Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2558 สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS จัดงานเสวนา “ 3/97/103/37 วารสารศาสตร์ภายใต้กฎหมายความมั่นคง”  โดยมี ณัฎฐา โกมลวาทิน บรรณาธิการข่าวไทยพีบีเอส เป็นพิธีกร ร่วมเสวนาโดย ดร.สมเกียรติ  อ่อนวิมล สื่อมวลชนอาวุโสและนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์, สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), ภัทระ คำพิทักษ์ ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ และ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ และพิธีกรช่อง Voice TV

งานเสวนานี้กล่าวถึงกฎหมายความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับวารสารศาสตร์ ได้แก่

1.คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ -  เนื้อหาตอนหนึ่ง อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ระบุว่าเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจออกคำสั่งห้ามการเสนอข่าว หรือเผยแพร่สื่อที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน

2. ประกาศ คสช.ฉบับที่ 97 / 2557 เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ  - มีเนื้อหาตอนหนึ่งเกี่ยวกับการห้ามไม่ให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์นักวิชาการหรืออดีตข้าราชการที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือบิดเบือนประกาศ คสช.

3. ประกาศ คสช.ฉบับที่ 103 /2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 97/2557 เกี่ยวกับการให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติการของ คสช.และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ -  มีเนื้อหาว่า ไม่อนุญาตให้วิจารณ์ คสช.ด้วยข้อมูลที่เป็นเท็จ และหากมีการฝ่าฝืนอาจส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพนั้นๆ เป็นผู้ไต่สวน

4.  พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2550 มาตรา 37  -  ซึ่งห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครอง มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  มีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือส่งผลกระทบต่อจิตใจและสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รองผู้อำนวยการไทยพีบีเอสกล่าวถึงที่มาของการจัดงานเสวนาว่า ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร ก็มีประกาศหลายฉบับที่ออกมาและส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการสื่อหลายแห่ง  ไทยพีบีเอสเอง ล่าสุดก็มีกรณีการรายงานข่าว 14 นักศึกษาดาวดิน ที่ตนเองเพิ่งไปชี้แจงกับอนุกรรมการของ กสทช.มา  ซึ่งรอดูอยู่ว่าอนุกรรมการชุดนี้จะตีความเรื่องนี้อย่างไร เพราะจะเป็นบรรทัดฐานในการรายงานข่าวสถานการณ์แบบนี้ต่อไป จึงเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะได้มีการพูดคุยเชิงวิชาการ ว่าสื่อควรรายงานข่าวในสถานการณ์ล่อแหลมนี้อย่างไร
 

ว่าด้วยข้อกฎหมายความมั่นคง:  พัฒนาการและความทับซ้อน
ภัทระ คำพิทักษ์กล่าวถึงพัฒนาการของกฎหมายความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับสื่อ โดยแรกเริ่มนั้นมีการใช้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2550 มาตรา 37 อยู่แล้ว  ต่อมามีการรัฐประหาร และมีประกาศ คสช.ฉบับที่ 97 เนื้อหาหลักก็คือ ห้ามวิจารณ์ คสช. ซึ่งเขารู้สึกว่าจะเป็นปัญหามาก  ภัทระเปิดเผยว่า ได้มีการเชิญสื่อมวลชนไปพบปะพูดคุยกับ คสช.ที่กระทรวงกลาโหม ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพสื่อก็ได้พูดแรงๆ กับ คสช.ไป  จนออกมาเป็นประกาศฉบับที่ 103 ซึ่งอนุญาตให้วิจารณ์ได้แต่ข้อมูลต้องไม่เป็นเท็จ  ภายหลังได้มีกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ออกมาอีกฉบับ ซึ่งในขณะนั้นยังมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกอยู่ ซึ่งภัทระกล่าวว่าเป็นการ  “ล็อคเข้าไปสี่ห้าชั้นอะ เรื่องสื่อ”

ภัทระยังแสดงความกังวลต่อไปว่า กฎหมายเหล่านี้เป็นกฎหมายที่ออกมาโดยรัฐบาล คสช. แต่ถ้าต่อไปเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่กฎหมายเหล่านี้ยังคงอยู่ ก็อาจจะเป็นการทิ้งทุ่นไว้ทำร้ายสื่อ ปิดกั้นเสรีภาพต่อไป  ภัทระเสนอว่า ในบรรดากฎหมายความมั่นคงนี้ควรเลือกมาเพียงข้อเดียวแล้วก็ยกเลิกที่เหลือไปเลย และเมื่อสิ้นสุดรัฐบาล คสช.ก็ยกเลิกไปด้วยพร้อมกัน

สุภิญญา กลางณรงค์ ชี้ประเด็นความทับซ้อนว่า ในช่วงก่อนการรัฐประหาร มีการบังคับใช้มาตรา 37 อยู่แล้ว และที่ผ่านมา ภาคสังคมก็มีความตื่นตัวมากขึ้น มีผู้ร้องเรียนเข้ามาในประเด็นต่างๆ ตามที่ตัวเองจับตาดู ทั้งนี้ หลังรัฐประหาร ถ้าเป็นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเนื้อหายังคงมีการพิจารณาหลายขั้นตอน แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงจาก คสช. จะได้ fast lane  ในการพิจารณาก่อน ขณะที่ ทีวีดาวเทียม เคเบิล ช่องวิทยุ ถูกระงับการออกอากาศไปพักหนึ่ง และต้องผ่านการเซ็นสัญญา MOU  ซึ่งจะผูกมัดผู้ประกอบการเหล่านี้กับประกาศ คสช.ฉบับที่ 97 จึงจะกลับมาออกอากาศได้ ดังนั้นเมื่อมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา แม้ว่าอาจจะไม่ผิดมาตรา 37 แต่หากมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ ก็จะถูกลงโทษได้ เช่นกรณี Peace TV ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตและถูกสั่งปิดไป หรือกรณี Voice TV ที่ถูกร้องเรียน แต่ทาง Voice TV ได้ส่งคนมาเจรจากับอนุกรรมการของ กสท. และตกลงยอมปรับเปลี่ยนเนื้อหาไป

อย่างไรก็ดี การพิจารณาเรื่อง ‘ความมั่นคง’ ในตอนนี้เป็นดุลพินิจของรัฐบาลหรือผู้ร้องเรียนมา ซึ่งก็แล้วแต่ว่ากรรมการ กสทช.จะเห็นด้วยว่าผิดจริง หรือจะปกป้องผู้ประกอบการ  โดยกรรมการของ กสทช.จะลงคะแนนตัดสินใจได้โดยอิสระ และผู้ประกอบการหากไม่เห็นด้วยสามารถขอความเป็นธรรมจากศาลปกครองได้

ด้าน สมเกียรติ อ่อนวิมล แสดงความไม่เห็นด้วยกับกฎหมายความมั่นคงเหล่านี้ และยืนยันการปฏิบัติหน้าที่สื่อต้องเป็นไปตามจรรยาบรรณวิชาชีพ 

“ผมว่าทหารตามโลกไม่ทัน  ดูจากประกาศต่างๆ ที่ออกมานี่เชยมากเลย  ที่เชยมากคือห้ามสัมภาษณ์คน  ยังไงก็ห้ามไม่ได้เราจะสัมภาษณ์คน” สมเกียรติกล่าวและว่า ประกาศต่างๆ เหล่านี้สวนทางกับจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อที่จะต้องค้นหาความจริงที่สมดุล  และรัฐบาล คสช.ในฐานะที่เป็นรัฐบาลทหารยึดอำนาจมา ก็ไม่ควรจะกลัวการถูกวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเป็นสิ่งที่สื่อต้องทำอยู่แล้ว 

“ประกาศอะไรกระชับหน่อย มีปัญหาอะไรก็โทรคุยกัน  ที่เหลือให้เกียรติเราบ้าง เพราะเราก็เป็นพลเมือง อาชีพเราก็ทำมา 500-600 ปี จรรยาบรรณวิชาชีพไม่เคยเปลี่ยน”

สมเกียรติกล่าวด้วยว่า สื่อสารมวลชนมีส่วนในการสร้างสังคมประชาธิปไตย หากรัฐบาล คสช.ต้องการสร้างประชาธิปไตยก็ควรให้สื่อได้มีเสรีภาพ  และอย่าสงสัยตั้งข้อกับสื่อช่องเล็กๆ ที่เป็นของพรรคการเมือง เพียงแค่จับตาดูให้สื่อเหล่านี้ทำงานในมาตรฐานเดียวกับสื่อกระแสหลักก็พอ

แล้วสื่อควรจะวางตัวอย่างไร ให้ยังมีความมั่นคงอยู่?
ภัทระกล่าวว่า  “ถ้ามีน้ำ เรือก็ลอยได้ ถ้าไม่มีน้ำ เรือก็ลอยไม่ได้ รัฐบาลต้องรู้ตัวว่ามีต้นทุนนี้อยู่ ...  สื่อมีหน้าที่บ่งบอกว่าน้ำยังเหลือเท่าไร” เปรียบเทียบเรื่องฐานสนับสนุนของประชาชนกับรัฐบาล คสช. ว่าหากสื่อทำงานอย่างมีเสรีภาพจะสะท้อนภาพให้กับรัฐบาลได้ว่ายังได้รับการสนับสนุนของประชาชนมากน้อยเท่าไร   

อย่างไรก็ดี ภัทระกล่าวว่า กฎหมายความมั่นคงที่มาจำกัดเสรีภาพก็มีข้อดีคือทำให้สื่อต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเอง มีความรอบคอบขึ้น ทำงานอย่างระมัดระวังมากขึ้น แต่ คสช.ก็ไม่ควรทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องการปฏิรูปสื่อไม่ได้คืบหน้าไปไหน หนึ่งปีที่ผ่านมาก็น่าจะเห็นแล้วว่าพอดีอยู่ตรงไหน

ศิโรตม์ กล่าวถึงความท้าทายของสื่อในการรายงานข่าวว่า เมื่อรัฐบาล คสช.ดำรงตำแหน่งมานานก็เริ่มยากขึ้น เช่น การรายงานข่าวนโยบายต่างประเทศของไทยที่ส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศจีนนี่ถือว่าเข้าข่ายวิจารณ์ คสช.หรือไม่  ศิโรตม์กล่าวว่า “หากโจทย์ของการทำสื่อในปัจจุบันต้องให้ความสำคัญกับความมั่นคงเป็นหลัก การทำหน้าที่ปกป้องประโยชน์สาธารณะอาจทำได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร”

สุภิญญา แสดงทรรศนะว่า “วารสารศาสตร์กับความมั่นคง จริงๆ แล้วไปด้วยกันได้ แต่วารสารศาสตร์กับอำนาจนิยมไปด้วยกันไม่ได้” เพราะสื่อสารมวลชนมีหน้าที่ในการตรวจสอบอำนาจรัฐ เปิดพื้นที่ให้กับฝ่ายต่างๆ หากตีความความมั่นคงว่าสื่อไม่สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบ ทำหน้าที่สร้างแรงกระเพื่อมหรือเป็นพื้นที่ให้กับฝ่ายค้านได้ ก็ไม่เรียกว่าความมั่นคงแต่เป็นอำนาจนิยม

ศิโรตม์ยังกล่าวด้วยว่า หากต้องการเลิกกฎหมายความมั่นคงเหล่านี้แล้ว อาจมีเรื่องที่ต้องคิดคือจะทำอย่างไรให้ช่องทีวีการเมืองที่มีสี ยังรายงานอย่างเป็นกลางและสมดุลอยู่ ซึ่งเขาเห็นว่า บางทีความรู้สึกที่ว่าสื่อเหล่านี้รายงานอย่างมีอคติมากเกินไปอาจจะเกิดจากความรำคาญของเราเอง และอยากสนับสนุนให้มีเสรีภาพสามารถแสดงออกได้อย่างเท่าเทียมมากกว่า
 

ก้าวต่อไป ในสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลง และสถานการณ์การเมืองที่ล่อแหลม
สมเกียรติ กล่าวถึงสภาพสังคมที่เปลี่ยนว่า ปัจจุบันคนไทยตั้งคำถามกับความเป็นมืออาชีพของสื่อมากขึ้น  ดังนั้นสื่อจึงต้องยึดตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ  พลเมืองไทยนับวันจะละเอียดอ่อน ซับซ้อนมากขึ้น สมเกียรติยกตัวอย่างหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่ปัจจุบันเนื้อหาก็ละเอียดขึ้น เจาะลึกขึ้นมากกว่าของเดิมที่เป็นข่าวเบา ข่าวอารมณ์ 

“ถ้าสื่อมันไม่สร้างสรรค์สังคม สุดท้ายมันก็จะอยู่ไม่ได้” สมเกียรติกล่าวและว่า “คสช.ไม่มีศิลปะในการสื่อสาร ไม่เข้าใจการประชาสัมพันธ์  ไม่เอาประชาชนเป็นพวก” และเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดโอกาสแก่สื่อสารมวลชนและประชาชนได้พูด ได้มีส่วนร่วมบ้าง

“คสช.ไม่ได้มีหน้าที่แสวงหาความมั่นคงให้ตัวเอง  แต่ต้องสร้างความมั่นคงให้ชาติ เสร็จแล้วก็รีบไป” สมเกียรติกล่าว

ด้านศิโรตม์กล่าวเห็นด้วยกับสมเกียรติ แต่ก็ติงว่า “...ก็ยากสำหรับ nature ของรัฐบาลทหาร”  อย่างไรก็ดี ศิโรตม์ชี้ว่า คสช.ควรจะคิดว่า รัฐบาลจะอยู่ตรงไหนในการสร้างประโยชน์สาธารณะ  (public interest)  และอยากให้รัฐบาล คสช.มองเห็นว่า หุ้นส่วนของประเทศนี้มีหลายส่วน ไม่ได้มีแค่กองทัพกับระบบราชการ

ภัทระ กล่าวว่า  รัฐบาล คสช.ต้องคิดและต้องทำเรื่องความมั่นคงในมิติใหม่ เช่นเรื่องภัยธรรมชาติ โรคระบาด ก็ถือว่าส่งผลกับความมั่นคงของชาติเช่นกัน หรือกรอบความมั่นคงของ ASEAN ที่ก็ได้มีการวางแผนไว้แล้ว

สุภิญญา กล่าวถึงบทบาทของ กสทช.ว่า งานหลักมีสองส่วน ส่วนแรกคือจัดสรรคลื่น กำกับทุนและตลาด ส่วนที่สองคือกำกับเนื้อหา และเป็นผู้พิจารณาหลังมีเรื่องร้องเรียน  สุภิญญากล่าวว่า กสทช. จะพยายามหน้าที่เป็นคานดุลเท่าที่ทำได้ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับพลวัตของสังคม จะพิจารณาไปตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง หามีกรณีไหนที่เป็นกระแสสังคมร้อนแรง ก็จะทำหน้าที่เป็นตัว buffer คอยประสาน  อย่างไรก็ดี กสทช.ตอนนี้ก็อยู่บนเส้นด้าย เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเพราะกำลังมีการร่างกฎหมายใหม่ซึ่งก็ไม่รู้ว่าต่อไป กสทช.จะมีหน้าที่อะไร  แต่ส่วนตัวคิดว่าก็ควรที่จะต้องปกป้องหลักการจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อเช่นกัน

สมเกียรติ กล่าวทิ้งท้ายว่า หน้าที่ของสื่อก็ยังคลาสสิก ต้องยึดในกรอบจรรยาบรรณวิชาชีพ สร้างสังคมประชาธิปไตย  ซึ่งถ้าผู้ประกอบวิชาชีพสื่อในปัจจุบันไม่ยึดในหลักการนี้ ก็จะอยู่ไม่ได้อย่างภาคภูมิ  และฝากถึงสื่อมวลชนรุ่นใหม่ๆ และนักข่าวพลเมืองให้ยึดมั่นในอุดมการณ์เช่นกัน ต้องทำให้การรายงานข่าวมีความลึกมีเนื้อหามากกว่าความฉาบฉวย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net