Skip to main content
sharethis

14 ก.ค.2558 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดสัมมนา เรื่อง “การพัฒนาระบบการคุ้มครองแรงงานเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีอาเซียน : การจัดทำฐานข้อมูลระบบการคุ้มครองแรงงานของประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน” ที่โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพ

บุญวรา สุมะโน เจนพึ่งพร หัวหน้าโครงการการวิจัย “การพัฒนาระบบการคุ้มครองแรงงานเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีอาเซียน: การจัดทำฐานข้อมูลระบบการคุ้มครองแรงงานของประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน” กล่าวว่า แม้สมาชิกประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้รับเอามาตรฐานการคุ้มครองแรงงานจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เช่น การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ การให้สิทธิแก่แรงงานหญิงในการลาคลอด การกระจายสวัสดิการสังคมให้แก่แรงงานและครอบครัว รวมไปถึงสร้างมิติความร่วมมือในระดับทวิภาคีระหว่างประเทศผู้รับและผู้ส่งออกแรงงาน  แต่ด้วยความแตกต่างทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ทำให้มาตรการการคุ้มครองแรงงานทั้งแรงงานในประเทศและแรงงานข้ามชาตินั้นแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ซึ่งเกิดจากความพยายามของประเทศในการสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสวัสดิการสังคมของแรงงาน แต่ในอนาคต ความร่วมมือในภูมิภาคนี้จะยกระดับขึ้นเป็นประชาคมอาเซียน ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันอันเกิดจากเงื่อนไขท้องถิ่นเป็นประเด็นที่ต้องแสดงความคิดเห็นร่วมกันให้มาก

หัวหน้าโครงการวิจัยจากทีดีอาร์ไอ ยังได้แสดงความกังวลว่า การบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานจะสามารถทำได้จริงมากน้อยเพียงใด และความกังวลที่แรงงานไม่ร้องเรียน หรือไม่กล้าเผชิญหน้ากับการถูกเอารัดเอาเปรียบ แต่ละประเทศจึงต้องให้ความร่วมมือกันเพื่ออุดช่องว่างระหว่างเนื้อหาของนโยบายและการใช้ในสภาพความเป็นจริง

จากนั้นเป็นช่วงของการเสวนา โดยมีวิทยากร ได้แก่ สุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย, ถิรภาพ ฟักทอง จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ. การวิจัยด้านการพัฒนาแรงงานจากทีดีอาร์ไอ

สุนีกล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายยากกว่าการสร้างกฎหมาย จุดที่ท้าท้าย คือ ประเทศสมาชิกต้องคุยกัน ต้องสร้างบรรทัดฐานร่วมที่เอาข้อจำกัดของกฎหมายแต่ละประเทศมาพิจารณา เพื่อที่จะใช้เป็นกรอบใหญ่ร่วมกันได้ ถ้าหากไม่สามารถแหวกม่านอธิปไตยที่ต่างคนต่างก็ใช้กฎหมายของตนเองในการจัดการประเด็นการคุ้มครองแรงงาน การสร้างกรอบใหญ่ดังกล่าวจะไม่สามารถเกิดขึ้น

รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวต่อไปว่า ประเทศสมาชิกจะต้องว่าทบทวนเจตนารมณ์ของการรวมกลุ่มในภูมิภาคเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรนั้นคืออะไร ทำอย่างไรกระบวนการคุ้มครอง เสริมสร้างสิทธิแรงงานจะครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม และหวังว่าประเทศสมาชิกอาเซียนจะปรับปรุงกฎหมายภายในของตนเอง เพราะทุกวันนี้ไม่สามารถปฏิเสธกติการะหว่างประเทศได้

ที่ผ่านมา อาเซียนพัฒนากฎบัตรมาหลายฉบับ แต่ไม่เห็นการบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรมนัก จึงหวังให้ร่างข้อตกลงอาเซียนมีสภาพบังคับตามกฎหมายให้ได้  อาจจะไม่ต้องรอสัตยาบันจากทุกประเทศสมาชิก แต่อาจให้ประเทศสมาชิกห้าประเทศขึ้นไปให้สัตยาบันจึงมีผลบังคับใช้ ซึ่งสามารถทำได้และเคยทำมาในหลายประเด็น ทั้งนี้ หวังว่าจะมีองค์กรอิสระเพื่อควบคุมกลไกการคุ้มครองแรงงานในอาเซียน ที่ดำเนินงานโดยผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสมาชิกในอาเซียน

ยงยุทธ กล่าวว่า ควรจะมีบัญญัติกรอบใหญ่เพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานหนึ่งฉบับ จากนั้นควรให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถเข้าถึง มีความรู้และความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว กระบวนการประชาสัมพันธ์จะต้องทำให้แพร่หลาย เนื่องจากมีหลายต่อหลายคนที่เข้าไม่ถึง เพราะไม่ได้อ่าน ไม่รู้ ไม่เห็น

ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาแรงงานจากทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อว่า การบังคับใช้กฎหมายนั้น เป็นคนละเรื่องกับการจัดทำกฎหมาย เพราะในสภาวะจริง มีอุปสรรคที่ทำให้การบังคับใช้ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การคอร์รัปชัน

ส่วนการดูแลแรงงานข้ามชาติของไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาแรงงานจากทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ต้องเข้าใจในทัศนคติของแรงงานข้ามชาติ ทั้งในประเทศไทยและอาเซียน ควรพิจารณาการมีกฎหมายแรงงานต่างด้าวที่แรงงานข้ามชาติเองมองว่ามีความเหมาะสม ส่วนในกรณีแรงงานไทยในต่างแดน ยงยุทธ เสนอว่า ปัจจุบันกติกาของอาเซียนมีปัญหา เพราะยังไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนว่าจะดูแลคนกลุ่มนี้อย่างไรในฐานะที่แรงงานไทยเป็นแรงงานข้ามชาติในประเทศนั้นๆ และโจทย์ที่ท้าทายก็คือ การทำให้สิทธิของแรงงานไทยในต่างแดนนั้นทัดเทียมกับการดูแลสิทธิของแรงงานไทยในประเทศไทย

ถิรภาพ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอว่า ประเทศไทยรวมไปถึงประเทศสมาชิกอาเซียนต้องตื่นตัวกับกระแสอย่างน้อยห้ากระแส ดังนี้

หนึ่ง การย้ายถิ่นของแรงงานที่มีแนวโน้มจะอยู่อาศัยแบบชั่วคราว ไม่ลงหลักปักฐาน การคุ้มครองสิทธิแรงงาน สวัสดิการสังคมของคนเหล่านี้จะได้รับการดูแลมากน้อยเพียงใด

สอง การรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนพูดถึงเรื่องการโยกย้ายแรงงานมีฝีมือชัดเจน แต่ในประเด็นแรงงานที่ไม่มีฝีมือนั้นไม่ค่อยได้พูดถึง

สาม การเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายของแรงงานข้ามชาติ และไปอยู่ในระบบเศรษฐกิจใต้ดิน หรือธุรกิจผิดกฎหมาย ไม่มีใครกล่าวถึง เพราะว่ามีข้อมูลน้อย การร่างกฎหมายเพื่อวางมาตรการต่อประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย

สี่ แรงงานหญิงมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจมากขึ้น นโยบายที่จะนำมาบังคับใช้ จึงควรจะสอดรับกับลักษณะเฉพาะของแรงงานสตรี

ห้า เมื่อพูดถึงการคุ้มครองแรงงาน ประเทศผู้รับและผู้ส่งแรงงานจะพบเจอปัญหา และมองประเด็นปัญหาในมุมมองที่แตกต่างกัน ซึ่งประเทศไทยนั้นเป็นทั้งผู้ส่งและผู้รับ การให้น้ำหนักปัญหาก็จะไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นการดูแลคนไทยในต่างประเทศ และดูแลคนไทยในต่างชาติ

อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า รายงานวิจัยชิ้นนี้อาจจะเป็นทางออก ในการยกประเด็นคุ้มครองแรงงานในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ ที่ปัจจุบันไม่มีความชัดเจนและกระจัดกระจายในหลักการประพฤติปฏิบัติและทัศนคติ ส่วนความท้าทายในอนาคตที่จะเกิดขึ้นคือ การรวมตัวของแรงงานข้ามชาติเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานด้วยกัน ที่จะแข็งแรงกว่าที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยยังขาดนโยบายที่เกี่ยวกับการอพยพย้ายถิ่นของแรงงาน นโยบายจัดสรรปริมาณแรงงาน และการสร้างระบบบริหารจัดการถือเป็นสิ่งที่จำเป็นในการที่จะตรวจตรา ควบคุมการไหลของแรงงานได้อย่างละเอียด ว่าเข้าออกเท่าไหร่ ทำงานอะไร ไปอยู่ในภาคส่วนไหน

ถิรภาพ ทิ้งท้ายว่า อยากให้พิจารณากันในเรื่องแรงงานนอกระบบ ในบางครั้ง ระบบการร้องเรียนของแรงงานเหล่านี้ไม่มีประสิทธิภาพ ในอนาคต ถ้ารัฐจะกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ หรือเพิ่มสิทธิเข้าไป แรงงานเหล่านี้จะได้รับอะไร ซึ่งภายใต้ระบบเดิมไม่สามารถช่วยเหลือได้อย่างเพียงพอ และเชื่อว่าทุกประเทศสมาชิกมีระบบเศรษฐกิจนอกระบบที่มีขนาดใหญ่ ความท้าทายจึงไม่ใช่แค่การแก้โจทย์ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่หมายรวมไปถึงการสร้าง และใช้เครื่องมือใหม่ๆ ที่อาจไม่ใช่แค่กฎหมายเสมอไป


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net