Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที 14 ก.ค.ที่ผ่านมา อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ทิศทางการส่งออกไทยช่วงครึ่งปีหลังนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 218,896 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลง 3.8%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการติดลบติดต่อกัน 3 ปี และหนักสุดในรอบ 6 ปีนับตั้งแต่ปี53 จากปัจจัยลบคือ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว, ปัญหาประมงผิดกฎหมาย,ภัยแล้ง และราคาสินค้าเกษตรอยู่ในระดับต่ำ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ส่งออกไทย ยังสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับประเทศในกลุ่มซีแอลเอ็มวีในตลาดโลกมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดหลักของไทยเช่นสหรัฐอเมริกาจีนญี่ปุ่นและหากเวียดนาม เจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (ทีพีพี) สำเร็จก็จะยิ่งส่งผลให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในตลาดสหรัฐฯ มากขึ้น โดยปัจจุบันพบว่าเวียดนาม มีส่วนแบ่งการส่งออกของตลาดโลกเพิ่มจาก 0.83% ในปี 56 เป็น 0.9% ในปี 57 ขณะที่ไทยมีสัดส่วนลดลงจาก 1.36% เหลือ 1.33%

“สำหรับปัญหาหนี้กรีซนั้น น่าจะไม่มีปัญหามากนัก เพราะกรีชเป็นตลาดเล็ก ที่สำคัญปัญหาดังกล่าวนั้น ขณะนี้มีแนวโน้มการแก้ไขในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ที่ยังห่วงอีกตลาดคือ เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว ซึ่งกระทบต่อผู้ส่งออกไทยในกลุ่ม เคมีภัณฑ์ยางพาราชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นส่วนยานยนต์เป็นต้น ซึ่งไทยส่งออกไปจีนมีสัดส่วน11%ของการส่งออกทั้งหมด”

อย่างไรก็ดี ปัจจัยบวกที่มีผลต่อการส่งออกไทย ก็ยังมีอยู่บ้างเช่นเงินบาทที่อ่อนค่าลง ซึ่งขณะนี้อยู่ที่34บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ แต่รับว่าไม่ได้ส่งผลบวกมากนักเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งเพราะไทยค่าเงินอ่อนเป็นอันดับ 3เมื่อเทียบกับอินโดนีเซียและมาเลเซีย รวมถึงผลจากการที่ไทยได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี) จากสหรัฐฯ ถึงปี 60 และ แนวโน้มของราคาน้ำมัน ลดลงที่ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตการขนส่งลดลง

ส่วนครึ่งปีหลังนี้ คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออก 106,561 - 115,658 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 7.5% ถึงบวก 0.4% โดยความน่าจะเป็นมากที่สุดคือ - 3.6% หรือมูลค่าส่งออก 111,098 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคาดว่าไทยส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ 12,576 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 1.1%, ตลาดญี่ปุ่น 10,520 ล้านดอลลาร์ฯ ติดลบ 2.4%, ตลาดสหภาพยุโรป 10,230 ล้านดอลลาร์ฯ ติดลบ2.2%, ตลาดอาเซียนเดิม ประกอบด้วยบรูไน, อินโนนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์,สิงคโปร์ มูลค่า 16,902 ล้านดอลลาร์ฯ ติดลบ 14.7% , ตะวันออกกลาง 5,461 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 0.1% , อินเดีย 2,778 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 1.6% และจีน 11,813 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 7.1% เป็นต้น

(ที่มา : เดลินิวส์, 14 ก.ค.58)

ครม.ผ่อนปรนสัญญาสัมปทานหวังดึงเอกชนเข้าร่วมลงทุน

14 ก.ค.58 พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลเห็นว่า เมื่อเกิดข้อขัดแย้งและฟ้องร้องระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน ภาครัฐมักจะเป็นผู้จ่ายค่าเสียหายเกือบทั้งหมด เมื่อมีการตั้งอนุญาโตตุลาการ  ที่ประชุม ครม. จึงมติให้มีการแก้ไขในปี 2552 โดยกำหนดให้ทุกสัญญาทั้งในและต่างประเทศซึ่งทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ไม่ให้ใช้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด ด้วยการเสนอ ครม.พิจารณาเป็นรายกรณี

จากมติดังกล่าว จึงทำให้เอกชนไทยทั้งในและต่างประเทศไม่กล้าเข้าร่วมลงทุน เพราะเกิดความไม่มั่นใจ และเกิดความไม่แน่นอน ที่ประชุม ครม.วันนี้จึงเห็นชอบให้ใช้อนุญาโตตุลาการได้เพียง 2 กรณี เพื่อเกิดข้อพิพาทขัดแย้ง ประกอบด้วย สัญญาของเอกชนกับภาครัฐในโครงการร่วมลงทุน (PPP) และสัญญาสัมปทานของหน่วยงานรัฐกับเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ส่วนข้อขัดแย้งด้านอื่นให้พิจารณาใช้แนวทางไกล่เกลี่ย หรือ การฟ้องร้องต่อศาล

(ที่มา : สำนักข่าวไทย, 14 ก.ค.58)

6 เดือน บริษัทปิดกิจการแล้ว 6,898 ราย

ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ยอดจดทะเบียนเดือนมิถุนายน 2558  จำนวน 5,161 ราย เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบจากเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และลดลง 0.7% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนปีก่อน และจดทะเบียนเลิก 1,322 ราย เพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2558 และเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนปีก่อน ทำให้ยอดรวมบริษัทตั้งใหม่ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558  มีจำนวนรวม 31,557 ราย เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และจดทะเบียนเลิก 6,898 ราย เพิ่มขึ้น 18% โดยกรมฯ มั่นใจว่ายอดจดตั้งใหม่ทั้งปี 2558 จะเป็นไปตามเป้าที่คาดไว้ 6-6.5 หมื่นราย ทั้งยอดจดทะเบียนเพิ่มน้อย เป็นเพราะกรมฯได้เข้มงวดเรื่องเงินทุนจัดตั้ง และการจัดตั้งบริษัทท่องเที่ยว จึงเหลือคนที่ทำธุรกิจจริง และที่เลิกกิจการเพิ่มขึ้น เพราะเข้มงวดกับบริษัทที่ไม่ทำธุรกิจจริงและบริษัทค้าสลากที่มีการจดเลิกเพิ่มขึ้น  นอกจากนี้  กรมฯให้เข้มงวดกับผู้ค้าขายออนไลน์และทำการฉ้อโกงประชาชนในรูปแบบต่างๆ หากเป็นผู้ประกอบการที่ไม่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย จะถูกปรับ 2,000 บาท และปรับอีกวันละ 200 บาท และส่งดำเนินคดีตามกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)  ซึ่งมีโทษปรับเป็นแสนบาท

(ที่มา : มติชนออนไลน์, 15 ก.ค.58)

6 เดือน เอสเอ็มอีแบงก์มีกำไรสุทธิ 604 ล้านบาท ด้าน NPLs ลด

15 ก.ค. 58 สาลินี วังตาล ประธานกรรมการ และสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยผลการดำเนินงานของธนาคารว่า เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีกำไรสุทธิ 101 ล้านบาท และผลกำไรสุทธิรวม 6 เดือนแรกปีนี้ อยู่ที่ 604 ล้านบาท ดีกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูที่นำส่งซุปเปอร์บอร์ด และธนาคารปล่อยกู้ใหม่ได้แล้ว 16,925 ล้านบาท ให้กับลูกค้า 7,376 ราย ทั้งหมดเป็น SMEs รายย่อย วงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท ขณะที่ เปรียบเทียบคุณภาพสินเชื่อและผลการดำเนินงานปีก่อนหน้า คณะกรรมการชุดปัจจุบันได้เข้ามารับหน้าที่ในเดือนสิงหาคม 2557 ได้พยายามปรับปรุงกิจการของเอสเอ็มอีแบงก์ในทุก ด้านโดยเฉพาะในเรื่องการแก้หนี้เสียและการพยายามปล่อยเงินกู้ใหม่ที่มีคุณภาพดีเพื่อเพิ่มรายได้ของธนาคาร และเป็นการช่วยสภาพคล่องให้แก่ SMEs รายย่อย ซึ่งเป็นพันธกิจหลักของธนาคารด้วย

ทั้งนี้ สินเชื่อของเอสเอ็มอีแบงก์มีคุณภาพดีขึ้นมาก ดังจะเห็นได้จากลูกหนี้ที่จ่ายชำระดอกเบี้ย (Performing Loan) เพิ่มขึ้นจาก 52,928 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 เป็น 59,186  ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 ขณะที่ NPLs ลดลงจาก 35,167 ล้านบาท หรือร้อยละ 39.92 ของสินเชื่อรวม เหลือ 27,184 ล้านบาทหรือร้อยละ 31.47% ของสินเชื่อรวม  ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558  สินเชื่อรวมของเอสเอ็มอีแบงก์ที่ลดลงจาก 88,095 ล้านบาท เหลือ 86,370 ล้านบาท เพราะมีการขายลูกหนี้ที่เป็น NPLs ออกไป นอกจากนั้น ลูกหนี้ที่มีคุณภาพดีได้จ่ายชำระเงินต้น  ประกอบกับลูกหนี้ขนาดกลางที่ไม่สามารถเพิ่มวงเงินกู้กับเอสเอ็มอีแบงก์  ได้ขอ Refinance ไปส่วนหนึ่งด้วย

(ที่มา : สำนักข่าวไทย, 15 ก.ค.58)

พาณิชย์สั่งติดตามราคาน้ำดื่มบรรจุขวด หลังขาดตลาด

15 ก.ค.58 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมการค้าภายใน ตรวจสอบบริษัทผู้ผลิตน้ำดื่มรายใหญ่ อาทิ ไทยเบฟ เสริมสุข เนสท์เล่ ไทยน้ำทิพย์ เเละสิงห์ ซึ่งทั้งหมดนี้มีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 60 ของผู้ผลิตน้ำดื่มทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าปัญหาภัยแล้งไม่มีผลกระทบต่อการผลิตน้ำดื่ม ซึ่งยังสามารถผลิตน้ำดื่มได้ตามปกติ เนื่องจากมีการใช้น้ำใต้ดินผลิต ส่วนกระแสข่าวน้ำดื่มบางยี่ห้อขาดแคลน เนื่องจากประชาชนตื่นตระหนกทำให้มีการซื้อน้ำกักตุนจำนวนมาก ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามสถานอย่างใกล้ชิด และออกประกาศราคาแนะนำน้ำดื่มขวดพลาสติกใสขนาด 500-600 มิลลิลิตร ไม่แช่เย็นจำหน่ายไม่เกินขวดละ 7 บาท และแช่เย็นจำหน่ายไม่เกินขวดละ 10 บาท ขนาดบรรจุ 1500 มิลลิลิตร ต้องไม่เกินขวดละ 14 บาท หากพบว่าร้านค้าจำหน่ายเกินราคาแนะนำกระทรวงพาณิชย์จะออกมาตราการเข้มงวดมากขึ้น โดยประกาศเป็นราคาควบคุม ซึ่งหากกระทำผิดจะมีโทษตามกฎหมายจำคุก 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือประชาชนพบเห็นสามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1569

(ที่มา : สำนักข่าไทย, 15 ก.ค.58)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net