Skip to main content
sharethis

อียูแจงไม่มีประกาศคว่ำบาตรไทยตามที่มีการอ้างถึงในข้อเขียนของสื่อบางแห่งของไทย และแพร่หลายในโซเชียลมีเดีย แต่ยืนยันมาตรการเดิมระงับการเยือนระหว่างกัน และมีมติว่าจะไม่ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือกับประเทศไทย จนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 

14 ก.ค. 2558 เวลาประมาณ 12.30 น. เฟซบุ๊กเพจของสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ได้เผยแพร่ข้อความชี้แจงว่า

"ตามที่มีรายงานว่าสหภาพยุโรป (อียู) ได้คว่ำบาตรประเทศไทยนั้น คณะผู้แทนสหภาพยุโรปขอชี้แจงว่าไม่เป็นความจริงและเข้าใจว่ารายงานดังกล่าวอ้างถึงผลสรุปการประชุมคณะมนตรีสหภาพยุโรป (http://bit.ly/1HZ9h4f) ที่รับรองเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2557 และยังไม่มีการออกผลสรุปใหม่ใดๆนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

"In regards to reports that the EU has imposed sanctions on Thailand. This is not correct. The Delegation understands the reports are referring to the conclusions (http://bit.ly/1lLb0hO) of the Council of the European Union which were adopted on 23 June 2014. No new conclusions on Thailand have been adopted since then."

 

สำหรับมาตรการทีป่ระกาศเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2557 นั้นระบุว่า เรียกร้องให้ไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็วและจัดเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือ และอียูจะระงับการเยือนระหว่างกัน และมีมติว่าจะไม่ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือกับประเทศไทย จนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และความตกลงอื่นๆ จะได้รับผลกระทบตามสมควร

โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

ผลสรุปการประชุมของคณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปเกี่ยวกับประเทศไทย

ณ กรุงลักเซมเบิร์ก วันที่ 23 มิถุนายน 2557

1. สหภาพยุโรปและประเทศไทยมีความผูกพันแน่นแฟ้นต่อกันมาเป็นเวลานานทั้งในด้านการค้า การท่องเที่ยว การลงทุน วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองฝ่าย

2.ด้วยเหตุนี้ ทางคณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปจึงได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ในประเทศไทยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาด้วยความกังวลเป็นอย่างยิ่ง คณะรัฐมนตรีฯ ได้เรียกร้องให้ผู้นำทหารดำเนินการเรื่องที่เร่งด่วนที่สุดในการคืนสู่กระบวนการทางด้านประชาธิปไตยที่มีความชอบธรรมและคืนการปกครองตามหลักรัฐธรรมนูญผ่านทางการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือและทุกฝ่ายมีส่วนร่วม คณะรัฐมนตรีฯ ยังได้ขอให้ทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจสูงสุด โดยจะต้องให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและยึดมั่นต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีฯ ยังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทหารปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวทางการเมืองทั้งหมด รวมทั้งหลีกเลี่ยงการจับกุมที่มีเหตุผลทางการเมืองและยกเลิกการควบคุมสื่อ

3. การประกาศของผู้นำทหารที่ผ่านมาไม่นานนั้น ยังไม่ได้ให้หลักประกันที่น่าเชื่อถือในการกลับคืนสู่การปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ อันเป็นสิ่งจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้ จะต้องให้สถาบันทางด้านประชาธิปไตยต่างๆ สามารถกลับมาทำงานได้อย่างเต็มที่เพื่อเป็นหลักประกันการคุ้มครองและสวัสดิภาพของประชาชนทุกคน

4. ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว สหภาพยุโรปมีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนการทำงาน โดยให้มีการระงับการเยือนอย่างเป็นทางการระหว่างกัน สหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกจะไม่ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Cooperation Agreement) กับประเทศไทย จนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และความตกลงอื่นๆ จะได้รับผลกระทบตามสมควร โดยประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้เริ่มทบทวนความร่วมมือทางทหารกับประเทศไทย

5. การมีแผนดำเนินการที่น่าเชื่อถือในการกลับสู่การปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญโดยเร็ว การมีการเลือกตั้งอันน่าเชื่อถือและทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างจริงจังเท่านั้นที่จะสามารถทำให้สหภาพยุโรปให้การสนับสนุนต่อไปได้ คณะรัฐมนตรีฯ จึงได้ตัดสินใจที่จะดำเนินการทบทวนความสัมพันธ์กับประเทศไทยและอาจพิจารณาดำเนินมาตรการอื่นๆ ต่อไปตามสถานการณ์”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net