Skip to main content
sharethis

8 ก.ค. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ปฏิเสธให้ความเห็นกรณีศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งปล่อย 14นักศึกษานักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ว่า อยากให้ยุติเรื่องนี้  เนื่องจากศาลให้ความเมตตาปล่อยตัวแล้ว และเห็นด้วยกับการให้สัมภาษณ์ของพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ระบุต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย

โดย พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม  คสช. กล่าวถึงกรณีนี้ว่า หลังได้รับการได้รับการปล่อยตัว ขอให้ใช้แนวทางอื่น มีช่องทางเคลื่อนไหวอื่นที่รัฐบาลเปิดให้อยู่ แต่หากยังเคลื่อนไหวฝ่าฝืนแบบเดิม ก็ต้องบังคับใช้กฎหมาย การที่ คสช. เข้ามา เพราะประเทศมีปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้รัฐบาลขณะนั้นบริหารประเทศไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องบังคับใช้ให้อยู่ในกรอบกฎหมาย

พล.อ. ไพบูลย์ กล่าวว่า รัฐบาลนี้ แม้ไม่ได้มาจากประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ใช่เผด็จการสุดโต่ง มีธรรมภิบาลมีจริยธรรม ในการบริหารประเทศ จึงขอร้องให้ได้ทำงาน ซึ่งประเทศกำลังไปได้ดีอยู่แล้ว และสิ่งที่กำลังทำ เป็นรากฐานของประเทศ ซึ่งรวมถึงนักศึกษารุ่นนี้ที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้บริหารบ้านเมืองในอนาคต ถ้ายังมีปัญหา ก็จะเป็น เหมือนก่อน 22 พ.ค.2557  ดังนั้นมีช่องทางเคลื่อนไหว รัฐบาลเปิดให้ เชื่อว่ายังอยู่ในวิสัยที่คุยกันได้ ก็ขอให้อย่าเกินเลย อย่าเดินแบบเดิม ส่วนกรณีที่มีข้อห่วงใยเรื่องความปลอดภัย ระหว่างที่นักศึกษาอยู่ในเรือนจำ ก็ดูแลอย่างดี วันนี้ปล่อยกลับไปอ้อมอกพ่อแม่ ถ้าอยากให้รัฐดูแลความปลอดภัยก็ร้องขอมาได้

กสม.เชิญผู้แทน คสช. สอบปมจับกุม

วันเดียวกัน การประชุมของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)  โดยมี อมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม. เป็นประธานการประชุม เพื่อตรวจสอบกรณีการจับกุมนักศึกษานักกิจกรรม 14 คน สมาชิกกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ หลังรวมตัวต่อต้านการรัฐประหาร โดยมี พ.อ.นุรัช กองแก้ว รอง ผอ.สำนักงานพระธรรมนูญ เป็นผู้แทนจาก คสช. สมพร มูสิก ผู้แทนจากสภาทนายความ ศูนย์ทนายความ และ กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมประชุม ขณะที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 6 มีหนังสือแจ้งมายังอนุกรรมการฯ ว่าติดภารกิจ จึงไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมตามคำเชิญแต่อย่างใด

บรรยากาศในการประชุม ได้มีการสอบถามผู้แทน คสช.ถึงการจับกุม 14 นักศึกษานักกิจกรรม โดยผู้แทน คสช.ยืนยันต่อคณะอนุกรรมการฯ และผู้ร่วมประชุมว่า เจ้าหน้าที่ทหารไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจับกุมนักศึกษา เพราะเป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และยังไม่ทราบการปฏิบัติที่แน่ชัดว่าในเหตุการณ์การจับกุมนั้นมีเจ้าหน้าที่ทหารอยู่ในพื้นที่หรือไม่

ด้านกิตติศักดิ์ ได้สอบถามผู้แทน คสช.ว่า การจับกุมนักศึกษานั้น ทหารเป็นผู้ชี้ตัวหรือไม่ ซึ่งผู้แทน คสช. ระบุว่า การชี้ตัวนักศึกษา ก็เป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมายที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ดำเนินการ ย้ำว่า คสช.ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย อีกทั้งยังยืนยันว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ทหารไปสะกดรอยตามนักศึกษา และยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ในกรณีที่มีการอ้างว่าเจ้าหน้าที่ทหารไปที่บ้านของนักศึกษาด้วย เมื่อผู้ร่วมประชุมสอบถามว่า ทำไมกรณีนักศึกษาต้องเข้าสู่การพิจารณาของศาลทหาร ผู้แทน คสช.ระบุว่า ไม่สามารถตอบได้ เพราะเป็นเรื่องทางนโยบาย

ด้าน วีระ สมความคิด อนุกรรมการฯ ได้สอบถามว่า มีกรณีที่ทหารลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้าน ไม่ให้ร่วมกิจกรรมของกลุ่มนักศึกษาหรือไม่ และทหารเหล่านั้นเป็นทหารจริงหรือทหารปลอม เนื่องจากนักศึกษายืนยันว่าจำหน้านายทหารได้  โดยผู้แทน คสช. กล่าวว่า หากมีการแต่งกายปลอมเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ก็ต้องดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมาย 

ที่มา สำนักข่าไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net