Skip to main content
sharethis

ขณะที่ชาติตะวันตกจับตามองกรีซอย่างใกล้ชิด ด้าน นสพ.เทเลกราฟของอังกฤษออกบทวิเคราะห์ว่า ในอีกมุมหนึ่งของโลกคือจีนกำลังสุ่มเสี่ยงจะเกิดวิกฤตทางการเงินครั้งใหม่เช่นกัน บางคนตั้งชื่อเอาไว้แล้วว่า "วิกฤตเศรษฐกิจจีน 1929" ซึ่งอ้างอิงถึงปี 1929 ที่เคยเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่หรือ "The Great Depression"

ย่านหลูเจียซุย, เซี่ยงไฮ้ ศูนย์กลางธุรกิจและการเงินการธนาคารของจีน รวมทั้งเป็นที่ตั้งของที่ทำการตลาดหลักทรัพย์ (ที่มา: wikipedia)

12 ก.ค. 2558 - รายงานเมื่อวันที่ 9 ก.ค. ของเทเลกราฟระบุว่าตลาดหุ้นจีนดิ่งลงอย่างหนักตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน ถึงช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่สถานการณ์เศรษฐกิจในจีนก็ไม่ได้รับความสนใจมากนักแม้ว่ารัฐบาลจีนจะพยายามเข้าแทรกแซงอย่างไม่เป็นผลสำเร็จและมีบริษัทจำนวนมากยกเลิกการค้าขายกับจีนแล้ว

เจเรมี วอร์เนอร์ ผู้ช่วยบรรณาธิการเทเลกราฟและนักวิจารณ์ด้านธุรกิจและเศรษฐกิจชั้นนำของอังกฤษระบุว่าเหตุการณ์นี้คล้ายกับวิกฤตเศรษฐกิจช่วง ค.ศ. 1929 (พ.ศ. 2472) ของสหรัฐอเมริกา หรือที่เรียกว่า "The Great Depression" เนื่องจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบันคล้ายคลึงกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ในยุคนั้นพอดี คือการที่จีนมีการเติบโตด้านสินเชื่ออย่างรวดเร็วมาก การกู้ยืมหรือการลงทุนด้วยสินเชื่อ ก็มีบทบาทสำคัญทำให้เกิดการเก็งกำไรมากเกินไป

วอร์เนอร์ยังเปรียบเทียบในแง่ภาวะฟองสบู่กับช่วงวิกฤตของสหรัฐอเมริกา ค.ศ 1929 ว่าสาเหตุหนึ่งมาจากการที่คนในชนบทเริ่มเข้าไปทำงานในเมืองใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เหมือนจีนในยุคปัจจุบัน แต่จีนมีการพัฒนาในด้านนี้ช้ากว่าประเทศอื่นๆ ไปหลายปีทำให้เกิดความล้นเกินของอำนาจในการผลิตไม่ว่าจะในด้านการส่งออกหรือการบริโภคภายใน นอกจากนี้ยังมีความคล้ายคลึงกันในเรื่องฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แบบที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ยุคนั้น

สิ่งที่ชี้ว่าเป็นสัญญาณของวิกฤตเศรษฐกิจจีนอีกอย่างหนึ่งคือราคาสินค้าที่ตกต่ำลงและการเติบโตทางการค้ากับต่างประเทศที่ชะงักงัน

อย่างไรก็ตามวอร์เนอร์ระบุว่าวิกฤตในจีนจะมีความแตกต่างกับวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในสหรัฐฯอเมริกา ตรงที่จีนมีลักษณะเศรษฐกิจแบบควบคุมจากศูนย์กลางทำให้เป็นเรื่องของการเงินสาธารณะมากกว่าเป็นเรื่องการเงินภาคเอกชน แต่วอร์เนอร์ก็ไม่เชื่อว่าการเข้าควบคุมเศรษฐกิจโดยทางการจีนจะสามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งถึงแม้ว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจกลับมาได้ชั่วคราวแต่ก็มีโอกาสที่จะกลับไปสู่ภาวะฟองสบู่แตกอีกรอบ และจีนก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้วยการสร้างฟองสบู่ใหม่ได้เสมอไป การทำให้มีการลงเงินไปที่ตลาดหุ้นต่อไปแม้จะทำให้ตลาดหุ้นดูเหมือนบูมแต่ก็จะเป็นการสร้างหนี้สินเพิ่มเท่านั้น

วอร์เนอร์ระบุว่าสิ่งที่ส่งผลเสียหายจริงๆ ในวิกฤตการเงินไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นแต่เป็นการล่มสลายของภาคการธนาคารซึ่งเป็นสิ่งที่วอร์เนอร์ไม่เชื่อว่าจีนจะจัดการได้ ในตอนนี้ตลาดการส่งออกของจีนก็เดินทางมาจนถึงช่วยหยุดโตซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ก็หวังว่าจะอาศัยความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศเป็นตัวผลักดันให้เกิดการเติบโตโดยใช้วิธีการปฏิรูปตลาดเสรี แต่วอร์เนอร์ก็แย้งว่าตลาดเสรีเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ ปรากฏการณ์ฟองสบู่แตกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากการเสริมความมั่งคั่งที่มาจากการบูมของตัวมันเอง และจีนกำลังจะได้เรียนรู้ในเรื่องนี้

 

เรียบเรียงจาก

The really worrying financial crisis is happening in China, not Greece, Telegraph, 08-07-2015

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net