Skip to main content
sharethis

เรื่องจากมื้อประวัติศาสตร์ เมื่อคู่ปรับทางการเมืองกัมพูชา ฮุน เซน และ สม รังสี พาครอบครัวมาทานมื้ออาหารค่ำพร้อมเซลฟี ทั้งนี้แม้จะทำให้บรรยากาศทางการเมืองกัมพูชามีแนวโน้มสันติมากขึ้น แต่นักวิเคราะห์ในกัมพูชาเตือนว่าอาจถูกผู้สนับสนุนฝ่ายค้านตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการมีฝ่ายค้าน ในเมื่อไม่ได้มีปัญหาอะไรกับนโยบายรัฐบาล

ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และ สม รังสี  ผู้นำฝ่ายค้าน ถ่ายรูปเซลฟี หลังพาทั้งสองครอบครัวมารับประทานอาหารเมื่อ 11 ก.ค. 2558 โดยเป็นความพยายามสร้าง "วัฒนธรรมการสานเสวนา" ระหว่างสองพรรคการเมืองใหญ่ให้แน่นแฟ้นมากขึ้น

ทั้งนี้หลังการเลือกตั้งเมื่อกรกฎาคม 2556 ที่แม้พรรครัฐบาลจะชนะเลือกตั้งฉิวเฉียด แต่พรรคฝ่ายค้านรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากลของกระบวนการเลือกตั้ง ทำให้เกิดการประท้วงยาวนานเกือบปี กระทั่งสามารถบรรลุข้อตกลงทางการเมืองกันได้เมื่อ 22 กรกฎาคม 2557 โดยพรรครัฐบาลแบ่งบทบาทในรัฐสภาส่วนหนึ่งให้ฝ่ายค้าน รวมทั้งยกเลิกการลงโทษที่ห้าม สม รังสี เล่นการเมือง (ที่มา: เฟซบุ๊คสม รังสี)

ในความพยายามเพื่อทำให้สิ่งที่เรียกว่า "วัฒนธรรมการสานเสวนา" ระหว่าง 2 พรรคการเมืองใหญ่แน่นแฟ้นมากขึ้นนั้น นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน และผู้นำฝ่ายค้านสม รังสี ได้นำครอบครัวของพวกเขามาพบกันเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (11 ก.ค.) โดยสม รังสี เรียกว่าเป็นมื้ออาหาร "ประวัติศาสตร์" ซึ่งพวกเขาได้ถ่ายรูปเซลฟีร่วมกัน ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้พูดเรื่องการเมืองใดๆ

ในรายงานของ พนมเปญโพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ระบุว่า มีการพบปะกันเกิดขึ้นที่โรงแรมแคมโบเดียนา ในกรุงพนมเปญ โดยมีฮุน เซ็น และภรรยาของบุน รานี ลูก 4 คน รวมทั้งลูกเขย ร่วมรับประทานอาหารเป็นครั้งแรกกับ สม รังสี และภรรยาตุยลอง เสามุระ ลูกสาวและลูกชาย

ในสเตตัสของเฟซบุ๊คซึ่งลงภาพ "การพบปะของครอบครัวนัดพิเศษ" สม รังสี กล่าวว่าเหตุผลของการนัดทานอาหารเพื่อ "เสริมขยายวัฒนธรมการสานเสวนาในทุกๆ ระดับและสมาชิกทุกๆ คนในพรรค และเพื่อเด็กๆ และคนรุ่นต่อไปของกัมพูชา"

"วัฒนธรรมการสานเสวนานี้จะรับประกันความสุขของชาวกัมพูชา ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคต" สม รังสี เขียนตอนหนึ่ง เขากล่าวด้วยว่า บรรยากาศของการทานอาหารเป็นไปอย่าง "มิตรภาพ" ซึ่งมีภาพของสองผู้นำท่าทางมีความสุขโพสต์รูปถ่ายเซฟฟี ซึ่งดูเหมือนว่าจะทำให้สตาฟท์ของโรงแรมพลอยดีใจไปด้วย

ทั้งนี้หลังการเลือกตั้งเมื่อกรกฎาคม 2556 ที่แม้พรรครัฐบาลจะชนะเลือกตั้งฉิวเฉียด แต่พรรคฝ่ายค้านรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากลของกระบวนการเลือกตั้ง ทำให้เกิดการประท้วงยาวนานเกือบปี กระทั่งสามารถบรรลุข้อตกลงทางการเมืองกันได้เมื่อ 22 กรกฎาคม 2557 โดยพรรครัฐบาลแบ่งบทบาทในรัฐสภาส่วนหนึ่งให้ฝ่ายค้าน รวมทั้งยกเลิกการลงโทษที่ห้าม สม รังสี เล่นการเมือง

ซกอาย สาน โฆษกของพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลกล่าวว่า ครอบครัวของทั้งฮุน เซน และ สม รังสี ถือโอกาสนี้ในการ "ทำความรู้จักและทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน" ในขณะที่หลีกเลี่ยงหัวข้อสนทนาที่จะทำให้ความเบิกบานเสียอรรถรส

"ไม่มีการพูดเรื่องซีเรียส" ซก อายสาน กล่าว "อย่างเช่นกฎหมาย "LANGO" (หมายถึง กฎหมายว่าด้วยสมาคมและองค์กรนอกภาครัฐ ซึ่งจะให้อำนาจรัฐบาลควบคุมกิจกรรมขององค์กรภาคประชาสังคมผ่านการจดทะเบียน และอำนาจในการยุบเลิกองค์กร อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ที่พรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านต่อต้านหนัก แต่พรรครัฐบาลต้องการให้ผ่าน ดังนั้น พวกเขาจะเอามาพูดต่อหน้าลูกหลานทำไม?"

ซก อายสาน กล่าวด้วยว่า เขาหวังว่าการหารือครั้งนี้จะนำไปสู่มิตรภาพยั่งยืนระหว่างสองครอบครัว โดยก่อนหน้านี้สองครอบครัวดังกล่าวพบกันครั้งแรกในการทำกิจกรรมช่วงประเพณีสงกรานต์ โดยฮุน เซน เป็นฝ่ายชวน

ด้านฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวว่า มื้ออาหารระหว่างทั้งสองฝ่าย จะทำให้ลูกหลานของพวกเขาได้นำวัฒนธรรมสานเสวนามาปรับใช้ผ่านการเรียนรู้จากพ่อของพวกเขา

โพสต์ของ สม รังสี ยังระบุด้วยว่า พรรคของเขาได้รับประโยชน์จากความสัมพันธ์อันอบอุ่นกับพรรคขั้วตรงข้าม รวมทั้งการมีสถานีโทรทัศน์ของพรรคฝ่ายค้าน ปฏิรูปคณะกรรมการการเลือกตั้ง และมากกว่านั้นก็คือการสร้างบรรยากาศสันติภาพก่อนที่จะมีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในปี พ.ศ. 2560 และการเลือกตั้งระดับชาติในปี พ.ศ. 2561

 
ด้านนักวิเคราะห์การเมือง เชีย วันนาถ กล่าวว่า ทั้งสองพรรคได้รับประโยชน์จากการพบปะกันสุดสัปดาห์ "พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) อาจต้องการทำให้ผู้สนับสนุนกลุ่มที่เหนียวแน่นของพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) รู้สึกไม่พอใจ" ซึ่งจะทำให้พรรคสงเคราะห์ชาติเสียการสนับสนุนในการเลือกตั้งคราวหน้า" เธอกล่าว
 
ขณะที่พรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ได้รับช่องทางสามารถที่จะผลักดัน "ผลประโยชน์แห่งชาติและสังคม" ตามวาระของพวกเขา
 
อย่างไรก็ตาม อู วิรัก ผู้ก่อตั้งกลุ่มคลังสมอง "the Future Forum" กล่าวว่า "อีเวนท์พีอาร์" แบบนี้สร้างความเสี่ยงใหญ่หลวงต่อพรรคฝ่ายค้าน เพราะในขณะที่พวกเขาไม่ได้ปฏิบัติต่อกันอย่างศัตรูอีกต่อไป แต่ในขณะเดียวกันช่วงฮันนีมูนอาจจะทำให้เกิดการแตกแยกภายในพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP)
 
"ถ้าพวกเขาไม่ได้มีปัญหาอะไรกับนโยบายของพรรครัฐบาล แล้วจะมีฝ่ายค้านทำไม?" ถ้าพรรคฝายค้านมีความสุขดีกับโครงสร้างการเมืองในขณะนี้ แล้วเหตุใดสาธารณชนจะไม่โอเคด้วยบ้างล่ะ"
 
อู วิรัก กล่าวด้วยว่า สม รังสี อาจจะพยายามรักษาเวลาเช่นนี้ จนกว่าโทรทัศน์ของพรรคฝ่ายค้านเริ่มออกอากาศ พยายามที่จะสร้างความวางใจต่อฮุน เซน ทีละเล็กละน้อยเพื่อให้เขาวางมือจากอำนาจ และมองไปข้างหน้าว่าจะวางมือด้วยสันติภาพ
 
อู วิรัก กล่าวว่า ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด แท็กติดแบบนี้ก็เสี่ยงที่จะสร้างความแปลกแยกกับผู้ลงคะแนน และจะทำให้พรรคฝ่ายค้านเสียเองที่จะแตกเป็นเสี่ยง
 
ในรายงานของพนมเปญโพสต์ ระบุว่า ในช่วงที่รายงานข่าวไม่สามารถสัมภาษณ์สม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านได้ แต่โฆษกพรรคฝ่ายค้าน ยึม สุวรรณ กล่าวว่า พรรคไม่ได้เกรงว่าจะเสียคะแนนนิยม "เพราะไม่มีใครต้องการสงคราม ไม่มีใครต้องการความรุนแรง"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net