ศาลทหารจำคุก ‘เครือข่ายบรรพต’ 10 ปีและ 6 ปี ฟันคนแชร์เท่าคนทำคลิป

14 ก.ค.2558  ที่ศาลทหาร เวลา 10.12 น. ศาลอ่านคำพิพากษาคดีดำที่ 125 ก./2558  ที่พลเรือน 10 รายตกเป็นจำเลยในความผิดตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จากกรณีคลิปเสียงบรรพต

คดีนี้มีจำเลยทั้งสิ้น 12 คนทั้งหมดทยอยถูกจับกุมและคุมขังมาตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนามคม 2558 จนถึงปัจจุบัน จำเลย 10 คนรับสารภาพ ส่วนจำเลยอีก 2 คนคือ เงินคูณและศิวาพร ขอต่อสู้คดี ศาลสั่งจำหน่ายคดีและให้อัยการยื่นคำฟ้องใหม่อีกครั้ง สำหรับทั้ง 10 คน ศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลย 8 คนในฐานะผู้กระทำผิดตามมาตรา 112 เป็นเวลา 10 ปี ทั้งหมดรับสารภาพจึงได้ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 5 ปี ส่วนอีก 2 คนถูกฟ้องในฐานะเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด ศาลลงโทษจำคุก 6 ปี ทั้งสองรับสารภาพจึงได้ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 3 ปี

จำเลยที่ถูกตัดสินว่าเป็นผู้กระทำผิดทั้ง 8 คน แบ่งเป็นผู้จัดทำคลิป 1 คน คือ บรรพตหรือหัสดิน และผู้ที่แชร์ไฟล์เสียงในโซเชียลมีเดีย 7 คน คือ ดำรงค์, ไพศิษฐ์,กรณ์รัฏฐ์, ทิพย์รชยา, วิทยา, นงนุช, กรวรรณ (กรณีของกรวรรณทนายระบุว่าเป็นเพียงการส่งลิงก์ในกล่องสนทนาให้วิทยาเท่านั้น) ส่วนผู้ที่ถูกลงโทษจำคุก 6 ปีลดเหลือ 3 ปีเป็นผู้ให้การสนับสนุนได้แก่ สายฝน ภรรยาบรรพต จากกรณีที่ให้หลานสาวเปิดบัญชีเพื่อรับเงินบริจาค และ นที มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ส่งซีดีและเสื้อที่จำหน่ายภายในกลุ่ม

ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวภายหลังฟังคำพิพากษาว่า เบื้องต้นคาดหวังว่าศาลจะลงโทษจำเลยแต่ละคนตามพฤติการณ์ที่ต่างกันและพิจารณาอัตราโทษเป็นรายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 7 ที่เป็นผู้ผลิตคลิปขึ้นมา ไม่ควรได้รับโทษในอัตราเดียวกับคนที่เพียงแต่แชร์เท่านั้น ควรลดหลั่นกันไปตามพฤติการณ์มากกว่า

ศศินันท์ กล่าวว่า การลงโทษผู้แชร์คลิปในอัตราเดียวกับผู้ผลิตคลิปขึ้นมานั้น เสมือนเป็นการส่งสัญญานเพื่อปรามผู้ที่จะกระทำในแบบเดียวกันนี้ในอนาคต ให้เห็นว่าการเผยแพร่นั้นโทษร้ายแรงเท่ากัน อีกนัยหนึ่งคือเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการลงโทษทางอาญาอย่างรุนแรง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จำเลยหลายคนยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพขอให้ศาลเมตตารอการลงโทษ แต่ศาลยกคำร้องเนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่าเป็นการกระทำผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ซึ่งกระทบกระเทือนความรู้สึกของประชาชนอย่างร้ายแรง ไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ นอกจากนี้ยังมีกรณีที่จำเลย 9 คนยกเว้นบรรพตได้แถลงแย้งเรื่องวันควบคุมตัวตามคำฟ้องว่าไม่ตรงข้อเท็จจริง เนื่องจากเริ่มนับวันควบคุมตัวเมื่อถึงมือตำรวจ หากแต่พวกเขาล้วนถูกคุมขังในค่ายทหารก่อนหน้านั้นหลายวัน แม้อัยการจะแย้งว่าไม่ควรนับวันในค่ายทหารที่ควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก แต่ศาลพิพากษาให้นับวันควบคุมตัวในค่ายทหารเป็นวันคุมขังเพื่อดำเนินคดีด้วย  

หลังเสร็จสิ้นการอ่านคำพิพากษา ภรรยา ญาติ และลูกๆ ของจำเลยหลายคนต่างพากันร่ำไห้ ภัทร์ทวรรณ ภรรยาของจำเลยคนหนึ่งกล่าวว่า รู้สึกตกใจและสะเทือนใจมาก เพราะคาดว่าโทษของสามีซึ่งกระทำการแชร์คลิปจะอยู่ที่ประมาณ 3 ปีรับสารภาพเหลือ 1 ปีครึ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า นอกเหนือจากคดีนี้ยังมีอีก 2 คดีที่ถูกฟ้องในความผิดมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แยกต่างหาก นั่นคือ คดีของธารา ถูกฟ้อง 6 กรรม ศาลทหารนัดสอบคำให้การในวันที่ 7 ส.ค.นี้ และคดีของอัญชัญ ถูกฟ้อง 29 กรรม ศาลทหารนัดสอบคำให้การในวันที่ 28 ก.ค.นี้

ทั้งนี้ คำฟ้องในคดีนี้ (คดีดำที่ 125ก./2558) ระบุว่า ระหว่างปี 2553  ถึง 28 ม.ค.2558 จำเลยที่ 1 - 4 และจำเลยที่ 7 - 12 กับพวกอีกสองคนที่ยังหลบหนีไปได้กระทำความผิดตามฟ้อง โดยจำเลยที่ 7 จัดทำคลิปข้อความเสียงของตนโดยใช้นามแฝงว่า “บรรพต” ซึ่งในมีข้อความหมิ่น อัพโหลดเข้าสู่ mediafire.com จากนั้นจำเลยที่ 1-4 และจำเลยที่ 8-12 ดาวน์โหลดคลิปนั้นเข้าสู่ mediafire.com นำมาเผยแพร่ใน facebook.com.banpodjthailandclips.simplesite.com และ OKTHAI.com ซึ่งประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ โดยจำเลยที่ 1-4 และ 8-12 กับพวกรู้อยู่แล้วว่าคลิปดังกล่าวเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ทั้งนี้ คลิปดังกล่าวยังปรากฏอยู่ในเว็บ OKTHAI.com ตลอดมาจนวันที่ 28 ม.ค.2558 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจพบคลิปและอยู่ในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึก

ส่วนจำเลยที่ 5 และ 6 สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 7 โดยจำเลยที่ 5 มีหน้าที่นำแผ่นบันทึกคลิปข้อความเสียงที่จำเลยที่ 7 จัดทำขึ้น ไปให้แก่ นางอัญชัญ ซึ่งถูกดำนินคดีเป็นอีกคดีหนึ่ง เพื่อนำไปเผยแพร่ต่อ โดยจำเลยที่ 5 รู้อยู่แล้วว่าคลิปข้อความเสียงดังกล่าวเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง สำหรับจำเลยที่ 6 (ภรรยาบรรพต) เป็นผู้ช่วยเหลือโดยให้หลานสาวของจำเลยที่ 6 เปิดบัญชีธนาคาร รับเงินบริจาคจากผู้สนับสนุนและเบิกจ่ายเงินจากบัญชีดังกล่าวเพื่อนำมาเป็นทุนในการจัดทำและเผยแพร่คลิปของจำเลยที่ 7

 

 

ภูมิหลังจำเลย

ดำรงค์ จำเลยที่ 1  อายุ 65 ปี ถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจ Banpodj Thailand Clips จำเลย

ไพศิษฐ์ จำเลยที่ 2  อายุ 46 ปี ตาเสียข้างหนึ่ง อาชีพเปิดร้านขายสี

เงินคูณ จำเลยที่ 3 (สู้คดี)  อายุ 43 ปี อาชีพทำธุรกิจขายสแตนเลส และหมอดู

ศิวาพร จำเลยที่ 4  (สู้คดี)  อายุ 41 ปี อาชีพแม่บ้าน

นที จำเลยที่ 5  อายุ 48 ปี อาชีพขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

สายฝน จำเลยที่ 6  อายุประมาณ 50 ปี ภรรยาบรรพต อาชีพนักงานธนาคาร

หัสดิน (หรือบรรพต) จำเลยที่ 7 อายุ 65 ปี เคยทำธุรกิจ แต่ขณะถูกจับไม่ได้ประกอบอาชีพ

กรณ์รัฏฐ์ จำเลยที่ 8  อายุ 61 ปี ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเอกชน 

ทิพย์รชยา จำเลยที่ 9 อายุ 44 ปี อาชีพฝ่ายบัญชีของบริษัทเอกชน

นงนุช จำเลยที่ 10 อายุ 40 กว่าปี อาชีพพนักงานขายของห้างสรรพสินค้า

วิทยา จำเลยที่ 11 อายุ 35 ปี ลูกจ้างของสถานีขนส่งจังหวัดลำพูน

กรวรรณ จำเลยที่ 12 อายุ 46 ปี อาชีพประกอบธุรกิจส่วนตัว

ที่มา: iLaw

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท