สร้างสำนึกรู้คุณและรับใช้ประชาชน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

มาร่วมกันสร้างสำนึกรู้คุณและรับใช้ประชาชน ให้เกิดขึ้นในหมู่นักเรียน นักศึกษาและข้าราชการทุกหมู่เหล่า เพื่อจะได้ไม่ทรยศ คดโกงประชาชน ด้วยความตระหนักรู้ด้านค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่ได้รับการอุดหนุนจากประชาชน โดยเฉพาะประชาชนคนเล็กคนน้อยที่ร่วมกันเสียภาษีเป็นหลัก ไม่ใช่ภาษีจากคนรวยส่วนน้อยเป็นหลัก

ตามที่มีข่าวว่า "ปิ๊งไอเดียอีก! บิ๊กตู่ สั่ง ศธ. ทำกลุ่มวิชา 'เสริมสร้างความเข้มแข็งประเทศ' สอนเด็ก" นั้น ปรากฏมีรายละเอียดว่า "นอกจากโครงการโตไปไม่โกงแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ มีความประสงค์จะให้มีวิชาใหม่ นั่นคือกลุ่มวิชาเสริมสร้างความเข้มแข็งของประเทศ เพื่อให้เด็ก เยาวชน มีความสำนึก ตระหนักรู้ถึงหน้าที่พลเมืองและสิทธิ สร้างเสริมให้ประเทศมีความเข้มแข็ง"

ผมในฐานะกรรมการในคณะกรรมการความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR: Corporate Social Responsibility) หอการค้าไทย และเป็นผู้บรรยายด้าน CSR ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ เห็นว่า แนวทางการรณรงค์โตไปไม่โกงและการให้รู้จักสิทธิและหน้าที่ของนักเรียนนั้น ไม่ได้อยู่ที่การส่งเสริมแนวคิดด้านศีลธรรม หรือเอาความเชื่อทางศาสนามารณรงค์ เพราะอาจมีประเด็นอ่อนไหวทางด้านศาสนาได้

การที่จะรณรงค์โตไปไม่โกงหรือการมีสำนึกตระหนักรู้ถึงหน้าที่พลเมืองและสิทธินั้น ต้องให้นักเรียน ตลอดจนข้าราชการทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงบุญคุณของประชาชนผู้เสียภาษี จะได้มีจิตใจ "รับใช้ประชาชน" อย่างแท้จริง โดยนำตัวเลขมาพิจารณาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ดังนี้:

1. จำนวนนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศ ณ ปี 2556 ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดที่หาได้ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ มีถึง 13,606,743 คน

2. ในแต่ละปีรัฐบาลใช้จ่ายเงินเพื่อการศึกษาเป็นจำนวนมาก เช่น จากข้อมูลของสำนักงบประมาณ งบประมาณด้านการศึกษาในปี 2556 คิดเป็นเงินถึง 493,892 ล้านบาท

3. โดยนัยนี้ นักเรียนนักศึกษาคนหนึ่งใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเพื่อการศึกษาเป็นเงินถึง 36,298 บาท เงินจำนวนนี้ นักเรียน นักศึกษาอาจไม่ได้เป็นเงินสด แต่ก็คือค่าจ้างครูอาจารย์ ค่าก่อสร้างอาคารเรียน ค่าคุรุภัณฑ์ อุปกรณ์การศึกษาและอื่นๆ รวมกันนั่นเอง

4. สำหรับการศึกษาในชั้นก่อนอุดมศึกษานั้น นักเรียนคนหนึ่งๆ คงใช้เงินปีละไม่เกิน 5,000 บาท ส่วนนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาเฉลี่ยอาจเป็นเงินปีละ 15,000 บาท (Eduzone) ยกเว้นนักศึกษาแพทย์ วิศวกร นักศึกษาอาจจ่ายค่าเล่าเรียนสูงกว่านี้

5. ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่าในการเรียนแต่ละปีตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษา รัฐบาลออกเงินให้เป็นส่วนใหญ่ ในระดับอุดมศึกษา รัฐบาลก็ออกเงินให้ราว 2 เท่าของค่าใช้จ่ายที่นักศึกษาแต่ละคนออก โดยนัยนี้ นักเรียน นักศึกษาส่วนใหญ่จึงเป็นหนี้บุญคุณต่อประชาชนที่เสียภาษีให้ อย่างไรก็ตาม บางท่านอาจเรียนโรงเรียนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน แต่ทางราชการก็ให้เงินสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับสถานศึกษาเอกชนเช่นในด้านการพัฒนาบุคลากร และอื่นๆ เป็นจำนวนมากเช่นกัน

เพื่อให้ได้ฐานเดียวกัน ในที่นี้จึงใช้ข้อมูลรายได้ของประเทศไทยแยกตามประเภทของภาษีประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 ดังนี้ :

รายได้แยกตามประเภท                 ล้านบาท                    %
ภาษีมูลค่าเพิ่ม                                   698,087                  27%
ภาษีเงินได้นิติบุคคล                          592,499                  23%
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา                   299,034                 12%
ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม                       113,291                    4%
ภาษีอื่นๆ ของสรรพากร                        61,796                    2%
ภาษีสรรพสามิต (น้ำมัน รถ เบียร์ ยาสูบ ฯลฯ)   432,868    17%
ภาษีกรมศุลกากร                               113,382                    4%
รายได้รัฐวิสาหกิจ                              101,448                    4%
รายได้หน่วยงานอื่น                            159,016                    6%
รวมรายได้ประจำปีงบประมาณ 2556   2,571,421      100%

ภาษีส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากบริษัทห้างร้านหรือประชาชนผู้เสียภาษีทางตรงนั้น นั่นเป็นความเข้าใจผิด จากยอดรายได้ของประเทศไทยทั้งหมดประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 จำนวน 2,571,421 ล้านบาท ภาษีนิติบุคคลเก็บได้เพียง 23% ของภาษีทั้งหมด ส่วนภาษีบุคคลธรรมดามีเพียง 12% เท่านั้น รายได้อันดับหนึ่งของประเทศมาจากภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 27%

ส่วนที่ว่ากรุงเทพมหานครเสียภาษีมากกว่าเพราะมักเป็นแหล่งผลิตสุดท้ายหรือแหล่งส่งออก จึงทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติสูงถึง 44% ของรายได้ประชาชาติโดยรวม แต่ไม่ได้หมายความว่าบริษัทห้างร้านหรือคนในกรุงเทพมหานคร เป็นผู้เสียภาษีมากกว่าประชาชนในชนบทแต่อย่างใด

อาจกล่าวได้ว่า ประชาชนทั่วประเทศส่วนใหญ่เสียภาษีทางอ้อมต่างๆ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีปิโตรเลียม ภาษีสรรพสามิต ฯลฯ ดังนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ทั่วประเทศซึ่งไม่ใช่คนร่ำรวยแต่เป็นคนธรรมดาจำนวนหลายสิบล้านคน จึงเสียภาษีมากกว่าบุคคลธรรมดาที่ร่ำรวย

อันที่จริงนิติบุคคลต่างๆ (ยกเว้นบริษัทมหาชนซึ่งมีไม่กี่ร้อยแห่ง) มักเลี่ยงภาษีในรูปแบบต่างๆ หรือเสียภาษีให้น้อยที่สุด แม้แต่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ ยังอาจเสียภาษีมากกว่าคนรวย เพราะพวกเขาต้องเสียภาษีล้อเลื่อน (จักรยานยนต์ รถยนต์รายปี) ส่วนคนร่ำรวย มีที่ดินอยู่จำนวนมหาศาล มูลค่านับร้อย นับพัน นับหมื่นล้านบาท ก็แทบไม่เคยเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอะไรเลย

โดยนัยนี้ ผู้ที่มีบุญคุณต่อนักเรียนนักศึกษามากที่สุดก็คือประชาชนคนเล็กคนน้อยที่เสียภาษีผ่าน VAT และอื่นๆ มากกว่าคหบดีที่อ้างตนว่าเสียภาษีทางตรงเฉพาะรายสูงกว่าประชาชนทั่วไป ดังนั้น เป้าหมายการศึกษาของเราจึงควรมุ่งไปที่การรับใช้ประชาชน อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน แนวคิดการศึกษาเพื่อรับใช้ประชาชนนั้น แทบไม่เคยมีใครสอนในสถาบันอุดมศึกษายุคใหม่ นี่แสดงว่าเราขาดการทดแทนคุณต่อประชาชนและประเทศชาติ

การรับใช้ประชาชนมีหลายมิติ แต่สิ่งที่ควรพิจารณาในด้านอุดมการณ์ก็คือทุกคนต้องตระหนักถึงภาระนี้ ให้เห็นว่าผู้มีบุญคุณที่แท้จริงคือประชาชนผู้เสียภาษี หาใช่ใครอื่น เราต้องมีหลักยึดที่การทำดีต่อชาติและประชาชน มุ่งสร้างสรรค์ให้ดี ไม่ใช่ดูแต่ตัวเอง (เป็นพวก Self-centeredness) ประเภท "พอถูกตะปูตำเท้าตัวเดียว ก็ (เจ็บปวดนึกถึงแต่ตนเอง) จนลืมโลกไปได้ทั้งโลก" เป็นต้น

ในแง่ปฏิบัติก็คือ

1. ต้องทำธุรกิจหรือทำงาน ทำตัว ให้ถูกต้องตามกฎหมาย จะเลี่ยงกฎหมาย ฉ้อฉลไม่ได้ เพราะเท่ากับโกงประชาชน
2. ต้องมีจรรยาบรรณนักธุรกิจ นักวิชาชีพ ข้าราชการ ฯลฯ จะหลีกเลี่ยงเพื่อเอาประโยชน์ตนถ่ายเดียวไม่ได้
3. ต้องบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม บริจาค ทำดีด้วยแรงที่เป็นการรับใช้ประชาชน รับใช้สังคมอย่างชัดเจนไม่ใช่ทำดีเอาหน้า หรือแทบไม่เคยทำดี

เราต้องปลูกฝังอุดมการณ์รับใช้ประชาชนตั้งแต่เด็ก ส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาจำให้ขึ้นใจว่าผู้มีพระคุณที่แท้จริงของพวกเขาคือประชาชนที่ทำให้เขาได้เรียน จะได้แทนคุณประชาชน แทนคุณแผ่นดิน ที่สำคัญต้องไม่ทรยศต่อประชาชนและประเทศชาติ ไม่ใช่มุ่งแต่กอบโกยเพื่อตนเองซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวงจรอุบาทว์ทำลายชาติ การรับใช้ประชาชนและประเทศชาติเป็นพันธะกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของนักศึกษา การเริ่มต้นคิดเพื่อส่วนรวม ย่อมเป็นมงคลต่อตนเอง และทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนในที่สุด

คงต้องปิดท้ายด้วยเพลง “เป้าหมายการศึกษา” ซึ่งแต่งโดยคุณนเรศ นโรปกรณ์ ความว่า:

“เพียงหวังจะเฟื้องฟุ้ง หรือจะมุ่งมาศึกษา
เพียงเพื่อปริญญา เอาตัวรอดเท่านั้นฤา
แท้ควรสหายคิด และตั้งจิตร่วมยึดถือ
รับใช้ประชาคือ ปลายทางเราที่เล่าเรียน”

ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ควรนำคณะทำพิธีกราบเท้าประชาชนคนเล็กคนน้อยผู้เสียภาษีทุกปีเพื่อรณรงค์จิตสำนึกรับใช้ประชาชน ไม่ทรยศประชาชนนั่นเอง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท