เกรียน ถึงไม่น่ารัก ก็ไม่ใช่อาชญากรรม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การคิดถึงใจเขาใจเราเป็นพื้นฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะในพื้นที่ออนไลน์หรือออฟไลน์

"มารยาท" หรือ "ธรรมเนียมปฏิบัติ" หรือจะเรียกอย่างไรก็แล้วแต่ ที่หมายถึง ความคาดหวังที่สังคมอยากให้เราประพฤติก็แตกต่างกันไปตามพื้นที่ ตัวอย่างเช่นการใช้ภาษาของเรา ที่ปรับเปลี่ยนไปตามบริบท ขึ้นอยู่กับว่าเราคุยกับใคร ในสถานการณ์ไหน ต่อหน้าผู้ฟังกลุ่มไหน คงไม่มี "มารยาท" ชุดไหนที่สามารถใช้ได้อย่างสากลไปทุกพื้นที่

(เว้นว่าเราจะนับ "สิทธิมนุษยชนสากล" เป็น "มารยาท" ไปด้วย - ซึ่งมันก็ไม่น่าจะใช่ เพราะมารยาทมีนัยว่า ถ้าทำก็ดี ส่วนสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นเรื่องที่ต้องไม่ละเมิดกัน)

พื้นที่ออฟไลน์มีหลากหลายแบบ พื้นที่ออนไลน์ก็ไม่ได้เป็นผืนเดียวกันเหมือนกันไปหมด มันก็แยกเป็นพื้นที่ย่อยๆ อีกมากมาย และแต่ละพื้นที่ก็มีสังคมและความคาดหวังแตกต่างกันไป

การทำทรงผมขัดใจแม่ นั้นผิดความคาดหวังของแม่ ผิดจากโลกทัศน์ของแม่ ผิดจากความหวังของสังคมที่แม่เติบโตขึ้นมา คือเราโตขึ้นมาอีกแบบ แม้จะมีแม่เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตด้วยก็เถอะ ก็เป็นเรื่องที่ต้องจัดการกับความสัมพันธ์ในครอบครัวกันไป แต่ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย การไอจามเสียงดังในรถโดยสารสาธารณะ อาจเป็นเรื่องไม่สมควรและน่าอับอายในบางสังคม แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะไปตามจับมาลงโทษเอาผิดทางกฎหมาย อย่างมากก็มองหน้าหรือตักเตือนกัน

สังคมควรจะหาวิธีจัดการการอยู่ร่วมกันให้ได้ ไม่ใช่ไม่พอใจอะไรก็เรียกให้รัฐมาเอาคนที่เราไม่ชอบไปลงโทษอยู่ร่ำไป

สิ่งหนึ่งที่จำเป็นในการอยู่ร่วมกัน คือการรู้ว่าโลกรอบๆ ตัวเราทำงานอย่างไร

เราอาจจะรู้มารยาทพื้นฐานทั่วๆ ไปของสังคมที่เราอยู่ รู้สิทธิ และมีความตั้งใจอย่างเต็มที่ที่จะไม่ละเมิดสิทธิคนอื่น แต่ถ้าเราไม่รู้ว่าโลกรอบๆ ตัวเราทำงานอย่างไร สิ่งมีชีวิตมีสัญชาตญาณพื้นฐานแบบไหน เครื่องจักรมีกลไกพื้นฐานอย่างไร บางครั้งเราก็อาจจะเผลอไปรบกวนสิ่งรอบตัวได้

ลองนึกถึงการเดินของคนในเมืองใหญ่ นึกถึงสถานีรถไฟฟ้าที่มีคนสัญจรขวักไขว่ นึกถึงบันไดเลื่อนที่มีคนไหลมาตามกลไกของเครื่องจักรขนส่งคนชนิดนี้

ถ้ามีใครสักคนหยุดที่ปลายบันไดเลื่อน อาจจะเพราะเขาไม่ชินเส้นทาง ไม่แน่ใจว่าจะเดินไปทางไหน หรือไม่ก็มึนงงกับคนจำนวนมหาศาลที่เดินตัดหน้าเขาไปมา สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ คนจากบันไดเลื่อนที่ตามหลังเขามา ก็จะเลื่อนมาชิดกับเขา ถ้ายังไม่ขยับก็จะเริ่มติดขัด เพราะมันไม่มีทางไปไหนได้ กลไกของบันไดเลื่อนมันทำงานแบบนี้

เหมือนๆ กับการเดินบนสะพานลอยหรือทางเท้าแคบๆ ที่มีคนเยอะๆ การหยุดกระทันหันของคนข้างหน้าย่อมส่งผลกับคนข้างหลัง

คนที่หยุดนี่คงไม่ได้ตั้งใจ แต่ก็ทำผิด "มารยาท" ของการอยู่ในเมืองใหญ่ เมืองที่มีคนไหลอยู่ตลอด มันเป็นมารยาทอีกชุดของพื้นที่ที่เราต้องเรียนรู้

ลักษณะของการแสดงตัวความคิดเห็นในเว็บไซต์สังคมออนไลน์ก็มีกลไกของมัน

เช่น เมื่อมีความคิดเห็นใหม่เข้ามา ความคิดเห็นก่อนหน้าก็จะไหลลงไปเรื่อยๆ เมื่อถึงจุดนึง ความคิดเห็นที่เก่ากว่าก็อาจจะถูกปัดไปอยู่อีกหน้าหนึ่ง (ต้องคลิกย้อนไปดู)

การแสดงความคิดเห็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับหัวข้อสนทนาที่ตั้งขึ้น จึงส่งผลอย่างน้อย 2 ลักษณะ 1) ซึ่งเป็นเรื่องเชิงเนื้อหา คือทำให้การพูดคุยเบี่ยงเบนจากจุดประสงค์-บรรยากาศการคุยไม่ต่อเนื่อง และ 2) ซึ่งเป็นเรื่องเชิงกลไก-และอาจจะสำคัญกว่า-คือด้วยกลไกการแสดงผลของเว็บไซต์ มันทำให้ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อจริงๆ ถูกหาเจอได้ลำบากขึ้น โดยเฉพาะถ้ามีความคิดเห็นเยอะมากๆ

ถ้าเป็นอีเมลเราก็เรียกสแปม (spam) หรือเมลขยะ หมายถึงข้อความแต่ละชิ้น แต่ลักษณะเรียลไทม์ของการแสดงความคิดเห็นออนไลน์มันทำให้เกิดอีกปรากฏการณ์หนึ่ง เมื่อข้อความจำนวนมากไหลมาอย่างต่อเนื่องจนท่วมพื้นที่ เราเรียกว่า ฟลัด (flood) คือมีข้อความไหลมาเร็วจนอ่านไม่ทัน

ไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็นที่เกี่ยวกับหัวข้อจริงๆ ข้อความเกรียน ข้อความด่าเกรียน ข้อความขอโทษแทนชาวไทยทั้งประเทศ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการ flood

ยิ่งอยากแสดงความรู้สึกผิด ยิ่งกระหน่ำขอโทษ ก็ยิ่ง flood มากขึ้นเช่นกัน

ไม่ใช่ว่าคนเหล่านี้ไม่มีมารยาททางสังคมเอาเสียเลย จริงๆ พวกเขามีมารยาทมากเสียจนรู้สึกผิดแทนพวก "ไม่มีมารยาท" ทั้งหลายด้วยซ้ำ แต่ด้วยความไม่เข้าใจหรือไม่ทันรู้ถึงกลไกการทำงานของพื้นที่นั้นๆ ก็ทำให้เขาทำ "ผิดมารยาท" ไปด้วยเหมือนกัน

จริงๆ การแสดงออกหนึ่งที่พวกเขาทำได้ ก็คือการไปกด "ถูกใจ" ข้อความขอโทษที่มีคนโพสต์ไว้ก่อนหน้านั้น โดยไม่จำเป็นต้องโพสต์ข้อความคล้ายๆ กันด้วยตัวเอง (การโพสต์ข้อความซ้ำๆ ที่ไม่ได้มีเนื้อหาอะไรใหม่ โดยตัวมันเองในบางพื้นที่ก็ถือว่าเป็นการทำผิดมารยาทเช่นกัน) ซึ่งถ้าข้อความไหนมีคนถูกใจมากพอ ก็อาจจะถูกดันขึ้นมาให้เด่นกว่าข้อความอื่นๆ ทำให้คนได้เห็นมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการทำ "ผิดมารยาท" แบบไหน ไม่ว่าจะเป็นการเกรียน หรือการร่วมขอโทษหนึ่งครั้งจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการ flood มันก็ไม่ควรจะเป็นอาชญากรรมอยู่ดี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท