ผู้หญิงอุ้มบุญ: แรงงานมดลูก อัลตร้าซาวด์และภาพลักษณ์การแพทย์ชีวะในประเทศไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ประเทศไทยมีคลินิกให้บริการทำเด็กหลอดแก้วกว่า 30 แห่ง จากการบันทึกสถิติการทำเด็กหลอดแก้วโดยเฉลี่ย 3,000 – 4,000 ครั้งในแต่ละปี และได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น สถิติเปรียบเทียบการทำเด็กหลอดแก้วช่วง พ.ศ. 2546 , 2548 และ พ.ศ. 2549  โดยรายละเอียด พ.ศ. 2546  จำนวน   2,623 ครั้ง พ.ศ. 2548 จำนวน 3,140 ครั้ง และเพิ่มมากขึ้น 3,304 ครั้ง ใน พ.ศ. 2549 (Vutyavanich et al. 2011) การทำเด็กหลอดแก้วดำเนินการตามข้อระเบียบภายใต้กฎหมายแพทยสภา ประกาศบังคับใช้ 2 ฉบับ  1/2545 และ 2/2545 ระเบียบการตั้งครรภ์แทนระบุขอบเขต “ผู้ให้บริการ” การตั้งครรภ์แทนต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง มีใบรับรองจากราชวิทยาลัยสูตินารีแพทย์แห่งประเทศไทย สำหรับ “ผู้รับบริการ” ห้ามเลือกเพศทารก  โดยเฉพาะมาตราห้ามบริจาคและซื้อขายไข่จากผู้หญิง และรับจ้างตั้งครรภ์แทนเชิงพาณิชย์ ข้อระเบียบดังกล่าวได้ถูกปรับปรุงเข้มงวดขึ้นในการประชุมรัฐสภา เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2553  เนื่องจากในเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน ตำรวจได้จับกุมนายหน้าตั้งครรภ์แทนชาวไต้หวัน “เบบี้ 101” ที่จัดหาผู้หญิงเวียดนาม 15 คนเพื่อทำการตั้งครรภ์แทนแก่ลูกค้าชาวต่างชาติ โดยได้รับค่าจ้างเป็นจำนวนเงิน 5,000 เหรียญสหรัฐซึ่งเข้าข่ายความผิดการค้ามนุษย์ข้ามแดน

ปรากฎการณ์ใหม่ของการตั้งครรภ์เชิงพาณิชย์ใน 5 ปีที่ผ่านมา พบการโฆษณาการตั้งครรภ์แทนในกระดานข่าวสารของอินเทอเน็ตซึ่งเป็นเวทีชีวิตออนไลน์แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำเด็กหลอดแก้ว weneedbaby.com , clinicrak.com, vibhavadi.com และ คลินิกดอกเตอร์เสรี กลายเป็นพื้นที่จัดหามดลูกผู้หญิงรับการตั้งครรภ์แทนโดยปริยาย (Shimazono 2013 ) การตั้งครรภ์แทนจารีตเคลื่อนตัวสู่การตั้งครรภ์เชิงพาณิชย์ในฐานะประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง  (hub) หนึ่งของความก้าวหน้าเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ในระบบโลก ดังปรากฎการณ์ “หมู่บ้านอุ้มบุญ” เป็นข้อเท็จจริงการตั้งครรภ์เชิงพาณิชย์ในรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งเป็นการเจริญพันธุ์ข้ามพรมแดนและกระบวนการเช่ามดลูก

ในแวดวงสาธารณสุขและจิตวิทยาการแพทย์ งานศึกษาทางด้านจิตวิเคราะห์การตั้งครรภ์แทนแทบไร้พลังอธิบายปรากฎการณ์ทางสังคม เพราะขบวนการสังคมที่เป็นรูปธรรมตั้งแต่ ค.ศ.1980 เป็นต้นมา แต่เดิมการตั้งครรภ์แทนจำกัดตัวในกลุ่มผู้หญิงที่มีบุตรยาก เมื่อพัฒนาการครอบครัวจารีตเปลี่ยนแปลงมาสู่ความหลากหลาย การหย่าร้าง ครอบครัวทางเลือก คนโสด และความหลากหลายเพศเป็นพลังขับเคลื่อนสังคม เช่น คู่สมรสเพศเดียวกันประสงค์มีบุตรหรือมีบุตรไม่ได้ต้องการทำพันธะสัญญาการตั้งครรภ์แทนเชิงพาณิชย์กับผู้หญิงที่ยินยอมตั้งครรภ์แทน และทำข้อตกลงว่าการอุ้มท้อง (ตั้งครรภ์แท้และครรภ์เทียม) มีมูลค่าและสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนสิทธิในการเป็นพ่อแม่ (Markens 2007)  การตั้งครรภ์แทนเชิงพาณิชย์จึงเป็นการสร้างครอบครัวผ่านพื้นที่ตลาด (Market place) ที่มีปฏิบัติการคาบเกี่ยวหลายระดับชนชั้น เพศสภาพและข้ามแดนรัฐชาติ อีกทั้งเปิดเผยให้เห็นการก่อรูปครอบครัวที่พึงปรารถนาของรัฐชาติด้วย

ช่วงต้นศตวรรษ 20  นักมานุษยวิทยาชาติพันธุ์วรรณนา แอลลี่ ทีแมน (Teman 2006) ศึกษาประสบการณ์ผู้หญิงตั้งครรภ์เชิงพาณิชย์ และธุรกิจการตั้งครรภ์แทนในประเทศอิสราเอลถือเป็นงานศึกษาบุกเบิกเชิงโครงสร้างสังคมของการตั้งครรภ์แทนในมิติสังคมวัฒนธรรม ด้วยการวิเคราะห์ต้นแบบความแม่ผ่านแนวคิดทางการแพทย์ตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อการตั้งคำถามต่อระเบียบวิธีวิจัยตามแนวทางแพทย์ชีวภาพที่ยึดโยงกับความเป็นแม่ตามกลไกธรรมชาติและการตั้งครรภ์ของแม่ในบริบทวัฒนธรรมอิสราเอล (Teman 2003) ทีแมน ชี้ให้เห็นว่าความวิตกกังวลทางวัฒนธรรมการตั้งครรภ์แทนเป็นอาการความแปลกแยกต่อการสูญเสียต้นแบบความเป็นแม่ที่เกี่ยวข้องกับคุณลักษณ์ 3 ด้านด้วยกัน พันธุกรรม (genetics) ความเป็นแม่ (maternity) และบทบาททางสังคม (socialization)  ความเป็นมารดาที่มีอารมณ์ ความทรงจำ ความปรารถนาเลี้ยงดูบุตร ผูกพันธุ์ในระยะยาวของชีวิตทางสังคมซึ่งเป็นอุดมการณ์หลักในหลายวัฒนธรรมเอเชีย

งานศึกษามานุษยวิทยาเจริญพันธุ์ได้หันเหความสนใจคุณลักษณ์ความเป็นแม่ในมิติทางการแพทย์ชีวะและเทคโนโลยีการแพทย์มากขึ้น ร่างกายประดิษฐ์  (artificial body)  มดลูกประดิษฐ์ (artificial womb) อาเธอร์ เกียล (Arthur Greil  2002) นักสังคมวิทยา สนใจศึกษาความสัมพันธ์เชิงอำนาจของการแพทย์ชีวภาพและภาวะการมีบุตรยากได้ชี้อย่างสร้างสรรค์ว่า ผู้หญิงเป็นผู้กระทำการ (agency) ที่กระตือรือร้นอยู่ภายในกรอบคิดทางการแพทย์  ขณะเดียวกันมุมมองที่แตกต่างของ  คัทซิน (Cussin 1996) ได้อธิบายว่าผู้หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนเป็นผู้ถูกกระทำระหว่างกระบวนการแพทย์ การทดสอบกระดูกเชิงกราน การอัลตราซาวน์ การผ่าตัด  เครื่องมือการแพทย์เหล่านี้เป็นวิธีการกำกับควบคุมร่างกายอย่างต่อเนื่อง ภายใต้วาทกรรมทางการแพทย์เพื่อการมีสุขภาพดี ผู้ตั้งครรภ์แทนต้องได้รับบริบาลดูแล (care) แต่สิ่งที่น่าสนใจของการเติบโตธุรกิจการตั้งครรภ์แทนคือ การขยายตัวของตลาดเครื่องมือทางการแพทย์ซึ่งนำมาซึ่งรายได้ของโรงพยาบาล นายหน้าการตั้งครรภ์เชิงพาณิชย์ และผู้กำหนดนโยบายสามารถกำกับควบคุมการเจริญพันธุ์ในอนาคต

ตารางที่ 1 ค่าตอบแทนการตั้งครรภ์แทนในประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียและกลุ่มประเทศเอเชีย

ประเทศ/ค่าตอบแทน
สหรัฐอเมริกา*
(บาท)
ออสเตรเลีย*
(บาท)
อิสราเอล*
(บาท)
ไทย*
(บาท)
สิงคโปร์*
(บาท)
อินเดีย
(บาท)
ค่าตอบแทนรายวัน 6,111-6,481 6,111-6,481 6,296-7,111 770-1,481 1,481-1,851 555-1,000
ค่าตอบแทนรายคน 1,650,000-1,750,000 1,650,000-1,750,000 1,700,000-1,920,000 200,000 – 400,000 400,000 – 500,000 150,000 – 270,000

หมายเหตุ * อ้างอิงตัวเลขจากกระทรวงสาธารณสุข สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย, อิสราเอลจาก Center for Surrogacy Israel, ไทยจากรายงานวิจัย Hibino, Yuri and Shimazono, Yosuke (2013) ,สิงคโปร์จาก Global Medical Tourism Service และอินเดียจากรายงานวิจัย Vora, K. (2009) และสถิติกระทรวงสาธารณสุขอินเดีย

กรณีประเทศอินเดีย ตลาดตั้งครรภ์เชิงพาณิชย์สร้างรายได้อย่างสูงกลายเป็นอุตสาหกรรมภายในประเทศที่ทำเงินสะพัดอยู่ราว 20,000 ล้านรูปีต่อปี (10,600 ล้านบาท) ประกอบด้วยตลาดการท่องเที่ยวการเจริญพันธุ์ขยายตัวอย่างมาก ระยะหลังประเด็นการแพทย์ทางข้อกฎหมายและจริยธรรมการแพทย์ทำให้อินเดียยกร่างกฎหมายว่าด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (Assisted Reproductive Technologies Bill) ขึ้นมาใหม่สอดคล้องกับการท่องเที่ยวเพื่อการเจริญพันธุ์เปิดศูนย์กลางการแพทย์เพื่อบริการตั้งครรภ์แทนในภูมิภาคเอเชียร่วมกับสิงคโปร์ จากรายงานสาธารณสุขอินเดียราคาค่าใช้จ่ายอุ้มบุญตก 750,000 – 1,050,000 บาท ขึ้นกับลักษณะของแพ็กเกจ สามารถกำหนดให้เด็กที่เกิดออกมามีสัญชาติเดียวกันกับหญิงอุ้มบุญ ขณะนายหน้าอุ้มบุญจะชักกำไรจากการติดต่อทำสัญญาถึง 70% เหลือเพียง 150,000 – 270,000 บาท (Vora, K. 2009) สำหรับความร่วมมือเพื่อบริการตั้งครรภ์แทนระหว่างอินเดียและสิงคโปร์ พบว่าประเทศสิงคโปร์มีบริการจัดหา (out-sourcing) มดลูกของผู้หญิงในกลุ่มประเทศอาเซียน

สำหรับประเทศอิสราเอลเป็นประเทศแรกในโลกที่มีกฎหมายควบคุมเกี่ยวกับการตั้งครรภ์แทนโดยอ้างอิงกับกฎหมายของศาสนาฮีบรู (Teman 2003b) ผู้รับบริการต้องขออนุญาตและข้อตกลงที่ชัดเจน เช่น คู่สมรสที่ต้องการใช้การตั้งครรภ์แบบอุ้มบุญจะต้องเป็นชาวอิสราเอลที่มีศาสนาเหมือนกัน ผู้ให้บริการต้องเป็นหญิงอุ้มบุญจะต้องโสด หย่าร้าง หรือเป็นหม้าย และต้องเป็นคู่สมรสชายหญิง (Heterosexual Marriage) ทำให้กลุ่มคนรักร่วมเพศ (Same-Sex Marriage) ชาวอิสราเอลเลือกที่จะทำการตั้งครรภ์แบบอุ้มบุญนอกประเทศ ซึ่งมีราคาต่ำกว่าถึงหนึ่งเท่าเพียง 990,000 บาทต่อหนึ่งราย

 
ชาติพันธุ์วรรณนาอุ้มบุญ

ผู้ศึกษาลงชุมชนนาใหม่ (นามสมมุติ) จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อติดตามผู้หญิงรับตั้งครรภ์แทนเชิงพาณิชย์เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่กุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน พ.ศ. 2558  โดยรวบรวมเอกสารข้อมูลทะเบียนรับฝากครรภ์จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและโรงพยาบาลอำเภอหล่มสัก สัมภาษณ์ผู้หญิงรับตั้งครรภ์จำนวน 15 คน ระยะเวลาสัมภาษณ์เฉลี่ยคนละ 3-4 ชั่วโมงร่วมกับการสังเกตการณ์ชีวิตประจำวันซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้จัดทำในรูปแบบตารางข้อมูลและแสดงชาติพันธุ์วรรณนาเพศสภาพ

ชุมชนนาใหม่ (นามสมมุติ)  เป็นหมู่บ้านอยู่ติดเชิงเขา  ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกิน อยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองราว 25 กิโลเมตร จากข้อมูลสำมะโนประชากรนับเป็นหมู่บ้านที่มีความยากจนเป็นอันดับต้นของอำเภอ พบผู้หญิงรับตั้งครรภ์แทนมีทั้งหมด 17 กรณี ที่ได้คลอดบุตรและมอบบุตรให้แก่คู่สัญญาเรียบร้อยแล้ว จำนวน 12 รายตั้งแต่ช่วงปี  2556 เป็นต้นมา มีผู้หญิงอยู่ในระหว่างตั้งครรภ์แทนยังไม่คลอดบุตร 5 รายในปี พ.ศ.2557 อยู่กรุงเทพ 4 รายและอาศัยอยู่กับญาติที่พิษณุโลก 1 ราย ผู้หญิงในชุมชนได้รับการชักชวนทำการตั้งครรภ์แทนจากนายหน้านอกชุมชนตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 จากนั้นได้รับการติดต่อจากคลินิกที่กรุงเทพชื่อ คลินิกออลไอวีเอฟ ย่านเพลินจิต จากเรื่องเล่าประสบการณ์อุ้มบุญของผู้หญิงเหล่านี้ ทางคลินิกได้แนะนำให้ไปฝากครรภ์ที่คลินิกที่กรุงเทพ และมีการจัดทำข้อมูลว่าสามีของพวกเธออยู่ที่กรุงเทพ ต่อมาเมื่อมีผู้หญิงในชุมชนรับตั้งครรภ์แทนมากขึ้น นายหน้าแนะนำผู้หญิงรับตั้งครรภ์แทนแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ฝากครรภ์ว่าเธอไปบริจาคไข่แก่ผู้มีบุตรยากและถูกกฎหมาย  หากผู้หญิงรับตั้งครรภ์แทนมีอาการเจ็บป่วยให้โทรศัพท์ปรึกษาหมอประจำคลินิกที่กรุงเทพ กระบวนการรับตั้งครรภ์แทนจะหลีกเลี่ยงการเปิดเผยให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอำเภอและโรงพยาบาลจังหวัดเพชรบูรณ์รับทราบ 

“อัลตร้าซาวด์” ภาพทัศนาวัฒนธรรมความเป็นแม่และความทรงจำของร่างกาย

การตั้งครรภ์แทนเป็นเชิงพาณิชย์เป็นกระบวนการทางการแพทย์ที่จัดการ “มดลูก” เป็นพื้นที่เติบโตของตัวอ่อน มีตารางเวลา เครื่องมือการแพทย์และปฏิบัติการตรวจสอบชัดเจนเพื่อให้กำเนิดทารกที่สมบูรณ์ การตั้งครรภ์แทนยังมี 2 รูปแบบ 1. การตั้งครรภ์แทนแท้ (full surrogacy) หรือการตั้งครรภ์แทนจารีต คือใช้ไข่ของแม่แท้ๆ  2. การตั้งครรภ์เทียม (partial surrogacy) คือการใช้ไข่ของผู้หญิงรับตั้งครรภ์ ความแตกต่างดังกล่าวไม่เพียงเป็นกระบวนการทางการแพทย์ที่เข้าจัดการกับร่างกาย “ธรรมชาติ” ของผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังมีตัวแปรด้านสถานภาพทางสังคม อายุ พื้นเพ นิสัยใจคอและที่ทางสังคม (habitus) ด้วย

อัลตร้าซาวด์เป็นเทคโนโลยีตรวจสอบการเจริญเติบโตของตัวอ่อนที่มีรหัสภาษาทางการแพทย์ การอัลตราซาวด์เป็นเครื่องมือแสดงภาพวงศาวิทยาเจริญพันธุ์อย่างเป็นระบบ (visual system) แสดงช่วงเวลาการตั้งครรภ์เป็นรายสัปดาห์ทำให้ผู้หญิงหมกมุ่นสนใจประสบการณ์ระดับชีวิตประจำวัน (everyday life) ของตนเอง ซึ่งประสบการณ์ดังกล่าวเทียบเทียบกับการเป็น “แรงงาน” อารมณ์ของการตั้งครรภ์ ทีแมน (Teman 2003b) ชี้ให้เห็นว่า  ผู้หญิงตั้งครรภ์แทนหยิบใช้ประสบการณ์เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อแยกตัวเองออกจากประสบการณ์ตั้งครรภ์ธรรมชาติ ซึ่งเป็นการต่อรองเพื่อจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง อัลตร้าซาวด์ทำงานสื่อสารเรื่องราวทางการแพทย์ส่งต่อไปผู้หญิงสองคน (ผู้ประสงค์มีบุตรและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์แทน) เป็นผลผลิตของเรื่องเล่าเทคโนโลยีการแพทย์และประสบการณ์ร่างกายที่ตอกย้ำความเป็นแม่

การทำอัลตร้าซาวด์เป็นเครื่องมือที่สามารถผลสัมฤทธิ์ของการตั้งครรภ์แทนทำให้ผู้หญิงสามารถนิยามความเป็นต้นแบบความเป็นแม่ของเธอ  ผู้หญิงตั้งครรภ์แทนจะได้รับการทำอัลตร้าซาวด์เพื่อให้มีเรื่องราว (Narrative) ยืนยันการเจริญเติบโตของไข่ที่ได้รับการผสม ยืนยันว่าเธอจะสามารถปฏิบัติการความเป็นแม่ตามกลไกธรรมชาติ อัลตร้าซาวด์สร้างผัสสะรับรู้ความเป็นแม่ในวิถีการมองภาพ “ตัวอ่อน” ความปรารถนาที่จะเป็นแม่จะถูกเติมเต็มจากการเจริญเติบโตของไข่ที่ย้ายจากส่วนกลางของมดลูกมาสู่การเป็นตัวอ่อน (Sandelowski 1994)  อัลตร้าซาวด์สร้างความยินดีปรีดาจากการเสพ “ทัศนา” ความปรารถนาเป็นแม่กับภาพลักษณ์ที่เติบโตของตัวอ่อน ผู้หญิงจะรู้สึกมีส่วนร่วม สัมพันธ์ใกล้ชิดในการตั้งครรภ์ ตัวอ่อนที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นและนำมาฝังในมดลูกทำให้ผู้หญิงได้รับประสบการณ์จากเทคโนโลยีช่วยตั้งครรภ์โดยตรง  หมอได้จัดกระบวนการดังกล่าวทำให้ผู้หญิงที่อยากเป็นแม่นำเอาฟิล์มอัลตร้าซาวด์ตัวอ่อนกลับบ้านเป็นที่ระลึก บางกรณีอาจรู้สึกละอายใจ เพราะอัลตร้าซาวด์ทำให้พวกเธอเป็นอัตบุคคลที่ถูกมองเห็นได้

แม้ว่าอัลตร้าซาวด์เป็นเครื่องมือที่ยืนยันการตั้งครรภ์ของผู้หญิง แต่ร่างกายที่เคยมีประสบการณ์ตั้งครรภ์จะเรียนรู้จากการทำซ้ำ ความทรงจำ เป็นความรู้ที่จัดการร่างกายและอารมณ์ (Psychomotor Learning) และตอบสนองอย่างอัตโนมัติ ช่วงการตั้งครรภ์ในระยะ 1-9  เป็นพัฒนาการของตัวอ่อนที่เติบโต บางรายมีอาการแพ้ท้อง เหนื่อยง่ายหรือง่วง ฟังเสียงจังหวะการเต้นของหัวใจทารก ในสัปดาห์ที่ 28 เดือน 3-4 ทารกเริ่มเคลื่อนไหวเตะท้องแม่ จากนั้นเป็นการปฏิสัมพันธ์ของแม่และทารกในครรภ์ การส่งผ่านอาหารทางรก การเผาผลาญอาหารเพื่อให้เกิดพลังงานมาก รวมทั้งอารมณ์ความรู้สึกโศกเศร้าแปรปรวนง่าย “ทารกในครรภ์มีตัวตนไม่เหมือนกัน แม้ไม่ใช้ลูกชั้นเอง ชั้นจะรับรู้ได้เค้าหลับ ตื่นนอน กินช่วงไหนในท้องของชั้น” หญิงรับตั้งครรภ์อธิบายความรู้สึกถึงตัวอ่อนในท้องเธอ เหล่านี้เป็น  “เรือนกายของประสบการณ์” ที่เครื่องมืออัลตร้าซาวด์ไม่สามารถสแกนออกมาเป็นภาพแทนหรือสื่อสารได้ ด้วยเหตุนี้ผู้หญิงรับตั้งครรภ์แทนจึงต้องควบคุมความรู้สึกผูกพันธุ์กับตัวอ่อนในครรภ์ ข้อค้นพบจากกรณีศึกษา ผู้หญิงรับตั้งครรภ์เชิงพาณิชย์ เธอให้ความหมายของลักษณะของไข่ผสมและเจริญเติบโตเต็มที่แล้วว่า “ มันไม่เป็นอะไร ชั้นไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากเด็ก พวกเขาเป็นไข่คนอื่น” บางรายคับข้องใจที่หมอปฏิบัติกับเธอราวกับคนป่วย หลายรายบอกว่ามีความกังวลเกี่ยวกับคู่สัญญา หากคนที่ขอบริจาคไข่สื่อสารถามไถ่พวกเธอจะลดคลายความเครียดลงซึ่งพบว่ามีน้อยรายมาก

เรื่องเล่าประสบการณ์มีส่วนร่วมในการตั้งครรภ์ของผู้หญิงมีคุณค่าไม่น้อยกว่าเรื่องเล่าความสำเร็จทางการแพทย์ที่สามารถเพื่อเอาชนะกลไกธรรมชาติของร่างกายและอารมณ์ความรู้สึกให้ตอบสนองต่อการเจริญพันธุ์ข้ามแดน ผู้เชี่ยวชาญจัดการกับหน่วยภาษาของความเป็นแม่ขึ้นมาใหม่ที่แยกการเจริญพันธุ์และความเป็นแม่ออกจากกัน ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์แทนมีส่วนร่วมสร้างบทสนทนากับหมอและพยาบาลผ่านเรือนกายประสบการณ์ ตัวบทของความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย  ฟิล์มอัลตร้าซาวด์ไม่ได้เป็นเครื่องมือช่วยให้เห็นผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์ประดิษฐ์เท่านั้น ขณะเดียวกันก็เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์แปลกแยกที่เธอสร้างความหมายให้กับงาน แต่อัลตร้าซาวด์เป็นวัตถุความสัมพันธ์ระหว่างนายแพทย์และผู้หญิงรับตั้งครรภ์แทนในช่วงสำคัญที่ยืนยันที่ทางสังคมของผู้หญิง ยิ่งไปกว่านั้นยังมีบทบาทสำคัญต่อพลวัตของกระบวนการวิจัยทางมานุษยวิทยาการแพทย์อีกด้วย

 

(การตั้งครรภ์แทนในประเทศไทยก่อรูปจากประชุมแพทยสภาครั้งแรก พ.ศ. 2538 ที่มีวาระชี้แจงด้วยเรื่องการทำเด็กหลอดแก้วสำเร็จครั้งแรกในประเทศไทย นายแพทย์ประมวล วีรุฒนเสนเป็นผู้ให้กำเนิดเด็กผสมเทียมคนแรกของประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (Assisted Reproductive Technology : ART) เมื่อปี 2527 ทั้งนี้แพทย์เฉพาะทางผู้เชี่ยวชาญการเจริญพันธุ์ยังมีบทบาทสำคัญในกลไกการทำงานของ    แพทยสภาที่ทำหน้าที่ออกแบบโครงการตั้งครรภ์แทนทั้งในแง่การส่งผ่านความรู้ทางการแพทย์เฉพาะทาง กฎหมายและรูปแบบบริการการตั้งครรภ์แทน )

 

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความจากงานวิจัย ผู้หญิงอุ้มบุญ : ชาติพันธุ์วรรณนาของปฏิบัติการสร้าง “ภาพลักษณ์” ของการแพทย์ชีวภาพในประเทศไทย นำเสนอในงานประชุมวิชาการประจำปี 2558 อำนาจไร้พรมแดน : ภาษา วัฒนธรรม การสื่อสารและอำนาจในชีวิตประจำวัน วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม ณ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และตีพิมพ์วารสารวิชาการ 

เอกสารอ้างอิง

Cussins, Charis. (1996). Ontological Choreography: Agency through Objectification in Infertility Clinics.Social Studies of Science 26:576-610.
______ 1998a Producing Reproduction: Techniques of Normalization and Naturalization in Infertility Clinics. In Reproducing Reproduction: Kinship, Power, and Technological Innovation. Sarah Franklin and Helena Ragone", eds. Pp. 66-101. Philadelphia :University of Pennsylvania Press. 
Hibino, Yuri and Shimazono, Yosuke. (2013). Becoming a Surrogate Online : “Message Board” Surrogacy in Thailand.Asian Bioethics Review March . 5 (1), 56-72. 
Markens, S. (2007). Surrogate motherhood and the politics of reproduction. Berkeley: University of California Press.
Ragone, H. (1994). Surrogate motherhood: Conception in the heart. Boulder: Westview Press.
Sandelowski, Margarete. (1993). With Child in Mind: Studies of the Personal Encounter with infertility. Philadelphia:University of Pennsylvania Press.
Teman, E. (2003b). The medicalization of ‘‘nature’’ in the ‘‘artificial body’’: surrogate motherhood in Israel. Medical Anthropology Quarterly, 17(1), 78–98.
________. (2006). The birth of a mother: mythologies of surrogate motherhood in Israel. PhD Dissertation. Dept of Sociology and Anthropology. The Hebrew University of Jerusalem.
Vora, K. (2009). Indian Transnational Surrogacy and the Commodification of Vital Energy, Subjectivity, 28 (1), 226-78.
Vutyavanich, T et al. (2011). Assisted Reproductive Technologies in Thailand: 201-2007 Results Generated from the ART Registry, Royal Thai College of Obstetricians and Gynaecologists, Journal of Obstetricts and Gynaecology Research. 37 (3), 234-44.
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท