมืองคงจะเคยผ่านงานเขียนของวัฒน์มาบ้าง ไม่ก็ต้องเคยได้ยินท่วงทำนองเพลง ‘จากลานโพธิ์ถึงภูพาน’ กันมาบ้าง ในฐานะผู้อ่าน และคนฟังเพลง เรารู้จักวัฒน์ เท่าที่วัฒน์อยากให้เรารู้จักเท่านั้น ซึ่งก็ไม่แปลก

เพื่อกระชับวงล้อมความเป็นกันเองมากยิ่งขึ้น ในเย็นวันอาทิตย์ ที่ร้าน the WRITER’s secret แน่นขนัดไปด้วยเพื่อนนักเขียน และเพื่อนนักอ่านของวัฒน์ ขณะที่ เตย วจนา วรรลยางกูร ลูกสาวคนเล็กนั่งอยู่ด้านหน้า เตรียมพร้อมเล่าเรื่องราวของพ่อ นักเขียนผู้ไม่เคยปฏิเสธว่าตัวเองเป็น “คนเสื้อแดง” เผยทุกแง่มุมชีวิตของวัฒน์หลังรัฐประหารปี 49 ถึงรัฐประหารครั้งล่าสุด กับการต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองอีกครั้ง และคุยลงลึกไปถึงเรื่องราว “น่ารัก” ในครอบครัว

บรรยากาศในร้านหนังสือเล็กๆ จุคนได้เต็มที่ 30 – 40 คน อบอวลคละเคล้าด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และหยดน้ำตา การพูดคุยที่เรียบง่ายเป็นกันเอง เริ่มต้นขึ้นก่อนฝนโปรย และปิดฉากลงเมื่อฝนซาลง พร้อมกับคลิปของวัฒน์ จากแดนไกล ซึ่งฝากความคิดถึงสู่มิตรสหายน้ำหมึก และฝากความห่วงใยถึงกวีกระเด้าลม กวีแห่งประเทศพิศดาร...

หมายเหตุ: เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมาร้าน the Writer’ secret จัดงานเปิดตัวหนังสือ WRITER ฉบับที่ 36 “โทษฐานที่เขียน” โดยภายในเล่มมีบทสัมภาษณ์วัฒน์ วรรลยางกูร รวมอยู่ด้วย จึงได้เชิญ วจนา วรรลยางกูร มาพูดคุยเรื่องราวของพ่อ ดำเนินการสัมภาษณ์สดอีกครั้งโดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล ประชาไทถอดความ เก็บบรรยากาศมานำเสนอ

(ที่มาภาพ:Writer Thailand)

 “ช่วงความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง บางคนตั้งข้อสงสัยว่าทำไมวัฒน์เปลี่ยนไป บ้างว่ารุนแรงขึ้น บ้างก็ว่าทิ้งแนวงานยุคก่อน บางคนเหยียดหยัน เพราะจุดยืนทางการเมือง นั้นเพราะเขาไม่รู้จักวัฒน์ดีพอ...” ส่วนหนึ่งจากคำนำซึ่งเขียนโดย วจนา วรรลยางกูร ในหนังสือ กวีปราบกบฏ

พันธวัฒน์: ในฐานะที่เป็นลูกสาว มองเห็นพ่อเป็นอย่างไร วัฒน์ในสายตาของลูกสาวเป็นอย่างไร

ก่อนอื่นอยากบอกว่าวันนี้น่าจะเป็นการพูดคุยในฐานะมุมมองของครอบครัว เพราะถ้าพูดถึงวัฒน์ในฐานะที่เป็นนักเขียน หรือในฐานะที่สังคมรู้จักกัน เชื่อว่าหลายคนในนี้น่าจะรู้จักวัฒน์ดีกว่าเตย แต่ในมุมมองของเตยก็จะเล่าว่าในฐานะลูกสาว พ่อเป็นอย่างไร

จากคำนำที่เขียน ทุกคนรู้ดีอยู่แล้วว่าตั้งแต่หลังจากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 แน่นอนว่าผลงานของวัฒน์ วรรลยางกูร เกี่ยวข้องกับการเมืองมาโดยตลอด แต่หลังจากปี 2549 พ่อก็ออกมาบนท้องถนนอีกครั้ง เริ่มแสดงตัวทางการเมืองอย่างชัดเจนมากขึ้น ในฐานะครอบครัว ไม่ว่าพ่อจะทำอะไร เราก็สนับสนุน เรามาด้วยกันตลอด จนช่วงหลังการเมืองรุนแรงมากขึ้น เริ่มมีเสื้อ เริ่มมีสี พ่อก็ไปขึ้นเวที นปช. เป็นเสื้อแดง และพ่อไม่เคยปฎิเสธเลยว่า ตัวองเป็นเสื้อแดง พ่อไม่ได้คิดว่ามันแย่อย่างไร ไม่จะ นปช. หรือเสื้อแดง ย่อมมีจุดด้อย จุดที่คนไม่ชอบ หลายคนอาจจะเห็นด้วย แต่ไม่อยากอยู่ด้วย แต่พ่อรู้ว่าตัวเองทำอะไร รู้ว่าตัวเองเข้าไปทำไม รู้ว่าการขึ้นไปบนเวที ซึ่งแน่นอนมันไม่ใช่หน้าที่หลักของนักเขียนเลย นักเขียนคือ การเขียนงานไม่ว่าจะด้วยจุดมุ่งหมายอะไร ตีแผ่สังคม หรือสะท้อนชีวิต แต่พ่อเลือกการพูดบนเวที และไม่ใช่แค่นั้น ไม่ใช่แค่บนเวทีที่มีการถ่ายทอดสด พ่อยังลงไปตามตำบล ไปตามอำเภอ หมู่บ้านเล็กๆ บางที่มีชาวบ้านรอเขาอยู่เพียง 5 คน 10 คน เขาก็เดินทางไปพูด เติมน้ำมันก็จ่ายเอง เพื่อไปต่างจังหวัด ขับรถหลายร้อยกิโลเมตร เพื่อไปคุยกับชาวบ้านแค่ไม่กี่คน เพื่อทำความเข้าใจ มีคนหลายคนรอฟังเขาอยู่ ซึ่งพ่อกลับมาพูดเสมอว่า บางเรื่องชาวบ้านรู้มากว่าเขาอีก การไปหาชาวบ้านไปได้เป็นการไปชี้แนะชี้นำอะไร เป็นเพียงการเข้าไปยืนยันว่า สิ่งที่พวกเขาคิดมีคนเห็นด้วยกับเขาอยู่

นักเขียนฝ่ายก้าวหน้าหลายคนเห็นด้วยกับแนวทางนี้ แต่ว่าไม่อยากถูกมองว่าตัวเองเป็นเสื้อแดง แต่พ่อทำ เพราะเชื่อว่ามันน่าจะมีอะไรเกิดขึ้นได้ และการเป็นเสื้อแดงนี่เองที่มันสร้างผลกระทบทั้งกับตัวพ่อเอง และกับครอบครัว ชื่อเสียง การงาน คนรู้จัก ในแวดวงนักเขียน เพื่อนที่เคยบสนิทสนมกัน ก็เหลือไม่กี่คน ที่ยังรองรับในแนวทางที่พ่อเชื่อ เรียกได้ว่าเป็นเหมือนการถีบหัวส่งออกจากสมาคม แต่ก็ยังมีเพื่อนในวงการการนักเขียนที่อ้างแขนรอรับอยู่ แม้ว่าจะเป็นเพื่อนที่ไม่ได้สนิทกันมาก่อน

เพื่อนของพ่อช่วง 5 ปี ถึง 10 ปี ให้หลังเปลี่ยนหน้าไปอย่างสิ้นเชิง เพราะเรื่องการเมือง บางทีเราคิดว่าเราเห็นต่างกันเรายังเป็นเพือนกันได้ แต่เรื่องการเมืองมันเข้ามาถึงชีวิต เข้ามาถึงการทำงาน และเรื่องส่วนตัว คอลัมของพ่อช่วงหลังถูกยกแทบหมดเลย เรื่องการเมืองไม่ใช่เรื่องผิวเผินที่เรามาคุยกัน แล้วกับบ้านไปนอนเป็นปกติได้ มันส่งผลกระทบมาก ส่งผลกระทบมาถึงครอบครัว

พอเจอเหตุการณ์แบบนี้ มีวิธีการคุยกับพ่ออย่างไร แก้ปัญหา หรือผ่านสถานกาณ์เหล่านี้ไปได้อย่างไร

ตั้งแต่หลังรัฐประหารครั้งล่าสุด พ่อออกจากบ้าน ออกจากประเทศไป คือมันไม่ใช่การมานั่งคุยกันว่าเราจะผ่านปัญหานี้ไปอย่างไร เพราะว่าเรารู้อยู่แล้วพ่อจะตัดสินใจอย่างไร ปัญหาที่คิดก็คือ เป็นห่วงว่าพ่อจะอยู่อย่างไร เพราะบ้านเราก็ไม่ใช่คนที่มีเงินถุงเงินถังที่จะสามารถส่งพ่อไปอยู่ต่างประเทศไปเป็นปี แต่ปัญหาทุกอย่างมันก็เข้ามาแล้วมันก็ผ่านไป ด้วยความช่วยเหลือของหลายๆ คน บางคนเราไม่รู้จักด้วยซ้ำ แต่เขาก็ช่วยพ่อเรา

ที่เล่าว่าพ่อไปขึ้นเวที ไปหาชาวบ้าน ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว ก็ไม่ใช่งานของนักเขียนเลย เคยถามพ่อไหมว่า พ่อทำไปเพื่ออะไร

เราคุยกับพ่อหลายครั้งนะ อาจจะไม่ชอบใจด้วยซ้ำ เรารู้สึกว่าพ่อเป็นนักเขียนเราอยากเห็นนิยายเล่มใหม่ของพ่อ อยากเห็นเรื่องสั้นของพ่อ คอลัมม์ของพ่อ เหมือนที่เคยเป็น แต่เขาก็เลือกจะทำ อย่างที่บอกมันไม่ใช่งานของเขา ทำไมจะต้องเอาตัวไปเสี่ยง แต่ว่าเมื่อมันถึงวันที่ไม่ใครทำแล้ว ทุกคนก็อาจจะคิดเหมือนกันหมด แต่เมื่อถึงเวลาแล้วมันอาจจะไม่ทัน มันเป็นสิ่งที่เขาพอจะทำได้ มันเป็นการกระทำที่รองรับความคิดของเขา เขาทำแล้วเขาก็พร้อมที่จะรับผลจากการที่เขาทำ แม้มันจะไม่ใช่งานของนักเขียนก็ตาม แต่ด้วยแนวคิดที่เขายึดถือ ยังไงเขาก็จะทำ ล่าสุดก็ยังคุยกันอยู่เลยว่า พ่อเป็นนักเขียนนะ งานของพ่อคือเขียนงาน เราเองในฐานะครอบครัวก็อยากให้พ่อเพลาลงบ้าง เพราะว่าบางทีผลกระทบที่ได้รับมันมาก จนอยากให้เข้ากลับมาเป็นนักเขียนเฉยๆ มันอาจจะเป็นความเห็นแก่ตัวของครอบครัว

พ่อเลี้ยงลูก 3 คน ด้วยอาชีพนักเขียนเพียงอย่างเดียว มีช่วงหนึ่งที่ต้องส่งลูก 3 คนเรียนมหาวิทยาลัยพร้อมกัน แต่พ่อก็ทำ

"เราคิดถึงเราก็โทรหา แต่อาจจะต่างตรงที่ว่า เขาอยู่ที่นั้นเขาอยู่ตัวคนเดียว เขาอาจจะเหงามากกว่าเดิม"

เตยเคยบอกว่าพ่อเป็นคนติดบ้าน

บ้านที่ไทรโยค เป็นที่ที่พ่อซื้อไว้ตั้งแต่ตอน ย้ายไปอยู่ท่าเสา เป็นเงินที่ได้จากการเขียนหนังสือ ซื้อไว้แล้วก็ค่อยๆ สร้าง พอหนังสือได้พิมพ์ทีหนึ่ง ก็จะเอามาทำบ้านเรื่อยๆ มันเป็นบ้านที่สร้างไม่เคยเสร็จ ไม่มีคนอยู่แล้วก็ยังสร้างไม่เสร็จ ตอนนั้นก็มีหมามีแมวมาอยู่ เขาห่วงหมากับแมวมากกว่าลูกด้วยซ้ำ คือบ้านเราอยู่ข้างสำนักสงฆ์ ก็เป็นปกติที่วัดก็จะมีคนเอาหมาเอาแมวมาทิ้ง จนมีคนชอบล้อกันว่าข้างหนึ่งเป็นวัด อีกข้างเป็นบ้านวัฒน์ หมาแมวก็จะหลงเข้ามาในบ้านวัฒน์ กลายเป็นว่าที่บ้านมีหมากับแมว สอบ ยี่สิบตัว ทุกเช้าเวลาพ่อไปวิ่งเสร็จกลับมาทำนู้นทำนี่ ยังไม่ทำกับข้าวคน ต้องทำกับข้าวให้หมาแมวก่อน คิดดูเถอะหมากับแมวเกือบยี่สิบตัว คนได้กินข้าวตอนเที่ยงพอดี เวลาเรากลับบ้านเราก็จะโกรธพ่อ เที่ยงแล้วคนยังไม่มีข้าวกินเลย หมากับแมวได้กินก่อน

อีกอย่างพ่อไม่มีบ้านที่กรุงเทพฯ เวลามากรุงเทพฯ มาประชุม มาพูด หรือมาทำอะไร ก็จะขับรถมา 3 ชั่วโมง แล้วถ้าไม่ติดขัดอะไรทุกครั้งทุกวันจะต้องกลับบ้าน เพราะที่บ้านมีลูก มีหมา มีแมว มีต้นไม้ที่ต้องรดน้ำ สมมติว่าวันนี้งานเสร็จ ห้าทุ่ม เที่ยงคืน ก็จะขับรถกลับบ้าน แล้วพรุ่งนี้ตื่นเช้ามาก็จะขับรถเข้ากรุงเทพอีก เข้ามาทำงานอีก พ่อติดบ้านขนาดนั้น

แล้วตอนที่อยู่ไกลกัน ยังได้มีการโทรหาพูดคุยกันไหม

ก็ยังติดต่อกันอยู่ตลอด เหมือนเดิม เหมือนตอนอยู่ไทย ค่อนข้างจะเป็นปกติด้วยซ้ำ เพราะตอนอยู่ที่ไทยตั้งแต่เรากับพี่เข้ามหาวิทยาลัย การกลับบ้านก็น้อยลงไป ตามอายุที่เพิ่มขึ้น จากสองเดือน สามเดือน ก็เปลี่ยนเป็นกลับบ้านปีละสองครั้ง พอเขาไปอยู่ที่นั่นมันก็ไม่ต่างกันเลย เราอาจจะได้เจอกันปีละครั้งหรือสองครั้ง ส่วนการพูดคุยโทรหาก็ยังเป็นไปได้เหมือนเดิม เราคิดถึงเราก็โทรหา แต่อาจจะต่างตรงที่ว่า เขาอยู่ที่นั้นเขาอยู่ตัวคนเดียว เขาอาจจะเหงามากกว่าเดิม

ทุกวันนี้พ่อยังได้เขียนงานอยู่บ้างไหม

เขาก็บอกว่าจะมีนิยายเล่มใหม่ แต่ก็ยังเขียนเรื่อยๆ ตอนแรกเขาเขียนเป็นเรื่องสั้น ก็เขียนเป็นเรื่องสั้นส่งมาให้เราอ่านก็เป็นเรื่องสั้นหลังการรัฐประหาร เหตุการณ์ความวุนวายทั้งหมด แต่เขียนไปเขียนมาอาจจะไม่พอมือก็เลยเขียนเป็นนิยาย ตอนนี้ก็ยังเกลาอยู่

"ก็แล้วแต่ว่าลูกคนไหนว่าง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรา ก็จะมาดูแลพ่อว่าเป็นยังไงบ้าง เวลาจะไปกินเหล้าก็จะถามว่า กินข้าวก่อนหรือยัง จะไปกับใคร จะไปนอนที่ไหน จะกลับบ้านไหม"

ถ้าย้อนไปตอนที่พ่อยังอยู่ในไทย แต่ตั้งตอนเตยเด็กๆ เขาไปทำกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ ได้พาลูกไปด้วยไหม

ก็พาไปแต่มันก็เป็นไปตามอายุ บ้านเรามีพี่น้อง 3 คน ทุกคนก็จะแซวว่าถ้างานไหนใหญ่จริง วัฒน์จะพาลูกมาครบทั้งสามคน เพราะว่าการพาลูก 3 คน ไปไหนมาไหนด้วยมันเป็นอะไรที่ยากมาก ส่วนใหญ่ก็จะสลับกันไป เราเป็นลูกคนเล็กก็จะติดพ่อแม่มากกว่า ก็จะได้ไปบ่อยกว่า

ช่วงที่ได้ไปบ่อยคือช่วงไหน ช่วง 49 หรือว่าหลังจากนั้น

ถ้านับตั้งแต่ก่อน 49 เวลามีกิจกรรมมีเสวนาอะไรพ่อก็จะพาลูกๆ ไปตลอด ถ้าไม่ติดออะไรก็จะถามว่าอยากไปไหม ถ้าอยากไปก็ไปด้วยกัน แต่ว่าตั้งแต่หลังรัฐประหาร 49 ประมาณเดือนหนึ่งเริ่มมีการชุมนุมกันที่สนามหลวง ตอนนี้พี่ชายคนโตเพิ่งจะเข้ามหาวิทยาลัย เรียนอยู่ศิลปากร เช่าหออยู่แถววังหลัง ปกติแม่ก็จะนั่งรถไฟมาหาพี่ชายทุกอาทิตย์ แล้วก็ทำกับข้าวซื้อนั่นซื้อนี่มาให้พี่ชาย ช่วงก็เลยเป็นการมาเยี่ยมพี่ชายตอนกลางวัน แล้วตอนเย็นทุกคนก็จะไปสนามหลวงกัน เพื่อไปร่วมชุมนุม หลังจากนั้นก็แทบจะทุกอาทิตย์ ทุกเดือนที่เราเข้ามากรุงเทพกัน ก็แล้วแต่ว่าลูกคนไหนว่าง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรา ก็จะมาดูแลพ่อว่าเป็นยังไงบ้าง เวลาจะไปกินเหล้าก็จะถามว่า กินข้าวก่อนหรือยัง จะไปกับใคร จะไปนอนที่ไหน จะกลับบ้านไหม

แต่พอเราเข้ามหาวิทยาลัยช่วงปี 1-2 ก็จะผลัดกันกับพี่ชาย พี่ชายคนโตเรียนจบก็จะเป็นพี่ชายที่มาอยู่กับพ่อ เรียนจบก็ยังไม่ได้ทำงานอะไร ก็ไปเป็นคนขับรถพาพ่อมาม๊อบ

"ตอนเช้าออกไปวิ่งรับออกซิเจน แต่ว่ากินเหล้าหนักมาก ตีห้าไปวิ่งเสร็จมาปุ๊บ ก็จะมาเปิดไวน์กิน นั่งกินจนถึงสายๆ แล้วทำกับข้าวกินเสร็จตอนเที่ยง แล้วก็กินเหล้าต่อ ตกเย็นก็เมาแล้ว"

ขอแทรกเรื่องกินเหล้านิดนึง พ่อพาไปม๊อบแล้ว พ่อได้พ่อไปวงเหล้าบ้างไหม

วงเหล้านี่ ตั้งแต่จำความได้ ผู้ใหญ่ทุกคนชมเราว่าเป็นเด็กที่นั่งฟังผู้ใหญ่พูดคุยกันได้ทั้งคืน ก็ไม่รู้ว่ามันเป็นเรื่องที่เด็กจะเอ็นจอยหรือเปล่า แต่ก็นั่งได้เรื่อยๆ ทุกคนจะรู้ว่าถ้ามีพ่อเราก็จะมีแก้วกาแฟในมือ ซึ่งน้ำในนั้นก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

เรื่องการกินเหล้ามันส่งผลต่อสุขภาพเขาบ้างไหม

ถ้าพูดถึงสุขภาพตอนนี้คือ แข็งแรงเวอร์ เออเป็นโรคอะไรบ้างเถอะ กินหนักมากตั้งแต่ตอนหนุ่ม ควรจะเป็นอะไรสักอย่าง แต่ก็ไม่เป็น ไม่เข้าใจเหมือนกัน แต่เขาก็เป็นคนที่ดูแลสุขภาพ ชอบกินผัก เป็นรักสุขภาพ ทุกมื้อจะต้องมีผัก ไม่มีผักก็จะบ่น ต้องมีผัก มีน้ำพริก ตอนเช้าออกไปวิ่งรับออกซิเจน แต่ว่ากินเหล้าหนักมาก ตีห้าไปวิ่งเสร็จมาปุ๊บ ก็จะมาเปิดไวน์กิน นั่งกินจนถึงสายๆ แล้วทำกับข้าวกินเสร็จตอนเที่ยง แล้วก็กินเหล้าต่อ ตกเย็นก็เมาแล้ว ก็เลยสงสัยว่าทำไมไม่เป็นอะไรวะ (หัวเราะกันทั้งงาน)

แต่ถ้าพูดถึงผลกระทบน่าจะเป็นกับครอบครัวมากกว่า โดยเฉพาะกับแม่ พ่อทะเลาะกับแม่เรื่องกินเหล้า จนแม่เริ่มหมักสาโทให้พ่อกิน หมักเป็นถังๆ จนได้นิยายเรื่องสิงห์สาโทขึ้นมา แล้วแม่ก็เริ่มขยับจากสาโทที่หมักสามวันกินได้ แต่ว่ามันเสียไว ก็เปลี่ยนมาเป็นหมักไวน์ เพราะมันอยู่ได้นานกว่า แม่ไปเข้าคอร์สเรียนกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อที่จะหมักไวน์ให้พ่อกิน ทำเป็นล่ำเป็นสันจนตั้งห้างหุ้นส่วนแล้วก็ทำขาย จนกลายเป็นอีกอาชีพของแม่ แต่ก็ยังทะเลาะกับพ่ออยู่ เพราะพ่อกินจนแม่ทำบัญชีไม่ถูก ไม่รู้ว่ามันหายไหน

"จริงหลายคนคิดว่าพ่อเราดุ แต่จริงแล้วเป็นคนบ้าๆ บอๆ ช่วงหลังอาจจะเพลาลงบ้างแล้ว เหลือแค่ความบ้าในการใช้ชีวิต แต่ช่วงหนุ่มบ้ามาก เขาเป็นคนเอ็นจอยตลอด กินเหล้า ร้องเพลง บางทีเพื่อนลูกมาบ้าน ก็เห็นแล้วว่าเพื่อนลูกมา ก็จะนุ่งผ้าขาวม้าตัวเดียวยืนหน้ากระจกแล้วก็เต้น เต้นจนกว่าลูกจะอาย"

แล้วระหว่างพ่อกับแม่ ใครเป็นคนดุ ใครเป็นคนโอ๋ ใครเป็นคนสอน

ทุกเรื่องในบ้านแม่จะเป็นคนดูแลหมดเลย คือแม่เป็นคนใจดี แต่ว่าขี้บ่นตามประสาแม่ทั่วไป แม่ดูแลทุกเรื่อง เรื่องการบ้านลูก ลูกสอบแอดมิดชั่นต้องใช้คะแนนเท่าไหร่ ตัวไหนบ้าง เรื่องงานช่างแม่ก็เป็นคนดูแล ส่วนพ่อจะเป็นคนโอ๋ พอโดนแม่ดุก็จะวิ่งไปหาพ่อ หรือเรื่องขอของเวลาขอแม่ แม่ก็จะไม่ให้อะไรอยู่แล้ว ก็วิ่งไปหาพ่อ ขอพ่อแทน หรืออย่างบางทีเป็นเรื่องที่แม่แอนตี้มากๆ ไม่เอาเลย ไม่ให้เลย เราก็จะมีวิธีการ ถือรองเท้าไปวิ่งกับพ่อดีกว่า พ่อก็รู้ตั้งแต่ผูกเชือกรองเท้า ก็จะถามว่าจะเอาอะไร แล้วก็ไปวิ่งกันก็จะได้ขอที่อยากได้

จริงหลายคนคิดว่าพ่อเราดุ แต่จริงแล้วเป็นคนบ้าๆ บอๆ ช่วงหลังอาจจะเพลาลงบ้างแล้ว เหลือแค่ความบ้าในการใช้ชีวิต แต่ช่วงหนุ่มบ้ามาก เขาเป็นคนเอ็นจอยตลอด กินเหล้า ร้องเพลง บางทีเพื่อนลูกมาบ้าน ก็เห็นแล้วว่าเพื่อนลูกมา ก็จะนุ่งผ้าขาวม้าตัวเดียวยืนหน้ากระจกแล้วก็เต้น เต้นจนกว่าลูกจะอาย หรือว่าเวลาไปข้างจู่ๆ ก็จะร้องเพลงออกมาแล้วก็เต้นๆ เต้นเพราะว่ารู้ว่าลูกจะอาย จะทำจนกว่าลูกจนบอกว่า พ่อหยุดเถอะ อายแล้ว หลายครั้งแม่บอกว่าไม่ต้องไปสนใจเขา ปล่อยเขาเต้นไปเถอะเดี๋ยวเหนื่อยเขาก็หยุดเองแหละ

อย่างนี้เหมือนแม่เป็นเสาหลักของบ้านหรือเปล่า

ภาพที่จำได้ตั้งแต่ตอนเด็ก คือพ่อนั่งพิมพ์ดีดอยู่ แล้วแม่ปีนขึ้นไปซ้อมหลังคา(หัวเราะ) คือแม่ทำได้ทุกอย่าง คือก่อนที่จะมาทำไวน์ อาชีพแม่ก็เป็นแม่บ้าน แต่ว่าตอนเราเด็กๆแม่ขายวัสดุก่อสร้าง เป็นช่วงที่พ่อหยุดงานเขียนแล้วก็มาช่วยแม่ขับรถส่งของ พอมันเจ๊ง แม่ก็มาปลูกเห็ด เรียนรู้เอง อ่านหนังสือเอง เลี้ยงนกกระทา เลี้ยงไก่ ตอนเด็กๆ เราต้องไปช่วยถอนขนไก่เป็นประจำ ชี้ช่วงงานตรุษจีนงานจะล้นมือมาก แล้วพอเริ่มทำสาโท ไวน์ ช่วงก่อนแม่จะเสีย เหมือนเขาอิ่มตัวกับการทำไวน์ ซึ่งหนักใจมากเรื่องการทำบัญชี เขาก็เปลี่ยนไปทำลูกชิ้น ทำไส้กรอก คือเป็นคนยุ่งตลอดเวลา

ทุกเรื่องของพ่อ แม่จะรู้หมด แม่เป็นคนพิมพ์หนังสือให้พ่อ งานบางชิ้นที่ลงทุนพิมพ์เองเป็นจะ บก. ให้ ไปติดต่อโรงพิมพ์ให้ เวลาไปออกงานแม่ก็จะเป็นคนไปตั้งบูทขายของให้พ่อ คือทำทุกอย่างจัดการทุกอย่าง

"เขาไม่มาบอกหรอกว่า อ่านอันนี้นะ พ่อเขียนอันนี้ แต่เขาชอบแซวว่า ใกล้เกลือ อย่ากินด่าง รู้ว่าต้องอ่านอะไรก็อ่าน"

"เขาก็จะพูดอย่างภูมิใจมาก ถึงลูกผมมันไม่ชอบฟัง แต่อย่างน้อยมันร้องเพลงครูไพบูลย์ ได้ทุกคน มันจะร้องไม่ได้ได้ยังไงก็เล่นเปิดเช้าเปิดเย็น แล้วร้องตลอดเวลา"

เรื่องการอ่านหนังสือ พ่อปลูกฝังลูกๆ อย่างไร

มันก็เป็นการปลูกฝัง แต่ไม่ใช่เป็นการยื่นตรงๆ ว่าอ่านเล่มนี้สิ เล่มนี้ต้องอ่าน แต่เราสามคนเกิดมา โตมา มันก็มีหนังสือแวดล้อมอยู่แล้ว แล้วเวลาว่างของพ่อกับแม่ก็คือการอ่านหนังสือ อย่างพ่อเราอ่านหนังสือเยอะมาก วันหนึ่งนอกจากเวลากินเหล้าก็คือเวลาอ่านหนังสือ เอ๊ะไม่รู้ว่าจะเหลือเวลาเท่าไหร่(หัวเราะ) เรากับพี่ก็อ่าน มันเหมือนเป็นการซึมซับโดยไม่รู้ตัว อย่างพ็อตเก็ตบุ๊คเล่มแรกที่พ่อให้เรา ตอนประมาณ ป.2 ซึ่งเป็นหนังสือที่ไม่มีการ์ตูนเลย เป็นตัวหนังสืออย่างเดียว เป็นวรรณกรรมเยาวชน เราดีใจมากเหมือนเป็นการที่พ่อยอมรับ เหมือนเป็นการเข้าสังคมในบ้าน พ่อยอมรับว่าอ่ะ อ่านได้แล้วนะ

ตอนแรกเราอิจฉามากที่เห็นพี่ชายอ่านหนังสือออก อย่างที่บอกคือ ทุกคนในบ้านมีหนังสือคนละเล่ม ตอนเราอยู่อนุบาลเราอ่านหนังสือไม่ออก เราไม่หยิบหนังสือมา เอามาถือไม่รู้ว่ามันกลับหัวกลับหางหรือเปล่า มาแกล้งอ่านจนมีคนเดินมาเจอแล้วบอกว่า เฮ้ยทำอะไร อ่านไม่ออกไม่ใช่เหรอ

โดยสภาพแวดล้อมแล้วมันทำให้เรารักการอ่านโดยธรรมชาติอย่างนั้นหรือเปล่า

เหมือนเป็นเรื่องปกติ ความเปลี่ยนแปลงมันก็เป็นไปตามสมัยที่เริ่มมีเกสม์ มีอะไร เราถึงเริ่มไปมีงานอดิเรกชนิดอื่น แต่ว่าถึงจะไปทำอย่างอื่น แต่ว่าการอ่านหนังสือก็เป็นเรื่องที่ชอบเหมือนกันทั้งครอบครัว ส่วนแม่ก็จะชอบบ่นเพราะลูกแต่ละคนอ่านหนังสือไม่ยอมเลิก เป็นแม่ที่ต้องไล่ลูกไปทำอย่างอื่นไปอ่านหนังสือสักทีไปทำอย่างอื่นสักที

อย่างหนังสือของพ่อ ต้นฉบับของพ่อ เขาเอาให้อ่านไหม หรือบอกหรือเปล่าว่าพ่อเป็นนักเขียน

คือรู้อยู่แล้ว แต่เขาไม่มาบอกหรอกว่า อ่านอันนี้นะ พ่อเขียนอันนี้ แต่เขาชอบแซวว่า “ใกล้เกลือ อย่ากินด่าง รู้ว่าต้องอ่านอะไรก็อ่าน”(หัวเราะ)

ส่วนเรื่องพ่อเป็นนักเขียนก็รู้มาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว แต่ก็รู้สึกว่ามันเป็นอาชีพแปลกๆ ตอนเราเด็กเราอยู่ที่ท่าเสา เรียนที่ท่าเสา เห็นพ่อแม่เพื่อนทำค้าขาย ทำอะไรต่ออะไร แต่พ่อแม่เราในสายของคนท่าเสาที่ไม่รู้จักกันคือ เขามองว่าเป็นคนบ้าๆ บอๆ อยู่บ้านไม่ทำงานทำการอะไร วันๆ กินแต่เหล้า อยู่ในป่า เป็นใครก็ไม่รู้อยู่ในชุมชน อาจจะดูอันตรายด้วยซ้ำ

เรื่องเพลง พี่วัฒน์ชอบฟังลูกทุ่ง ได้มาเสี้ยมลูกให้ฟังเพลงแนวเดียวกันไหม

เรื่องเพลงเขาไม่ได้มาห้ามอะไร พวกเราสามคนก็เป็นวัยรุ่นธรรมดาก็ฟังเพลงทั่วไป แต่ว่าทุกวันเขาก็จะเปิดของเขา ทูลทองใจ สรคีรี ศรีประจวบ เพลงที่ครูไพบูลย์แต่งทุกเพลง เขาเปิดให้ฟังตลอด แล้วเขาก็จะพูดอย่างภูมิใจมาก ถึงลูกผมมันไม่ชอบฟัง แต่อย่างน้อยมันร้องเพลงครูไพบูลย์ ได้ทุกคน มันจะร้องไม่ได้ได้ยังไงก็เล่นเปิดเช้าเปิดเย็น แล้วร้องตลอดเวลา(หัวเราะ)

กับเรื่องการเมือง สถานการณ์ทางการเมือง พ่อได้สอน ได้บอกอะไรบ้างไหม

ไม่เชิงสอน แต่เป็นการเล่า บ่นให้ฟังมากกว่า บางทีนั่งกินข้าวกันอยู่ก็มาพูดเรื่อง 2475 เหมือนอยากให้ลูกรู้ด้วย เขาเองก็อ่านหนังสือประวัติศาสตร์เยอะมาก ช่วงหลังหนังสือวรรณกรรม เขาไม่ค่อยแตะเลยด้วยซ้ำ หันมาอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ หนังสือการเมือง วิเคราะห์เรื่องพวกนี้มากกว่า เขาไม่ได้สอนโดยตรง แต่เป็นการคุยกันมากกว่า เราก็แย้งเขาได้นิดๆ เขามีความมั่นใจของเขา

"เราในฐานะครอบครัวมันก็เจ็บปวด พ่อไม่อยู่บ้าน ต้องทิ้งบ้านไป ในแง่สถานการณ์ ในแง่การเมืองมันก็น่าเจ็บใจอยู่แล้ว แต่ในแง่ครอบครัวไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เราว่าสถานการณ์ของครอบครัวเราอาจจะไม่หนักหนาด้วยซ้ำ คนอื่นหนักกว่านี้ คนอื่นพ่ออยู่ในคุก คงเจ็บปวดกว่านี้"

หลังจากแม่เสีย การเคลื่อนไหวทางการเมืองของพ่อแรงขึ้น หรือชัดเจนขึ้นไหม

ในแง่ของการปฏิบัติ แต่ว่าถ้าเป็นเรื่องความคิดพ่อก็แรงมาตั้งนานแล้ว แต่พอแม่เสียเหมือนเขากลับมาเป็นหนุ่มโสดอีกครั้ง แต่ที่เรายังเรียนอยู่เขาอาจจะยังไม่เต็มที่เท่าไหร่ แต่พอเราเรียนจบเหมือนเขาปลดแอก ไม่มีภาระอะไรในครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบอีก ทุกคนก็แฮปปี้ที่พ่อกลับมาเป็นหนุ่มอีกครั้ง กลับมามีความสุขกับการเดินสายร้องเพลง มีวงของตัวเอง ซึ่งคนอายุเท่าเขากลับมาโลดแล่น ลูกๆ ก็ ok แล้ว

ที่เคยเล่าให้ฟัง ตอนเราเรียนจบ เราต้องทำละคร thesis ครอบครัวก็ไปดู พี่ชายเล่าให้ฟังว่า พ่อเดินออกมาข้างนอก หลบอยู่หลังต้นไม้ แล้วก็ร้องไห้คนเดียว ไม่รู้ว่าเสียใจหรือว่าดีใจ (หัวเราะ) แต่สิ่งหนึ่งอาจจะเป็นความรู้สึกว่าส่งลูกคนสุดท้ายเรียนจบแล้ว

แล้วตัวเตยเองคิดอย่างไรกับสถานการณ์ หรือคิดอย่างไรก็เรื่องราวที่พ่อต้องลี้ภัยทางการเมือง

คือมันโกรธ ไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นอีกในระยะเวลาใกล้ๆ กัน เพิ่งผ่านมาไม่กี่ปีมันก็เกิดขึ้นอีกแล้ว แล้วครั้งนี้มันรุนแรงกว่าเดิม เกิดการกวาดล้าง คนจำนวนมากโดนคุกคาม บางคนโดนไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำ เป็นคนที่ไม่มีใครรู้จักแต่ก็ยังโดน มันเป็นสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เราในฐานะครอบครัวมันก็เจ็บปวด พ่อไม่อยู่บ้าน ต้องทิ้งบ้านไป ในแง่สถานการณ์ ในแง่การเมืองมันก็น่าเจ็บใจอยู่แล้ว แต่ในแง่ครอบครัวไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เราว่าสถานการณ์ของครอบครัวเราอาจจะไม่หนักหนาด้วยซ้ำ คนอื่นหนักกว่านี้ คนอื่นพ่ออยู่ในคุก คงเจ็บปวดกว่านี้

00000

ภาพวัฒน์ วรรลยางกูร กับครอบครัว (ที่มาภาพ:Writer Thailand)

ก่อนจบช่วงพูดคุย เตย หยิบ WRITER ฉบับที่ 36 โทษฐานที่เขียน ขึ้นมาอ่านจดหมายที่พี่ชายคนรอง แตน วสุ วรรลยางกูร เขียนถึงพ่อ ในวันไกลบ้าน โดยมีใจความดังนี้

ตอนสมัยประถมครูให้วาดภาพอาชีพที่อยากเป็น เพื่อนบางคนวาดภาพทหาร ตำรวจ พ่อค้าแม่ค้า ต่างกันไป ผมคนเดียวในห้องที่วาดภาพว่าโตขึ้นอยากเป็นนักเขียน ทั้งๆที่ไม่รู้เลยว่าอาชีพนักเขียนคืออะไร รู้แต่พ่อบอกว่าพ่อเป็นนักเขียน ผมรู้สึกว่ามันเท่ดีที่ไม่มีใครในห้องรู้ว่ามันคืออะไร จนทุกคนเริ่มสนใจ ครูก็ด้วย จนมีวันนึงครูถึงกับจัดโปรแกรมยกทั้งคลาสเรียนมาที่บ้านดูการทำงานของอาชีพ นักเขียน นั่งดูพ่อเขียนหนังสือเสียอย่างนั้น

ภาพเพื่อนๆนับสิบ มุดโต๊ะพ่อ เกาะตามหน้าต่าง ปีนโอ่งน้ำ เพ่งดูพ่อเขียนหนังสือ และบรรยายว่าเขาเขียนอะไรบ้างส่งให้ที่ไหน ยังติดตรึงอยู่ในความทรงจำ จำได้ดีว่าวันนั้น แม่ไปเหมานมเปรี้ยวและขนมจากร้านค้ามาแจกเพื่อนๆทุกคน ผมยิ้มไม่หุบเลยล่ะวันนั้น

ก่อนจะนอนเรามักได้ฟังนิทาน นิทานอีสป หรือนิทานจากหนังสือนิทานส่วนใหญ่แม่จะเป็นคนเล่า แต่นิทานเกี่ยวกับชีวิตนักศึกษาในป่าแม่มักให้พ่อเล่า พ่อก็จะเล่าอย่างออกรสออกชาติถึงวีรกรรมต่างๆ และมักตบท้ายด้วยการทำเสียงสิงโตให้เรากลัวเพื่อไล่เข้านอนพร้อมกับหัวเราะ ร่วน เรากลัวเสียงโฮกๆ ของพ่อในความมืด และก็หัวเราะกันคิกคักเพราะมันไม่เหมือนเสียงสิงโต

รายได้ของอาชีพนักเขียนไม่ได้มีความแน่นอนนัก แม่บอกผมบ่อยๆว่าให้ประหยัดเพราะการเงินของที่บ้านไม่ค่อยดี ผมคิดว่าไม่เดือดร้อนอะไรตราบใดที่มีข้าวกิน จนกระทั่งถึงวันที่เงินเป็นปัญหาในครอบครัวสำนักพิมพ์จ่ายเงินเดือนช้า ปัญหาก็มาถึง

พ่อทะเลาะกับแม่ใหญ่โต ด้วยชนวนอะไรก็จำไม่ได้ แม่วิ่งออกไปร้องไห้นอกบ้าน ตุ๋ยกับเตยตามไปดูแม่ ผมนั่งอยู่กับพ่อ พ่อเมา เรานั่งกันอยู่อย่างนั้น พ่อร้องไห้พร่ำโทษถึงปัญหาต่างๆ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ผมไม่รู้ว่าควรทำยังไง ไม่รู้จะปลอบพ่อยังไง นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมเห็นพ่อร้องไห้

พ่อมีเรื่องให้นึกถึงและจดจำ เยอะ นึกแล้วก็มีทั้งเรื่องขำๆหลายเรื่อง อย่างเช่นตอนเย็นๆค่ำๆ พอเริ่มกรึ่มได้ที่ พ่อจะต้องเปิดหนังมิสเตอร์บีน หรือไม่ก็ชาลี แชปลิน ดูไปก็ขำไปจากนั้นก็ต้องทำท่าประกอบ เต้นบ้าๆบอๆ ในชุดผ้าขาวม้าผืนเดียว ทำท่าเดินแบบชาลี เรียกเสียงฮาจากลูกๆ แม่ยืนทำกับข้าวใกล้ๆมักส่ายหัวให้พร้อมรอยยิ้ม

พ่อปลูกฝังนิสัยการ อ่านหนังสือด้วยการเอาหนังสือมาโยนให้เสมอ ทั้งหนังสือที่เขาเขียนเอง และหนังสือที่พ่อเก็บไว้หรือแม้แต่บางทีก็มาอ่านให้ฟัง พ่อพยายามอ่าน'ปรัชญาชีวิต'ให้ฟังทุกวันตอนบ่ายปิดเทอมหน้าร้อน ให้จดบันทึกการฟัง แลกกับการได้ออกไปเที่ยวเล่นนอกบ้านตามใจ

วันที่แม่จากไปครบ 100 วัน เราไปลอยอังคารกันที่แม่น้ำแควน้อย พ่อว่ายน้ำอยู่พักใหญ่ ดำผุดดำว่ายอยู่อย่างนั้น ทั้งเมาไวน์ ทั้งว่ายน้ำจนเหนื่อย พ่อเดินขึ้นมาที่หาดทราย หยิบอัฐิแม่แล้วเดินลงไปในน้ำ โปรยมันไปกับสายลมและผืนน้ำ ปากก็พร่ำพูดบางอย่าง จับใจความไม่ได้ พ่อร้องไห้ จากนั้นก็ดำลงไปในน้ำ น้ำตาของพ่อคงไหลรวมกับน้ำในแม่น้ำเพื่อส่งแม่

เวลาล่วงเลยไปจนฝนซา บินหลา สันกาลาคีรี นั่งน้ำตาซึมอยู่ในร้าน หลังจากที่ได้ฟัง วจนา อ่านจดหมายของ วสุ ที่เขียนถึง วัฒน์ ก่อนจะเล่าว่าตนเองไม่ได้รู้จักกันวัฒน์ดีมากนัก เคยคุยกับวัฒน์ไม่น่าจะถึงร้อยคำพูด ในทางความคิดทางการเมืองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับวัฒน์ทุกเรื่อง แต่ก็ได้รับอิทธพลจากงานเขียนของวัฒน์ตั้งแต่สมัยเรียน

“มีครั้งหนึ่งผมขับรถให้อาปุ๊ รงค์ วงษ์สวรรค์ มากรุงเทพ ตอนนั้นอาปุ๊ก็ฟอกไตอยู่แล้ว ก็เลยต้องหาที่ฟอกไต เลยพาไปฟอกที่เมืองกาญจน์ แต่แกไม่ขอฟอกที่โรงพยาบาล แกขอฟอกที่โรงแรม ทางคุณหมอก็ใจดี จัดเครื่องฟอกให้ที่โรงแรม อาปุ๊แกก็โทรนัดคนรู้จักให้มาหา ก็มีพี่เนาว์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และก็พี่วัฒน์ วรรลยางกูร มากัน ผมเป็นเด็กผมก็ไม่อยากอยู่เวลาผู้ใหญ่คุยกัน ผมก็ออกไปข้างนอก ช่วงกลับมาเปิดประตูห้อง ภาพที่ผมเห็นคือ ควันขาวคลุ้งทั้งห้องเลย อาปุ๊นอนสูบบุหรี่ พี่เนาว์ กับพี่วัฒน์ นั่งอยู่ปลายเตียงใกล้ๆ ควันก็คลุ้งเป็นม่นพรางๆ ภาพนี้ผมจำติดตา... แต่ทุกวันนี้มันไม่มีอีกแล้ว...” บินหลากล่าว

00000

ก่อนสิ้นเสร็จวงพูดคุยกึ่งทางการ WRITER ทำเซอร์ไพรส์ เปิดคลิปภาพ และเสียงของ วัฒน์ส่งตรงมาจากแดนไกล ฝากความห่วงใยถึงมิตรสหายน้ำหมึก แล้วฝากความระลึกถึงกวีนกกระเด้าลม

 “สวัสดีครับ มิตรน้ำหมึกชาวไรท์เตอร์ ขอบคุณน้ำใจและความห่วงใย ความเป็นจริงในฐานะคนลี้ภัย คนที่ถูกเนรเทศ ต้องอยู่เงียบๆ แต่เวลานี้จำเป็นต้องโผล่หน้ามาคุยกัน ลูกชายเขาก็เย้าแหย่ผมว่า นักเขียนรุ่นพ่อ ปีนี้มีงานเขียนได้ตีพิมพ์เยอะขนาดนี้ก็ดีใจได้แล้ว จริงๆ แล้วก็คงต้องขอบคุณน้ำใจของชาวไรท์เตอร์นะครับ ที่มีสปิริตห่วงใยคนในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพนะครับไม่มีเรื่องอื่น”

“เมื่อวานนี้ระหว่างที่ผมลงไปช้อนกุ้งฝอย เพื่อเอามาผัดกับสายบัว ผมก็คิดว่าเรากำลังทำอะไร และคิดไปถึงนิยายเรื่องเจ้าชายน้อย เจ้าชายน้อยไปยังดาวที่มีพระราชา พระราชานี่มักจะมีนิสัยชอบออกคำสั่งนะครับ และเจ้าชายน้อยก็บอก ท่านจงออกคำสั่งกับฉันสิ พระราชาก็บอกว่า การออกคำสั่งของพระราชานั้นก็ต้องมีเหตุมีผล ไม่ใช่อยู่ดีๆ สั่งให้นายพล กลายเป็นนกนางแอ่น อะไรแบบนี้น่ะครับ”

“แต่มันยังมีราชอาณาจักรอันพิสดารพันลึกนะครับ อาจจะมีพระราชาที่ยังชอบออกคำสั่งแปลกๆ ไอ้ราชอาณาจักรพิสดารพันลึกนี้ก็มันก็เหมือนกะลามะพร้าวนะ แล้วก็คว่ำลงนะ ก็ไอ้คำสั่งแปลกๆ นี้ก็ไม่ใช่ว่าสั่งให้นายพลเป็นนกนางแอ่นทะเลอย่างในนิยายเจ้าชายน้อยนะครับ แต่สั่งแปลกๆ เช่น ให้กวีต้องเป็นนกกระเด้าลม อืม...กวีแห่งอาณาจักรพิสดารพันลึกรูปทรงกะลาครอบ เอ้ยกะลาคว่ำ พูดผิด (หัวเราะ) เลยต้อง วันๆ ก็เลยต้องประดิษฐ์ประดอยท่ากระเด้าลม ประดิษฐ์อย่างไรให้มันแปลกใหม่ ให้มันสละสลวย ให้ชวนประทับใจ เพราะเมื่อกวีกลายเป็นนักกระเด้าลมแล้ว วันหนึ่งก็อยากได้บำเน็จรางวัล ผมจึงรู้สึกโชคดี ที่ผมไม่ได้อยู่ในราชอาณาจักรพิสดารพันลึกแห่งนั้น ผมจึงไม่ต้องมาหมกมุ่นกับการประดิษฐ์ประดอยท่ากระเด้าลม"

"ในฐานะที่กวีหน้าที่กวีมีอะไร หน้าที่กวี แต่จริงๆ มันไม่ใช่นามธรรมที่ยิ่งใหญ่อะไร ผมก็คิดจากความเป็นจริงของผมนะ ผมช้อนกุ้งฝอยอยู่เนี่ย ผมก็กำลังทำหน้าที่กวี วันก่อนขึ้นไปหาหน่อไม้บนภูเขาผมก็ทำหน้าที่กวี หมักสาโทกินเองก็เป็นหน้าที่กวี มันอาจจะเป็นหน้าที่กวีที่ไม่โอ่อ่ามากนัก แต่มันก็ไม่น่าเบื่อ เพราะว่าเราไม่ต้องไปประดิษฐ์ประดอยท่ากระเด้าลม..."

"ขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจ และหวังว่า ความรู้สึกของผมคงไม่ทำความเดือดร้อนให้กับน้องๆ ญาติสนิทมิตรสหาย มิตรน้ำหมึก ที่มีน้ำใจต่อกัน ขอบคุณอีกครั้งครับ สวัสดีครับ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net