Skip to main content
sharethis

13 ก.ค.2558 ที่ศูนย์บริการประชาชน ภายในอาคารสำนักงานข้าราชการพลเรือน มีกลุ่มนักเรียนอาชีวราว 30 คนจากกว่าสิบสถาบัน ในนาม “อาชีวะช่วยชาติ ณ ราชดำเนิน 2556” มายื่นหนังสือและแสดงตัวเพื่อให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการทำงานหน้าที่นายกรัฐมนตรีเพื่อผลักดันการปฏิรูปต่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการนัดหมายกันในเวลา 9.30 น. เมื่อถึงเวลามีประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะกลุ่มสตรีสูงวัยมารอร่วมให้กำลังใจนายกฯ ราว 20 คนขณะที่กลุ่มอาชีวะเดินทางมาถึงราว 11.00 น.

ตัวแทนกลุ่มอาชีวะฯ กล่าวว่า พวกเขารวมตัวกันตั้งแต่ปี 2556 ก่อนที่จะมีกลุ่ม กปปส. มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม หลังกการรัฐประหารโดย พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ คสช. ทำให้ประเทศสงบขึ้น มีความมั่นคงขึ้น ทางกลุ่มจึงอยากให้กำลังใจกับนายกฯ และอยากให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง
“การออกมาครั้งนี้เพื่อให้ท่านรู้ว่าท่านไม่ได้โดดเดี่ยว” ตัวแทนกลุ่มกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าการออกมาครั้งนี้เป็นการคัดค้านกลุ่มนักศึกษา 14 คนจากขบวนประชาธิปไตยใหม่หรือไม่ ตัวแทนกลุ่มอาชีวะฯ กล่าววว่า “ไม่เกี่ยวกัน คนเราแค่เห็นต่างกัน ไม่ได้ต้องมาคัดค้านอะไรกัน เราเห็นต่างกัน เขาไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่การรัฐประหารครั้งนี้จะทำให้ประเทศชาติมั่นคงขึ้น ถ้าประเทศชาติไม่มั่นคงอย่างอื่นมันก็เกิดขึ้นไม่ได้”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าหากมีการพูดคุยจะสามารถพูดคุยกันได้หรือไม่ ตัวแทนกลุ่มอาชีวะกล่าวว่า “พูดคุยได้ การออกมาครั้งนี้จะไม่เผชิญหน้ากับผู้เห็นต่างใดๆ ทั้งสิ้น จะไม่สร้างความวุ่นวายใดๆ ทั้งสิ้น”

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้าที่กลุ่มอาชีวะฯ จะเดินทางมาถึงและแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชนที่มารอร่วมกับกลุ่มอาชีวะฯ 2 ราย ทั้งคู่ไม่สะดวกที่จะให้เปิดเผยชื่อจริง คนแรกคือ มิน ชายวัยกลางคน มีอาชีพทำเครื่องประดับ เขาเริ่มต้นกล่าวว่า หากถามว่าให้ทหารอยู่ในอำนาจดีไหม คนคงตอบว่าไม่ดีทั้งนั้น เพราะอำนาจทุกแบบหากอยู่นานก็มักจะสร้างโครงข่ายคล้ายมาเฟียไปเรื่อยๆ จึงต้องดูอย่างใกล้ชิดว่ารัฐบาลชุดนี้จะใช้เวลานานเพียงไหนในการทำให้สิ่งที่เขาสัญญา

“อยากให้เวลาเขา หวังว่าจะใช้เวลาให้น้อยที่สุด ใจคิดไม่ควรเกิน 3 ปี ผมเชื่อว่าคนไทยไม่ได้กลัวกระบอกปืน ถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจเขาก็ตัดสินใจกันได้” มินกล่าว

“เวลาจะทำรัฐประหารทุกคนก็หาเหตุผลเข้าข้างตัวเองทั้งนั้น ตอนนั้นที่เราดูสุจินดา (เหตุการณ์พฤษภาคม 2535) เราก็ดูอยู่พักนึง ไม่ใช่ว่าเขารัฐประหารปุ๊บเราก็เปรี้ยง เราให้เวลาและมองๆ อยู่แต่เขาไม่ได้ทำตามที่เขาพูดก็เลยออกกันมา เขาไม่ได้มีแอพโซลูทพาวเวอร์จริงๆ หรอก แล้วก็ยังคงมีป.ป.ช.ที่ตรวจสอบการทำงานเขาได้ และฝ่ายค้านที่ดีที่สุดคือประชาชน  ไปเปิดหน้าเฟซดูสิ 70% ก็ด่าทั้งนั้น พวกเดียวกันก็ยังด่า ทำงานช้าบ้าง ทำงานไม่ถูกใจบ้าง หนักกว่าป.ป.ช.อีก” มินกล่าว   

สิ่งที่เขาอยากเห็นคือการปฏิรูปนักการเมือง เขาให้เหตุผลว่า ทุกวันนี้มีระบบพรรค นักการเมืองต้องมีพรรคในการเป็น ส.ส. แต่รัฐธรรมนูญที่ร่างใหม่ไม่ต้องให้ส.ส.สังกัดพรรค ใครก็เป็นส.ส.ได้ ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดี อย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่ได้เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญทั้งหมด เช่นกรณีที่จะให้คนนอกเป็นนายกฯ เพราะมีคำถามมากว่าจะคัดเลือกอย่างไร มีขั้นตอนที่โปร่งใสขนาดไหน นอกจากนี้สิ่งที่เขามองว่าต้องทำการปฏิรูปเร่งด่วนและเป็นเรื่องหลักคือ การศึกษาและข้าราชการ

ถามว่ายังเชื่อมั่นในระบบเลือกตั้งไหม มินกล่าวว่า เขาเชื่อในระบบ แต่ต้องดูด้วยว่าคนไทยคิดอย่างไรกับการเลือกตั้ง ในต่างประเทศอาจจะมีพลเมืองที่รู้หน้าที่ของตัวเองจำนวนมาก ผิดกับของไทย

“ผมไม่ได้บอกว่าเงินซื้อเสียง แต่บางทีคุณชอบเขาแล้วคุณไม่สนใจเลยว่าเขาทำอะไรยังไงกับประเทศของเรา คุณก็จะเลือกเขา ผมไม่ได้บอกว่าเงินซื้อคนได้ทั้งหมด อย่างผมชอบพี่คนนี้มาก จะเอาคนนี้ให้ได้ก็ไม่ได้สนใจว่าเขาทำอะไรเสียหายบ้าง นั่นคือปัญหา” มินกล่าว

เมื่อถามว่ามองความขัดแย้งเหลืองแดงอย่างไร มินกล่าวว่า เขามองว่าถึงที่สุดมันเป็นความขัดแย้งของนักการเมือง เคยเห็นนักการเมืองสองฝั่งนั่งกินข้าวด้วยกัน เมื่อคุยกันไม่ได้ก็ใช้ประชาชนเป็นไพ่ในมือ

“ผมอยู่อีกฝั่งหนึ่ง แต่ผมก็เข้าใจเสื้อแดงเขานะ พอถึงเวลาจริงๆ ประชาชนก็เป็นเบี้ยทั้งสองฝั่ง”
“ตอนนี้ความขัดแย้งลดลงไปกว่าเดิมเยอะ แต่มันไม่ได้หมดไปเหมือนภาพที่ออกมา มันเป็นไปไม่ได้ที่มีอุดมการณ์ขนาดนั้นแล้วมันจะหายไปหมดเลย แต่เราจะทำยังไงให้มันเข้าใจกันมากกว่า” มินกล่าว

ขณะที่หญิงวัยกลางคนหนึ่งที่เตรียมป้ายเขียนข้อความว่า “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ประชาชนขอร้อง” มาด้วย กล่าวว่า ที่มาในวันนี้เพื่อแสดงจุดยืนว่า ต้องการปฏิรูปก่อน และพล.อ.ประยุทธร์เหมาะสมที่สุดในช่วงเวลาที่ความขัดแย้งพุ่งสูง นักการเมืองไม่สามารถทำได้ขณะนี้

“ประเทศเรายังไม่เหมาะสมกับการเลือกตั้ง เพราะเรายังไม่ได้ปฏิรูปหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องพลังงาน พลังงานเป็นผลประโยชน์ของทุกสี ที่สำคัญอีกสิ่งคือ การปฏิรูปองค์กรตำรวจ เราไม่ต้องการให้ตำรวจเป็นขี้ข้านักการเมือง”

เมื่อถามว่ายังเชื่อในระบบเลือกตั้งหรือไม่ เธอตอบว่า ไม่เชื่อมั่น เพราะเบื้องหลังของพรรคการเมืองทั้งหลายคือระบบทุนสามานย์ที่หาผลประโยชน์จากประเทศชาติ

“ถามว่าเชื่อในระบบแบบไหน บอกตรงๆ ไม่รู้จะเป็นไปได้ไหม คืออยากหานักการเมืองที่ชั่วน้อยที่สุด จะหาได้ไหม อย่าลืมว่าประเทศชาติเราหมักหมมมานาน จะให้ทำทีเดียวคงเป็นไปไม่ได้ ต้องค่อยๆ ปฏิรูป แต่ที่ออกมาให้กำลังใจนายกฯ เพราะยังไม่เห็นว่าใครจะเหมาะสมเท่าเขา ต้องให้เวลาเขา ถามว่าเท่าไหร่ก็ยังตอบไม่ได้ เพราะยังไม่เห็นรูปธรรม รู้แต่ว่าตอนนี้ท่านจัดระเบียบทางเท้า แต่อย่าลืมว่าข้าราชการของเรายังมีปัญหาเยอะ อย่างต่ำคิดว่าน่าจะ 3-5 ปี” เธอกล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net