Skip to main content
sharethis

กรณีกรีซถูกบีบให้ต้องยอมรับมาตรการรัดเข็มขัดครั้งใหม่จากเจ้าหนี้ยุโรปสร้างความไม่พอใจจากประชาชนทั้งในกรีซและที่อื่นๆ ที่ต่อต้านมาตรการนี้ จนมีการรณรงค์ด้วยแฮชแท็กประณามว่าเปรียบเสมือน "การรัฐประหาร" ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่ารัฐบาลฝ่ายซ้ายของกรีซถูกบังคับให้ต้องยอมรับมาตรการเพื่อความอยู่รอดของประเทศ


13 ก.ค. 2558 ในการเจรจาเรื่องหนี้ระหว่างรัฐบาลกรีซกับกลุ่มยูโรโซนที่กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม ได้ข้อยุติแล้วโดยรัฐบาลกรีซยอมรับข้อตกลงในเชิงหลักการที่ทางยูโรโซนจะให้การช่วยเหลือทางการเงินกรีซต่อไปภายใต้เงื่อนไขการปฏิรูปเศรษฐกิจในนามของ "โครงการช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา" (growth package) 35,000 ล้านยูโร (ราว 1.3 ล้านล้านบาท) นอกจากนี้ อเล็กซิส ซีปราส นายกรัฐมนตรีกรีซยังเปิดเผยอีกว่าพวกเขาสามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้สินได้เป็นผลสำเร็จ

อย่างไรก็ตามในช่วงวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (12 ก.ค.) มีผู้แสดงความไม่พอใจต่อมาตรการรัดเข็มขัดชุดใหม่ของทางการเยอรมนีที่ถูกมองว่าเป็นการบีบคั้นต่อชาวกรีซมากขึ้นกว่าเดิม เช่นการเพิ่มภาษี การตัดสวัสดิการ และการแปรรูปสมบัติสาธารณะให้เป็นของเอกชน โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์ทางอินเทอร์เน็ตผ่านแฮชแท็กที่ชื่อ #ThisIsACoup หรือ "นี่ถือเป็นการรัฐประหาร" ซึ่งเป็นแฮชแท็กที่ได้รับความนิยมเป้นอันดับ 1 ทั้งในกรีซและเยอรมนี

การเคลื่อนไหวด้วยแฮชแท็กในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากพอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลที่ระบุผ่านทางเว็บไซต์เดอะนิวยอร์กไทม์ว่า "ข้อเรียกร้องของกลุ่มยุโรปในครั้งนี้เป็นเรื่องบ้าคลั่ง" และระบุอีกว่ามาตรการดังกล่าวถือเป็นการพยายามเสนอในสิ่งที่กรีซไม่สามารถรับได้อีกทั้งยังเป็นการทรยศต่อยุโรปควรจะปกป้อง

แฮชแท็กดังกล่าวเริ่มจากโพสต์ของครูในประเทศสเปนที่ระบุว่าข้อเสนอของกลุ่มยุโรปเป็น "การลักลอบทำรัฐประหารต่อประชาชนชาวกรีซ" หลังจากนั้นหลายชั่วโมงก็มีผู้ใช้แฮชแท็กนี้เพิ่มขึ้นราว 200,000 ครั้ง

โดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปกล่าวว่าข้อตกลงกับกรีซในเรื่อง "การปฏิรูปอย่างจริงจัง" และ "การสนับสนุนทางการเงิน" จะช่วยทำให้กรีซไม่ออกจากการเป็นสมาชิกภาพของอียูได้ ทางด้านซีปราสบอกว่าการข้อตกลงในครั้งนี้ถือว่าสร้างความลำบากแต่พวกเขาก็พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการนำสมบัติสาธารณะให้กลายเป็นของต่างชาติ พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการบีบคั้นทางการเงินและการทำให้ระบบธนาคารล่ม

อย่างไรก็ตามพรรครัฐบาลของกรีซซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้ายชื่อซีริซามีจุดยืนต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดจากอียูเสมอมา ในกรณีการเจรจาล่าสุดนี้มีนักการเมืองหลายคนจากพรรคแสดงการต่อต้านในสภากรีซเมื่อมีการลงมติเรื่องการยอมรับเงื่อนไขมาตรการล่าสุด โดย โซอี คอนสตันตูปูโลว โฆษกรัฐสภากรีซกล่าวว่ารัฐบาลกรีซถูกบีบบังคับให้ต้องยอมรับมาตรการที่ไม่ได้สะท้อนแนวคิดอุดมการณ์จากผู้แทนของพวกเขาเลย ทางด้านซีปราสกล่าวถึงเรื่องนี้ว่าเขามีความจำเป็นต้องยอมรับมาตรการเพื่อแก้ไขวิกฤติภายในประเทศและจัดการปัญหาหนี้สินให้ได้

ทางด้านกาวิน ฮีวิตต์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีในกรุงเอเธนส์วิเคราะห์ว่าการยอมรับมาตรการของยุโรปในครั้งนี้ทำให้กรีซพ้นจากภาวะล้มเหลวได้และจะยังคงเป็นสมาชิกภาพอียูต่อไป แต่ข้อตกลงล่าสุดก็ยังคงทำให้กรีซอยู่ในสภาพถูกเหยียดหยาม นายกของกรีซยอมรับในเรื่องนี้เพื่อให้กรีซมีเงินจ่ายให้กับธนาคารกลางของยุโรปได้ทันในวันจันทร์ นอกจากนี้ยังอาจจะส่งผลทางการเมืองจากการโยกย้ายหรือปลด ส.ส. บางคนที่ต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดหรืออาจจะมีการเลือกตั้งใหม่ก่อนกำหนด


เรียบเรียงจาก


#ThisIsACoup: Global Anger Erupts Over Germany's Harsh Austerity Demands, CommonDreams, 12-07-2015
Greece debt crisis: Eurozone summit strikes deal, BBC, 13-07-2015

Greece debt crisis: Twitter denounces new bailout agreement using #ThisIsACoup hashtag, The Independent, 13-07-2015

Greece debt crisis: Alexis Tsipras warns of 'minefield' of negotiations after parliament supports new bail-out package despite rebellion, The Independent, 11-07-2015

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net