Skip to main content
sharethis

ในบางประเทศสามารถสั่งให้มีการดำเนินคดีแพ่งในรูปแบบ 'การดำเนินคดีแบบกลุ่ม' (Class Action) ซึ่งหมายถึงผู้ฟ้องร้องเป็นตัวแทนคนอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบแบบเดียวกัน ในกรณีล่าสุดนี้เกิดขึ้นกับบริษัทไอทีชื่อดังเมื่อคนงานฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยจากการถูกค้นกระเป๋าทำกับพวกเขา "ราวเป็นอาชญากร"


ภาพจาก OndraSoukup 
(CC BY-NC 2.0)

18 ก.ค. 2558 ผู้พิพากษาศาลแขวงสหรัฐอเมริกา ในซานฟรานซิสโกระบุให้คดีที่คนงานของบริษัทไอทีชื่อดัง 'แอปเปิล' ฟ้องร้องบริษัทตัวเองในเรื่องการค้นตัวพนักงานให้กลายเป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ซึ่งหมายถึงการดำเนินคดีที่การตัดสินตัวแทนในกรณีหนึ่งจะส่งผลต่อผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ สำหรับในคดีนี้หมายความว่าการตัดสินจะส่งผลรวมถึงคนงานอีกมากกว่า 12,000 คน ในร้านค้าของแอปเปิล 52 แห่งทั้งในอดีตและปัจจุบันด้วย

จากคดีที่มีการฟ้องร้องกันตั้งแต่ปี 2556 ถึงกรณีที่คนงานบริษัทแอปเปิลแสดงความไม่พอใจต่อนโยบายการค้นกระเป๋าของพนักงานโดยอ้างว่าเพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานลักลอบขโมยสินค้า แต่ก็มีพนักงานอย่างน้อย 2 คนพยายามร้องเรียนไปยังผู้บริหารระดับสูง ทิม คุก โดยระบุว่านโยบายดังกล่าวนี้ทำให้คนงานรู้สึกเสื่อมเสีย เนื่องจากเป็นการปฏิบัติต่อคนงาน "ราวกับเป็นอาชญากร" ทำให้คุกส่งจดหมายสอบถามเรื่องนี้ต่อลูกจ้างระดับสูงคนอื่นๆ ของแอปเปิลว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่

ในการฟ้องร้องฝ่ายโจทก์ระบุว่าแอปเปิลควรจ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงานร้านที่ต้องรอการตรวจค้นกระเป๋าทุกครั้งที่พนักงานต้องการออกจากร้านซึ่งรวมถึงช่วงพักกินข้าวเที่ยงด้วย คนงานระบุว่าพวกเขาต้องรอการตรวจค้นกระเป๋าเป็นเวลา 15 นาที โดยมีการเรียกร้องค่าเสียหายคิดจากค่าแรงขั้นต่ำของรัฐแคลิฟอร์เนียคือชั่วโมงละ 9 ดอลลาร์ ซึ่งโดยรวมแล้วอาจจะทำให้แอปเปิลต้องจ่ายมากถึงราว 60-75 ล้านดอลลาร์ รวมถึงชื่อเสียงบริษัทเสียหายด้วย

ก่อนหน้านี้แอปเปิลเคยโต้แย้งว่าคดีนี้ไม่ควรทำให้เป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ในกรณีนี้เนื่องจากการสั่งตรวจค้นกระเป๋าโดยผู้จัดการร้านไม่ได้เกิดขึ้นในทุกร้าน และการตรวจค้นใช้เวลาน้อยในระดับที่ไม่น่าจะต้องเรียกร้องค่าชดเชย นอกจากนี้ร้านค้าของแอปเปิลในรัฐแคลิฟอร์เนียแต่ละร้านก็มีวิธีการตรวจสอบเรื่องการลักขโมยแตกต่างกันออกไป

การดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการดำเนินคดีแบบตัวแทน (representative action) เป็นวิธีการทางกฎหมายแบบหนึ่งที่เริ่มขึ้นในสหรัฐฯ แต่ก็เริ่มมีประเทศในยุโรปหลายประเทศนำไปใช้กับคดีแพ่ง เช่นการให้องค์กรผู้บริโภคฟ้องร้องแทนผู้บริโภคคนอื่นๆ ซึ่งในกรณีร้านค้าแอปเปิลนี้จะส่งผลให้คนงานที่ฟ้องร้องกลายเป็นตัวแทนฟ้องร้องให้กับคนงานอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบไปด้วย

ถึงแม้ว่าระบบการดำเนินคดีแบบกลุ่มนี้จะมีข้อดีในด้านประสิทธิภาพ ความรวดเร็ว และลดค่าใช้จ่ายเนื่องจากเป็นคดีที่ใช้หลักฐานข้อเท็จจริงชุดเดียวกัน และอาจมีผลต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมของจำเลย แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่าสมาชิกในกลุ่มอาจจะได้รับค่าชดเชยไม่เหมาะสมหรือมีการหารือยุติข้อพิพาทโดยสมาชิกบางกลุ่มที่คำนึงถึงผลประโยชน์ต่างจากคนในกลุ่มอื่นๆ

 

เรียบเรียงจาก

Apple faces class-action lawsuit over searching employee bags, Russia Today, 17-07-2015
http://www.rt.com/usa/310120-apple-lawsuit-bag-searches/


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Class_action

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net