Skip to main content
sharethis

สุชาติ สวัสดิ์ศรี-ศิลปะเพื่อชีวิตไร้ความหมาย เวียง-วชิระ บัวสนธ์-ศิลปินอย่าสำคัญตัวผิดว่าตัวเองอยู่เหนือกว่าคนอื่น อธิคม คุณาวุฒิ-เราจะทำงานได้อย่างไรหากไร้เสรีภาพ

เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2558 ที่ห้อง 103 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานรัฐศาสตร์เสวนาครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “ศิลปะ เสรีภาพ กับการเมือง” ซึ่งงานรัฐศาสตร์เสวนาจะมีการจัดเดือนละ 1 ครั้ง ในหัวข้อต่างๆ ที่เป็นประเด็นทางสังคม ตลอดช่วงระยะเวลา 1 ปี สำหรับการเสวนาในครั้งนี้มีวิทยากรประกอบด้วย สุชาติ สวัสดิ์ศรี, เวียง-วชิระ บัวสนธ์ และอธิคม คุณาวุฒิ ดำเนินการเสวนาโดย เอกวีร์ มีสุข การเสวนาในครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ 40 คน และมีเจ้าหน้าที่สันติบาลเข้าฟังงานเสวนาด้วย

สุชาติ สวัสดิ์ศรี: ศิลปะวางตัวอยู่ในที่ซ่อน แล้วเราจะใช้คำว่า ศิลปะเพื่อชีวิต ไปทำไม

สุชาติ เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า ศิลปะ เสรีภาพ และการเมือง เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน ทั้งกับชีวิต และสังคม ศิลปะรับใช้ตัวของมันเอง และตัวของมันเองก็วางอยู่ในที่ซ่อน หมายความว่า ศิลปะมีลักษณะที่เป็นงานปลายเปิด มีทีว่างให้คนเสพศิลปะได้คิดต่อ 

เมื่อประมาณ 40 ปี สุชาติเคยคิดว่า ศิลปะนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อชีวิต แต่ว่านัยของคำว่าเพื่อชีวิต ไม่ได้มีชั้นเชิงทางทฤฎีที่กว้างมากพอ โดยส่วนใหญ่จะรับอิทธิพลจากหนังสือ ศิลปะเพื่อชีวิต ของทีปกร หรือจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งเป็นความหมายที่ค่อนข้างแคบ คำว่าศิลปะเพื่อชีวิตน่าจะมีนัยอื่นๆ อีก แต่คนในยุคนั้นก็ไม่ได้มีการถกเถียงในเรื่องนี้มากนัก มีเวลาเพียงสั้นๆ ระหว่าง 14 ตุลา 16 ถึง 6 ตุลา 19 ความหมายของคำว่า เพื่อชีวิต จึงถูกตีความโดยนัยว่าเป็น เพื่อประชาชน ทั้งที่สามารถขยายความหมายออกไปได้หลายแบบ ซึ่งช่วงเวลานั้นสุชาติ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับนิยามในแบบแคบ ถูกเรียกว่าเป็น “โรคประจำศตวรรษ”

สุชาติกล่าวว่า ศิลปะเพื่อชีวิต ที่มีความหมายว่าเพื่อประชาชน ในทางการเมืองได้สิ้นลงพร้อมกับนโยบาย 66/23 แต่คำว่าศิลปะเพื่อชีวิตที่ครั้งหนึ่งเคยมีนัยทางการเมือง ได้กลายเป็นสิ่งซึ่งสามารถใช้ทำมาหากินได้ ในระบบทุนนิยม มันไม่ได้รักษาคอนเซปเดิมที่เคยเป็นเช่น สังคมนิยม ซึ่งเป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของคำว่าศิลปะเพื่อชีวิต ทว่ามันเปลี่ยนแปลงไป

สุชาติกล่าวต่อไปว่า คนทำงานศิลปะจะเพื่ออะไรก็แล้วแต่ เป็นเรื่องของคนอื่นที่จะให้ความหมาย ตีความ หรือศึกษาในชั้นเชิงต่างๆ แต่คนทำงานศิลปะคือคนที่จะต้องทำให้งานของตนเองมีชีวิตเสียก่อน จะด้วยวิธีการสร้างเนื้อหา รูปแบบอย่างไรก็ตาม ถ้างานมีชีวิตแล้ว จะเป็นไปเพื่ออะไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เท่าที่ผ่านมาเรามักจะถูกเรียกร้องให้สร้างงานที่เป็นไปตามความคิดแบบใดแบบหนึ่ง

ภายหลังจากโนบาย 66/23 เรื่อยมา คำว่าศิลปะเพื่อชีวิตตามแนวคิดเดิมเริ่มแตกสลาย และขยับความหมายเข้าไปสอดรับกับระบบทุนนิยม สุชาติกล่าวว่า คำว่าเพื่อชีวิต ไม่ได้มีความหมาย เพราะความหมายได้แตกตัวออกไป อย่างที่เห็นว่ามี คาราโอเกะเพื่อชีวิต ร้านกาแฟเพื่อชีวิต ร้านเบียร์เพื่อชีวิต มันเผยให้เห็นถึงการปรับตัวเพื่อที่จะอยู่รอดในสังคมทุนนิยม ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ และแต่ละคนก็เดินไปตามเสรีภาพของตัวเอง

สุชาติกล่าวว่า ก่อนมางานครั้งนี้ได้ฟังพระเทศน์ผ่านทางวิทยุ มีช่วงหนึ่งของคำเทศน์น่าสนใจคือ “ถ้าอยู่บนฟ้าก็ต้องเป็นนก ถ้าอยู่ในน้ำก็ต้องเป็นปลา ถ้าอยู่ข้างฝาก็ต้องเป็นจิ้งจก” หมายความเป็นนกก็ต้องอยู่บนฟ้า โดยธรรมชาติของนกก็ต้องบิน ถ้าอยู่ในกรงนั้นเริ่มเป็นปัญหา แต่ถ้าหากว่าเปิดกรงแล้วนกยังไม่ยอมบินออกจากกรงก็เริ่มมีปัญหามากกว่าเดิม หรือออกไปแล้วไปไหนก็ไม่รู้ แทนที่จะบินไปแบบโจนาธาน นางนวล บินไปเพื่อแสวงหาเสรีภาพในการใช้ชีวิต ปลาก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องอยู่ในน้ำ โดยธรรมชาติของปลานั้นมันต้องเป็นปลาที่ว่ายทวน ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นปลาที่มีชีวิต ส่วนจิ้งจก แน่นอนว่าอยู่ที่ข้างฝา ซึ่งไม่แน่ชัดนักว่าพัฒนามาจากไดโนเสาร์ยุคไหน  แต่ธรรมชาติของมันคือการกลายสภาพไปตามสีของข้างฝา

สุชาติมองว่าประเด็นคำเทศน์ของพระน่าสนใจ บางครั้งผู้ทำงานศิลปะก็คงเปรียบเทียบได้กับสัตว์ 3 ชนิด แต่ปัญหาก็คือ สุชาติมักจะพบแต่ จิ้งจก ซึ่งแน่นอนที่สุดจิ้งจกก็จำต้องพรางตัวเพื่อความอยู่รอดปลอดภัย

เวียง-วชิระ บัวสนธ์: สภาพจิตของผู้ผลิตงานศิลปะ อย่าสำคัญตัวผิดว่าตัวเองอยู่เหนือกว่าคนอื่น

เวียง-วิชิระ กล่าวว่า เท่าที่พูดคุยกันในแวดวงนักเขียน และกวี และจากที่สังเกตุ พบว่า สภาพจิตของผู้ผลิตงานศิลปะแขนงต่างๆ ไม่ได้แตกต่างไปจากนักเขียน และกวี แท้จริงแล้วก็คือภาพย่อของจริต และอารมณ์ของสังคมไทยในปัจจุบัน ซึ่งสามารถจัดกลุ่มอย่างกว้างได้ 4 ประเภทคือ กลุ่มอารมณ์ที่ยังคงเชียร์รัฐบาล กับกลุ่มที่ไม่เชียร์รัฐบาล อีกกลุ่มคือกลุ่มที่เชียร์บ้างไม่เชียร์บ้าง และสุดท้ายยังคงมีกลุ่มพิเศษอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ยุ่งกับโลก และสังคมเลย คือไม่เอาธุระกับอะไรทั้งสิ้นนอกจากเรื่องของตัวเอง

เวียง-วชิระ กล่าวต่อไปว่า นักเขียน และกวี ในรุ่นอายุอานามประมาณ 40 ปลายๆ 50 กลางๆ เติบโตทางปัญญามากลับวรรณกรรมเพื่อชีวิต หรือวรรณกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งวรรณกรรมเหล่านี้เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัย 14 ตุลา หรืออาจจะเป็นงานเขียนที่มีมาก่อนหน้านั้น แต่ในยุค 14 ตุลา ได้มีการรื้อฟื้อคืนชีวิตให้กับงานเหล่านี้อีกครั้ง การเสพวรรณกรรมเหล่านี้ทรงอิทธิพลต่อการจัดรูปความคิดของคนให้มีจิตสำนึกทางสังคมขึ้น ข้อสังเกตุคือ คนที่เติบโตมาในยุคนั้นแล้วกลายมาเป็นนักเขียน หรือกวี มักจะเป็นลูกชาวบ้าน หลานชาวนา ซึ่งมีพื้นเพ หรือสังกัดอยู่ในชนชั้นล่างของสังคม เมื่อได้เสพวรรณกรรมที่บ่งบอกมูลเหตุของความยากไร้ สภาพความเจ็บช้ำน้ำใจอันเนื่องมาจากการถูกเอารัดเอาเปรียบโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนพ่อค้านายทุน ก็ทำให้เลือดลมพลุ่งพล่านเป็นธรรมดา แล้วเมื่อหันเหมาเป็นผู้ผลิตวรรณกรรมเอง อำนาจของวรรณกรรมที่ได้รับมาในช่วงแรก ก็ทำให้คนเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้กับคนในชนชั้นตัวเอง เพราะว่านักเขียนต้องเขียนในสิ่งที่คุ้นเคย เขียนในสิ่งที่รู้จริง เนื่องจากการก่อตัวทางความคิดของนักเขียนในรุ่นของตัวเองเติบโตมาแบบนี้ ก็เห็นชัดได้ว่า เมื่อเหตุการณ์พฤภาทมิฬ ไม่มีใครลังเลที่จะประกาศตัวให้โลกรู้ว่า ไม่เอารัฐบาลเผด็จการ แต่ปัญหาคือเกิดอะไรขึ้นกับนักเขียน และกวีส่วนหนึ่ง ที่พาตัว พาใจ ไปยอมรับกับอำนาจเผด็จการ

เวียง-วชิระ กล่าวว่า นักเขียนและ กวีที่เคยเชื่อมั่น และศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย หันไปนิยมชื่นชมกับระบอบที่ตรงกันข้าม สร้างความสังสัย และทำในวงการนักเขียน แตกกระจายออกไป การขับไล่รัฐบาลในเวลานั้น ซึ่งกำลังพลักดัน พ.ร.บ. นิริโทษกรรม เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้ ที่บรรดาเพื่อนนักเขียนออกมาต่อต้าน แต่สิ่งที่ไม่อาจจะเข้าใจได้คือ ทำไมการส่งสัญญาณว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล จะต้องมาพร้อมกับการฉีกระบอบประชาธิปไตยออกไปพร้อมกัน แทนที่จะปล่อยให้ระบบการเมืองทำงานไปตามปกติ เลือกตั้งกันใหม่ แล้วให้บทเรียนรัฐบาลผ่านการเลือกตั้ง แต่ถ้าผู้คนส่วนใหญ่อยากให้รัฐบาลกลับเข้ามา เราก็จำเป็นต้องยอมรับ และเคารพ ต่อให้ไม่เห็นด้วยแต่เราก็ต้องเคารพ เพราะประเทศนี้ไม่ใช่ของเราเพียงคนเดียว

ความน่าสงสัย ในเรื่องที่นักเขียน และกวี หันเหไปยอมรับอำนาจเผด็จการ ทั้งที่เติบโตมาจากวรรณกรรมเพื่อชีวิต ที่ก่อร่างความคิดให้สร้างงานเพื่อเป็นปากเสียงในชนชั้นล่าง และยึดกุมในหลักการประชาธิปไตย เวียง-วชิระ ตั้งข้อสังเกตุว่าเป็นเพราะ 2 ปมปัญหาใหญ่คือ ความรู้สึกว่าประเทศเรามีนักการเมืองคุณภาพต่ำ จึงมีความจำเป็นต้องสร้างบ้านแปรเมืองกันใหม่ หากปล่อยไปประเทศก็จะถูกยึดครองโดยคนหน้าเหลียม และสองเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายในข้อแรก หลังจากที่ได้พิสูจน์กันมาหลายปีแล้วว่า คงไม่มีทางเอาชนะคนหน้าเหลียมได้ บวกกับมีกลุ่มการเมืองบนท้องถนน ไม่มีใครยอมใคร ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเชิญให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ เข้ามารับเหมาทำแทน เพื่อที่ตัวเองจะได้ไปใช้ชีวิตตามปกติของตัวเองต่อไป แต่อย่างไรก็ตามด้วยความที่ยังกระอักปากกันอยู่ ไม่อยากให้พวกบ้าประชาธิปไตยคนใดจับไต๋ได้ จึงแทบไม่มีนักเขียน หรือกวีคนใด ออกมารับอย่างซื่อสัตย์ ว่าข้าพเจ้าสนับสนุนรัฐประหารครั้งนี้

เวียง-วชิระ กล่าวต่อไปว่า เพื่อนนักเขียน กวี ชาวใต้ ได้ตั้งข้อสังเกตุว่าปมเงื่อนที่ทำให้นักเขียน และกวี ส่วนใหญ่สนับสนุนรัฐประหารครั้งนี้ ทั้งโดยแอบจิต และเปิดเผยเป็นเพราะว่า พวกเขาได้รับการสถาปนา สถานะทางสังคม จากการได้รับรางวัลทางวรรณกรรมต่างๆ ทำให้เขามีความเชื่อว่าตัวเขาเองมีสภาพจิตที่อยู่เหนือกว่าคนอื่น และด้วยสภาพจิตที่เชื่อว่าอยู่เหนือกว่าคนอื่น มีผลต่อการขับเคลื่อนปัญหาเบื้องลึกโดยไม่รู้จักตึกตรองสิ่งที่สำคัญคือ การมองเห็นหัวคนผู้อื่น โดยทั่วไปนักเขียน กวี หรือผู้ทำงานศิลปะ มักจะเป็นผู้ที่เรียกได้ว่า มีผิวหนังหัวใจเบาะบาง แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกลงไปอีกชั้นก็จะพบว่า สิ่งที่มนุษย์จำพวกนี้อ่อนไหว แท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเป็นธรรมในระบอบประชาธิปไตย หากแต่เป็นความอ่อนไหว รู้สึกไวเสมอ เมื่อมีเหตุอันใดมาสั่นคลอนสถานะ หรือตัวตนของเขา จนต้องออกมาเต้นเร่าเป็นธรรมดา แต่เรื่องที่สมควรจะออกมายืนหยัด พิทักษ์ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนที่เท่าเทียมกันนั้น มนุษย์พันธุ์นี้ ในประเทศที่มหัศจรรย์แห่งหนึ่ง เข้าใจว่า หนังจะหนาเป็นพิเศษ

สุดท้าย เวียง-วชิระ เสนอว่า ต่อความขัดแย้งทางความคิดที่เกิดขึ้น จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า ไม่ว่าใครจะเชื่อในอะไรก็ตาม ขอแค่เรามีจุดที่เชื่อมั่นเหมือนกันเพียงแค่เรื่องเดียวคือ ปล่อยให้ประเทศนี้ถูกกำหนดด้วยวุฒิภาวะ และสติปัญญาของผู้คน โดยไม่มีเทวดา หรือซาตาน หน้าไหนเข้ามาชกฉวยปล้นสิทธิ์ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้คนไปอีก ขอแค่นี้…

อธิคม คุณาวุฒิ: เราอาจเมาแล้วพูดลดทอนคุณค่า เสรีภาพได้ เมื่อสร่างเมา เราทำงานไม่ได้ถ้าไม่มีเสรีภาพ

อธิคม เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึง ช่วงการเติบโตทางความคิดของตน เนื่องจากเป็นคนหนุ่มที่สุดในวง จึงมีการเติบโตที่แตกต่างจากคนอื่นๆ อธิคมกล่าวว่า ตนโตมากับกลุ่มหนังสือหลัง พ.ศ. 2523 กระแสความนิยมหนังสือในช่วงนั้นคือ หนังสือประเภทชีวิตรักนักศึกษา ถ้าเทียบเมืองไทยในยุคนั้นก็คือ ยุค 80 ยุคดิสโก้ การเกิดขึ้นของหนังสือประเภทนี้ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงนั้นสะท้อนให้เห็น ความพยายามสลาย ลดทอนบทบาท ลดทอนคุณค่าบางประการ ของขบวนการนักศึกษา ซึ่งเป็นการสร้างบรรยากาศที่ถูกครอบงำมาโดยตลอด ก่อนที่จะหันมาอ่านหนังสือที่เป็นเนื้อหาสาระอย่างที่ คุณสุชาติ และกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว ทำ พูดได้ว่าช่วงชีวิตในวัยรุ่นได้อิทธิพลจากวรรณกรรมทางสังคมที่สะท้อนอุดมคติทางสังคม สะท้อนจุดยืนทางการเมืองบางประการ

อธิคม กล่าวต่อไปว่า กระแสเรียกร้องคนทำงานศิลปะ ว่าจะต้องทำเพื่ออะไร มีมาตลอด แต่เมื่อพ้นจากยุคหลัง 66/23 โลกก็เคลื่อนมาสู่การใช้เสรีภาพ ถ้าเทียบกับฝรั่งก็เป็นช่วงยุคดิสโก้ มีการใช้สีสัน ใช้เสื้อผ้าที่ฟุมเฟือย เนื่องจากหมดแรงเหวี่ยงจากยุคฮิปปี้แล้ว เป็นช่วงที่เราสำลักเสรีภาพ แล้วคิดว่าเสรีภาพเป็นของฟรีที่ติดตัวมาแต่เกิด ไม่ต้องออกแรงสู้

อธิคม กล่าวต่อว่า มีความรู้สึกแปลกใจที่หลังจากวันที่ 22 พ.ค. 2557 ทำไมเราเดินย้อนกลับไปก่อนยุค 14 ตุลา ทำไมยังมีคนที่ยังคิดว่าสิ่งที่คณะราษฏรทำเมื่อปี 2475 นั้นเป็นเรื่องผิดหรือถูก ยังมีคนที่เชื่ออย่างสุดจิตสุดใจว่า คนอย่างอาจารย์ปรีดีมักใหญ่ใฝ่สูง ยังมีคนที่ล้อเล่นกับคำว่า สิทธิ เสรีภาพ และภราดรภาพ ราวกับว่าสิ่งเหล่านั้นไม่เคยมีค่า ไม่มีราคา ไม่มีต้นทุนที่ต้องจ่ายมาก่อนจึงจะได้มา ทำให้ย้อนกลับมาคิดว่า ถ้าช่วงที่ผ่านมาเราจับจ่ายใช้สอยเสรีภาพกันอย่างฟุ่มเฟื่อยแล้ว เมื่อถึงจุดหนึ่งมีคนมาบอกว่า ต่อนี้คุณห้ามพูดในสิ่งที่คุณคิด คุณห้ามไปยืนกินแซนวิช ชูสามนิ้วในที่สาธารณะ ถึงตอนนี้รสชาติ ราคาของความหอมหวานของคำสามคำ สิทธิ เสรีภาพ และภราดรภาพ มันจะกลับมาถูกทวงถามอีกครั้งใน พ.ศ. นี้ ในเวลาปัจจุบันนี้

อธิคม เล่าต่อว่า เป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนอย่าง สุชาติ ยังต้องมาทะเลาะกับคนที่เคยผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกัน ทุกครั้งที่มีการถกเถียงกันในเรื่องราวเหล่านี้ ตนคิดว่าในฐานะของคนทำงานศิลปะ หรือในฐานะคนทำงานอย่างตัวเอง ซึ่งมันคาบเกียวกันระหว่างงานด้านสื่อ และงานด้านศิลปะ ถ้าวิชาชีพอย่างเราๆ ไม่ยืนอยู่บนขาสามขานี้ เราจะทำงานกันได้อย่างไร คุณอาจจะไปพูดสนุกในวงเหล้า พูดลดทอนคุณค่าอะไรก็ได้ อาจจะด้วยอารมณ์ของความห่าม แต่ลองถามตัวเองเมื่อถึงตอนที่สร่างเมาแล้ว คุณจะทำงานได้อย่างไรถ้าไม่มีสามขานี้ หรือเปลี่ยนมาสู่เรื่องหลักกำปั้น 5 ข้อ มันก็เป็นเรื่องด้วยกัน เราก็ทำงานไม่ได้ถ้าไม่มีหลักการดังกล่าว เราจะยืนอยู่บนหลักการอะไร ศีล 5 เศรษฐกิจพอเพียง หรือคำสั่งภรรยา (ผู้ฟังหัวเราะ)

ทำไมคนที่ผ่านร้อน ผ่านหนาว กอดคอเป็นเพื่อนกันมาในสนามรบจึงมีปัญหากับหลักการ เสรีภาพ หรือกรณีที่ 14 ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ถูกจับ ก็ยังมีคนออกมาบอกว่าเป็นเรื่องที่ต้องตีความ แล้วหาว่ามีคนอยู่เบื้องหลัง อธิคม เสนอบทวิเคราะห์ว่า หนึ่งคือ เป็นไปได้ไหมว่าคนทำงานศิลปะในบ้านเราจำนวนไม่น้อย ยังมีจิตสำนึกที่ผูกติดอยู่กับระบบอุปภัมถ์ อันสืบรากมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น กล่าวคือ จะต้องเข้าเจ้าเข้านาย ต้องการให้คนค่อยอุปภัมถ์ค้ำจุนคนทำงานศิลปะ จะต้องกลมกลืนกับผู้มีอำนาจ แต่ตอนนี้เจ้านายที่ว่าได้เปลี่ยนรูปมาเป็นระบบราชการ เปลี่ยนรูปมาเป็นการได้รับการยอมรับนับถือทางสังคม แล้วไม่อยากให้มีใครมาเขย่าโครงสร้างที่มั่นคงโดยเด็ดขาด เพราะอยู่ตรงนั้นสบายอยู่แล้ว สองคือ วาทกรรมว่าด้วยความชั่วร้ายของนักการเมือง ที่ถูกสร้างขึ้นอย่างมีกระบวนการนับตั้งแต่การอภิวัฒน์ 2475 และแสดงผลอย่างชัดเจนตั้งแต่ 2500 เป็นต้นมา ส่งผลอย่างรุนแรงต่อมโนสำนึกของคนทำงานศิลปะ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วน่าจะมีสติปัญญาไตร่ตรองได้ ทุกครั้งที่เราหาตัวละครไม่ได้ ด่าว่าใครชั่วไม่ได้ การด่านักการเมืองเป็นอะไรที่คล่องปากเสมอ โดยเฉพาะกับนักการเมืองที่น่าด่า และมีเรื่องให้ด่าเสมออย่างตระกลูชินวัตร เมื่อด่านักการเมืองมันสร้างความปลอดภัยให้กับคุณ มันไม่ได้ไปกระทบกับโครงสร้างของระบบอุปภัมถ์ที่คุณเอาตัวเองไปฝากไว้อยู่ สามคือ ธรรมชาติของคนในแวดวงนี้(นักเขียน กวี คนทำงานศิลปะ) ลักษณะอย่างหนึ่งคือ มักจะเป็นคนผิวบาง มีความรู้สึกตื่นตัวกับตัวตน ศักดิ์ศรีที่ถูกอุปโลกน์ ขณะเดียวกันก็อาจจะหยุดการเรียนรู้ของตัวเอง พอใจกับเพียงการได้นั่งมองเมฆบังดวงจันทร์ แล้วก็หลั่งน้ำตาได้ ฉะนั้นจึงมองไม่เห็นความจำเป็นว่าจะต้องทิ้งฐานที่มั่นเดิม เพื่อที่จะออกมาเสี่ยงอีกครั้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net